ข้ามไปเนื้อหา

แฮร์รี่ พอตเตอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แฮร์รี่ พอตเตอร์
The Harry Potter logo, used first in American editions of the novel series and latฃฃer in films.
1. แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์
2. แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ
3. แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน
4. แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี
5. แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์
6. แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม
7. แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต
ผู้ประพันธ์เจ. เค. โรว์ลิง
ชื่อต้นฉบับHarry Potter
ผู้แปลไทย สุมาลี บำรุงสุข
ไทย วลีพร หวังซื่อกุล
ไทย งามพรรณ เวชชาชีวะ
ประเทศสหราชอาณาจักร
ภาษาอังกฤษ
ประเภทหนังสือวรรณกรรมเยาวชน, แฟนตาซี, ลึกลับ, เรื่องตื่นเต้น, การเปลี่ยนผ่านของวัย
สำนักพิมพ์สหราชอาณาจักร สำนักพิมพ์บลูมส์บรี
สหรัฐ สำนักพิมพ์สกอแลสติก
ไทย สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์
วันที่ตีพิมพ์26 มิถุนายน ค.ศ. 1997 – 21 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 (ตีพิมพ์ครั้งแรก)
ประเภทสิ่งตีพิมพ์

แฮร์รี่ พอตเตอร์ (อังกฤษ: Harry Potter) เป็นชุดนวนิยายแฟนตาซีจำนวนเจ็ดเล่ม ประพันธ์โดยนักเขียนชาวอังกฤษชื่อว่า เจ. เค. โรว์ลิง เป็นเรื่องราวการผจญภัยของพ่อมดวัยรุ่น แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเพื่อนสองคน รอน วีสลีย์ และ เฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์ ซึ่งทั้งหมดเป็นนักเรียนของโรงเรียนคาถาพ่อมดแม่มดและเวทมนตร์ศาสตร์ฮอกวอตส์ โครงเรื่องหลักเกี่ยวกับภารกิจของแฮร์รี่ในการเอาชนะพ่อมดศาสตร์มืดที่ชั่วร้าย ลอร์ดโวลเดอมอร์ ผู้ที่ต้องการจะมีชีวิตเป็นอมตะ มีเป้าหมายเพื่อพิชิตมักเกิ้ล หรือประชากรที่ไม่มีอำนาจวิเศษ พิชิตโลกพ่อมดและทำลายทุกคนที่ขัดขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แฮร์รี่ พอตเตอร์[1]

หนังสือเล่มแรกในชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ วางจำหน่ายในฉบับภาษาอังกฤษครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1997 และนับตั้งแต่นั้น หนังสือก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ทั้งได้รับการยกย่องอย่างสำคัญและประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ทั่วโลก[2] อย่างไรก็ดี ชุดนวนิยายดังกล่าวก็มีข้อวิจารณ์บ้าง รวมถึงความกังวลถึงโทนเรื่องที่มืดมนขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2013 ชุดหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ได้ทำยอดขายไปมากกว่า 500 ล้านเล่มทั่วโลก ซึ่งเป็นชุดหนังสือที่มียอดขายมากที่สุดตลอดกาล และมีการแปลไปเป็นภาษาต่าง ๆ รวม 80 ภาษา[3] หนังสือสี่เล่มสุดท้ายของชุดยังได้สร้างสถิติเป็นหนังสือที่จำหน่ายออกหมดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยหนังสือเล่มสุดท้ายของชุดมียอดขายกว่า 11 ล้านเล่มในสหรัฐและสหราชอาณาจักรภายในระยะเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงแรกที่วางขาย[4]

ชุดนวนิยายแฮร์รี่ พอตเตอร์สามารถจัดเป็นวรรณกรรมได้หลายประเภท (genre) รวมทั้งแฟนตาซีและการเปลี่ยนผ่านของวัย (coming of age) โดยมีองค์ประกอบของวรรณกรรมประเภทลึกลับ ตื่นเต้นสยองขวัญ ผจญภัย และโรแมนซ์ และมีความหมายและการสื่อถึงวัฒนธรรมหลายอย่าง[5][6][7][8] ตามข้อมูลของโรว์ลิง แก่นเรื่องหลักของเรื่อง คือ ความตาย[9] แม้โดยพื้นฐานแล้วหนังสือชุดนี้ถูกมองว่าเป็นผลงานวรรณกรรมเด็ก นอกจากนี้ยังมีแก่นเรื่องอื่นอีกมากมายในชุด เช่น ความรักและอคติ

หนังสือทั้งเจ็ดเล่มถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์โดยวอร์เนอร์บราเธอร์สจำนวนแปดภาค โดยเนื้อเรื่องในหนังสือเล่มที่เจ็ด ผู้สร้างได้แบ่งออกเป็นสองตอนเพราะเนื้อเรื่องที่ยืดยาว ภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นชุดภาพยนตร์ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลในลำดับที่ 3 นอกจากนี้ ยังได้มีการผลิตสินค้าควบคู่กันอีกจำนวนมาก ซึ่งทำให้ชื่อยี่ห้อแฮร์รี่ พอตเตอร์มีมูลค่ามากกว่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[10] ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2011 เนื้อหาที่ไม่ได้เปิดเผยในหนังสือได้เริ่มเผยแพร่ในรูปแบบอีบุ๊กผ่าน "พอตเตอร์มอร์"[11] โดยได้มีการต่อยอดความสำเร็จของแฮร์รี่ พอตเตอร์ไปในหลายรูปแบบ อาทิเช่น สวนสนุกโลกมหัศจรรย์ของแฮร์รี่ พอตเตอร์, สตูดิโอทัวร์ในลอนดอน, นิทรรศการเคลื่อนที่, ภาพยนตร์ภาคแยกซึ่งดัดแปลงมาจากเนื้อหาของหนังสือสัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ และภายหลังได้มีการดัดแปลงแฮร์รี่ พอตเตอร์สู่รูปแบบละครเวที ใช้ชื่อว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเด็กต้องคำสาป เปิดการแสดงในวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 2016 ที่โรงละครพาเลซเธียเตอร์ เมืองลอนดอน โดยบทละครเวทียังได้รับการพิมพ์จำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ลิตเติ้ลบราวน์ ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์เดียวกันที่ตีพิมพ์นิยายผู้ใหญ่ของโรว์ลิ่งภายใต้ชื่อ โรเบิร์ต กัลเบรธอีกด้วย[12]

จักรวาลของเรื่อง

[แก้]
ฮอกวอตส์ สถานที่แห่งหนึ่งในโลกเวทมนตร์

ดูบทความหลักที่: จักรวาลของแฮร์รี่ พอตเตอร์

โลกใน แฮร์รี่ พอตเตอร์นั้น เป็นโลกของพวกพ่อมดและแม่มดที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับโลกของมักเกิล หรือมนุษย์ผู้ไร้เวทมนตร์ ในลักษณะโลกคู่ขนาน โดยโลกเวทมนตร์นั้นไม่ได้ดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศ แต่จะแทรกซึมอยู่ในโลกของมักเกิลในรูปแบบทับซ้อนกัน มักเกิลจะไม่สามารถเข้าสู่หรือมองเห็นโลกใบดังกล่าวได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากโลกเวทมนตร์นั้นมีการร่ายคาถาปิดกั้นจากพวกมักเกิลเอาไว้ โดยเหล่าพ่อมดและแม่มดจะใช้ชีวิตในโลกเวทมนตร์เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็สามารถเดินทางไปมาระหว่างโลกทั้งสองได้ผ่านการหายตัวหรือการใช้วัตถุและของวิเศษต่าง ๆ อาทิ กุญแจนำทาง ผงฟลู ไม้กวาด และรวมไปถึงการเดินทะลุผ่านกำแพงอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เหล่ามักเกิลก็สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติหรือเวทมนตร์ต่าง ๆ ที่ผู้วิเศษร่ายขึ้นมาได้เช่นกัน ซึ่งหากการร่ายเวทมนตร์ต่อหน้ามักเกิลนั้นเป็นไปอย่างโจ่งแจ้ง เจ้าหน้าที่จากกระทรวงเวทมนตร์ก็จะคอยทำหน้าที่ลบความทรงจำดังกล่าวจากมักเกิ้ลทิ้งไปตามบทบัญญัติการปกปิดความลับนานาชาติของผู้วิเศษ

สังคมของผู้วิเศษนั้นมีลักษณะเฉพาะเป็นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การศึกษา การเมือง กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ วัฒนธรรม และแนวคิด เหล่าผู้เศษจะได้รับการถ่ายทอดพลังเวทมนตร์ผ่านทางสายเลือดนับตั้งแต่เกิด ผ่านการมีพ่อ แม่ หรือบรรพบุรุษคนใดคนหนึ่งที่มีพลังเวทมนตร์ อย่างไรก็ตาม ผู้วิเศษบางคนอาจไม่ได้รับการส่งทอดพลังหรือไม่สามารถควบคุมเวทมนตร์ได้อย่างคนทั่วไปเช่นกัน เหล่าผู้วิเศษจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ตราขึ้นโดยกระทรวงเวทมนตร์ซึ่งมีทั้งข้อกำหนดและบทลงโทษในรูปแบบของตัวเอง เมื่อพ่อมดและแม่มดเติบโตจนถึงเกณฑ์ที่กำหนด พวกเขาจะได้รับการศึกษาผ่านโรงเรียนเวทมนตร์ และจะยังไม่สามารถใช้เวทมนตร์ต่อหน้ามักเกิลได้หากอายุยังไม่ถึง 17 ปี เมื่อผู้วิเศษจบการศึกษาไปแล้วก็สามารถเลือกดำเนินชีวิตได้ตามเส้นทางที่ตนต้องการ แต่จะยังคงต้องปฏิบัติตามกฎหมายอยู่เช่นเดิม

นอกจากนี้ โลกเวทมนตร์ยังมีสิ่งมีชีวิตและวัฒนธรรมที่เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น การแต่งกาย การละเล่น และอาหารการกิน อย่างไรก็ตาม แม้สังคมผู้วิเศษในแฮร์รี่ พอตเตอร์นั้นจะเป็นสังคมที่มีความหลากหลาย แต่ก็ยังเป็นสังคมที่มีการแบ่งแยกทางชนชั้นกันอยู่อย่างตึงเครียด เหล่าสิ่งชีวิตที่ทรงปัญญาอย่างก็อบลิน เอลฟ์ประจำบ้าน หรือเซนทอร์ ยังคงถูกรังเกียจและกดทับโดยเหล่าผู้วิเศษที่มักคิดว่าตนคือชนชั้นนำของสังคม นอกจากนี้ เหล่าผู้วิเศษที่เรียกตัวเองว่า ผู้วิเศษสายเลือดบริสุทธิ์ (ผู้วิเศษที่ไม่มีสายเลือดของมักเกิลผสมอยู่) ก็มักจะมีแนวคิดในการรักษาสายเลือดบริสุทธิ์ของตน และยังคงรังเกียจมักเกิ้ลอย่างถึงที่สุด ชนชั้นและความเกลียดชังนี้จึงได้นำไปสู่การเรืองอำนาจของพ่อมดศาสตร์มืดอย่าง ลอร์ดโวลเดอมอร์ ที่หวังจะเปลี่ยนแปลงโลกเวทมนตร์ให้เป็นโลกสำหรับเหล่าผู้วิเศษเป็นใหญ่เหนือมักเกิลและสิ่งมีชีวิตทั้งปวง

