ข้ามไปเนื้อหา

แฮ็กฟิช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แฮ็กฟิช
ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ยุคย่อยเพนซิลเวเนียน–ปัจจุบัน
แฮ็กฟิชแปซิฟิก (Eptatretus stonti)
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์
อาณาจักร: Animalia
ไฟลัม: Chordata
ไฟลัมย่อย: Vertebrata
ชั้นใหญ่: Agnatha
ไม่ได้จัดลำดับ: Craniata
ชั้น: Myxini
อันดับ: Myxiniformes
วงศ์: Myxinidae
Rafinesque, 1815
สกุล
ชื่อพ้อง
  • Bdellostomatidae Gill, 1872
  • Homeidae Garman, 1899
  • Paramyxinidae Berg, 1940
  • Diporobranchia Latreille, 1825

แฮ็กฟิช (อังกฤษ: hagfish, slim eel) เป็นปลาในชั้นปลาไม่มีขากรรไกรเพียงหนึ่งในสองจำพวกที่ยังสืบเผ่าพันธุ์มาจนถึงปัจจุบัน (อีกหนึ่งจำพวก คือ ปลาแลมป์เพรย์) ที่อยู่ในชั้น Myxini ซึ่งมีเพียงอันดับเดียว คือ Myxiniformes และวงศ์เดียว คือ Myxinidae

แฮ็กฟิชเป็นปลาที่อยู่ในทะเล โดยการกินปลาตาย หรือใกล้ตายรวมทั้งสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่มีลำตัวอ่อนนุ่ม เช่น หนอนปล้อง มอลลัสคาและครัสเตเชียนเป็นอาหาร จึงต่างจากปลาแลมป์เพรย์ที่ใช้ชีวิตเหมือนเป็นปรสิต และไม่ได้เป็นสัตว์ล่าเหยื่อ แต่ค่อนมาทางกินซากสัตว์มากว่า

แฮ็กฟิชมีต่อมเมือกทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่กระจายอยู่ที่ผิวหนังและมีต่อมเมือกเรียงตัวเป็นแนวอยู่ทางด้านข้างตลอดความยาวของลำตัว มีคำกล่าวว่า แฮ็กฟิช 1 ตัว สามารถทำให้น้ำ 1 ถัง แปรสภาพเป็นก้อนวุ้นสีขาวภายใน 1 นาที จากเมือกของตัวที่ปล่อยออกมา ซึ่งมีความเหนียวมากกว่าใยแมงมุมด้วยซ้ำ สามารถใช้ในการห้ามเลือดได้ และนักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาเพื่อที่นำไปพัฒนาในการสร้างใยสังเคราะห์[1]

แฮ็กฟิชมีประมาณ 67 ชนิด[2] ชนิดที่รู้จักกันดีในทวีปอเมริกาเหนือ ในมหาสมุทรแอตแลนติก คือ ชนิด Myxine glutinosa และในมหาสมุทรแปซิฟิก คือ แฮ็กฟิชแปซิฟิก (Eptatretus stonti)

แฮ็กฟิชจะกินปลาตายหรือปลาใกล้ตายโดยการกัดไชเข้าไปทางทวารหรือถุงเหงือก ซึ่งปากของแฮ็กฟิชจะอยู่ส่วนล่างของหัวต่ำลงมาเมื่อเปรียบเทียบกับปลาแลมป์เพรย์ แล้วกินส่วนของตัวปลาที่อ่อนนุ่มเหลือไว้แต่หนังและกระดูก นอกจากนี้แฮ็กฟิชยังกินปลาที่ติดอวนลอยอยู่ ทำความเสียหายให้แก่ชาวประมง แต่หลังจากมีการประมงโดยใช้อวนลากขนาดใหญ่ที่มีประสิทธิภาพสูง ปัญหาที่เกิดจากแฮ็กฟิชจึงลดลง[3]

และในบางประเทศ ก็มีการปรุงแฮ็กฟิชรับประทานเป็นอาหารเช่นเดียวกับปลาแลมป์เพรย์ เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เป็นต้น[4]

ในน่านน้ำไทยเคยมีรายงานพบแฮ็กฟิชด้วย ในฝั่งทะเลอันดามันในเขตที่ลึกกว่า 200 เมตร[5]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. ปลาทะเลตอนที่ 2, แฟนพันธุ์แท้ รายการ: ศุกร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2549 ทางช่อง 5
  2. จาก Fishbase.org (อังกฤษ)
  3. "ปลาไม่มีขากรรไกร (SuperClass Agnatha)". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2010-12-13. สืบค้นเมื่อ 2011-09-24.
  4. Kawakoshi, A., Hyodo, S., Yasuda, A., & Takei, Y. (2003). A single and novel natriuretic peptide is expressed in the heart and brain of the most primitive vertebrate, the hagfish (Eptatretus burgeri). Journal of Molecular Endocrinology, 31 (1), 209"220.
  5. ชวลิต วิทยานนท์ ดร., ปลาน้ำจืดไทย (กรุงเทพ พ.ศ. 2544) หน้า 17 ISBN 974-475-655-5