โครงการประชาร่วมใจ ประหยัดไฟฟ้า
บทความนี้ไม่มีการอ้างอิงจากแหล่งที่มาใด |
โครงการประชาร่วมใจ ประหยัดไฟฟ้า หรืออาจเป็นที่รู้จักในชื่อ โครงการฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 เป็นโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีจุดประสงค์หลักในการรณรงค์ให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2534 และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2536
ประวัติ
[แก้]จากการเพิ่มจำนวนประชากร การขยายตัวทางสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้การใช้ไฟฟ้าในสังคมไทยเพิ่มขึ้น จึงทำให้กฟผ. จำเป็นต้องเพิ่มการผลิตไฟฟ้า ทำให้ต้องมีการซื้อวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และนอกจากนี้ การผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย ยังอาศัยการเผาเชื้อเพลิงเป็นหลัก จึงเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์โลกร้อน ซึ่งเมื่อพิจารณาดูแล้ว การใช้ไฟฟ้าของคนไทยยังไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร ไฟฟ้าที่เสียเปล่ายังมีมาก สามารถรณรงค์เพื่อลดการสูญเสียไฟฟ้าโดยไม่จำเป็นได้ จึงมีความคิดที่จะตั้งโครงการเพื่อการประหยัดไฟฟ้าขึ้นมา และหลังจากได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ก็ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวมาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน
วัตถุประสงค์
[แก้]- เพื่อรณรงค์ให้ผู้ผลิต/ผู้นำเข้า ผลิตและนำเข้าอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงและมีราคาที่เหมาะสม
- จูงใจและเสริมสร้างทัศนคติการประหยัดไฟฟ้าแก่ประชาชน โดยให้ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ
- เสนอทางเลือกของผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูง
- สนับสนุนและแสวงหาเทคโนโลยีการประหยัดไฟฟ้า รวมทั้งการบริหารการใช้ไฟฟ้าเพื่อนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคและประเทศชาติโดยรวม
การดำเนินการ
[แก้]กฟผ. มุ่งเน้นการจูงใจ โดยการสร้างการรับรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้พลังงานไฟฟ้า โดยเลือกใช้กลยุทธ์ที่ชื่อว่า 3อ. ได้แก่
- อ. อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า มุ่งเน้นการรณรงค์ในภาคที่อยู่อาศัย ซึ่งมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าร้อยละ 25 ของการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ หากภาคที่อยู่อาศัยได้เลือกเปลี่ยนอุปกรณ์เป็นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะสามารถใช้ไฟฟ้าได้อย่างคุ้มค่า และช่วยลดการสูญเสียไฟฟ้าที่เคยเสียไปกับอุปกรณ์ตัวเก่าที่ประสิทธิภาพต่ำ
- อ. อาคารและโรงงานประหยัดไฟฟ้า มุ่งเน้นการรณรงค์ในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าร้อยละ 75 ดังนั้น หากภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม มีการบริหารการใช้ไฟฟ้าที่ถูกต้อง มีการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการลดความร้อนที่เข้าตัวอาคาร ปรับปรุงระบบปรับอากาศ ปรับปรุงระบบแสงสว่าง และจัดอบรมพนักงานให้ใช้พลังงานอย่างถูกต้อง จะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้อย่างมาก
- อ. อุปนิสัยประหยัดไฟฟ้า มุ่งเน้นการรณรงค์กับเยาวชน และประชาชนทั่วไป เพราะทัศนคติ ความรู้ในเรื่องพลังงานของผู้ใช้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5