ลำดับเวลา

[แก้]

เหตุการณ์ต่าง ๆ ในหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ไม่มีการระบุถึงปีตามปฏิทินจริงมากนัก อย่างไรก็ตามมีการอ้างอิงถึงปีจริงบางส่วนในเนื้อเรื่อง ซึ่งทำให้สามารถวางเรื่องราวของแฮร์รี่ พอตเตอร์ตามปีปฏิทินจริงได้ ซึ่งต่อมาข้อมูลได้รับการยืนยันจากการยอมรับของผู้แต่ง ลำดับเวลาซึ่งนำเสนอในดีวีดีภาพยนตร์ และแผนผังตระกูลแบล็กซึ่งผู้แต่งได้นำออกประมูลการกุศล

ลำดับเวลาที่ยอมรับกันทั่วไปคือ แฮร์รี่ พอตเตอร์นั้นเกิดในปี ค.ศ. 1980 และเรื่องราวในหนังสือเล่มแรกเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1991 โดยเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ทราบลำดับเวลาของนิยายได้ก็คือเหตุการณ์ในเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ บทที่ 8 ซึ่งเรื่องราวหนังสือเล่มที่สองเกิดขึ้นในเวลาหนึ่งปีให้หลังหนังสือเล่มแรก โดยในบทนี้แฮร์รี่ได้เข้าร่วมงานเลี้ยงครบรอบวันตายปีที่ 500 ของตัวละครนิกหัวเกือบขาด และมีการระบุปีบนเค้กวันตายว่า "ตายวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 1492"[13]

โครงเรื่อง

[แก้]

นวนิยายเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัวแฮร์รี่ พอตเตอร์ เด็กกำพร้าผู้พบว่าตนเองเป็นพ่อมดเมื่ออายุได้สิบเอ็ดปี อาศัยอยู่ในโลกแห่งผู้ไม่มีอำนาจวิเศษหรือมักเกิล ซึ่งถือเป็นประชากรปกติ[14] ความสามารถของเขานั้นมีมาโดยกำเนิดและเด็กจำพวกนี้จึงได้รับเชิญให้เข้าศึกษาในโรงเรียนซึ่งสอนทักษะที่จำเป็นแก่การประสบความสำเร็จในโลกพ่อมด[15] แฮร์รี่กลายมาเป็นนักเรียนที่โรงเรียนคาถาพ่อมดแม่มดและเวทมนตร์ศาสตร์ฮอกวอตส์ และเรื่องราวส่วนใหญ่ในนวนิยายเกิดขึ้น ณ สถานที่แห่งนี้ เมื่อแฮร์รี่เติบโตขึ้นผ่านช่วงวัยรุ่น เขาเรียนรู้ที่จะก้าวข้ามปัญหาที่เผชิญกับเขา ทั้งทางเวทมนตร์ สังคมและอารมณ์ รวมทั้งความท้าทายอย่างวัยรุ่นทั่วไป เช่น มิตรภาพและการสอบ ตลอดจนบททดสอบอันยิ่งใหญ่กว่าที่เตรียมพร้อมเขาสำหรับการเผชิญหน้าที่คอยอยู่เบื้องหน้า[16]

หนังสือแต่ละเล่มบันทึกเหตุการณ์หนึ่งปีในชีวิตของแฮร์รี่[17] โดยเนื้อเรื่องหลักเกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1991-98 หนังสือยังมีการเล่าย้อนไปในอดีตหลายครั้ง ซึ่งมักอธิบายโดยตัวละครมองความทรงจำในอุปกรณ์ที่เรียกว่า เพนซิฟ เพนซิฟเป็นอ่างทรงกว้างก้นตื้นทำจากโลหะหรือหิน ตกแต่งหรือเลี่ยมด้วยหินมีค่า เต็มเปี่ยมไปด้วยความทรงพลังและความน่าหลงใหลอันซับซ้อน เพนซิฟเป็นของหายากเพราะมีเพียงพ่อมดชั้นสูงที่ใช้มัน และเพราะพ่อมดส่วนใหญ่กลัวที่จะทำเช่นนั้น

จักรวาลโลกเวทมนตร์ที่เจ. เค. โรว์ลิงสร้างขึ้นนั้นจะสามารถแบ่งออกเป็นโลกของผู้วิเศษและมักเกิล โลกทั้งสองใบมีการแยกออกจากกันอย่างชัดเจนด้วยกฎหมายปกปิดการมีตัวตนของผู้วิเศษอันเป็นกฎหมายที่เห็นพ้องต้องกันจากผู้นำทั้งสองฝั่ง กฎหมายนี้ได้ทำให้มีมักเกิลเพียงบางส่วนเท่านั้นที่รับรู้ถึงการมีอยู่ของผู้วิเศษและได้รับอนุญาตให้เข้าออกโลกเวทมนตร์ได้ ต่างจากผู้วิเศษทุกคนที่ล้วนรับรู้ถึงการมีอยู่ของมักเกิล ถึงกระนั้น ประชากรจากโลกเวทมนตร์แทบทั้งหมดก็ยังจำเป็นต้องอยู่ร่วมหรือปะปนไปกับเหล่ามักเกิลในบางเวลาอยู่ดี ทำให้โลกทั้งสองใบยังคงเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิดและเลี่ยงไม่ได้ มีเพียงสถานที่บางแห่งในโลกเวทมนตร์เท่านั้นที่ถูกปกปิดและซ่อนตัวจากมักเกิลโดยแทบจะสมบูรณ์ ซึ่งสถานที่เหล่านี้ก็อาจกระจายตัวอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ในโลกมักเกิล อาทิ ในผับเก่าแก่ที่ถูกมองข้าม คฤหาสน์ชนบทที่โดดเดี่ยว หรือปราสาทที่ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วยเวทมนตร์ซึ่งประชากรมักเกิลไม่อาจมองเห็นได้[15] อาจสรุปได้ว่าโลกเวทมนตร์ของแฮร์รี่ พอตเตอร์นั้นจะมีความร่วมสมัยคล้ายคลึงกับชีวิตประจำวันของผู้อ่าน สถาบันและสถานที่หลายแห่งนั้นก็มีอยู่จริง เช่น กรุงลอนดอน[18] เพียงแต่มีเหล่าผู้วิเศษที่ซ่อนตัวและดำเนินชีวิตไปในโลกเวทมนตร์โดยที่มักเกิลแทบทั้งหมดไม่สามารถรับรู้ได้เลย

ช่วงปีแรก

[แก้]

เมื่อเรื่องราวของแฮร์รี่ พอตเตอร์เปิดฉากขึ้น เป็นที่แน่ชัดว่ามีเหตุการณ์บางอย่างที่สำคัญเกิดขึ้นในโลกพ่อมด แม้แต่มักเกิลเองก็ยังสังเกตเห็นสัญญาณบางอย่างได้ เบื้องหลังทั้งหมดของเรื่องและบุคลิกของแฮร์รี่ พอตเตอร์ค่อย ๆ เปิดเผยออกมาตลอดทั้งเรื่อง ในแฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ โดยแฮร์รี่ได้ค้นพบว่า เมื่อครั้งเป็นเด็ก เขาได้เป็นพยานการฆาตกรรมบิดามารดาของตนโดยพ่อมดมืดผู้หลงใหลในอำนาจ ลอร์ดโวลเดอมอร์ ผู้ซึ่งขณะนั้นพยายามฆ่าเขาด้วยเช่นกัน[19] ด้วยเหตุผลที่ยังไม่เปิดเผยในทันที คาถาที่โวลเดอมอร์พยายามปลิดชีพแฮร์รี่สะท้อนกลับไปยังตัวเขาเอง แฮร์รี่รอดชีวิตโดยหลงเหลือแผลเป็นรูปสายฟ้าบนหน้าผากเป็นอนุสรณ์ถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น และโวลเดอมอร์ได้หายสาบสูญไป ด้วยการเป็นวีรบุรุษโดยไม่ได้ตั้งใจจากการสิ้นสุดยุคสมัยแห่งความหวาดกลัวของโวลเดอมอร์ แฮร์รี่ได้กลายมาเป็นตำนานมีชีวิตในโลกพ่อมด อย่างไรก็ดี ด้วยคำสั่งของพ่อมดผู้ยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียง อัลบัส ดัมเบิลดอร์ แฮร์รี่ซึ่งกำพร้าพ่อแม่ ถูกทิ้งไว้ในบ้านของญาติมักเกิลผู้ไม่น่าพิสมัยของเขา ครอบครัวเดอร์สลีย์ พวกเดอร์สลีย์ให้ความคุ้มครองเขาให้ปลอดภัยแต่ปกปิดพลังที่แท้จริงจากเขาด้วยหวังว่าเขาจะเติบโตขึ้น "อย่างปกติ"[19]

เมื่อย่างใกล้วันเกิดครบรอบปีที่สิบเอ็ดของแฮร์รี่ พ่อมดครึ่งยักษ์ รูเบอัส แฮกริด เปิดเผยประวัติของแฮร์รี่และนำเขาเข้าสู่โลกเวทมนตร์[19] ด้วยความช่วยเหลือของแฮกริด แฮร์รี่เตรียมตัวและเข้าเรียนในปีแรกที่ฮอกวอตส์ เมื่อแฮร์รี่เริ่มต้นสำรวจโลกเวทมนตร์นั้น เรื่องราวได้ระบุสถานที่สำคัญหลายแห่งที่ใช้ตลอดเนื้อเรื่อง แฮร์รี่พบกับตัวละครหลักส่วนใหญ่ และมีเพื่อนรักที่สุดสองคนคือ รอน วีสลีย์ สมาชิกที่รักสนุกแห่งครอบครัวพ่อมดที่ใหญ่ เก่าแก่ มีความสุขแต่ยากจน และเฮอร์ไมโอนี เกรนเจอร์ แม่มดที่มีพรสวรรค์ เกิดจากพ่อแม่ที่ไม่มีเวทมนตร์และจริงจังกับการเรียน[19][20] แฮร์รี่ยังพบกับอาจารย์สอนวิชาปรุงยาของโรงเรียน เซเวอร์รัส สเนป ผู้แสดงความไม่ชอบอย่างลึกซึ้งมั่นคงแก่เขา โครงเรื่องสรุปเมื่อแฮร์รี่เผชิญหน้ากับลอร์ดโวลเดอมอร์ครั้งที่สอง ผู้ซึ่งกำลังตามหาความเป็นอมตะ โดยปรารถนาการได้รับอำนาจแห่งศิลาอาถรรพ์[19] แต่สุดท้ายก็เป็นแฮร์รี่ที่ได้รับชัยชนะและโวลเดอมอร์ก็ได้หายสาบสูญไปอีกครั้งหนึ่ง

