ข้ามไปเนื้อหา

โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน
Junior Science Talent Project
ภาพรวมหน่วยงาน
สำนักงานใหญ่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
เว็บไซต์www.nstda.or.th/jstp และ www.jstp.org

โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน (คพอว.)(JSTP) เป็นโครงการที่ต้องการเฟ้นหาเด็กและเยาวชนผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย โดยจะมีโอกาสได้เข้าร่วมกิจกรรมในรูปแบบค่ายเสริมประสบการณ์ การฝึกทำวิจัยในห้องปฏิบัติการ การฝึกอบรมความรู้ต่างๆที่หลากหลายรวมทั้งในเชิงสังคมและศิลปวัฒนธรรม เพื่อให้เด็กและเยาวชนเหล่านี้สามารถพัฒนาทักษะความสามารถทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ให้เพิ่มขึ้นเต็มตามศักยภาพ โดยจะมีนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยงที่เป็นอาจารย์และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานต่างๆ คอยแนะนำ ชี้แนะเพื่อให้เยาวชนในโครงการก้าวสู่การเป็นนักวิจัยคุณภาพของประเทศต่อไปได้ในอนาคต นักเรียนทุนที่ได้รับการคัดเลือกสนับสนุนระยะยาวจะได้รับทุนการศึกษาและวิจัยจนจบปริญญาเอก

ประวัติ

[แก้]

โครงการจัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มีนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และนักการศึกษาที่สำคัญของไทยหลายท่านเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง อาทิเช่น ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ศ.ดร.ยอดหทัย เทพธรานนท์ รศ.ดร.คุณหญิง สุมณฑา พรหมบุญ และ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ทั้งนี้มีมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เข้ามาร่วมดำเนินโครงการ

โครงการเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ชื่อโครงการเดิมคือ "โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน" ต่อมาได้เพิ่มคำว่า "และเทคโนโลยี" เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินการของโครงการ ปัจจุบันได้รับเยาวชนมาเข้าร่วมโครงการมากถึง 19 รุ่น (พ.ศ. 2559)

วิธีการคัดเลือก

[แก้]

ผู้เข้าร่วมโครงการแบ่งออกเป็นสองระดับคือ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ทางโครงการจะเปิดรับใบสมัครจากเยาวชนทั่วประเทศมีกำหนดส่งใบสมัครภายในเดือนธันวาคมทางไปรษณีย์ หลังจากนั้นจะทำการคัดเลือกเบื้องต้นจากใบสมัครที่ส่งเข้ามา โดยไม่มีการสอบข้อเขียนหรือค่าธรรมเนียมการสมัครแต่อย่างใด แตกต่างจากการพิจารณาให้ทุนอื่นๆ เช่น ทุน พสวท. หรือ ทุนรัฐบาลไทย ทั่วไป

เมื่อคัดเลือกเยาวชนในเบื้องต้นได้แล้วจะเรียกมาสอบสัมภาษณ์เพื่อเข้าร่วมโครงการระยะสั้นเป็นเวลาหนึ่งปี มีผู้ผ่านการสัมภาษณ์เข้าร่วมโครงการระยะสั้นมีประมาณปีละ 100 คน

เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการระยะสั้นจะต้องทำโครงงานวิจัยและเข้าร่วมกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ตามที่โครงการกำหนด เมื่อครบระยะเวลาหนึ่งปีแล้วจะมีการประเมินผลงานในภาพรวมของหนึ่งปีที่ผ่านมาแล้วคัดเลือกเยาวชนเข้ารับทุนระยะยาวปีละประมาณ 10 คน ทั้งนี้เยาวขนที่ได้รับคัดเลือกสามารถเลือกสถานศึกษาและสาขาที่ตนต้องการเรียนได้ตามสมัครใจไม่จำกัดแต่คณะวิทยาศาสตร์อย่างเดียวเท่านั้น เยาวชนในโครงการไม่น้อยทีเดียวที่ศึกษาในสาขาแพทย์ศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์

คุณสมบัติขั้นต่ำของผู้สมัคร

[แก้]

สถิติการคัดเลือก

[แก้]

ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการมีเยาวชนสมัครเข้าร่วมโครงการแล้วกว่าหนึ่งหมื่นคน สถิติการคัดเลือกในระดับต่างๆ ปรากฏตังตาราง

ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ผู้สมัครกำลังศึกษาอยู่ชันมัธยมศึกษาปีที่ 1-3)

รุ่นที่ ปีการศึกษา จำนวนผู้สมัคร รับเข้าโครงการระยะสั้น คัดเลือกเข้าโครงการระยะยาว
1 2541 77 22 2
2 2542 133 25 4
3 2543 210 27 3
4 2547 242 29 3
5 2545 542 36 3
6 2546 947 34 4
7 2547 1,001 35 3
8 2548 786 57 5
9 2549 1220 56 3
10 2550 646 35 3
11 2551 629 38
12 2552 471 39

ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ผู้สมัครกำลังศึกษาอยู่ชันมัธยมศึกษาปีที่ 4-6)

รุ่นที่ ปีการศึกษา จำนวนผู้สมัคร รับเข้าโครงการระยะสั้น คัดเลือกเข้าโครงการระยะยาว
1 2541 185 53 6
2 2542 200 59 9
3 2543 283 99 10
4 2544 365 101 8
5 2545 721 112 10
6 2546 543 57 16
7 2547 781 68 15
8 2548 745 65 15
9 2549 1168 62 12
10 2550 425 65 14
11 2551 414 60 11
12 2552 319 68

ผลตอบรับจากสังคม

[แก้]

เกือบสองทศวรรษที่ผ่านมาโครงการได้ส่งเสริมเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้พัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ มีเยาวชนผู้สนใจได้เข้าร่วมโครงการอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี เยาวชนในโครงการทั้งที่ได้รับทุนการศึกษาระยะสั้นและระยะยาวล้วนมีความสามารถโดดเด่นในสถาบันศึกษา ทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ มีเยาวชนในโครงการได้รับรางวัลจากการประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์นานาชาติไอเซฟ ได้รับรางวัลจากการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศ และได้รับทุนการศึกษาไปเรียนต่อต่างประเทศจำนวนมาก

สิทธิ์ประโยชน์และข้อผูกมัดของโครงการ

[แก้]

สิทธิ์ประโยชน์

[แก้]

เยาวชนที่ได้รับทุนระยะยาวมีสิทธิ์ได้รับการสนับสนุนจากโครงการอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะจบปริญญาเอกดังนี้

  • ค่าธรรมเนียมการศึกษา ตามที่จ่ายจริงแก่สถานศึกษาภายในประเทศ โดยไม่เกินอัตราที่กำหนด
  • ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ในอัตราตามระดับชั้นที่ศึกษาอยู่
  • ทุนวิจัยรายปี อัตราต่างกันไปตามระดับชั้นที่ศึกษาอยู่
  • ทุนสนับสนุนการศึกษา อบรม ดูงาน ประชุม หรือ นำเสนอผลงานวิชาการทั้งในและต่างประเทศ (พิจารณาเป็นกรณีไป)
  • ค่ายวิทยาศาสตร์ในระดับต่างๆ ที่โครงการจัด ปีละกว่า 5 ครั้ง (ทั้งโครงการระยะสั้นและระยะยาวรวมกัน)


นอกจากนี้เยาวชนในโครงการยังมีสิทธิ์พิเศษอื่นๆ ที่หน่วยงานภายนอกมอบให้อาทิเช่น

  • สิทธิ์การเข้าเรียนต่อในคณะวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ในมหาวิทยาลัยหลายแห่งของประเทศไทย โดยการสอบสัมภาษณ์เพียงเท่านั้น (ขึ้นกับเงื่อนไขของมหาวิทยาลัย)
  • สิทธิ์ในการเข้าร่วมโครงการอื่นๆ ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

ทั้งนี้ทุนสนับสนุนของโครงการครอบคลุมเยาวชนที่ศึกษาอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น หากเยาวชนได้รับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศจะยังคงสถานะเยาวชนในโครงการอยู่ และได้รับการสนับสนุนจากโครงการในด้านอื่นๆ ตามปกติ

ข้อผูกมัด

[แก้]

ไม่มีข้อผูกผันการปฏิบัติงานหลังจบการศึกษา