ข้ามไปเนื้อหา

โคลด์ สโตน ครีมเมอรี่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
Cold Stone Creamery
ประเภทWholly owned subsidiary
อุตสาหกรรมIce cream parlor
ก่อตั้งTempe, Arizona (1988)
ผู้ก่อตั้งSusan and Donald Sutherland
สำนักงานใหญ่Scottsdale, Arizona, US
จำนวนที่ตั้ง1100 (2011)
บริษัทแม่Kahala
เว็บไซต์coldstonecreamery.com
A neon sign for the Cold Stone Creamery at Irvine Spectrum in Irvine, California
Cold Stone Creamery at Serendra Plaza in Bonifacio Global City, Metro Manila, Philippines
Cold Stone Creamery in Hudson, Ohio
Cold Stone Creamery in Springboro, Ohio

โคลด์ สโตน ครีมเมอรี่ (อังกฤษ: Cold Stone Creamery) คือ ร้านไอศกรีมสาขาเครือข่ายสัญชาติอเมริกันชื่อดัง โคลด์ สโตนเริ่มต้นธุรกิจเป็นครั้งแรกที่เมืองสก๊อตเดล รัฐอริโซนา โดยมีบริษัท Kahala, L.L.C. เป็นผู้ดำเนินการและถือกรรมสิทธิ์ สินค้าหลักของบริษัท คือ ไอศกรีมระดับพรีเมี่ยม หรือไอศกรีมที่ทำจากไขมันนม 12-14 เปอร์เซ็นต์โดยประมาณ ซึ่งไอศกรีมโคลด์ สโตนจะทำขึ้นและเสิร์ฟแก่ลูกค้าตามออเดอร์เมื่อลูกค้าสั่งซื้อ ทั้งนี้ โคลด์ สโตนได้ขยายเมนูด้วยการเพิ่มสินค้าซึ่งมีไอศกรีมเป็นส่วนประกอบอีกเป็นจำนวนมาก เช่น ไอศกรีมเค้ก, พาย, แซนวิซคุกกี้, สมูทตี้, เชค และกาแฟทั้งแบบเย็นและปั่น

ตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา บริษัท โคลด์ สโตน ได้จับมือร่วมธุรกิจกับสินค้าสาขาเครือข่ายประเภทอื่น ๆ ในความพยายามที่จะขยายตลาดนอกสหรัฐอเมริกา และเปิดตัวรูปแบบการค้าใหม่จากแบบดั้งเดิมที่เป็นธุรกิจสินค้าช่วงฤดูร้อนเป็นแบบที่สามารถดึงดูดลูกค้าได้ตลอดทั้งปี

ประวัติ

[แก้]

ในปี 1988 บริษัทโคลด์ สโตนก่อตั้งชึ้นเป็นครั้งแรกโดยซูซานและโดนัล ซูเทอร์แลนด์ จากความพยายามคิดค้นไอศกรีมซึ่งไม่แข็งจนเกินไป หรืออ่อนนุ่มแบบไอศกรีมซอฟท์เสิร์ฟ ประกาศประชาสัมพันธ์ของโคลด์ สโตนได้บรรยายลักษณะไอศกรีมไว้ว่าเป็น “ไอศกรีมเนื้อนุ่มเนียนละเอียดระดับซูเปอร์พรีเมี่ยม”

ชื่อโคลด์ สโตนได้มาจากหินแกรนิตแช่แข็ง ซึ่งทางร้านจะใช้เป็นแท่นผัดไอศกรีมหลากหลายรสชาติของทางร้านให้เข้ากันกับมิกซ์อิน เช่น ลูกกวาด, ถั่วชนิดต่าง ๆ เพื่อสรรค์สร้างไอศกรีมรสชาติใหม่ ๆ