เรื่องราวดำเนินต่อด้วยแฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวในปีที่สองของแฮร์รี่ที่ฮอกวอตส์ เขาและเพื่อนได้สืบสวนตำนานอายุ 50 ปีซึ่งกลายเป็นว่ามีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ลางร้ายล่าสุดที่โรงเรียน น้องสาวของรอน จินนี่ วีสลีย์ ซึ่งกำลังเรียนอยู่ปีหนึ่งที่ฮอกวอตส์ พบสมุดบันทึกซึ่งเป็นบันทึกของโวลเดอมอร์เมื่อครั้งเป็นนักเรียน จินนี่ถูกครอบงำโดยโวลเดอมอร์ผ่านบันทึก และเปิด "ห้องแห่งความลับ" ปลดปล่อยบาซิลิสก์ สัตว์ประหลาดโบราณซึ่งเริ่มโจมตีนักเรียนที่ฮอกวอตส์ ตอนนี้เป็นการเล่าประวัติศาสตร์ฮอกวอตส์และตำนานที่เกี่ยวข้องกับห้องลับแห่งนี้ เป็นครั้งแรกที่แฮร์รี่ตระหนักถึงอคติด้านชาติกำเนิดว่ามีอยู่ในโลกพ่อมด และเขาเรียนรู้ว่า ยุคสมัยแห่งความหวาดกลัวของโวลเดอมอร์นั้นมักมุ่งไปยังพ่อมดผู้สืบเชื้อสายจากมักเกิล เขายังพบความสามารถของตนในการพูดภาษาพาร์เซล ซึ่งเป็นภาษาของงู ที่พบได้ยากและมักเกี่ยวข้องกันกับศาสตร์มืด นิยายเล่มนี้จบลงหลังแฮร์รี่ช่วยชีวิตของจินนี่โดยการฆ่าบาซิลิสก์และทำลายสมุดบันทึกที่โวลเดอมอร์เก็บรักษาส่วนหนึ่งของวิญญาณเขาไว้ (แฮร์รี่ไม่ทราบเรื่องนี้จนกระทั่งเปิดเผยภายหลัง) แนวคิดการเก็บรักษาส่วนหนึ่งของวิญญาณไว้ในวัตถุเพื่อป้องกันความตายนั้นปรากฏครั้งแรกในนิยายเล่มที่หกในชื่อของ "ฮอร์ครักซ์"

นิยายเล่มที่สาม แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน ดำเนินเนื้อเรื่องในปีที่สามของแฮร์รี่ในการศึกษาเวทมนตร์ และเป็นเพียงเล่มเดียวในเรื่องที่มิได้มีโวลเดอมอร์ปรากฏ เขาต้องรับมือกับข้อมูลที่ว่าเขาตกเป็นเป้าหมายของซิเรียส แบล็ก ฆาตกรหลบหนีจากคุกอัซคาบัน ผู้เป็นพ่อทูนหัวของแฮร์รี่และถูกเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการตายของพ่อแม่แฮร์รี่ เมื่อแฮร์รี่ได้ต่อสู้กับปฏิกิริยาต่อผู้คุมวิญญาณ สิ่งมีชีวิตชั่วร้ายที่มีความสามารถในการกลืนกินวิญญาณของมนุษย์ ซึ่งกำลังคุ้มครองโรงเรียนอยู่ เขาก็ได้พบกับรีมัส ลูปิน ครูสอนวิชาการป้องกันต้องจากศาสตร์มืดคนใหม่ ซึ่งเปิดเผยภายหลังว่าเป็นมนุษย์หมาป่า ลูปินสอนมาตรการป้องกันแก่แฮร์รี่ ซึ่งเหนือไปจากระดับเวทมนตร์ที่มักพบในบุคคลที่มีอายุเท่าเขา แฮร์รี่พบว่าทั้งลูปินและแบล็กเคยเป็นเพื่อนสนิทของบิดา และแบล็กนั้นบริสุทธิ์ เพราะเขาถูกใส่ร้ายโดยเพื่อนคนที่สี่ ปีเตอร์ เพ็ตดิกรูว์ ผู้ขายความลับของพ่อแม่แฮร์รี่แก่โวลเดอมอร์ [21] ในเล่มนี้ มีการเน้นย้ำแก่นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำอีกประการหนึ่งตลอดเรื่อง คือ ทุกเล่มจะต้องมีครูสอนการป้องกันตัวจากศาสตร์มืดคนใหม่เสมอและไม่มีคนใดทำงานอยู่ได้นานเกินหนึ่งปี

การหวนคืนของโวลเดอมอร์

[แก้]

ในแฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี ระหว่างปีที่สี่ของแฮร์รี่ที่ฮอกวอตส์ แฮร์รี่เป็นหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันการประลองเวทไตรภาคีโดยไม่เต็มใจและนั่นเป็นการวางแผนของ บาร์ตี้ เคร้าช์ จูเนียร์ ซึ่งการประลองเวทไตรภาคีเป็นการประลองอันตรายที่แฮร์รี่จะต้องแข่งขันกับตัวแทนพ่อมดและแม่มดจากโรงเรียนเวทมนตร์อื่นๆที่มาเยือน เช่นเดียวกับเซดริก ดิกกอรี่ ตัวแทนของฮอกวอตส์อีกคนหนึ่ง[22] แฮร์รี่ได้รับการชี้นำผ่านการประลองโดยศาสตราจารย์อลาสเตอร์ "แม้ด-อาย" มู้ดดี้ แต่ภายหลังกลับกลายเป็นว่าเป็นคนอื่นปลอมตัวมา ซึ่งก็คือบาร์ตี้ เคร้าช์ จูเนียร์ หนึ่งในผู้สนับสนุนของโวลเดอมอร์ จุดที่ปริศนาคลายปมออกนั้นเป็นจุดเปลี่ยนของเรื่อง โดยแผนการของโวลเดอมอร์คือให้เคร้าช์อาศัยการประลองในครั้งนี้เพื่อนำตัวแฮร์รี่มาให้โวลเดอมอร์สังหาร และแม้ว่าแฮร์รี่จะสามารถหลบหนีจากเขามาได้แต่เซดริก ดิกกอรี่ได้ถูกสังหารโดยโวลเดอมอร์ที่ได้กลับฟื้นคืนชีพขึ้นอีกครั้ง

ในหนังสือเล่มที่ห้า แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ แฮร์รี่ต้องเผชิญหน้ากับโวลเดอมอร์ที่คืนชีพขึ้นมา และเพื่อเป็นการรับมือ ดัมเบิลดอร์ได้ให้ภาคีนกฟีนิกซ์กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง ภาคีนั้นเป็นสมาคมลับที่ดำเนินงานโดยอาศัยบ้านลึกลับประจำตระกูลของซิเรียส แบล็กเป็นกองบัญชาการ เพื่อเอาชนะสมุนของโวลเดอมอร์และให้ความคุ้มครองเป้าหมายของโวลเดอมอร์ โดยเฉพาะแฮร์รี่ อย่างไรก็ตามรายละเอียดของแฮร์รี่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวล่าสุดของโวลเดอมอร์ ได้ถูกกระทรวงเวทมนตร์ปกปิดและบิดเบือนความจริง คนส่วนใหญ่ในโลกเวทมนตร์จึงปฏิเสธที่จะเชื่อว่าโวลเดอมอร์ได้หวนกลับคืนอีกครั้ง[23] ด้วยความพยายามที่จะตอบโต้และทำลายชื่อเสียงดัมเบิลดอร์ ผู้ซึ่งอยู่เคียงข้างแฮร์รี่และถือเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญที่สุดในโลกเวทมนตร์ในการพยายามเตือนภัยถึงการกลับมาของโวลเดอมอร์ กระทรวงจึงได้แต่งตั้งโดโลเรส อัมบริดจ์ ขึ้นเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนใหญ่แห่งฮอกวอตส์ เธอได้เปลี่ยนแปลงการปกครองในโรงเรียนไปอย่างเข้มงวดและปฏิเสธที่จะอนุญาตให้นักเรียนเรียนรู้วิธีป้องกันตนเองจากเวทมนตร์มืด[23]

แฮร์รี่ได้ก่อตั้ง "กองทัพดัมเบิลดอร์" กลุ่มเรียนลับเพื่อสอนทักษะการป้องกันตัวจากศาสตร์มืดระดับสูงที่เขาเคยเรียนมาและมีประสบการณ์โดยตรงแก่เพื่อนร่วมชั้นของเขา ภายหลังมีการเปิดเผยถึงคำพยากรณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับแฮร์รี่และโวลเดอมอร์[24] แฮร์รี่ค้นพบว่าเขากับโวลเดอมอร์สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ และทำให้แฮร์รี่ได้เห็นการกระทำบางอย่างของโวลเดอมอร์ผ่านทางกระแสจิต ในช่วงท้ายของเรื่อง แฮร์รี่กับเพื่อนได้เผชิญหน้ากับผู้เสพความตายของโวลเดอมอร์ แม้การมาถึงทันเวลาของสมาชิกภาคีนกฟีนิกซ์จะช่วยชีวิตของเด็ก ๆ ได้ แต่ซิเรียส แบล็กก็ถูกสังหารไปในคราวเดียวกัน[23]

โวลเดอมอร์เริ่มทำสงครามอย่างเปิดเผยในแฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม แม้แฮร์รี่กับเพื่อนจะค่อนข้างได้รับการคุ้มครองจากภัยอันตรายเป็นอย่างดีที่ฮอกวอตส์ แต่พวกเขาต้องเผชิญกับความยากลำบากในช่วงวัยรุ่นหลายอย่าง แฮร์รี่เริ่มต้นออกเดทกับจินนี่ วีสลีย์ รอนเองก็หลงใหลในตัวลาเวนเดอร์ บราวน์ เพื่อนสาวของเขาอย่างรุนแรง ส่วนเฮอร์ไมโอนีก็เริ่มที่จะรู้ตัวว่าเธอนั้นรักรอน ในช่วงต้นของนิยายแฮร์รี่ได้รับหนังสือเรียนปรุงยาเล่มเก่าซึ่งเต็มไปด้วยความเห็นประกอบและข้อแนะนำที่เขียนเพิ่มเติมโดยเจ้าของคนเก่าชื่อ เจ้าชายเลือดผสม แฮร์รี่ยังได้เรียนพิเศษเป็นการส่วนตัวกับดัมเบิลดอร์ ที่ได้แสดงให้เขาเห็นความทรงจำทั้งหลายเกี่ยวกับชีวิตช่วงต้นของโวลเดอมอร์ผ่านเพนซิฟ พร้อมแสดงให้เห็นว่าวิญญาณของโวลเดอมอร์ได้ถูกแยกไปอยู่ในฮอร์ครักซ์หลายชิ้น ซึ่งเป็นวัตถุวิเศษชั่วร้ายที่ซ่อนอยู่ยังที่ต่าง ๆ [25] ในช่วงท้ายของของเรื่อง เดรโก มัลฟอย คู่ปรับของแฮร์รี่ พยายามโจมตีดัมเบิลดอร์ และหนังสือจบลงด้วยการสังหารดัมเบิลดอร์โดยศาสตราจารย์สเนป ซึ่งเป็นเจ้าของชื่อเจ้าชายเลือดผสม

แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต นิยายเล่มสุดท้ายในชุด ดำเนินเรื่องต่อจากหลังเหตุการณ์ในหนังสือเล่มก่อนในทันที โวลเดอมอร์ประสบความสำเร็จในการเถลิงอำนาจและควบคุมกระทรวงเวทมนตร์ แฮร์รี่ รอน และเฮอร์ไมโอนีออกจากโรงเรียนเพื่อที่พวกเขาจะสามารถค้นหาและทำลายฮอร์ครักซ์ที่เหลืออยู่ของโวลเดอมอร์ เพื่อเป็นการประกันความปลอดภัยของพวกตน เช่นเดียวกับความปลอดภัยของครอบครัวและเพื่อนฝูง พวกเขาถูกบีบให้แยกตัวออกจากทุกคน ระหว่างการค้นหาฮอร์ครักซ์ ซึ่งทั้งสามได้ค้นพบและทำลายไปได้หลายชิ้น นอกจากนี้ได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตของดัมเบิลดอร์และไม้กายสิทธิ์เอลเดอร์ หนึ่งในเครื่องรางยมทูตที่โวลเดอมอร์ได้ตามหาและชิงมาจากหลุมศพของดัมเบิลดอร์ด้วยความเชื่อที่ว่าพลังของไม้จะสามารถฆ่าแฮร์รี่ได้ แต่ด้วยความหวาดระแวงว่าสเนปผู้ฆ่าดัมเบิลดอร์นั้นคือเจ้าของไม้ที่แท้จริง เขาจึงสังหารสเนปลง ภายหลังแฮร์รี่ได้ทราบเจตนาที่แท้จริงของสเนป ที่ทำภารกิจตามความต้องการของดัมเบิลดอร์นับแต่แม่ของแฮร์รี่ถูกฆาตกรรม