[แก้]ฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการประชาร่วมใจ ประหยัดไฟฟ้า แต่มีภาพรวมที่เป็นที่รู้จักของประชาชนมากที่สุด โดยหากเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์สองรุ่น รุ่นหนึ่งได้มาตรฐานเบอร์ 5 อีกรุ่นไม่ได้มาตรฐานเบอร์ 5 หากเปรียบเทียบว่าทั้งสองรุ่นใช้ไฟฟ้าเท่ากัน ผลิตภัณฑ์ที่ได้ฉลากเบอร์ 5 จะสามารถให้สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการได้มากกว่าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานเบอร์ 5 และถ้าหากเปรียบเทียบว่าผลิตภัณฑ์สองรุ่นที่ให้สิ่งที่ผู้บริโภคต้องการได้เท่ากัน ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานเบอร์ 5 จะใช้ไฟฟ้าน้อยกว่าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ในปัจจุบัน มีผลิตภัณฑ์ที่ กฟผ. ดำเนินการด้านฉลากกับผลิตภัณฑ์ต่างๆ จำนวน 12 ชนิด ได้แก่
ตู้เย็น
[แก้]ฉลากเบอร์ 5 ของตู้เย็น มีการดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2537 การคำนวณค่าประสิทธิภาพของตู้เย็นออกมาเปรียบเทียบเป็นตัวเลข จะต้องใช้ตัวเลข 2 ค่า คือ ปริมาตรปรับเทียบของตู้เย็น(AV) และปริมาณพลังงานที่ใช้ใน 1 ปี(EC) โดยใช้สูตรการคำนวณคือ
AV =[Vf X {(32-Tf)/(32-Tr)}]+Vr (ค่า AV จะไม่แสดงบนฉลากเบอร์ 5 จะต้องคำนวณเอง หรือสอบถามไปที่ฐานข้อมูลของแต่ละบริษัท) โดยที่
- Vf = ปริมาตรช่องแช่แข็ง (หรือที่มักเรียกกันว่า ช่องฟรีซ) มีหน่วยเป็นลิตร
- Vr = ปริมาตรช่องแช่เย็น มีหน่วยเป็นลิตร
- Tf = อุณหภูมิของช่องแช่แข็ง มีหน่วยเป็นองศาเซลเซียส (ตู้เย็นส่วนใหญ่มีค่านี้เป็น -18)
- Tr = อุณหภูมิของช่องแช่เย็น มีหน่วยเป็นองศาเซลเซียส (ตู้เย็นส่วนใหญ่มีค่านี้เป็น 3)
EC = ปริมาณพลังงานไฟฟ้าที่ใช้หากใช้งานต่อเนื่อง 1 ปี มีหน่วยเป็นกิโลวัตต์ชั่วโมง ({วัตต์ X ชั่วโมง}/1000 เป็นค่าที่ใช้ในการคิดค่าไฟฟ้า และแสดงอยู่ในบรรทัดขาวของฉลากเบอร์ 5)
ในช่วงแรกที่มีโครงการเบอร์ 5 ของตู้เย็น (พ.ศ. 2537) มีตู้เย็นไม่กี่รุ่นเท่านั้นที่ได้มาตรฐานเบอร์ 5 โดยที่ตู้เย็นที่ซื้อขายกันทั่วไปจะสิ้นเปลืองไฟฟ้าเป็น 2 เท่าของตู้เย็นที่ได้มาตรฐาน(หากมี AV เท่ากัน) แต่ด้วยการประชาสัมพันธ์ของกฟผ. ทำให้ประชาชนหันไปซื้อเฉพาะตู้เย็นที่ได้มาตรฐานเบอร์ 5 จึงเกิดการแข่งขันของแต่ละบริษัทเพื่อให้ตู้เย็นของตนประหยัดไฟฟ้าเข้าเกณฑ์เบอร์ 5 ให้มากที่สุด ภายใน 1 ปีหลังการออกเกณฑ์เบอร์ 5 (พ.ศ. 2538) ตู้เย็นที่ไม่ได้มาตรฐานเบอร์5 จากที่เคยครองพื้นที่ได้กว่า 90% ก็แทบจะไม่เหลือในท้องตลาดอีกต่อไป (ตู้เย็นที่ผลิตในปี พ.ศ. 2553 ประหยัดไฟฟ้ากว่าตู้เย็นใน พ.ศ. 2538 ประมาณ 30% แต่ตู้เย็นที่ผลิตในปี พ.ศ. 2538 ประหยัดไฟฟ้ากว่าตู้เย็นใน พ.ศ. 2537 ประมาณ 50%)
หลังจากการพัฒนาการแบบก้าวกระโดดของประสิทธิภาพตู้เย็นใน พ.ศ. 2537 กฟผ. ได้เคยมีการปรับเกณฑ์ประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพของตู้เย็นอย่างไม่หยุดยั้ง โดยในอดีตเคยมีการปรับเกณฑ์ครั้งใหญ่มาแล้ว 2 ครั้ง คือในปี พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2549 โดยเกณฑ์เบอร์ 5 ของตู้เย็นในปัจจุบันเป็นดังนี้
ประเภทของตู้เย็น | ค่า AV | ค่า EC ที่ได้มาตรฐานเบอร์ 5 |
---|---|---|
ตู้เย็น 1 ประตู | น้อยกว่า 100 ลิตร | น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.68AV+255 |
100 ลิตรขึ้นไป | น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.39AV+145 | |
ตู้เย็น 2 ประตูขึ้นไป | น้อยกว่า 450 ลิตร | น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.39AV+388 |
450 ลิตรขึ้นไป | น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.68AV+388 |