ร้านไอศกรีมโคลด์ สโตนเปิดตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในปีเดียวกันที่เมือง เทมเป รัฐอริโซนา ซึ่งในปัจจุบันสาขาดังกล่าวยังคงเปิดให้บริการอยู่ที่สถานที่เดิม ในปี 1995 โคลด์สโตนเปิดร้านแฟรนไชส์สาขาแรกในเมืองทูซอน ต่อมาไม่นาน ร้านไอศกรีมโคลด์สโตนก็เปิดตัวขึ้นอีกที่เมือง คามาริลโล รัฐแคลิฟอร์เนีย นับเป็นสาขาแรกที่เปิดนอกรัฐอริโซนา

ปัจจุบันร้านไอศกรีมโคลด์ สโตนมีสาขาที่เปิดให้บริการอยู่เป็นจำนวน 1,400 สาขา และถือเป็นร้านไอศกรีมที่ขายดีที่สุดติดอันดับหกในสหรัฐอเมริกา และมีสาขาตั้งอยู่ในหลากหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ ประเทศไทย บราซิล เปอร์โตริโก้ อินโดนีเซีย กวม จีน เม็กซิโก บาห์เรน อาหรับเอมิเรต ซาอุดิอาระเบีย ตรินิแดด โทบาโก กาตา ไนจีเรีย คูเวต และฟิลิปปินส์

ในปี 2008 โคลด์ สโตนเปิดร้านสาขาแฟรนไชส์สาขาแรกในทวีปยุโรป ที่เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ต่อมาในภายหลัง ร้านไอศกรีมอีกสามร้านก็ได้เปิดตัวขึ้นในเขตต่าง ๆ ของประเทศเดนมาร์ก นอกจากนี้ ในเดือนมกราคม ปี 2006 นิตยสาร Entrepreneur ยังจัดให้บริษัทโคลด์ สโตนเป็นบริษัทแฟรนไชส์ที่เติบโตเร็วที่สุดแห่งหนึ่ง

ในปี 2009 โคลด์ สโตนเปิดสาขาแรกในประเทศแคนาดา ที่เมืองมิสซิสซอก้า ออนโทริโอ ขณะที่ในปี 2011 อีกสองร้านได้เปิดตัวขึ้นที่สิงคโปร์ และตามมาด้วยสาขาที่สามในปี 2012

เดือนพฤษภาคม ปี 2007 บริษัทโคลด์ สโตน ครีมเมอรี่ได้รวมตัวกับ คาลาล่า คอร์ป เพื่อก่อตั้งบริษัท คาลาล่า-โคลด์ สโตน บริษัทซึ่งเมื่อนับโดยรวมแล้ว เป็นเจ้าของกรรมสิทธิแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ทั้งสิ้น 13 แบรนด์ ดัก ดูเช่ อดีตประธานและซีอีโอ บริษัท โคลด์ สโตนครีมเมอรี่ได้ถูกเสนอชื่อ ให้เป็นซีอีโอคนใหม่ของบริษัท ขณะที่เควิน แบล็คเวล อดีตซีอีโอบริษัทคาลาล่าดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด และกรรมการบริหารกลยุทธ์ ต่อมาในเดือนกันยายนปี 2007 ดูเช่ประกาศลาออก แบล็คเวลจึงขึ้นดำรงตำแหน่งซีอีโอแต่นั้นมา

กลยุทธ์ Co-branding

[แก้]

ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2009 บริษัทคาลาล่าซึ่งเป็นบริษัทแม่ของโคลด์ สโตน ครีมเมอรี่ได้ประกาศร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งก็คือร้านกาแฟสาขาเครือข่ายสัญชาติแคนาดา “ทิม ฮอร์ตันส์” ในการเปิดสาขาร่วมกันกว่า 100 สาขาในประเทศสหรัฐอเมริกา ภายหลังประสบความสำเร็จจากสาขาทดลองสองสาขาที่เมืองโรดไอร์แลนด์