นิยายเดินทางมาถึงจุดสำคัญในการต่อสู้ที่ฮอกวอตส์ แฮร์รี่ รอนและเฮอร์ไมโอนี ร่วมกับสมาชิกภาคีนกฟีนิกซ์ ตลอดจนครูและนักเรียนหลายคน ได้ป้องกันฮอกวอตส์จากโวลเดอมอร์ ผู้เสพความตายของเขา และสิ่งมีชีวิตเวทมนตร์ทั้งหลาย ตัวละครหลักหลายคนถูกสังหารในการต่อสู้ระลอกแรก รวมถึงรีมัส ลูปิน นิมฟาดอร่า ท็องส์ และเฟร็ด วีสลีย์ และหลังทราบว่าตัวเขาเองเป็นฮอร์ครักซ์ แฮร์รี่มอบตัวต่อโวลเดอมอร์ที่ป่าต้องห้าม ซึ่งได้ร่ายคำสาปพิฆาตเพื่อปลิดชีพเขาและเป็นการทำลายฮอร์ครักซ์อีกชิ้นลงในเวลาเดียวกัน โวลเดอมอร์ได้ประกาศถึงการตายของแฮร์รี่ต่อทุกคน อย่างไรก็ดี กลุ่มป้องกันฮอกวอตส์ยังไม่ยอมจำนนแม้จะทราบถึงข้อเท็จจริงนี้และยังคงสู้ต่อไป หลังกลับมาจากความตาย แฮร์รี่ได้เผชิญหน้ากับโวลเดอมอร์ ซึ่งงูนากินี ฮอร์ครักซ์ชิ้นสุดท้ายได้ถูกทำลายลงแล้ว ในการต่อสู้ครั้งสุดท้าย ไม้กายสิทธิ์เอลเดอร์ไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อโวลเดอมอร์เนื่องจากเขาไม่ใช่นายที่แท้จริงของมัน แต่คือแฮร์รี่เอง ทำให้คำสาปพิฆาตของโวลเดอมอร์ถูกคาถาปลดอาวุธของแฮร์รี่สะท้อนกลับและสังหารโวลเดอมอร์ในที่สุด

ในบทส่งท้ายซึ่งเป็นเหตุการณ์ในอีก 19 ปีให้หลัง นิยายได้อธิบายถึงชีวิตของตัวละครที่เหลือรอด โดยแฮร์รี่ได้แต่งงานและมีลูกกับจินนี่ ส่วนรอนนั้นแต่งงานและมีลูกกับเฮอร์ไมโอนี่ ทั้งสี่คนได้มาส่งลูก ๆ ของพวกเขาไปเรียนที่ฮอกวอตส์ ณ ชานชาลาที่เก้าเศษสามส่วนสี่ ซึ่งภายหลังการตายของโวลเดอมอร์ โลกเวทมนตร์ก็ได้กลับสู่ความสงบสุขอีกครั้งและไม่มีเรื่องร้ายเกิดขึ้นกับแฮร์รี่อีกเลย

งานสมทบ

[แก้]

โรว์ลิงขยายจักรวาลแฮร์รี่ พอตเตอร์ด้วยหนังสือเรื่องสั้นหลายเล่มซึ่งผลิตออกมาให้การกุศลหลายอย่าง[26][27] ใน ค.ศ. 2001 เธอวางจำหน่ายสัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ (หนังสือที่สมมติขึ้นว่าเป็นหนังสือเรียนในฮอกวอตส์) และควิดดิชในยุคต่าง ๆ (หนังสือที่แฮร์รี่อ่านเอาสนุก) รายได้จากการขายหนังสือทั้งสองเล่มนี้ได้มอบให้แก่มูลนิธิคอมมิครีลิฟ[28] ใน ค.ศ. 2007 โรว์ลิงประพันธ์นิทานของบีเดิลยอดกวีฉบับเขียนด้วยมือเจ็ดเล่ม ซึ่งเป็นหนังสือที่รวมเทพนิยายซึ่งปรากฏในเล่มสุดท้าย หนึ่งในนั้นถูกประมูลขายเพื่อระดมทุนแก่ชิลเดรนส์ไฮเลเวลกรุ๊ป กองทุนเพื่อเด็กพิการในประเทศยากจน หนังสือนี้ได้รับตีพิมพ์ระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 2008[29][30] นอกจากนี้ โรว์ลิงยังได้เขียนพลีเควล 800 คำ ในปี 2008 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการระดมทุนซึ่งจัดโดยร้านขายหนังสือวอเทอร์สโตนส์[31] ก่อนที่เธอจะออกเว็บไซต์ใหม่ในชื่อ พอตเตอร์มอร์ ซึ่งเป็นการรวบรวมเนื้อหาต่าง ๆ ที่ไม่ได้รับการเปิดเผยในหนังสือ ในปี 2011[32]

โครงสร้างและประเภท

[แก้]

นวนิยายแฮร์รี่ พอตเตอร์จัดอยู่ในประเภทวรรณกรรมแฟนตาซี อย่างไรก็ดี ในหลายแง่มุม ยังเป็นนวนิยายการศึกษา (bildungsromans) หรือการเปลี่ยนผ่านของวัย และมีส่วนที่เป็นประเภทลึกลับ ตื่นเต้นเขย่าขวัญ และโรแมนซ์ นวนิยายชุดนี้อาจถูกมองว่าเป็นประเภทโรงเรียนกินนอนเด็กของอังกฤษ เพราะเรื่องราวส่วนใหญ่ในชุดเกิดขึ้นในฮอกวอตส์ ซึ่งเป็นโรงเรียนกินนอนอังกฤษสำหรับพ่อมดในนวนิยาย โดยมีหลักสูตรรวมถึงการใช้เวทมนตร์ด้วย[33] ชุดนวนิยายนี้ยังเป็นประเภทที่สตีเฟน คิงใช้คำว่า "เรื่องลึกลับหลักแหลม"[34] และแต่ละเล่มมีโครงสร้างคล้ายคลึงกับการผจญภัยลึกลับแบบเชอร์ล็อก โฮมส์ เรื่องราวเล่าโดยบุคคลที่สามจำกัดมุมมองโดยมีข้อยกเว้นเล็กน้อย (เช่น บทแรก ๆ ของศิลาอาถรรพ์ ถ้วยอัคนี และเครื่องรางยมทูต และสองบทแรกของเจ้าชายเลือดผสม)

ช่วงกลางของหนังสือแต่ละเล่ม แฮร์รี่ต่อสู้กับปัญหาที่เขาประสบ และการจัดการปัญหาเหล่านั้นมักเกี่ยวข้องกับความต้องการละเมิดกฎโรงเรียนบางข้อ หากนักเรียนถูกจับได้ว่าละเมิดกฎ พวกเขาจะถูกลงโทษโดยศาสตราจารย์ฮอกวอตส์ ซึ่งใช้รูปแบบวิธีการลงโทษที่มักพบในประเภทย่อยโรงเรียนกินนอน[33] อย่างไรก็ดี เรื่องราวถึงจุดสูงสุดในช่วงภาคเรียนฤดูร้อน ช่วงใกล้หรือช่วงเพิ่งสอบปลายภาคเรียนเสร็จ โดยมีเหตุการณ์บานปลายขึ้นเกินการวิวาทและการดิ้นรนอยู่ในโรงเรียน และแฮร์รี่ต้องเผชิญกับโวลเดอมอร์หรือหนึ่งในผู้ติดตามของเขา ผู้เสพความตาย โดยเดิมพันเรื่องคอขาดบาดตาย ประเด็นหนึ่งเน้นย้ำว่า เมื่อเรื่องราวดำเนินไป มีตัวละครหนึ่งตัวหรือมากกว่าถูกฆ่าในแต่ละเล่มในสี่เล่มสุดท้าย[35][36] หลังจากนั้น เขาเรียนรู้บทเรียนสำคัญผ่านการชี้แจงและการอภิปรายกับอาจารย์ใหญ่และที่ปรึกษา อัลบัส ดัมเบิลดอร์

ในนวนิยายเล่มสุดท้าย แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต แฮร์รี่กับเพื่อนใช้เวลาส่วนใหญ่นอกฮอกวอตส์ และเพียงกลับมาเพื่อเผชิญหน้ากับโวลเดอมอร์ในตอนจบ[35] ด้วยรูปแบบนวนิยายการศึกษา ในส่วนนี้แฮร์รี่ต้องเติบโตขึ้นก่อนวัยอันควร ละทิ้งโอกาสปีสุดท้ายในฐานะนักเรียนโรงเรียนและจำต้องปฏิบัติตนเหมือนผู้ใหญ่ ซึ่งคนอื่นต้องพึ่งพาการตัดสินใจของเขา ซึ่งรวมถึงผู้ใหญ่ด้วย[37]

แก่นเรื่อง

[แก้]
ผู้ประพันธ์ เจ. เค. โรว์ลิง

โรว์ลิงว่า แก่นเรื่องหลักของชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์คือ ความตาย "หนังสือของฉันเกี่ยวข้องกับความตายเป็นส่วนใหญ่ เรื่องราวเกิดขึ้นด้วยการตายของพ่อแม่แฮร์รี่ มีความคิดครอบงำของโวลเดอมอร์เรื่องการพิชิตความตายและภารกิจของเขาเพื่อความเป็นอมตะไม่ว่าจะต้องเสียอะไรไปก็ตาม เป้าหมายของทุกคนที่มีเวทมนตร์ ฉันเข้าใจดีว่าทำไมโวลเดอมอร์ต้องการพิชิตความตาย เราทุกคนกลัวมัน"[9]

อาจารย์และนักหนังสือพิมพ์ได้พัฒนาการตีความแก่นเรื่องอื่นอีกมากในหนังสือ บ้างก็ซับซ้อนกว่าแนวคิดอื่น และบ้างก็รวมถึงการแฝงนัยทางการเมืองด้วย แก่นเรื่องนี้อย่างเช่น ปกติวิสัย การครอบงำ การอยู่รอด และการก้าวข้ามความแปลกประหลาดที่เพิ่มขึ้นมาล้วนถูกมองว่าพบเห็นได้บ่อยตลอดทั้งเรื่อง[38] โรว์ลิงว่า หนังสือของเธอประกอบด้วย "ข้อพิสูจน์ยืดเยื้อแก่ความอดกลั้น คำขอร้องยาวนานให้ยุติความเชื่อไร้เหตุผล" และว่ายังผ่านข้อความเพื่อ "ตั้งคำถามถึงทางการและ ... ไม่สันนิษฐานว่าสถาบันหรือสื่อบอกความจริงแก่คุณทั้งหมด"[39]