นอกจากนี้ กฟผ. ได้แจ้งว่าใน พ.ศ. 2555 จะมีการปรับเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพตู้เย็นเบอร์ 5 ครั้งใหญ่ครั้งที่ 3 โดยเกณฑ์ใหม่ที่จะปรับใช้เป็นดังนี้
ประเภทของตู้เย็น | ค่า AV | ค่า EC ที่ได้มาตรฐานเบอร์ 5 |
---|---|---|
ตู้เย็น 1 ประตู | น้อยกว่า 100 ลิตร | น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.62AV+233 |
100 ลิตรขึ้นไป | น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.36AV+133 | |
ตู้เย็น 2 ประตู ขึ้นไป | น้อยกว่า 450 ลิตร | น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.36AV+354 |
450 ลิตรขึ้นไป | น้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.62AV+354 |
เครื่องปรับอากาศ
[แก้]ฉลากเบอร์ 5 ของเครื่องปรับอากาศ ดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2538 โดยการคำนวณค่าประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศต้องรู้ตัวเลข 2 ค่า คือ อัตราการทำความเย็น (มีหน่วยเป็น บีทียูต่อชั่วโมง หรือมักเรียกกันย่อๆว่า บีทียู) และ กำลังไฟฟ้าที่ใช้ (มีหน่วยเป็นวัตต์)
ค่าประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศ คำนวณโดย อัตราการทำความเย็น หาร กำลังไฟฟ้าที่ใช้ เช่น เครื่องปรับอากาศขนาด 11,600 บีทียู เครื่องหนึ่ง ใช้กำลังไฟฟ้า 1,000 วัตต์ จะมีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 11,600 / 1,000 = 11.6 เป็นต้น
ค่าประสิทธิภาพที่จะได้มาตรฐานเบอร์ 5 ในช่วงแรกอยู่ที่ 10.6 ขึ้นไป แต่ในปี พ.ศ. 2549 ได้มีการปรับเกณฑ์ดังกล่าวเป็น 11.0 ขึ้นไป และสำหรับเครื่องปรับอากาศที่มีขนาดไม่เกิน 27,296 บีทียู ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2554 จะปรับเกณฑ์ขึ้นอีกเป็น 11.6 ขึ้นไป
นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้แนะนำว่า การเลือกขนาดเครื่องปรับอากาศ ควรเลือกให้มีขนาดเหมาะสมกับห้องและการใช้งาน ดังนี้
ขนาดห้อง (ตารางเมตร) | ขนาดที่ควรใช้ (ห้องนอน) | ขนาดที่ควรใช้ (ห้องทำงาน/ห้องรับแขก) | ||
---|---|---|---|---|
แดดส่องน้อย (BTU/hr) | แดดส่องมาก (BTU/hr) | แดดส่องน้อย (BTU/hr) | แดดส่องมาก (BTU/hr) | |
9 - 12 | 7,000 | 8,000 | 9,000 | |
13 - 14 | 8,000 | 9,000 | 11,000 | |
15 - 17 | 9,500 | 11,000 | 13,500 | |
18 - 20 | 12,000 | 13,500 | 16,500 | |
21 - 24 | 15,000 | 16,500 | 20,000 | |
25 - 33 | 18,000 | 20,000 | 26,500 | |
34 - 44 | 24,000 | 26,500 | 30,000 |
หลอดตะเกียบ
[แก้]โครงการรณรงค์เลิกหลอดไส้ ใช้หลอดตะเกียบ เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2539 โดยที่การคิดค่าประสิทธิภาพของหลอดไฟฟ้า จะต้องทราบตัวเลข 2 ค่า คือ ปริมาณแสงสว่างของหลอดไฟ (มีหน่วยเป็น ลูเมน หลอดไฟที่ผู้ผลิตมีคุณธรรมจะระบุค่าดังกล่าวอย่างถูกต้องไว้ด้านข้าง หรือฝา หรือฝาก้นกล่อง) และกำลังไฟฟ้าที่ใช้ (วัตต์) การคิดค่าประสิทธิภาพของหลอดไฟฟ้า ให้นำปริมาณแสงที่หลอดไฟให้ (ลูเมน) มาหารด้วยกำลังไฟ (วัตต์) จะได้ค่าประสิทธิภาพของหลอดไฟฟ้า(หน่วยเป็นลูเมน/วัตต์)
หลอดไฟฟ้าแบบตะเกียบ ที่จะผ่านเกณฑ์มาตรฐานเบอร์ 5 ต้องมีประสิทธิภาพไม่ต่ำกว่าตารางต่อไปนี้
กำลังไฟ (วัตต์) | สีของแสงที่หลอดไฟให้อุณหภูมิสีไม่เกิน 4,400 K (หลอดสีเหลือง วอร์มไวท์) | สีของแสงที่หลอดไฟให้มีอุณหภูมิสีสูงกว่า 4,400 K (หลอดสีขาว เดย์ไลท์) |
---|---|---|
5 - 8 | 50 | 45 |
9 - 14 | 55 | 50 |
15 - 20 | 60 | 55 |
21 - 24 | 60 | |
25 - 60 | 65 |