กลยุทธ์การร่วมมือดังกล่าวอำนวยให้ร้านกาแฟทิม ฮอร์ตันส์ ได้บริหารจัดการสาขาในสหรัฐมากยิ่งขึ้น ขณะที่โคลด์ สโตนเองก็ได้โอกาสในการขยายสาขาออกไปยังประเทศแคนาดา ร้านร่วมที่ถือว่าเป็นสาขาที่โดดเด่นมากที่สุดสาขาหนึ่งได้เปิดตัวขึ้นในเดือนสิงหาคมปี 2009 เมื่อร้านกาแฟทิม ฮอร์ตันส์ ผนึกรวมกันกับร้านไอศกรีมโคลด์ สโตนทั้งสามสาขาในรัฐนิวยอร์ก ซึ่งรวมไปถึงโคลด์ สโตนสาขาบุกเบิกที่ตั้งอยู่ในไทม์ สแควร์ด้วย

เดือนมิถุนายนปี 2009 โคลด์ สโตนครีมเมอรี่เริ่มทำการทดสอบตลาดในประเทศแคนาดา โดยการเปิดร้านร่วมกับทิม ฮอร์ตันถึง 7 สาขาซึ่งจะตั้งอยู่ในเมือง โทรอนโต, โอ๊ควิลล์, มิสซิสซอกา, แฮมิลตัน, พิคเกอริ่ง, ซัดบิวรี่, ฮาลิแฟกซ์, และโนวาสโกเชีย ปัจจุบันพันธมิตรทางธุรกิจทั้งสองมีร้านที่เปิดร่วมกันในทุกจังหวัดทั่วประเทศแคนาดา เว้นเพียงแต่ นิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์

การร่วมธุรกิจกับบริษัททิม ฮอร์ตันส์ ดำเนินต่อไปตามความมุ่งมั่นแรกเริ่มในปี 2007 และปี 2008 แต่สิ้นสุดลงในปี 2014 ในช่วงปลายปี 2007 แฟรนไชส์ร้านไอศกรีมโคลด์ สโตนในเมืองนิวยอร์ก ซิตี้ เริ่มจับมือกับคู่ค้าอีกรายซึ่งก็คือ ซุป คิทเช่น อินเตอร์เนชันเนล เพื่อเริ่มขายซุปในร้านโคลด์ สโตน และในปี 2008 บริษัทโคลด์ สโตนก็ได้ลงนามในข้อตกลงร่วมกับ ร็อคกี้เมาน์เท่น ช็อกโกแลต แฟคทอรี่ ในการเปิด 7 สาขาที่เขตตะวันตกของสหรัฐ

การร่วมมือในครั้งนี้ก็เพื่อให้การดึงดูดลูกค้าเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากทั้งสองบริษัทมีประสบการณ์ในการจูงใจลูกค้าได้เพียงตามแต่ฤดูกาลเท่านั้น การผนึกกำลังของโคลด์ สโตน และร็อคกี้ เมาน์เท่น ช็อคโกแลต แฟคทอรี่ได้นำไปสู่ยอดขายที่ร้านร็อคกี้ เมาน์เท่า ช็อคโกแลต แฟคทอรี่ ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ในแต่ละสัปดาห์

สินค้าและผลิตภัณฑ์

[แก้]

ไอศกรีมของโคลด์ สโตนจะถูกวางขายใน 4 ขนาดมาตรฐาน ได้แก่ ขนาดสำหรับเด็ก (น้ำหนัก 3 ออนซ์ หรือราว 85 กรัม) ขนาด Like it (น้ำหนัก 5 ออนซ์ หรือ 140 กรัม) ขนาด Love it (น้ำหนัก 8 ออนซ์ หรือ 230 กรัม) และขนาด Gotta have it (น้ำหนัก 12 ออนซ์ หรือ 340 กรัม)

นอกจากนั้น โคลด์ สโตนยังจำหน่ายมิลค์เชค และ สมู้ทตี้ ซึ่งในจำนวนเมนูเครื่องดื่มทั้งหมด โคลด์ สโตน PB&C ในขนาดใหญ่ ได้ถูกจัดให้เป็นเครื่องดื่มที่มีผลเสียต่อสุขภาพมากที่สุดเป็นเวลาสองปีซ้อน โดยนิตยสาร Men’s Health โดยเครื่องดื่มชนิดนี้ให้พลังงานโดยประมาณ 2,010 แคลอรี่ ไขมัน 131 กรัม ซึ่งเป็นไขมันอิ่มตัว 68 กรัม และยังประกอบไปด้วยน้ำตาลอีกประมาณ 153 กรัม