ขณะที่อาจกล่าวได้ว่าหนังสือนั้นประกอบด้วยแก่นเรื่องอื่นอีกหลากหลาย เช่น อำนาจ การละเมิดอำนาจ, ความรัก, อคติ และทางเลือกเสรี ซึ่งทั้งหมดนี้ ตามคำกล่าวของเจ. เค. โรว์ลิง ว่า "ฝังลึกอยู่ในโครงเรื่องทั้งหมด" ผู้เขียนยังพึงใจปล่อยให้แก่นเรื่อง "การเติบโตทางชีวิต" มากกว่านั่งลงและเจตนาพยายามที่จะบอกแนวคิดนั้นแก่ผู้อ่านของเธอ ในบรรดาแก่นเรื่องนั้นคือ แก่นเรื่องที่มีอยู่ตลอดเวลาเกี่ยวกับวัยรุ่น ซึ่งในการพรรณนา โรว์ลิงมีจุดประสงค์ในการรับรองเพศภาพตัวละครของเธอและไม่ทิ้งให้แฮร์รี่ "ติดอยู่ในสภาพก่อนวัยหนุ่มสาวไปตลอดกาล" ตามคำพูดของเธอ[40] โรว์ลิงกล่าวว่า สำหรับเธอ ความสำคัญทางศีลธรรมของเรื่องนี้ดู "ชัดเจนมากอย่างที่สุด" สิ่งสำคัญสำหรับเธอคือทางเลือกระหว่างสิ่งที่ง่ายกับสิ่งที่ถูก "เพราะว่า ... นั่นคือสิ่งที่ทรราชเริ่มต้น โดยไม่ยินดียินร้ายและเลือกเส้นทางที่ง่าย และทันใดนั้นก็พบว่าตนเองอยู่ในปัญหาร้ายแรง"[41]

จุดกำเนิดและประวัติการตีพิมพ์

[แก้]
"ดิเอลิฟันต์เฮาส์" ร้านกาแฟในเอดินบะระที่โรว์ลิงเขียนส่วนแรกของแฮร์รี่ พอตเตอร์

ในปี 1990 เจ. เค. โรว์ลิงอยู่ในรถไฟที่มีคนเนืองแน่นจากแมนเชสเตอร์ไปยังลอนดอน เมื่อแนวคิดแฮร์รี่ "ตกลงมาใส่หัวของเธอ" ทันใดนั้นเอง โรว์ลิงเล่าถึงประสบการณ์บนเว็บไซต์ของเธอโดยระบุว่า

ฉันเคยเขียนค่อนข้างต่อเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่อายุได้หกขวบ แต่ฉันไม่เคยตื่นเต้นกับแนวคิดไหนมาก่อน ฉันเพียงแค่นั่งลงและคิด เป็นเวลาสี่ (รถไฟล่าช้า) ชั่วโมง และทุกรายละเอียดก็ผุดขึ้นในสมองของฉัน และเด็กชายผอมกะหร่อง ผมดำ สวมแว่นตาผู้ไม่รู้ว่าตนเองเป็นพ่อมดนี้ก็ค่อย ๆ กลายเป็นจริงขึ้นสำหรับฉัน[42]

โรว์ลิงเขียนแฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์เสร็จใน ค.ศ. 1995 และต้นฉบับถูกส่งไปยังตัวแทนผู้ซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือหลายคน (prospective agent)[43] ตัวแทนคนที่สอง คริสโตเฟอร์ ลิตเตล เสนอเป็นตัวแทนเธอและส่งต้นฉบับไปยังสำนักพิมพ์บลูมส์บรี หลังสำนักพิมพ์อื่นแปดสำนักปฏิเสธศิลาอาถรรพ์ บลูมส์บรีเสนอค่าตอบแทนล่วงหน้าเป็นเงิน 2,500 ปอนด์แก่โรว์ลิงเป็นค่าจัดพิมพ์[44][45] แม้เธอจะไม่ได้วางกลุ่มอายุเป้าหมายไว้ในใจเมื่อเริ่มต้นเขียนหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ สำนักพิมพ์เดิมตั้งเป้าไว้ที่เด็กอายุระหว่างเก้าถึงสิบเอ็ดปี[46] วันก่อนวันจัดพิมพ์ โรว์ลิงได้รับการร้องขอจากสำนักพิมพ์ให้ใช้นามปากกาที่ไม่บ่งบอกเพศมากกว่านี้ เพื่อดึงดูดกลุ่มอายุที่เป็นชายมากขึ้น ด้วยกลัวว่าพวกเขาอาจไม่สนใจอ่านนวนิยายที่พวกเขารู้ว่าผู้หญิงเขียน เธอเลือกใช้ชื่อ เจ. เค. โรว์ลิง (โจแอนน์ แคทลีน โรว์ลิง) โดยใช้ชื่อย่าของเธอเป็นชื่อที่สอง เพราะเธอไม่มีชื่อกลาง[45][47]

แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ (Harry Potter and the Philosopher's Stone) ได้รับตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บลูมส์บรี ผู้จัดพิมพ์หนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ทุกเล่มในสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1997[48] และวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1998 ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สกอแลสติก สำนักพิมพ์หนังสือของอเมริกา ในชื่อ Harry Potter and the Sorcerer's Stone หลังโรว์ลิงได้รับเงิน 150,000 ดอลลาร์สหรัฐเป็นค่าลิขสิทธิ์ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนสำหรับหนังสือเด็กโดยนักเขียนที่ขณะนั้นยังไร้ชื่อ[49] ด้วยกลัวว่าผู้อ่านชาวอเมริกันจะไม่เชื่อมโยงคำว่า "philosopher" (นักปราชญ์) กับแก่นเรื่องเวทมนตร์ (แม้ศิลานักปราชญ์จะเกี่ยวข้องกับการเล่นแร่แปรธาตุก็ตาม) สกอแลสติกจึงยืนยันว่าหนังสือควรให้ชื่อนี้สำหรับตลาดอเมริกัน

หนังสือเล่มที่สอง แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ ตีพิมพ์ในสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1998 และในสหรัฐอเมริกาวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1999 แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบันตีพิมพ์อีกหนึ่งปีให้หลังในสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1999 และในสหรัฐอเมริกา 8 กันยายน ปีเดียวกัน[50] แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนีตีพิมพ์เมื่อ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 2000 เวลาเดียวกันทั้งบลูมส์บรีและสกอแลสติก[51] แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์เป็นหนังสือเล่มยาวที่สุดในชุด ด้วยความหนา 766 หน้าในรุ่นสหราชอาณาจักร และ 870 หน้าในรุ่นสหรัฐอเมริกา[52] ตีพิมพ์ทั่วโลกในภาษาอังกฤษเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 2003[53] แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสมตีพิมพ์วันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 2005 ทำยอดขาย 9 ล้านเล่มในการวางขาย 24 ชั่วโมงแรกทั่วโลก[54][55] นิยายเล่มที่เจ็ดและสุดท้าย แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 2007[56] ทำยอดขาย 11 ล้านเล่มในช่วงวางขาย 24 ชั่วโมงแรก แบ่งเป็น 2.7 ล้านเล่มในสหราชอาณาจักร และ 8.3 ล้านเล่มในสหรัฐอเมริกา[57]

การแปล

[แก้]
แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูตฉบับภาษายูเครน

หนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นอีกอย่างน้อย 80 ภาษา[3] เล่มแรกนั้นได้รับการแปลเป็นภาษาละตินและภาษากรีกโบราณ[58] โดยเป็นงานเขียนภาษากรีกโบราณที่ยาวที่สุดนับแต่นวนิยายของเฮลิโอโดรัสแห่งอีเมซาในคริสต์ศตวรรษที่ 3[59] การแปลหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์นั้นมีความยากลำบากหลายประการ เช่น จากการถ่ายทอดวัฒนธรรมโรงเรียนประจำแบบอังกฤษ การใช้ภาษาที่แสดงถึงบุคลิกภาพหรือสำเนียง รวมถึงการคิดค้นศัพท์ใหม่ ๆ ของผู้แต่งด้วย[60]

นักแปลบางคนที่ได้รับว่าจ้างมาแปลหนังสือนั้นเป็นผู้ประพันธ์มีชื่อเสียงก่อนมีผลงานกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ อาทิ วิกตอร์ โกลูเชฟ ผู้ควบคุมการแปลหนังสือเล่มที่ห้าเป็นภาษารัสเซีย การแปลหนังสือเล่มสองถึงเจ็ดเป็นภาษาตุรกีอยู่ภายใต้การดูแลของเซวิน ออคเย นักวิจารณ์วรรณกรรมและผู้บรรยายวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยม[61] ด้วยเหตุผลด้านความลับ การแปลสามารถเริ่มต้นได้เฉพาะหลังหนังสือนั้นออกมาในภาษาอังกฤษแล้วเท่านั้น ซึ่งทำให้รุ่นภาษาอังกฤษถูกขายให้แก่แฟนที่รอไม่ไหวในประเทศที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษมากขึ้นทุกที จนทำให้เล่มที่ห้าในชุดกลายมาเป็นหนังสือภาษาอังกฤษเล่มแรกและเล่มเดียวที่ขึ้นเป็นที่หนึ่งของรายการหนังสือขายดีในฝรั่งเศส[62]

รุ่นสหรัฐอเมริกาของนวนิยายแฮร์รี่ พอตเตอร์ต้องผ่านการดัดแปลงข้อความเป็นภาษาอังกฤษแบบอเมริกันเสียก่อน เพราะคำหลายคำและหลายแนวคิดที่ใช้โดยตัวละครในนวนิยายนั้นอาจไม่เป็นที่เข้าใจแก่ผู้อ่านชาวอเมริกัน[63]

ผลงานในชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ฉบับแปลภาษาไทยได้รับการจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ในขณะที่ฉบับภาษาอังกฤษได้ออกมาแล้วสี่เล่ม โดยต้องเร่งแปลหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ทั้งสี่เล่มให้เสร็จโดยเร็วเพื่อง่ายต่อการแปลแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มที่ห้า ซึ่งโรว์ลิงยังเขียนไม่เสร็จ มีผู้แปลทั้งสิ้นสามคน ได้แก่ สุมาลี บำรุงสุขแปลเล่มที่หนึ่ง สอง ห้า หกและเจ็ด วลีพร หวังซื่อกุลแปลเล่มที่สาม และงามพรรณ เวชชาชีวะแปลเล่มที่สี่ หน้าปกฉบับภาษาไทยนั้นใช้ภาพแบบเดียวกับหน้าปกฉบับอเมริกัน ซึ่งเป็นผลงานของแมรี กรองด์เปร

ความสำเร็จ

[แก้]

แรงกระทบทางวัฒนธรรม

[แก้]

บรรดานักอ่านผู้ชื่นชอบนิยายชุดนี้ล้วนเฝ้ารอการวางจำหน่ายตอนล่าสุดที่ร้านหนังสือทั่วโลก เริ่มจัดงานให้ตรงกับวันวางจำหน่ายวันแรกตอนเที่ยงคืน เริ่มตั้งแต่การตีพิมพ์แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนีใน ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา กิจกรรมพิเศษระหว่างรอจำหน่ายมีมากมาย เช่น การแต่งกายเลียนแบบตัวละคร เล่นเกม ระบายสีหน้า และการแสดงอื่น ๆ ซึ่งได้รับความนิยมจากบรรดาแฟนพอตเตอร์และประสบความสำเร็จอย่างสูงในการดึงดูดแฟนและขายหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสมได้เกือบ 9 ล้านเล่ม จากจำนวนที่พิมพ์ไว้ครั้งแรก 10.8 ล้านเล่ม ภายใน 24 ชั่วโมงแรกของการวางแผง[64][65] หนังสือเล่มสุดท้ายของชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต เป็นหนังสือที่ขายได้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยขายได้ 11 ล้านเล่มในยี่สิบสี่ชั่วโมงแรกของการวางจำหน่าย[66]