หลอดตะเกียบ อาจมีบางรุ่นที่ไม่ผ่านมาตรฐานเบอร์ 5 แม้แต่ยี่ห้อที่มีชื่อเสียงยังมีบางรุ่นที่ไม่ได้มาตรฐานเบอร์ 5 ดังนั้น ผู้บริโภคควรดูรายละเอียดข้างกล่องก่อนตัดสินใจซื้อ เพื่อให้ได้หลอดไฟที่มีประสิทธิภาพสูงสุด แต่หลอดตะเกียบทุกรุ่น มีประสิทธิภาพสูงกว่าหลอดไส้เสมอ
ในการรณรงค์เป็นเวลากว่า 10 ปี ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากชาวบ้านรากหญ้าจำนวนมากยังขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับหลอดไส้ โดยซื้อหลอดไส้เพราะเห็นว่าราคาถูก (ประมาณ 10 บาท) เมื่อเทียบกับหลอดตะเกียบ (ประมาณ 100 - 200 บาท) โดยลืมคำนึงไปว่า
- หลอดไส้มีอายุการใช้งาน 1,000 ชั่วโมง ในขณะที่หลอดตะเกียบมีอายุการใช้งาน 6,000 ชั่วโมง ดังนั้น หากเปิดใช้งานวันละ 5 ชั่วโมง ในเวลา 3 ปี หากใช้หลอดไส้จะต้องเปลี่ยนใหมเพราะหลอดขาดถึง 5 ครั้ง (สิ้นสุดปีที่ 3 กำลังใช้หลอดที่ 6) ในขณะที่ถ้าใช้หลอดตะเกียบ จะยังไม่ต้องเปลี่ยนใหม่เลย (สิ้นสุดปีที่ 3 หลอดแรกยังไม่พัง)
- เมื่อต้องการแสงสว่างเท่าเดิม เมื่อใช้หลอดตะเกียบจะใช้ไฟฟ้าลดลงถึง 4 เท่า โดยการเลือกซื้อหลอดตะเกียบแทนหลอดไส้ ควรใช้ตามตารางดังกล่าว
หลอดไส้ (วัตต์) | หลอดจะเกียบที่ให้แสงสว่างใกล้เคียง (วัตต์) |
---|---|
25 | 5 |
40 | 7 - 9 |
60 | 11 - 13 |
75 | 15 |
100 | 20 |
125 | 23 |
หากเปรียบเทียบหลอดไส้และหลอดตะเกียบแล้ว หากเปิดใช้งานวันละ 5 ชั่วโมง ค่าใช้จ่ายรวมระหว่างหลอดไส้และหลอดตะเกียบในช่วงเวลา 3 ปี(เวลาการใช้งานรวม 5,475 ชั่วโมง)จะเป็นดังนี้
ค่าใช้จ่าย | หลอดไส้ 60 วัตต์ | หลอดตะเกียบ 13 วัตต์ ให้แสงเท่าหลอดไส้ |
---|---|---|
ค่าหลอด | 60 บาท (สิ้นปีที่ 3 กำลังใช้หลอดที่ 6) |
150 บาท หลอดแรกยังไม่หมดอายุ |
ค่าไฟฟ้า(คิดหน่วยละ 3.28 บาท) | 1077.48 บาท (หลอด 60 วัตต์) | 233.45 บาท (หลอดไฟ 13 วัตต์) |
รวม | 1,137.48 บาท | 383.45 บาท |
ดังที่จะเห็นว่า หลอดตะเกียบ แม้จะมีราคาแพงกว่า แต่ก็สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้มากกว่าหลอดตะเกียบถึง 5 เท่า และค่าใช้จ่ายรวมสุทธิราวหนึ่งในสามของหลอดไส้เท่านั้น แต่ด้วยความที่ชาวบ้านรากหญ้ายังขาดความเข้าใจในส่วนนี้ จึงยังซื้อหลอดไส้ที่ราคาถูกตามความเชื่อผิดๆ
บัลลาสต์
[แก้]โครงการบัลลาสต์นิรภัยเบอร์ 5 เริ่มดำเนินการครั้งแรกใน พ.ศ. 2541 เพราะบัลลาสต์เป็นอุปกรณ์คู่กับหลอดฟลูออเรสเซนต์ (ไม่ใช่หลอด คอมแพคฟลูออเรสเซนต์ หรือหลอดตะเกียบ แต่เป็นหลอดฟลูออเรสเซนต์ ที่เป็นหลอดยาวๆ ผอมๆ หรือหลอดที่เป็นวงกลมที่ใช้ตามบ้าน) เพราะหลอดฟลูออเรสเซนต์ต้องอาศัยบัลลาสต์ในการปรับกระแสไฟฟ้าให้เหมาะสมกับหลอด แต่ตัวบัลลาสต์ทั่วไปจะทำให้กระแสไฟฟ้าสูญเสียไปประมาณ 10 - 12 วัตต์ ในทุกขนาดของหลอดไฟ (เช่น หลอดตรง 18 วัตต์ ใช้ไฟฟ้าจริง 28-30 วัตต์, หลอดกลม 32 วัตต์ ใช้ไฟฟ้าจริง 42-44 วัตต์, หลอดตรง 36 วัตต์ ใช้ไฟฟ้าจริง 46-48 วัตต์) ดังนั้นจึงมีโครงการบัลลาสต์เบอร์ 5 โดยบัลลาสต์เบอร์ 5 จะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
บัลลาสต์สำหรับหลอดไฟขนาด | สูญเสียไฟฟ้า | กระแส (แอมแปร์) |
---|---|---|
18 วัตต์ | ไม่เกิน 6 วัตต์ | ไม่น้อยกว่า 0.343 |
36 วัตต์ | ไม่น้อยกว่า 0.398 |
บัลลาสต์เบอร์ 5 จะช่วยลดการสูญเสียพลังงานไฟฟ้าได้ 4-6 วัตต์ และจากการที่สูญไฟฟ้าน้อยลง โดยที่ได้แสงสว่างเท่าเดิม หมายถึง การสูญเสียเป็นความร้อนออกมาน้อยลงด้วย บัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์มีอุณหภูมิขณะทำงานประมาณ 75 องศาเซลเซียส ในขณะที่บัลลาสต์ธรรมดามีอุณหภูมิขณะทำงาน 110 - 120 องศาเซลเซียส ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย และช่วยลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศอีกด้วย แต่ตามฐานข้อมูลของกฟผ. แล้ว บัลลาสต์ที่ได้มาตรฐานดังกล่าวในปัจจุบันมีเพียง 10รุ่น จากผู้ผลิต 4 ราย เท่านั้น
