ข้ามไปเนื้อหา

โขนขุขันธ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

โขนขุขันธ์ เป็นการแสดงนาฏยศิลป์ที่เกิดขึ้นในเมืองขุขันธ์ (ปัจจุบัน คือ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ)

การแสดงโขนขุขันธ์

ประวัติ

[แก้]

การแสดงโขนขุขันธ์ เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2426 ประมาณรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ซึ่งมีวิวัฒนาการมาจากการที่พระยาขุขันธ์ภักดีศรีนนครลำดวน (ปัญญา ขุขันธิน) เจ้าเมืองขุขันธ์ท่านที่ 9 ได้นำครูโขนมาจากกรุงเทพฯ และครูโขนจากกัมพูชาเข้ามาถ่ายทอดและฝึกหัดการแสดง เมื่อปี พ.ศ. 2426-2447 นักแสดงใช้ผู้ชายล้วน โดยใช้ภาษาเขมรในการแสดง เนื่องจากเมืองขุขันธ์มีกลุ่มชาติพันธุ์เขมรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เพื่อให้ประชาชนเข้าใจในเนื้อเรื่องมากขึ้น

ต่อมาคณะโขนได้สืบทอดมาถึงพระยาบำรุงบุระประจันต์ (จันดี กาญจนเสริม) พ.ศ. 2450-2452 รูปแบบการแสดงทั้งหมดมีลักษณะเช่นเดียวกับคณะของพระยาขุขันธ์ภักดีศรีนครลำดวน (ปัญญา ขุขันธิน) แตกต่างกันที่ใช้ภาษาไทยในการแสดง และสืบทอดมาถึงคุณยายบัวแก้ว กาญจนเสริม พ.ศ. 2452-ยุคครูบรรณ มากนวล (ไม่ได้ระบุ พ.ศ.)

จากการที่นายบุญเลิศ จันทร อดีตครูใหญ่โรงเรียนขุขันธ์วิทยา ได้ฝึกซ้อมนักเล่นโขน ตอนท้าวมาลีราชว่าความ เล่นรอบกองไฟในงานของโรงเรียนขุขันธ์วิทยา และนายศิริ ศิลาวัฒน์ อดีตครูหัวหน้ากลุ่มโรงเรียนตำบลหัวเสือที่อำเภอได้ฝึกซ้อมโขน ตอน พระลักษมณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์ และสังหารกุมภกรรณ เครื่องแต่งกายเท่าที่จะหาได้ไม่มีหัวโขนแต่ใข้หน้ากากปิดหน้าแทน

พ.ศ. 2510-2513 ได้แสดงในงานกาชาดประจำปีของจังหวัดศรีสะเกษ บรรเลงประกอบการแสดงโดยวงปี่พาทย์บ้านหัวเสือ สืบเนื่องมาจากผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ (นายกำเกิง สุรการ) ได้ให้ทางอำเภอขุขันธ์ฝึกซ้อมการแสดงโขนเพื่อใช้แสดงในงานกาชาด นายอำเภอขุขันธ์ (นายสม ทัดศรี) จึงได้ให้นายศิริ ศิลาวัฒน์ จัดทำบทให้ผู้ฝึกซ้อมดำเนินการ 4 ตอน คือ

  • ตอน กำเนิด พาลี สุครีพ หนุมาน
    ฉากการออกรบ
  • ตอน ทรพีฆ่าพ่อ และพาลีฆ่าทรพี
  • ตอน หนุมานส่งข่าวนางสีดา และเผากรุงลงกา
  • ตอน พระลักษมณ์ต้องหอกโมกขศักดิ์ และสังหารกุมภกรรณ

ในปัจจุบันการแสดงโขนขุขันธ์ ขาดการสืบทอด และได้สูญหายไป นับว่าน่าเสียดายอย่างยิ่ง

ลักษณะการฝึกหัด

[แก้]

มีการฝึกหัดเบื้องต้น ได้แก่ ตบเข่า ถองสะเอว ดัดมือ เต้นเสา ตีลังกา และการฝึกเข้าเรื่อง แต่ไม่มีการฝึกแม่ท่าหรือรำเพลงช้า เพลงเร็วเหมือนโขนกรุงเทพฯ

ลักษณะการแสดง

[แก้]

ลักษณะการแสดงของโขนขุขันธ์ เป็นการแสดงที่ผสมผสานระหว่างการแสดงโขนกรุงเทพฯและโขนกัมพูชา โดยได้ปรับปรุงวิธีการแสดงให้เหมาะสมกับสังคมชาวขุขันธ์ โขนขุขันธ์ไม่มีบทพากษ์ มีแต่การเจรจาซึ่งเหมือนกับการพูดคล้องจองกัน ในการแสดงในยุคแรกใช้ผู้ชายแสดงล้วน ต่อมาใช้ทั้งชายและหญิงสามารถแสดงได้ทั้งตัวพระ นาง ยักษ์ ลิง บทที่ใช้มีลักษณะเป็นกลอนเลียนแบบกลอนบทละคร

ลักษณะการรบระหว่างยักษ์และลิง

[แก้]

จะแตกต่างจากโขนกรุงเทพฯ คือ ใช้ท่ากระบี่กระบอง หรือ ท่าฟันดาบในการรบ ส่วนการขึ้นลอยจะมีการใช้ท่าขึ้นลอยหลังเพียงลอยเดียว

เครื่องแต่งกาย

ลักษณะเครื่องแต่งกาย

[แก้]

เครื่องแต่งกายจะแต่งยืนเครื่อง แต่ไม่วิจิตรงดงามอย่างโขนกรุงเทพฯ ลักษณะการปักจะใช้เลื่อมปักเป็นลวดลาย

วงดนตรีที่ใช้บรรเลง

[แก้]

ใช้วงปี่พาทย์อีสานใต้ เพลงที่ใช้ในการแสดงมีลักษณะแปร่งหรือเพี้ยนกว่าเพลงโขนกรุงเทพฯ ลักษณะเพลงส่วนใหญ่จะออกไปทางเขมร แต่มีลูกตกบางเพลงอยู่ในทำนองเพลงไทย