ไอศกรีมทั้งหมดของโคลด์ สโตนทำจากส่วนผสมจากธรรมชาติ ส่วนโคนและถ้วยวาฟเฟิลนั้นจะถูกอบสดใหม่ทุกวัน นอกจากโคนแบบปกติแล้ว โคลด์ สโตนยังจำหน่ายถ้วยวาฟเฟิลเคลือบช็อคโกแลต, ไอศกรีมเค้ก, พาย, ไอศกรีมคัพเค้ก, และแซนวิชคุกกี้ไอศกรีม

ร้านไอศกรีมโคลด์ สโตนเปิดโอกาสให้ลูกค้าออกแบบเมนูของหวานของตนเองได้ เสมือนเป็นไอศกรีมพวกเขาสร้างสรรค์ขึ้นเอง และเมื่อไม่นานมานี้ โคลด์ สโตนครีมเมอรี่ก็ได้ปล่อยเมนูของหวานออกมาอีกหลายชนิดตั้งแต่ บราวนี่อบร้อน ไปจนถึงชูโรส หรือปาท่องโก๋สเปน

ใบอนุญาต

[แก้]

บริษัทโคลด์ สโตนได้ร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับหลากหลายบริษัทเพื่อประชาสัมพันธ์สินค้าของแบรนด์เหล่านั้นในร้านไอศกรีมของโคลด์ สโตนเอง การร่วมมือครั้งใหญ่ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2009 เมื่อโคลด์ สโตนจับมือกับคราฟท์ ฟู้ดส์ เพื่อใช้เครื่องหมายการค้า Jell-o หลังจากนั้นโคลด์ สโตนก็ได้สรรค์สร้างไอศกรีมรสชาติต่าง ๆ บนพื้นฐานของรสชาติพุดดิ้ง Jell-o ที่ได้รับความนิยม เช่น รสช็อคโกแลต, รสบัตเตอร์สก็อตช์, รสกล้วย และรสวานิลลา และเนื่องจากส่วนผสมของพุดดิ้งที่เพิ่มเข้าไปในไอศกรีมส่งผลให้ตัวไอศกรีมมีลักษณะเป็นเจล เมื่อไม่นานมานี้ ไอศกรีมดังกล่าวจึงได้ถูกบันทึกว่าเป็นไอศกรีมที่ไม่ละลาย

ในปี 2008 ภายใต้ข้อตกลงใบอนุญาตกับบริษัท Jelly Belly ผู้ผลิตลูกกวาดชื่อดังในสหรัฐ ได้ออกสินค้าเป็นลูกกวาด Jelly Beans ซึ่งมีรสชาติตามแบบไอศกรีมโคลสโตนรสยอดนิยม

ความบันเทิง

[แก้]

เพื่อสร้างความบันเทิงและจูงใจให้ลูกค้าให้เงินเศษกับพนักงาน โคลด์ สโตนจึงให้พนักงานร้องเพลงพิเศษซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับบริษัท และมักจะเป็นเพลงที่มีจังหวะที่จดจำได้ง่าย เช่น “Taken me out to the ball game”, “I’ve been working on the railroad”, และ “Bingo” เมื่อเวลาที่ลูกค้าใส่เงินลงในกล่องทิป โดยเนื้อร้องของเพลงมักจะรวมไปถึงประโยควลีที่ดึงดูดใจอย่างเช่น “This is our Cold Stone song, it is not very long” เป็นต้น

ประเด็นด้านกฎหมาย

[แก้]