ข้าวกล้อง
[แก้]โครงการข้าวกล้องเบอร์ 5 เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2542 โดยก่อนหน้านี้ คนไทยนิยมบริโภคข้าวขาว ซึ่งต้องผ่านการขัดสีถึง 3 ครั้ง เป็นการสิ้นเปลืองพลังงานในการขัดสี และยังทำให้สารอาหารหลายชนิดหลุดออกไปด้วย ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสว่า ทรงต้องการให้คนไทยบริโภคข้าวกล้องเพื่อสุขภาพที่ดี จึงมีการตั้งโครงการข้าวกล้องเบอร์ 5 ขึ้น โดยเกณฑ์มาตรฐานของข้าวกล้องเบอร์ 5 เป็นดังนี้
ชนิดข้าวกล้อง | พื้นข้าว (ร้อยละ) | ส่วนของต้นข้าว ไม่ต่ำกว่า (ร้อยละ) | ส่วนของข้าวหัก (ร้อยละ) | ส่วนผสม (ร้อยละ) | ข้าวและสิ่งที่อาจมีปนได้ไม่เกิน(ร้อยละ) | ||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
เมล็ดยาว | เมล็ดสั้น (ไม่เกิน 6.2 มม.) ไม่เกิน | ข้าวเต็มเมล็ด ไม่ต่ำกว่า | ต้นข้าว | ข้าวหัก ไม่เกิน | เมล็ดแดง | เมล็ดเหลือง | ท้องไข่ | เมล็ดเสีย | ข้าวเหนียวขาว | เมล็ดลีบ เมล็ดอ่อน เมล็ดพืชอื่น และวัตถุอื่น อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่างรวมกัน |
ข้าวเปลือก | ||||
ชั้น 1 (เกิน 7มม.) ไม่ต่ำกว่า | ชั้น 2 และ หรือชั้น 3 (เกิน 6.2 มม. แต่ไม่เกิน 7 มม.) | ||||||||||||||
100% ชั้น 1 | 70 | - | 5 | 8 | ไม่ต่ำกว่า 5 แต่น้อยกว่า 8 | 80 | - | 4 | 1 | 0.5 | 3 | 0.5 | 1.5 | 3 | 0.5 |
100% ชั้น 2 | 55 | - | 6 | 8 | ไม่ต่ำกว่า 5 แต่น้อยกว่า 8 | 80 | - | 4.5 | 1.5 | 0.75 | 6 | 0.75 | 1.5 | 5 | 1 |
100% ชั้น 3 | 40 | - | 7 | 8 | ไม่ต่ำกว่า 5 แต่น้อยกว่า 8 | 80 | - | 5 | 2 | 0.75 | 6 | 0.75 | 1.5 | 5 | 1 |
5% | 30 | - | 10 | 7.5 | ไม่ต่ำกว่า 3.5 แต่น้อยกว่า 7.5 | 75 | - | 7 | 2 | 1 | 6 | 1 | 1.5 | 6 | 1 |
10% | 20 | - | 15 | 7 | ไม่ต่ำกว่า 3.5 แต่น้อยกว่า 7.5 | 70 | - | 12 | 2 | 1 | 7 | 1 | 1.5 | 7 | 2 |
20% | 10 | - | 35 | 6.5 | ไม่ต่ำกว่า 3 แต่น้อยกว่า 6.5 | 65.5 | - | 17 | 5 | 1 | 7 | 1.5 | 2 | 8 | 2 |
จากฐานข้อมูลของ กฟผ. ปัจจุบัน มีผู้ผลิตข้าวกล้องเพียง 2 รายเท่านั้นที่ผลิตข้าวกล้องได้ตรงตามมาตรฐานเบอร์ 5 โดยเจ้าหนึ่ง เป็นข้าวกล้อง 5% อีกเจ้าหนึ่งเป็นข้าวกล้อง 15%
พัดลมไฟฟ้า
[แก้]โครงการพัดลมไฟฟ้าเบอร์ 5 ดำเนินการครั้งแรกใน พ.ศ. 2544 โดยครอบคลุมเฉพาะพัดลมขนาดใบพัด 12 และ 16 นิ้ว ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 90 โดยค่าการคำนวณประสิทธิภาพของพัดลมจะตั้งรู้ตัวเลข 2 ค่า คือ อัตราการพ่นลม (มีหน่วยเป็น ลูกบาศก์เมตรต่อนาที) ซึ่งจะได้จากการทดลองในห้องปฏิบัติการ มักระบุไว้ที่กล่องผลิตภัณฑ์ ฉลากเบอร์ 5 หรือสอบถามที่ศูนย์บริษัทผลิต และกำลังไฟที่ใช้ (มีหน่วยเป็นวัตต์)
การคำนวณค่าประสิทธิภาพ ให้นำอัตราการพ่นลม (ลูกบาศก์เมตรต่อนาที) หารด้วยกำลังไฟ (วัตต์) จะได้ค่าประสิทธิภาพ (มีหน่วยเป็นลูกบาศก์เมตร ต่อนาที ต่อวัตต์) เช่น พัดลมรุ่นหนึ่ง มีอัตราการพ่นลมอยู่ที่ 70 ลูกบาศก์เมตรต่อนาที ใช้ไฟฟ้า 53 วัตต์ มีค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 70/53 = 1.32 เป็นต้น
- พัดลม 12 นิ้ว ต้องมีค่าประสิทธิภาพ 1.10 ขึ้นไป
- พัดลม 16 นิ้ว ต้องมีค่าประสิทธิภาพ 1.30 ขึ้นไป
หม้อหุงข้าวไฟฟ้า
[แก้]โครงการหม้อหุงข้าวไฟฟ้าเบอร์ 5 เริ่มดำเนินการครั้งแรกใน พ.ศ. 2547 เพื่อให้มีหม้อหุงข้าวที่ใช้ไฟฟ้าทำความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การทดสอบค่าประสิทธิภาพจะทดสอบในห้องทดลอง สูตรการคำนวณค่าประสิทธิภาพหม้อหุงข้าวคือ 100[{1.16G1(T2-T1)}/E] + 100[{CG2(T2-T1)}/3.6E] โดยที่
