ข้ามไปเนื้อหา

เจอโรนิโม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก โกยาตเลย์)
ภาพถ่ายเจอโรนิโม ถ่ายเมื่อประมาณ พ.ศ. 2448
ภาพถ่ายเจอโรนิโม

เจอโรนิโม เป็นชาวอินเดียนแดง ในชนเผ่าอาปาเช เบดอนโคเฮ เกิดเมื่อวันที่ เกิดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2372 (ค.ศ. 1829) ในบริเวณที่ในปัจจุบันเป็นรัฐนิวเม็กซิโก มีชื่อจริงว่า โกยาตเลย์ (Goyathlay) ในขณะนั้น รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้พยายามขับไล่ชาวอินเดียนแดงออกไปเพื่อขยายอาณาเขตของประเทศ อินเดียนแดงหลายเผ่ายอมถอย แต่บางเผ่า ซึ่งรวมทั้งเผ่าอาปาเช เบดอนโคเฮ ของเจอโรนิโม ที่ไม่ยอมถอย และออกตอบโต้อเมริกาโดยการดักปล้นเสบียงและอาวุธของอเมริกาที่ขนส่งเข้ามาใกล้ ๆ

พ.ศ. 2401 (ค.ศ. 1858) กลางปี โกยาตเลย์ ครอบครัว และชนเผ่าอาปาเชบางส่วนได้ปลีกตัวออกมาเพื่อทำการค้าขายกับเมืองในเม็กซิโก แต่ว่า ในขณะที่นักรบและผู้ชายไปค้าขาย หน่วยม้าลาดตระเวนของเม็กซิโกกลับบุกถล่มค่าย สังหารผู้หญิงและเด็กทุกชีวิตในค่ายชั่วคราวแห่งนั้น

เมื่อหัวหน้าเผ่าอาปาเช เบดอนโคเฮทราบเรื่อง จึงขอความช่วยเหลือไปยังเผ่า 2 เผ่า ที่เป็นมิตรกับเผ่าอาปาเช เบดอนโคเฮ ซึ่งได้แก่ เผ่าอาปาเช เน็คนี และเผ่าอาปาเช โคเน็นเพื่อจะได้ร่วมมือกันทำสงครามกับเม็กซิโก

เผ่าอาปาเชทั้งสาม เริ่มสงครามกับเม็กซิโกใน พ.ศ. 2402 (ค.ศ. 1859) โดยในฤดูร้อน ก็เริ่มโจมตีหน่วยทหารลาดตระเวนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในแถบชนบทของเม็กซิโก โดยมีโกยาตเลย์เป็นผู้นำทีมปล้นสะดม เผ่าอาปาเชทั้งสาม ออกปล้นอย่างต่อเนื่อง โดยรัฐบาลเม็กซิโกก็ไม่สามารถจับกุมได้เลย ดังนั้น ในพ.ศ. 2405 (ค.ศ. 1862) รัฐบาลอเมริกัน ได้ร่วมมือกับรัฐบาลเม็กซิโก เพื่อการจับกุมโกยาตเลย์โดยเฉพาะ และนอกจากนี้ยังให้ชื่อโกยาตเลย์ใหม่ สำหรับเรียกกันในหมู่ชาวเม็กซิกันและอเมริกันว่า เจอโรนิโม จนเป็นคำเรียกติดปากมาจนถึงปัจจุบัน

หลังจากรัฐบาลของเม็กซิโกและอเมริการ่วมมือกันแล้ว ก็ได้แต่งตั้งนายพลจอร์จ ครูก เป็นผู้บัญชาการในภารกิจจับกุมเจอโรนิโม สามารถจับกุมนักรบเผ่าอาปาเชได้หลายคน แต่จับกุมเจอโรนิโมไม่ได้ จนกระทั่ง ประมาณกลางปี พ.ศ. 2405 รัฐบาลได้ยื่นข้อเสนอให้เผ่าอาปาเชทั้งสามทำสนธิสัญญาสันติภาพกับพวกเขา เผ่าอาปาเชทั้งสามประชุมกัน มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ผลสุดท้าย มติออกมาว่า เผ่าอาปาเชจะยินยอมทำสนธิสัญญานี้ โดยหัวหน้าชองเผ่าอาปาเช เบดอนโคเฮ และหัวหน้าเผ่าของเผ่าอาปาเช เน็คนี จะไปเป็นตัวแทนทำสนธิสัญญา ส่วนหัวหน้าเผ่าอาปาเช โคเน็น อยู่ในที่มั่นของเผ่า

ทุกอย่างดูเหมือนจะจบด้วยดี ตัวแทนทั้งสองออกเดินทางในต้นพ.ศ. 2406 การเจรจาเป็นไปด้วยดี แต่นายพลเซอร์ริแดน คนระดับสูงของเหล่าทหารอเมริกันทำนอกแผน ส่งคนมาลอบฆ่าหัวหน้าเผ่าทั้งคู่ใน พ.ศ. 2406 และต่อมาใน พ.ศ. 2417 (ค.ศ. 1874) ก็ส่งทหารไปทำลายที่มั่นของเผ่าอาปาเชอีก หัวหน้าเผ่าอาปาเช โคเน็น หัวหน้าเผ่าคนเดียวที่เหลืออยู่ สั่งให้เจอโรนิโมพาผู้หญิงและเด็กหนีไปหลบภัยที่เขตของชนเผ่าชิริคาฮัว แล้วเหลือไว้เพียงผู้ชาย 80 คนออกต้านกำลังทหาร แต่ต้านไม่ได้ ถูกฆ่าตายจนหมด

ในราวต้นๆพ.ศ. 2429 (ค.ศ. 1886) นายพลจอร์จ ครูก ถูกปลดทุกตำแหน่งที่เขามีในภารกิจจับกุมเจอโรนิโม และแต่งตั้งนายพลเนลสัน ไมลส์ (Nelson A. Miles) เป็นผู้บัญชาการคนใหม่ในภารกิจจับกุมเจอโรนิโม

เจอโรนิโม ได้เป็นหัวหน้าคนใหม่ของเผ่าอาปาเช เบดอนโคเฮ ได้นำชนเผ่าอพยพครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อหนีการตามล่าของรัฐบาล แต่สุดท้ายก็เสียรู้ต่อเล่ห์เหลี่ยมของทหารภายใต้การนำของนายพลเนลสัน ไมลส์ ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2429 ถูกกำลังทหารล้อมจับ เจอโรนิโมยอมจำนนต่อกำลังทหารสหรัฐอเมริกันที่สเกเลตัน แคนยอน รัฐแอริโซนา และถูกจับกุม

เจอโรนิโมเสียชีวิตด้วยโรคปอดอักเสบในวันที่ 17 เดือนกุมภาพันธ์ของไทย พ.ศ. 2451 (ค.ศ. 1909) (สมัยนั้น พุทธศักราชนับวันที่ 1 เมษายนเป็นวันขึ้นปีใหม่ วันที่ 17 กุมภาพันธ์ ในช่วงนั้นถือว่ายังไม่ขึ้นเป็นพ.ศ. 2452 แต่ยังเป็น พ.ศ. 2451)

อ้างอิง

[แก้]
  • เจอโรนิโม วีรชนอินเดียแดงแห่งแผ่นดินอเมริกา, จีรวัฒน์ บุญห่อและ ทนงศ์ จันทะมาตย์ ,สำนักพิมพ์ E.Q. Plus, ISBN 974-94657-0-9