ได้มีการกล่าวหาจากผู้ซื้อแฟรนไชส์โคลด์ สโตนว่าวิธีการทำธุรกิจของบริษัทโคลด์ สโตน ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างสูงในหมู่ร้านสาขาแฟรนไชส์ด้วยกัน อดีตผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์อ้างว่าบริษัทแม่ของโคลด์ สโตนเปิดสาขาใกล้กันมากเกินไป และต้องการให้มีการปรับปรุงซ่อมแซมที่ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังต้องการรายได้ที่สูงเกินจริง ขณะเดียวกันผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์รายอื่น ๆ ได้แย้งว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่ปัญหา กลับกันพวกเขาพบว่าธุรกิจเติบโตขึ้นท่ามกลางความไม่มั่นคงทางการเงินและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นจากราคาแก๊สและพลังงาน

ในเดือนมิถุนายน ปี 2008 หนังสือพิมพ์ The WallStreet Journal ได้ทำการตรวจสอบในประเด็นนี้ โดยรายงานว่า จำนวนสาขาร้านไอศกรีมที่มีมากมายโดยประมาณ ร้อยละ 16-20 นั้นได้ปิดตัวลง ขณะที่บางสาขาก็ถูกประกาศขายโดยเจ้าของเดิม ซึ่งเป็นเพราะพวกเขาหลายคนประสบกับปัญหาขาดทุนจากการลงทุนดังกล่าว รายงานดังกล่าวยังอ้างถึงโฆษกหญิงของบริษัทโคลด์ สโตนซึ่งกล่าวว่า จำนวนร้านไอศกรีมโคลด์ สโตนที่ประกาศขายนั้นถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ ในภาวะที่เศรษฐกิจที่ท้าทายและมีการแข่งขันสูง

ประเด็นคดีความกับสารคดีสถานีโทรทัศน์ CNBC

[แก้]

ในเดือนธันวาคมปี 2010 ทนายความของบริษัทโคลด์สโตน ครีมเมอรี่ได้ขู่ฟ้องร้องคดีความต่อเนื้อหาในสารคดีที่กำลังจะออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ CNBC ในขณะนั้น

Behind the counter: The Untold Story of Franchising คือ สารคดีที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุ่งโรจน์และความล้มเหลวในการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ โดยมี Dunkin Donuts และ Five Guys เป็นแบรนด์ที่ถูกกล่าวถึงในรายการว่าเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ซึ่งประสบความสำเร็จ ขณะที่ทางด้านผู้บริหารและทนายความของบริษัทโคลด์ สโตนครีมเมอรี่เองก็ถูกสัมภาษณ์ในรายการสารคดีนี้เช่นเดียวกัน ภายหลังการแก้ไข้สองถึงสามครั้ง รายการสารคดีดังกล่าวก็ได้ออกอากาศทางช่อง CNBC ในวันที่ 21 มีนาคม ปี 2011

ท้ายสุดทั้งฝ่ายโคลด์ สโตนและอดีตผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ต่างทำการพูดคุยกันในเรื่องคดีความ รวมถึงมีการฟ้องร้องทางสถานีโทรทัศน์ CNBC และในภายหลัง ความสำเร็จในการเป็นร้านเครือข่ายแฟรนไชส์ของบริษัทโคลสโตนก็ถูกนำออกอากาศอย่างชัดเจนเช่นกัน

สำนักงานใหญ่

[แก้]

แต่เดิมสำนักงานใหญ่ของบริษัทโคลด์ สโตนตั้งอยู่ที่เมืองเทมเป รัฐอริโซนา ในเวลาต่อมาจึงได้ย้ายไปยังเมืองสก็อตเดล ซึ่งอยู่ในมลรัฐเดียวกัน กระทั่งในเดือนมกราคม ปี 2005 โคล สโตนได้ย้ายสำนักงานใหญ่ไปยังที่อยู่ปัจจุบันซึ่งเป็นอาคารสองขั้น ที่มีพื้นที่เป็นห้องเรียน แลปพัฒนาสินค้าและร้านขายปลีกที่ใช้สำหรับการเทรนนิ่ง