- G1 = มวลน้ำหุงข้าวก่อนการทดสอบ มีหน่วยเป็นกิโลกรัม
- G2 = มวลหม้อหุง มีหน่วยเป็นกิโลกรัม
- T1 = อุณหภูมิน้ำขณะเริ่มทดสอบ มีหน่วยเป็นองศาเซลเซียส
- T2 = อุณหภูมิน้ำสูงสุดขณะทดสอบ มีหน่วยเป็นองศาเซลเซียส
- C = ความจุความร้อนจำเพาะของหม้อหุง มีหน่วยเป็นกิโลจูล/กิโลกรัม-เคลวิน
- E = พลังงานที่ใช้ มีหน่วยเป็นวัตต์-ชั่วโมง
เมื่อคำนวณตัวเลขออกมาจากห้องทดลองแล้ว เกณฑ์ประสิทธิภาพที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเบอร์ 5 คือ
กำลังไฟฟ้าของหม้อหุงข้าว | ค่าประสิทธิภาพขั้นต่ำ สำหรับหม้อหุงข้าวประเภท Jar Type | ค่าประสิทธิภาพขั้นต่ำ สำหรับหม้อหุงข้าวแบบ Rice Cooker |
---|---|---|
มากกว่า 500 แต่ไม่เกิน 600 | 87 | 83 |
มากกว่า 600 แต่ไม่เกิน 700 | 88 | 84 |
มากกว่า 700 | 89 | 85 |
จากฐานข้อมูล มีผู้ผลิตเพียง 4 ราย ที่ผลิตหม้อหุงข้าวได้ตามเกณฑ์มาตรฐานเบอร์ 5
โคมไฟประสิทธิภาพสูง
[แก้]โคมไฟประสิทธิภาพสูง เริ่มดำเนินการใน พ.ศ. 2547 โดยครอบคลุมถึงโคมไฟของหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ชนิดตะแกรง, โคมไฟหลอดขั้วเกลียว E27, โคมไฟหลอดขั้ว G23 โดยเกณฑ์ประสิทธิภาพเป็นดังนี้
ชนิดโคมไฟ | เกณฑ์ประสิทธิภาพ | เกณฑ์อื่นๆ |
---|---|---|
โคมไฟฟลูออเรสเซนต์แบบตะแกรง | สะท้อนแสงออกมาไม่ต่ำกว่า 80% | ผ่านเกณฑ์ค่าแสงบาดตา เกรด A ที่ 500 ลักซ์ |
โคมไฟหลอดขั้วเกลียว E27 | มุมที่แสงกระจายออกต้องไม่เกิน 65 องศา | |
โคมไฟหลอดขั้ว G23 | สะท้อนแสงออกมาไม่ต่ำกว่า 65% |
การเปลี่ยนมาใช้โคมไฟประสิทธิภาพสูงเบอร์ 5 อาจสามารถช่วยลดจำนวนหลอดไฟที่ใช้ในการส่องได้ เพราะโคมไฟที่ไม่ได้มาตรฐาน จะดูดซับแสงจากหลอดไฟไว้ส่วนหนึ่ง ดังนั้นแสงที่ผู้ใช้ได้รับจะน้อยลง ดังนั้น หากเปลี่ยนไปใช้โคมไฟประสิทธิภาพสูง จะได้รับแสงเพิ่มขึ้นโดยที่ใช้ไฟฟ้าเท่าเดิม หรืออาจใช้จำนวนหลอดไฟลดลงได้โดยที่ได้รับแสงสว่างเท่าเดิมด้วยเช่นกัน ช่วยประหยัดไฟได้
บัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์ ที5
[แก้]บัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์ ที5 เริ่มโครงการในปี พ.ศ. 2550 โดยเป็นการนำเข้าบัลลาสต์รุ่นใหม่เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการนำเข้าหลอดฟลูออเรสเซนต์ที 5 รุ่นใหม่ โดยบัลลาสต์รุ่นใหม่สามารถใช้ได้กับหลอดรุ่นใหม่เท่านั้น โดยบัลลาสต์ที 5 เบอร์ 5 รุ่นใหม่ มีการสูญเสียไฟฟ้าไม่เกิน 3 วัตต์ เป็นการปูทางเพื่อเตรียมผลิตและจำหน่ายหลอดฟลูออเรสเซนต์รุ่นใหม่ในปี 2552
พัดลมส่ายรอบตัว
[แก้]พัดลมประเภทเดียวกับพัดลมตั้งพื้นที่ติดอยู่บนเพดาน แล้วหมุนส่ายไปรอบตัวขณะใช้งาน มีโครงการเบอร์ 5 ใน พ.ศ. 2551 โดยใช้เกณฑ์เดียวกับพัดลมไฟฟ้าแบบทั่วไป
หลอดฟลูออเรสเซนต์ที5
[แก้]เดิมทีนั้น ประเทศไทยใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 12 หุน หรือ ที12 (เท่ากับ 2.54 ซม.) เรียกกันว่า "หลอดอ้วน" ซึ่งมี 2 ขนาด คือ 20 และ 40 วัตต์ ซึ่งต่อมาในปีพ.ศ. 2536 คนไทยก็เริ่มหันไปซื้อหลอดฟลูออเรสเซนต์รุ่นใหม่ในขณะนั้น มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 หุน หรือ ที8 เรียกกันว่า "หลอดผอม" ซึ่งมี 2 ขนาด คือ 18 และ 36 วัตต์ แต่สามารถให้แสงสว่างได้เทียบเท่าหลอดอ้วน 20 กับ 40 วัตต์ได้ ตามลำดับ