นวนิยายชุดนี้ยังสามารถครองใจกลุ่มนักอ่านผู้ใหญ่ได้ด้วย ทำให้มีการจัดพิมพ์หนังสือออกเป็น 2 ฉบับในแต่ละเล่ม ซึ่งในนั้นมีเนื้อหาเหมือนกันหมด เพียงแต่ฉบับหนึ่งทำปกสำหรับเด็ก อีกฉบับหนึ่งสำหรับผู้ใหญ่[67] นอกเหนือไปจากการพบปะกันออนไลน์ผ่านบล็อก พ็อตแคสต์และแฟนไซต์แล้ว แฟนผู้คลั่งไคล้แฮร์รี่ พอตเตอร์ยังสามารถพบปะกันที่สัมมนาแฮร์รี่ พอตเตอร์ได้ด้วย คำว่า "มักเกิล" (Muggle) ได้แพร่ออกไปนอกเหนือจากการใช้ในแฮร์รี่ พอตเตอร์ และกลายเป็นหนึ่งในคำวัฒนธรรมสมัยนิยมไม่กี่คำได้บรรจุลงพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด[68] แฟนแฮร์รี่ พอตเตอร์ฟังพ็อตแคสต์เป็นประจำ โดยมากทุกสัปดาห์ เพื่อเข้าใจการอภิปรายล่าสุดในหมู่แฟน ทั้งมักเกิลแคสต์และพอตเตอร์แคสต์[69] ได้แตะระดับอันดับสูงสุดของไอทูนส์และได้รับการจัดอันดับอยู่ในพ็อตแคสต์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 50 อันดับแรก[70]

รางวัลและเกียรติยศ

[แก้]

แฮร์รี่ พอตเตอร์ได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย ตั้งแต่การพิมพ์แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ครั้งแรก รวมทั้งรางวัลหนังสือวิตเทกเกอร์แพลตินัมสี่รางวัล (ทั้งหมดได้รับเมื่อ ค.ศ. 2001)[71] รางวัลหนังสือเนสเล่สมาร์ตตีส์สามรางวัล (ค.ศ. 1997-1999)[72], รางวัลหนังสือสภาศิลปะสกอตสองรางวัล (ค.ศ. 1999 และ 2001)[73], รางวัลหนังสือเด็กแห่งปีวิตเบรดเล่มแรก (ค.ศ. 1999)[74], และหนังสือแห่งปีดับเบิลยูเอชสมิท (ค.ศ. 2006)[75] และอื่น ๆ ใน ค.ศ. 2000 แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบันได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลฮิวโกนวนิยายยอดเยี่ยม และใน ค.ศ. 2001 แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนีได้รับรางวัลดังกล่าว[76] เกียรติยศที่ได้นั้นมีทั้งการมอบเหรียญรางวัลคาร์เนกี (ค.ศ. 1997)[77], รายชื่อสั้นสำหรับรางวัลเด็กการ์เดี้ยน (ค.ศ. 1998) และอยู่ในรายการหนังสือมีชื่อเสียง หนังสือที่คัดเลือกโดยบรรณาธิการ และรายการหนังสือดีที่สุดของสมาคมหอสมุดอเมริกา, เดอะนิวยอร์กไทมส์, หอสมุดสาธารณะชิคาโก และพับลิชเชอร์วีกลี[78]

ความสำเร็จทางการค้า

[แก้]
แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต หนังสือที่ขายได้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์

ความสำเร็จของนวนิยายชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้สร้างความมั่งคั่งให้แก่ เจ. เค. โรว์ลิง ผู้ประพันธ์ ตลอดไปจนถึงสำนักพิมพ์และผู้ถือสิทธิ์ด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ทั้งหมด โรว์ลิงได้รับผลตอบแทนมากจนกระทั่งนับได้ว่าเป็นนักเขียนเพียงคนเดียวที่ติดอันดับ "มหาเศรษฐี" ของโลก[79] มีการจำหน่ายหนังสือไปแล้วกว่า 400 ล้านเล่มทั่วโลก และช่วยนำกระแสนิยมให้แก่ภาพยนตร์ชุดดัดแปลงโดย วอร์เนอร์บราเธอร์ส ด้วย ภาพยนตร์ดัดแปลงในแต่ละตอนต่างประสบความสำเร็จไปตามกัน สามารถติดอันดับเป็นภาพยนตร์ทำเงินตลอดกาลในทุกภาคที่เข้าฉาย[80][81] ชุดภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์นั้นได้รับการต่อยอดไปสู่รูปแบบวิดีโอเกมและสินค้าจดลิขสิทธิ์กว่า 400 รายการ ซึ่งมูลค่าโดยประมาณของแบรนด์แฮร์รี่ พอตเตอร์นั้นมีมูลค่าสูงกว่ากว่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[10] ทำให้โรว์ลิงกลายเป็นมหาเศรษฐีระดับพันล้าน[82] ในรายงานเปรียบเทียบบางแห่งยังกล่าวว่าเธอร่ำรวยกว่าสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรเสียอีก[83][84] ทว่าโรว์ลิงชี้แจงว่าเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง[85]

ความต้องการอย่างสูงในหนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ ทำให้ นิวยอร์กไทมส์ ตัดสินใจเปิดอันดับหนังสือขายดีอีก 1 ประเภทสำหรับวรรณกรรมเด็กโดยเฉพาะเมื่อปี ค.ศ. 2000 ก่อนการวางจำหน่าย แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับถ้วยอัคนี ในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 2000 และหนังสือของโรว์ลิงก็อยู่บนอันดับหนังสือขายดีนี้ติดต่อกันเป็นเวลายาวนานถึง 79 สัปดาห์ โดยที่ทั้งสามเล่มแรกเป็นหนังสือขายดีในประเภทหนังสือปกแข็งด้วย[86] การจัดส่งหนังสือชุด ถ้วยอัคนี ต้องใช้รถบรรทุกของเฟดเอกซ์กว่า 9,000 คันเพื่อการส่งหนังสือเล่มนี้เพียงอย่างเดียว[87] วันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 2007 ร้านหนังสือ บาร์นส์แอนด์โนเบิล ประกาศว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต ได้ทำลายสถิติหนังสือจองผ่านเว็บไซต์โดยมียอดจองมากกว่า 500,000 เล่ม[88] เมื่อนับรวมทั้งเว็บของบาร์นส์แอนด์โนเบิล กับอเมซอนดอตคอม จะเป็นยอดจองล่วงหน้ารวมกันมากกว่า 700,000 เล่ม[87] แต่เดิมสถิติการพิมพ์หนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 3.8 ล้านเล่ม[87] แต่ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ ทำลายสถิตินี้ด้วยยอดพิมพ์ครั้งแรก 8.5 ล้านเล่ม และต่อมาก็ถูกทำลายสถิติลงอีกด้วย แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเจ้าชายเลือดผสม ที่ 10.8 ล้านเล่ม[89] ในจำนวนนี้ได้ขายออกไป 6.9 ล้านเล่มภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังจากวางจำหน่าย ส่วนในอังกฤษได้ขายออกไป 2 ล้านชุดภายในวันแรก[90] อย่างไรก็ตามหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ซึ่งเป็นหนังสือเล่มสุดท้าย ก็ได้ทำลายสถิติก่อนหน้าลง ด้วยยอดขายกว่า 11 ล้านเล่ม ในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงแรกของการจำหน่าย[4] โดยมียอดสั่งจองล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์อเมซอนและร้านหนังสือบาร์นส์แอนด์โนเบิลกว่า 1 ล้านเล่ม[91]

คำชื่นชมและวิจารณ์

[แก้]

การวิจารณ์ทางวรรณกรรม

[แก้]

ในช่วงแรก ๆ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้รับคำวิจารณ์ค่อนข้างดี ทำให้นวนิยายชุดนี้ขยายฐานผู้อ่านออกไปอย่างมาก หนังสือเล่มแรกของชุดคือ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ ได้จุดประเด็นความสนใจแก่หนังสือพิมพ์ของสกอตแลนด์หลายเล่ม เช่น The Scotsman บอกว่าหนังสือเล่มนี้ "มีทุกอย่างของความคลาสสิก"[92] หรือ The Glasgow Herald ตั้งสมญาให้ว่าเป็น "สิ่งมหัศจรรย์"[92] ไม่นานหนังสือพิมพ์ของทางอังกฤษก็เข้าร่วมวงด้วย มีหนังสือพิมพ์มากกว่า 1 เล่มเปรียบเทียบงานเขียนชุดนี้กับงานของโรอัลด์ ดาห์ล หนังสือพิมพ์ The Mail on Sunday เรียกหนังสือเล่มนี้ว่าเป็น "งานเขียนที่เปี่ยมจินตนาการนับแต่ยุคของโรอัลด์ ดาห์ล"[92] ส่วน The Guardian เรียกหนังสือนี้ว่า "นวนิยายอันงดงามที่สร้างโดยนักประดิษฐ์อัจฉริยะ"[92]

ครั้นเมื่อหนังสือออกวางจำหน่ายถึงเล่มที่ห้า แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ นวนิยายก็ได้รับการวิจารณ์ที่หนักหน่วงขึ้นจากเหล่านักวิชาการด้านวรรณกรรม เฮโรลด์ บลูม ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเยล นักวิชาการวรรณศิลป์และนักวิจารณ์ เป็นผู้ยกประเด็นการวิจารณ์วรรณกรรมเกี่ยวกับศีลธรรม เขากล่าวว่า "ในใจของโรว์ลิงมีแต่เรื่องอุปมาเกี่ยวกับความตายวนไปวนมา ไม่มีลีลาการเขียนแบบอื่นเลย"[93] เอ. เอส. ไบแอต นักเขียนประจำนิวยอร์กไทมส์ บอกว่าจักรวาลในเรื่องของโรว์ลิงสร้างขึ้นจากจินตนาการที่ผสมปนเปจากวรรณกรรมเด็กหลาย ๆ เรื่อง และเขียนขึ้นเพื่อคนที่มีจินตนาการหมกมุ่นกับการ์ตูนทีวี โลกในฟองสบู่ที่เว่อร์เกินจริง รายการรีแอลิตี และข่าวซุบซิบดารา[94]

นักวิจารณ์ชื่อ แอนโทนี โฮลเดน เขียนความรู้สึกของเขาจากการตัดสินรางวัลวิทเบรด ปี ค.ศ. 1999 ส่วนที่เกี่ยวกับ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน ไว้ใน The Observer โดยที่ค่อนข้างมีมุมมองไม่ค่อยดี เขากล่าวว่า "มหากาพย์พอตเตอร์เป็นงานอนุรักษนิยม ย้อนยุค โหยหาความเป็นอดีตและระบบอุปถัมภ์ในอดีตของอังกฤษที่ผ่านไปแล้ว" เขายังวิจารณ์อีกว่าเป็น "งานเขียนร้อยแก้วที่ผิดไวยากรณ์ ใช้สำนวนตลาด"[95]

