ข้ามไปเนื้อหา

โดพามีนทรานสปอตเตอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โดพามีนทรานสปอตเตอร์ (แดท) (อังกฤษ: dopamine transporter; DAT) เป็นโปรตีนสำคัญที่อยู่บริเวณเยื่อหุ้มเซลล์ของเซลล์ประสาทโดพามีน ทำหน้าที่ดูดกลับโดพามีนที่หลั่งออกมาในไซแนปส์เข้าสู่เซลล์ประสาทก่อนไซแนปส์ โดพามีนทรานสปอตเตอร์เป็นโปรตีนลำเลียงสารสื่อประสาทโดพามีนที่ต้องอาศัยไอออนโซเดียมและไอออนคลอไรด์ในการทำงาน โครงสร้างโมเลกุลของโดพามีนทรานสปอตเตอร์มีด้านปลายด้านเอ็น (N-terminus) และปลายด้านซี (C-terminus) อยู่ภายในเซลล์ ปัจจุบันพบว่าสารโคเคน (Cocaine) และยาเมทิลฟีนิเดท (Methylphenidate) ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการทำงานของโดพามีนทรานสปอตเตอร์

มีการศึกษาการกระจายตัวของโดพามีนทรานสปอตเตอร์ในอวัยวะต่างๆ ในหนูขาวโดยใช้วิธีอิมมิวโนฮิสโตเคมมิสทรี (Immunohistochemistry) พบโดพามีนทรานสปอตเตอร์ในระบบประสาทส่วนกลาง anterior pituitary gland, Auerbach’s nervous system, Meisner’s nervous system, adrenal medulla และ ปอด โดยทั่วไปแล้วบริเวณสมองที่ใช้ศึกษาโดพามีนทรานสปอตเตอร์คือบริเวณดอร์ซอลสไตรตัม (dorsal striatum) และ (นิวเคลียสแอคคัมเบน) (nucleus accumbens) ซึ่งมีปริมาณโดพามีนทรานสปอตเตอร์ค่อนข้างหนาแน่น เมื่อศึกษาหนูถีบจักรที่ถูกตัดยีนโดพามีนทรานสปอตเตอร์ พบว่าการสังเคราะห์โดพามีนที่อาศัยเอนไซม์ไทโรซีนไฮดร๊อกซิเลสเกิดได้น้อยลง การเก็บโดพามีนในถุงเก็บ(vesicle) ลดลง มีการปลดปล่อยโดพามีนลดลง

การขนส่งโดพามีนผ่านโดพามีนทรานสปอตเตอร์อาจเกิดในอัตราส่วนของโดพามีน 1 โมเลกุล ไอออนโซเดียม 2 ไอออนและไอออนคลอไรด์ 1 ไอออน ซึ่งมีกลไกทั่วไปคือไอออนโซเดียม 2 ไอออนจับกับโดพามีนทรานสปอตเตอร์ก่อน ตามด้วยโดพามีน 1 โมเลกุล จากนั้นไออนคลอไรด์ 1 ไอออนจึงมาจับกับโดพามีนทรานสปอตเตอร์