พ.ศ. 2552 หลอดไฟรุ่น "ผอมกว่า" ได้เริ่มจำหน่ายในประเทศไทย (หลังจากบัลลาสต์ ที 5 เข้ามา 2 ปี) ฟลูออเรสเซนต์รุ่นใหม่นี้มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 หุน หรือ ที5 เรียกกันว่า "หลอดเส้น" มี 2ขนาด คือ 14 และ 28 วัตต์ แต่ให้แสงได้เทียบเท่าหลอดผอมแบบ 18 และ 36 วัตต์ ตามลำดับ ยิ่งเมื่อนับบัลลาสต์ที่ประหยัดไฟกว่าบัลลาสต์ของที8 แล้ว ชุดหลอดไฟที 5 รุ่นใหม่ ให้แสงเท่าเดิมโดยประหยัดไฟกว่าได้ถึง 30%
หลอดที 5 มีเกณฑ์มาตรฐานเบอร์ 5 ดังนี้
รายละเอียด | หน่วย | หลอด 28 วัตต์ | หลอด 14 วัตต์ | ||
---|---|---|---|---|---|
สีขาว ค่าสีไม่ต่ำกว่า 5000K | สีเหลือง ค่าสีต่ำกว่า 5000K | สีขาว ค่าสีไม่ต่ำกว่า 5000K | สีเหลือง ค่าสีต่ำกว่า 5000K | ||
ค่าการส่องสว่าง (ไม่ต่ำกว่า) | ลูเมน | 2,600 | 2,660 | 1,120 | 1,200 |
คิดเป็นประสิทธิภาพ (ไม่ต่ำกว่า) | ลูเมนต่อวัตต์ | 92.85 | 95.00 | 80.00 | 85.71 |
การดำรงแสงสว่างหลังการใช้งาน 2,000 ชั่วโมง(ไม่ต่ำกว่า) | ร้อยละ (เมื่อเทียบกับความสว่างเริ่มแรก) | 92 | 92 | 92 | 92 |
ดัชนีความถูกต้องของสี ตามดัชนี CRI (ไม่ต่ำกว่า) | - | 82 | 82 | 82 | 82 |
ปริมาณสารปรอท ตาม RoHS (ไม่เกิน) | มิลลิกรัม | 5 | 5 | 5 | 5 |
อายุการใช้งาน (ไม่ต่ำกว่า) | ชั่วโมง | 15,000 | 15,000 | 15,000 | 15,000 |
ผ่านการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม | - | มอก.956-2533 | มอก.956-2533 | มอก.956-2533 | มอก.956-2533 |
ปัจจุบัน หลายหน่วยงานและห้างสรรพสินค้าชื่อดังบางสาขาได้เปลี่ยนหลอดไฟที8 ออกเป็นหลอดที 5 ทั้งหมด และลดค่าใช้จ่ายได้หลายหมื่นหลายแสนบาทต่อเดือน โดยที่ลูกค้าและผู้ติดต่อไม่รู้สึกว่ามืดลงเลยแม้แต่น้อย
เครื่องรับโทรทัศน์และจอคอมพิวเตอร์
[แก้]ในเครื่องรับโทรทัศน์และหน้าจอคอมพิวเตอร์ จะมีโหมดพร้อมใช้งาน (Stand By) ซึ่งการปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าผ่านรีโมทคอนโทรล แม้จะปิดหน้าจอ แต่จะเปิดโหมดพร้อมใช้งานไว้ ซึ่งจะทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ปิดโดยสมบูรณ์ แต่ยังต้องใช้พลังงานอีกเล็กน้อย ส่วนใหญ่จะอยู่ประมาณ 3-10 วัตต์ แล้วแต่เครื่องใช้ไฟฟ้า ถึงจะน้อย แต่เมื่อเปิดทิ้งไว้ค้างคืน หลายล้านเครื่องรวมกัน กลายเป็นไฟฟ้าสูญเสียโดยเปล่าประโยชน์หลายล้านวัตต์ ที่ผ่านมาได้มีการรณรงค์ให้ปิดเครื่องที่สวิตช์ที่ตัวเครื่อง ไม่ปิดโทรทัศน์โดยรีโมทคอนโทรล(และไม่ปล่อยให้หน้าจอคอมพิวเตอร์ให้ดับเองเมื่อปิดเครื่อง) เมื่อไม่จำเป็น แต่ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร
ส่วนการจะทำให้การปิดโดยใช้รีโมทคอนโทรล(และการปิดเองของหน้าจอคอมพิวเตอร์เมื่อปิดเครื่อง)เป็นการปิดโดยไม่เปิดโหมดพร้อมใช้งานนั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากการปิดโดยวิธีดังกล่าว อาจเป็นกรณีของการที่โทรทัศน์หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ถูกติดตั้งอยู่ในบริเวณที่ไม่สามารถเอื้อมมือถึงได้ หรือเป็นกรณีการช่วยเหลือผู้พิการทางร่างกายในการปิด/เปิดเครื่องได้ง่ายขึ้น หรือกรณีอื่นๆ หากการปิดเครื่องโดยวิธีดังกล่าว ไม่เปิดโหมดพร้อมใช้งานไว้ ทุกระบบจะปิด และการเปิดครั้งต่อไปจะจำเป็นต้องไปเปิดที่ตัวเครื่องเสมอ จึงต้องมีโหมดพร้อมใช้งานไว้ โดยจะยังเปิดอุปกรณ์ส่วนหนึ่งไว้ เพื่อเตรียมเปิดเครื่องเมื่อได้รับสัญญาณระยะไกลจากรีโมทคอนโทรล(หรือจากซีพียูของเครื่องคอมพิวเตอร์) การไม่ใช้โหมดพร้อมใช้งานเมื่อไม่จำเป็น จึงขึ้นอยู่กับผู้ใช้
เมื่อไม่ได้รับความร่วมมือ ใน พ.ศ. 2553 จึงได้มีมาตรการใหม่โดยทำโครงการฉลากเบอร์ 5 สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์และจอคอมพิวเตอร์ โดยเป็นเบอร์ 5 ที่ไม่พิจารณาการทำงานขณะเปิดใช้งานเลย จะพิจารณาเฉพาะขณะปิดใช้งาน โดยโหมดพร้อมใช้งานทั้งระบบ จะต้องใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 1 วัตต์ จึงจะได้มาตรฐานเบอร์ 5 เพื่อลดการสูญเสียพลังงานจากโหมดพร้อมใช้งาน