แต่ในทางตรงกันข้าม เฟย์ เวลดอน นักเขียนผู้ยอมรับว่านวนิยายชุดนี้ "ไม่ใช่งานที่กวีจะชื่นชอบ" แต่ก็ยอมรับว่า "มันไม่ใช่กวีนิพนธ์ มันเป็นร้อยแก้วที่อ่านเข้าใจง่าย อ่านได้ทุกวัน และขายได้"[96] เอ. เอ็น. วิลสัน นักวิจารณ์วรรณกรรม ยกย่องนวนิยายชุดนี้ใน The Times โดยระบุว่า "มีนักเขียนไม่มากนักเหมือนอย่างเจ. เค. ผู้มีความสามารถดังหนึ่งดิกคินส์ ที่ทำให้เราต้องรีบพลิกอ่านหน้าต่อไป ทำให้เราร้องไห้อย่างไม่อาย พอไม่กี่หน้าถัดไปเราก็ต้องหัวเราะกับมุกตลกที่แทรกอยู่สม่ำเสมอ ... เรามีชีวิตอยู่ตลอดทศวรรษที่เฝ้าติดตามงานตีพิมพ์อันมีชีวิตชีวาที่สุด สนุกสนานที่สุด เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กที่โดดเด่นที่สุดเท่าที่เคยมีมา"[97] ชาลส์ เทย์เลอร์ แห่ง salon.com นักวิจารณ์ภาพยนตร์ เห็นด้วยกับความคิดของไบแอต แต่เขาก็ยอมรับว่าผู้ประพันธ์อาจจะ "มีจุดยืนทางวัฒนธรรมที่แตกต่าง คือความเป็นวัยรุ่น มันเป็นแรงกระตุ้นของพวกเราที่จะเข้าใจความเหลวไหลของยุคสมัยใหม่ ซึ่งแตกต่างกับความซับซ้อนของศิลปะยุคเดิม"[98]

สตีเฟน คิง เรียกนวนิยายชุดนี้ว่า "ความกล้าหาญซึ่งผู้มีจินตนาการอันล้ำเลิศเท่านั้นจึงจะทำได้" และยกย่องการเล่นถ้อยคำสำนวนตลอดจนอารมณ์ขันของโรว์ลิงในนิยายชุดนี้ว่า "โดดเด่น" แม้เขาจะบอกว่านิยายชุดนี้จัดว่าเป็นนิยายที่ดี แต่ก็บอกด้วยว่า ในตอนต้นของหนังสือทั้งเจ็ดเล่มที่พบแฮร์รี่ที่บ้านลุงกับป้านั้นค่อนข้างน่าเบื่อ[34] คิงยังว่า "โรว์ลิงจะไม่ใช้คำขยายความที่เธอไม่ชอบ!" เขายังทำนายด้วยว่า นวนิยายชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ "จะยืนยงท้าทายการทดสอบของกาลเวลา และอยู่บนหิ้งที่เก็บหนังสือดีที่สุดเท่านั้น ผมคิดว่าแฮร์รี่ได้เทียบขั้นกับอลิซ, ฮัค, โฟรโด และโดโรธีแล้ว นิยายชุดนี้จะไม่โด่งดังเพียงทศวรรษนี้ แต่จะยืนยงตลอดกาล"[99]

การวิจารณ์ทางวัฒนธรรม

[แก้]

นิตยสารไทมส์ประกาศให้โรว์ลิงเป็นหนึ่งในผู้มีสิทธิ์เป็น "บุคคลแห่งปี" ของไทมส์ในปี ค.ศ. 2007 ในฐานะที่มีผลงานโดดเด่นทางสังคมและวัฒนธรรมซึ่งสร้างแรงบันดาลใจอย่างมากต่อกลุ่มแฟนคลับของเธอ[100] ทว่าคำวิพากษ์วิจารณ์ทางด้านสังคมและวัฒนธรรมที่มีต่อนิยายชุดนี้ก็มีทั้งด้านดีและไม่ดีปะปนกัน นักวิจารณ์หนังสือจากวอชิงตันโพสต์ รอน ชาลส์ แสดงความเห็นของเขาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2007 ว่าจำนวนผู้อ่านที่เป็นผู้ใหญ่จำนวนมากซึ่งอ่านหนังสืออื่นค่อนข้างน้อย อาจสะท้อนถึงตัวอย่างที่ไม่ดีของวัฒนธรรมวัยเด็ก รูปแบบการนำเสนอแบบตรงไปตรงมาในเรื่องที่แยกระหว่าง "ความดี-ความเลว" อย่างชัดเจนนั้นก็เป็นแนวทางแบบเด็ก ๆ เขายังบอกว่า ไม่ใช่ความผิดของโรว์ลิงเลย แต่วิธีทางการตลาดแบบ "ฮีสทีเรีย" (กรี๊ดกร๊าดคลั่งไคล้อย่างรุนแรง) ที่ปรากฏให้เห็นในการตีพิมพ์หนังสือเล่มหลัง ๆ "ทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่พากันหลงใหลเสียงกรีดร้องในโรงมหรสพ ประสบการณ์สื่อแบบมหาชนซึ่งนิยายอื่นอาจจะทำให้ไม่ได้"[101]

เจนนี่ ซอว์เยอร์ เขียนไว้ใน Christian Science Monitor เมื่อ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 ว่า หนังสือชุดนี้เป็นตัวแทนถึง "จุดเปลี่ยนค่านิยมการเล่านิทานและสังคมตะวันตก" โดยที่ในนิยายชุดนี้ "หัวใจแห่งศีลธรรมกำลังเหือดหายไปจากวัฒนธรรมยุคใหม่... หลังจากผ่านไป 10 ปี, 4195 หน้า และ 375 ล้านเล่ม ท่ามกลางความสำเร็จอย่างสูงยิ่งของ เจ. เค. โรว์ลิง แต่เสาหลักของวรรณกรรมเด็กอันยิ่งใหญ่กลับขาดหายไป นั่นคือการเดินทางของวีรบุรุษเพื่อยืนหยัดความถูกต้อง" ซอว์เยอร์กล่าวว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์ ไม่เคยประสบความท้าทายทางศีลธรรม ไม่เคยตกอยู่ใต้ภาวะลำบากระหว่างความถูกผิด ดังนั้นจึง "ไม่เคยมีสถานการณ์ใดที่ความถูกผิดไม่เป็นสีขาวและสีดำ"[102]

คริส ซุลเลนทรอพ ให้ความเห็นคล้ายคลึงกันใน Slate Magazine เมื่อ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 2002 เขาเปรียบพอตเตอร์ว่าเป็น "เด็กผู้เป็นที่ไว้วางใจและชื่นชมที่โรงเรียน อันเป็นผลงานส่วนมากจากของขวัญที่เพื่อนและครอบครัวทุ่มเทให้" เขาสังเกตว่า ในนิยายของโรว์ลิงนั้น ศักยภาพและความสามารถทางเวทมนตร์เป็น "สิ่งที่คุณเกิดมาพร้อมกับมัน ไม่ใช่สิ่งที่คุณจะไขว่คว้ามาได้" ซุลเลนทรอพเขียนว่า คำคมของดัมเบิลดอร์ที่ว่า "เราต้องเลือกเองที่จะแสดงตัวตนที่แท้จริงที่ยิ่งใหญ่กว่าความสามารถของเรา" เป็นเรื่องโกหกทั้งเพ ในเมื่อโรงเรียนที่ดัมเบิลดอร์บริหารอยู่นั้นให้ความสำคัญกับพรสวรรค์ที่มีมาแต่กำเนิดมากกว่าอะไรทั้งนั้น[103] อย่างไรก็ดี ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ฉบับวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 2007 คริสโตเฟอร์ ฮิทเชนส์ รีวิว แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต โดยยกย่องโรว์ลิงว่าได้ปรับเปลี่ยน "นิทานเกี่ยวกับโรงเรียนในอังกฤษ" ที่มีมาแต่ไหนแต่ไร ที่เคยมีแต่เรื่องเพ้อฝัน ความร่ำรวย ชนชั้น และความเป็นผู้ดี ให้กลายเป็น "โลกของประชาธิปไตยและความเปลี่ยนแปลงของวัยหนุ่มสาว"[104]

การโต้แย้งต่าง ๆ

[แก้]

หนังสือชุดนี้ตกเป็นประเด็นโต้แย้งทางกฎหมายมากมายหลายคดี มีทั้งการฟ้องร้องจากกลุ่มคริสเตียนอเมริกันว่าการใช้เวทมนตร์คาถาในหนังสือเป็นการเชิดชูศิลปะของพวกพ่อมดแม่มดให้แพร่หลายในหมู่เด็ก ๆ รวมถึงข้อขัดแย้งอีกหลายคดีเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า การที่นวนิยายชุดนี้เป็นที่นิยมอย่างมากและครอบครองมูลค่าตลาดสูงมาก ทำให้โรว์ลิง สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ของเธอ รวมถึงวอร์เนอร์ บราเธอร์ ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อปกป้องลิขสิทธิ์ของตน ทั้งนี้รวมถึงการห้ามจำหน่ายสินค้าลอกเลียนแบบแฮร์รี่ พอตเตอร์ เหล่าเจ้าของเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ใช้ชื่อโดเมนคาบเกี่ยวกับคำว่า "แฮร์รี่ พอตเตอร์" พวกเขายังฟ้องนักเขียนอีกคนหนึ่งคือ แนนซี สโตฟเฟอร์ เพื่อตอบโต้การที่เธอออกมากล่าวอ้างว่า โรว์ลิงลอกเลียนแบบงานเขียนของเธอ[105][106][107] กลุ่มนักอนุรักษนิยมทางศาสนาจำนวนมากอ้างว่า หนังสือชุดนี้เชิดชูศาสตร์ของพ่อมดแม่มด ดังนั้นจึงไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก[108] นอกจากนี้ยังมีนักวิจารณ์อีกจำนวนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ว่าหนังสือชุดนี้มีแง่มุมทางการเมืองซ่อนอยู่หลายประการ[109][110]

การดัดแปลงไปยังสื่ออื่น

[แก้]

ภาพยนตร์

[แก้]

ดูบทความหลักที่: ภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์

The red locomotive train used as the "Hogwarts Express" in the film series. In the front it has the numbers "5912" inscripted on it
หัวรถจักรที่ถูกใช้ประกอบฉาก “รถไฟด่วนสายฮอกวอตส์” ในภาพยนตร์

ในปี 1998 โรว์ลิงได้ขายลิขสิทธิ์ของหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์สี่เล่มแรกให้แก่ทางวอร์เนอร์ บราเธอร์สเป็นเงินจำนวน 1 ล้านปอนด์ (1,982,900 ดอลลาร์สหรัฐ) ตามที่ได้มีการรายงานไว้[111][112] โดยเธอต้องการให้ผู้สร้างมีความซื่อตรงต่อบทประพันธ์ด้วยการคัดเลือกนักแสดงหลักของเรื่องให้เป็นคนอังกฤษ อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวก็ได้รับการยกเว้นให้แก่ ริชาร์ด แฮร์ริส นักแสดงชาวไอริช ที่รับบทเป็นศาสตราจารย์ดัมเบิลดอร์ในสองภาคแรก ส่วนการคัดเลือกนักแสดงชาวฝรั่งเศสและชาวยุโรปตะวันออกในภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนีนั้นก็ยังคงซื่อตรงกับหนังสือต้นฉบับอยู่เช่นกัน[113] หลังจากที่ผู้สร้างได้พิจารณาผู้กำกับมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สตีเวน สปีลเบิร์ก, เทรี กิลเลียม, โจนาธาน เดมมี และอลัน ปาร์คเกอร์ พวกเขาก็ได้เลือกให้ คริส โคลัมบัส รับหน้าที่เป็นผู้กำกับภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ในวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 2000 เนื่องจากทางวอเนอร์ บราเธอร์สได้มองเห็นว่าโคลัมบัสเคยมีผลงานสร้างภาพยนตร์แนวครอบครัวและเคยมีประสบการณ์กำกับภาพยนตร์กับเด็กมาแล้วใน โดดเดี่ยวผู้น่ารัก และ คุณนายเด๊าท์ไฟร์ พี่เลี้ยงหัวใจหนุงหนิง[114]