รูปแบบฉลาก
[แก้]![](http://upload.wikimedia.org/wikipedia/th/thumb/1/13/L_compact2008.gif/220px-L_compact2008.gif)
ฉลากเบอร์ 5 นี้ มิใช่ว่าคุณสมบัติประสิทธิภาพเข้าเกณฑ์แล้วจะได้รับฉลากในทันที แต่ผู้ผลิตจะต้องสมัครเข้าร่วมโครงการ และปฏิบัติตามขั้นตอนของโครงการ โดยการส่งตัวอย่างให้ กฟผ. ส่งไปวัดผลประสิทธิภาพ และทำตามขั้นตอนอื่นๆ ของโครงการให้ครบถ้วน จึงจะได้รับฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5
แต่ในปัจจุบัน มีการปลอมแปลงฉลากเบอร์ 5 ไปใช้เพื่อจุดประสงค์ทางธุรกิจ ดังนั้น ในปัจจุบัน กฟผ. จึงได้ปรับปรุงรูปแบบฉลากให้แตกต่างจากฉลากในช่วงหลายปีก่อน โดยมีส่วนประกอบดังนี้
- พื้นหลังโดยรวมเป็นสีเหลือง มีตราสัญลักษณ์กระทรวงพลังงานอยู่ตรงกลาง
- ตัวเลขระดับประสิทธิภาพอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้ เลขสีขาว ในวงกลมสีแดง และตัวเลขเรียง 1-5 ในครึ่งวงกลม แบ่งครึ่งวงกลมเป็น 5 ส่วน แสดงตัวเลขเป็นสีเขียว และคำอธิบายเป็นสีขาวบนพื้นสีเขียว ยกเว้นช่องที่เป็นตัวเลขระดับที่ได้ จะแสดงเป็นสีแดง และคำอธิบายจะเป็นสีขาวในพื้นสีแดง
- มุมบนขวา มีระบุ “เกณฑ์พลังงานปี” และ ด้านล่างมีระบุปีที่กำหนดเกณฑ์พลังงาน ซึ่งเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด ผู้บริโภคควรเลือกซื้อสินค้าเบอร์ 5 ที่ระบุเกณฑ์พลังงานปี 2011 สำหรับพัดลม และปี 2008 หรือมากกว่า สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ
- บรรทัดต่อมาระบุว่า “ฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพอุปกรณ์ไฟฟ้า”
- บรรทัดต่อมา ระบุชนิดของอุปกรณ์
- บรรทัดต่อมาเป็นตาราง 2 บรรทัด แสดงค่าประสิทธิภาพของอุปกรณ์
- ต่อๆ มา แสดงรายละเอียดผลิตภัณฑ์
เบอร์ 5 ไม่มีฉลากแบบย่อ หากฉลากเบอร์ 5 ที่ติดบนผลิตภัณฑ์ไม่เข้ารูปแบบดังกล่าว หรือมีเพียงครึ่งเดียว เป็นฉลากปลอม
มาตรการสุ่มกลับ
[แก้]เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค โครงการฯ จะจัดการสุ่มกลับผลิตภัณฑ์ คือ จะซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับฉลากเบอร์ 5 จากท้องตลาดทั่วไป มาตรวจสอบซ้ำตามกำหนด ซึ่งหากผลการตรวจสอบที่ได้ ไม่เปลี่ยนแปลง ผู้ผลิต จะได้รับฉลากใหม่ ที่จะระบุ “เกณฑ์พลังงานปี” ที่เป็นปีที่ทดสอบ (เป็นปัจจุบันมากขึ้น) มาตรการสุ่มกลับครั้งใหญ่ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2551 ดังนั้น เพื่อสิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ควรเลือกซื้อสินค้าที่มีระบุเกณฑ์พลังงานในฉลากไม่ต่ำกว่าปี 2008
แต่หากผลที่ได้จากการสุ่มกลับ เปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย และยังอยู่ในเกณฑ์เบอร์ 5 ผู้ผลิตจะได้รับฉลากใหม่ที่เป็นปัจจุบัน แต่จะต้องเปลี่ยนแปลงตัวเลขค่าประสิทธิภาพที่แสดงบนฉลากและในแคตตาล็อกสินค้าให้ถูกต้อง และส่งให้ กฟผ. ตรวจสอบด้วย
แต่ถ้าค่าประสิทธิภาพจากการสุ่มกลับน้อยลงจากผลิตภัณฑ์ตัวอย่างที่ส่งให้โครงการฯ ตรวจสอบแต่แรกอย่างยิ่งยวด โครงการฯ จะยึดคืนฉลากของผลิตภัณฑ์ในรุ่นที่ไม่ผ่านคืนทั้งหมด และสั่งห้ามติดฉลากเบอร์ 5 ในผลิตภัณฑ์รุ่นนั้นๆ 1 ปี และจะลงประกาศในเว็บไซต์ กฟผ. ให้ประชาชนรับทราบ
หากการกระทำผิดดังกล่าว เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โครงการฯ จะยึดฉลากของผลิตภัณฑ์ทุกรุ่นของผู้ผลิตรายนั้น และเพิกถอนสิทธิเข้าร่วมโครงการ 3 ปี