หลังจากที่ได้มีการคัดเลือกนักแสดงอย่างเข้มข้น การถ่ายทำภาพยนตร์ก็ได้เริ่มต้นขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2000 ที่สตูดิโอภาพยนตร์ลีฟส์เดน ในกรุงลอนดอน[115] ก่อนที่งานสร้างทั้งหมดจะสิ้นสุดลงในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2001 ภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ได้ออกฉายในวันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 2001 ซึ่งภาพยนตร์ภาคต่ออย่างแฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับก็ได้ถูกเปิดกล้องขึ้นหลังจากนั้นเพียง 3 วัน โดยมีผู้กำกับเป็นโคลัมบัสตามเดิม โดยการถ่ายทำได้เสร็จสิ้นลงในช่วงฤดูร้อนของปี 2002 และออกฉายในวันที่ 15 พฤศจิกายน ในปีเดียวกัน[116] ซึ่ง แดเนียล แรดคลิฟฟ์, รูเพิร์ท กรินท์ และเอ็มมา วัตสัน ก็ได้รับบทเป็นตัวละครหลักอย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์, รอน วิสลีย์ และเฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์ ในภาพยนตร์ทุกภาคตามลำดับ

โคลัมบัสปฏิเสธที่จะกลับมากำกับภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน โดยได้เลือกร่วมงานในฐานะผู้อำนวยการสร้างเพียงเท่านั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงได้ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเม็กซิกันอย่าง อัลฟอนโซ กัวรอน มารับหน้าที่แทน หลังจากที่ได้มีการถ่ายทำไปในปี 2003 ภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบันก็ออกฉายในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 2004 โดยงานสร้างของภาพยนตร์ภาคที่สี่ได้ดำเนินไปก่อนที่ภาพยนตร์ภาคที่สามจะออกฉาย ซึ่งทางผู้สร้างก็ได้เลือกให้ ไมค์ นิวเวลล์ มารับหน้าที่กำกับภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี ก่อนที่ภาพยนตร์จะออกฉายในวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 2005[117] ซึ่งนิวเวลล์ก็ถือเป็นผู้กำกับชาวอังกฤษคนแรกที่ได้กำกับภาพยนตร์ชุดนี้ จากนั้นผู้กำกับภาพยนตร์โทรทัศน์อย่าง เดวิด เยตส์ ก็ได้รับโอกาสให้มากำกับภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ โดยงานสร้างภาพยนตร์ได้เริ่มต้นขึ้นในเดือนมกราคม ค.ศ. 2006 ก่อนที่ภาพยนตร์จะออกฉายในเดือนกรกฎาคมของปี 2007[118] ทางฝ่ายบริการต่าง “รู้สึกชื่นชอบ” ในผลงานการกำกับของเยตส์เป็นอย่างมาก เขาจึงได้รับโอกาสให้กำกับภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสมต่อ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องที่หกนี้ก็ได้ออกฉายในวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 2009[119][120][121][122]

แบบจำลองปราสาทฮอกวอตส์ ภายในสตูดิโอ ซึ่งเป็นรูปแบบเดียวกับที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์

ในเดือนมีนาคม ปี 2008 อลัน ฮอร์น ประธานและประธานฝ่ายปฏิบัติการของทางวอร์เนอร์ บราเธอร์สได้ออกมาระบุว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ภาพยนตร์ภาคสุดท้ายนั้นจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ภาค โดยภาคที่ 1 นั้นจะออกฉายในวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 2010 และภาค 2 จะออกฉายในวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 2011 โดยงานสร้างของภาพยนตร์ทั้งสองภาคนั้นได้เริ่มต้นขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2009 ก่อนที่จะปิดกล้องลงในวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 2010[123][124]

นอกจากนี้ โรว์ลิงก็ยังได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ชุดนี้อีกด้วย โดยเธอได้รับหน้าที่สังเกตงานสร้างของภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ และรับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างในภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูตทั้งสองภาคร่วมกับเดวิด เฮย์แมนและเดวิด แบร์รอน[125] ภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ประสบความสำเร็จในด้านรายได้ทั้งสิ้น ซึ่งภาพยนตร์ทั้งแปดภาคก็ล้วนแต่ติดอันดับภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุด โดยแฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ภาค 2 จัดเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จในด้านรายได้มากที่สุด ในขณะที่แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบันถือเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้น้อยที่สุดในชุด[126] นอกจากจะประสบความสำเร็จด้านรายได้แล้ว ภาพยนตร์ชุดนี้ยังประสบความสำเร็จในแง่คำวิจารณ์อีกด้วย[127][128]

ความคิดเห็นของเหล่าแฟนคลับที่มีต่อภาพยนตร์ชุดนี้มีความแตกต่างกันออกไป โดยกลุ่มหนึ่งรู้สึกชื่นชอบความซื่อตรงต่อบทประพันธ์ของภาพยนตร์สองภาคแรก ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งกลับชอบรูปแบบการเล่าเรื่องผ่านตัวละครอันน่าจดจำของภาพยนตร์ภาคท้าย ๆ มากกว่า[129] ซึ่งโรว์ลิงนั้นก็ได้ให้ความเห็นเชิงสนับสนุนภาพยนตร์ทุกภาคเสมอมา และได้ยกให้ภาพยนตร์ภาคเครื่องรางยมทูตเป็น “ภาพยนตร์เรื่องโปรด” ของเธอในภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ทั้งหมด[130][131][132][133] เธอได้แสดงความคิดเห็นเรื่องการปรับเปลี่ยนเนื้อหาจากหนังสือเป็นภาพยนตร์เอาไว้ในเว็บไซต์ของเธอว่า “มันคงเป็นไปไม่ได้ที่จะเก็บเนื้อหาทุกส่วนที่ฉันได้เล่าไปไว้ในภาพยนตร์ที่ต้องมีความยาวน้อยกว่า 4 ชั่วโมง เห็นได้ชัดว่าภาพยนตร์มีข้อจำกัดที่นวนิยายไม่มี ทั้งเรื่องเวลาและงบประมาณที่จำกัด ดังนั้น ฉันก็คงทำอะไรไม่ได้ไปมากไปกว่าการอาศัยให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างจินตนาการของฉันกับผู้อ่านได้ทำหน้าเชื่อมต่อเข้าหากันด้วยตัวของมันเอง”[134]

ในงานประกาศรางวัลบาฟต้า ครั้งที่ 64 ที่จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011 โรว์ลิง กับผู้อำนวยการสร้าง เดวิด เฮย์แมนและเดวิด แบร์รอน พร้อมด้วยผู้กำกับภาพยนตร์เดวิด เยตส์, อัลฟอนโซ กัวรอน และไมค์ นิวเวลล์ ได้ขึ้นรับรางวัลเชิดชูเกียรติภาพยนตร์อังกฤษอันโดดเด่นแห่งยุค (Michael Balcon Award for Outstanding British Contribution to Cinema) ที่มอบแด่ภาพยนตร์ทุกเรื่องของชุด โดยรูเพิร์ท กรินท์ และเอ็มม่า วัตสัน ก็ได้เดินทางมาร่วมงานเช่นกัน[135][136]

ภาพยนตร์ภาคแยก

[แก้]

ภาพยนตร์ภาคแยกประกอบด้วยภาพยนตร์ทั้งหมด 5 ภาคซึ่งเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนเนื้อหาในภาพยนตร์ชุดหลัก[137] ภาพยนตร์ภาคแรก สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ เข้าฉายในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2016 ก่อนที่ภาพยนตร์ภาคต่ออย่าง สัตว์มหัศจรรย์: อาชญากรรมของกรินเดลวัลด์ เข้าฉายในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2018 ส่วนภาพยนตร์สามภาคหลังนั้นจะเข้าฉายในปี 2021, 2022 และ 2024 ตามลำดับ[138] โดยโรว์ลิงก็ยังได้มีส่วนร่วมในการเขียนบทภาพยนตร์ทั้งสามภาคแรก[139] ซึ่งถือเป็นงานเขียนบทภาพยนตร์ครั้งแรกของเธออีกด้วย

วิดีโอเกม

[แก้]

แฮร์รี่ พอตเตอร์ได้ถูกนำไปดัดแปลงและจำหน่ายในรูปแบบวิดีโอเกมไปกว่า 13 ภาค โดย 8 ภาคนั้นได้ดำเนินเนื้อหาตามภาพยนตร์และหนังสือ ส่วนอีก 5 ภาคนั้นเป็นวิดีโอเกมภาคแยก ในส่วนของวิดีโอเกมที่อิงเนื้อหาจากภาพยนตร์และหนังสือนั้นได้รับการผลิตและพัฒนาโดยบริษัทเกมอิเลคโทรนิค อาร์ต หรือ อีเอ ซึ่งภายหลังยังได้พัฒนาเกมภาคเสริมอย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์: ควิดดิช เวิลด์ คัพ ขึ้นมาอีกด้วย ทางอีเอได้เริ่มวางจำหน่ายเกมแฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ อันเป็นเกมภาคแรกของชุดในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2001 ก่อนที่เกมภาคนี้จะได้กลายมาเป็นหนึ่งในเกมเพลย์สเตชันที่ขายดีที่สุดตลอดกาล[140] วิดีโอเกมภาคนี้ได้รับการวางจำหน่ายในช่วงเดียวกันกับที่ภาพยนตร์ภาคแรกเข้าฉาย มีการใช้ฉากและรายละเอียดต่าง ๆ รวมไปถึงได้มีการใส่บรรยากาศและอารมณ์ที่ถูกบรรยายไว้ในหนังสือเข้ามาอีกด้วย ภารกิจที่ผู้เล่นจะต้องทำนั้นจะเกิดขึ้นในหรือรอบ ๆ บริเวณฮอกวอตส์ และสถานที่อื่น ๆ ของโลกเวทมนตร์ เรื่องราวและการออกแบบต่าง ๆ ภายในเกมนั้นยังได้หยิบยกมาจากเนื้อหาและงานสร้างของภาพยนตร์ โดยทางอีเอเองก็ได้ทำงานร่วมกับทางวอร์เนอร์ บราเธอร์สอย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะสามารถนำฉากต่าง ๆ ในภาพยนตร์มาใช้ในรูปแบบวิดีโอเกมได้ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต วิดีโอเกมภาคสุดท้ายของชุดได้ถูกแบ่งออกเป็นสองภาคเช่นเดียวกับภาพยนตร์ และเกมทั้งสองภาคได้รับการวางจำหน่ายในเดือนเดียวกับที่ภาพยนตร์ออกฉาย ซึ่งเกมสองภาคสุดท้ายนี้ได้นำเสนอภาพการต่อสู้และความรุนแรงเอาไว้อยู่มาก โดยผู้เล่นจะต้องสลับบทบาทการเล่นในรูปแบบมุมมองบุคคลที่ 3 และต้องใช้ไม้กายสิทธิ์ในการเสกคาถาโจมตีฝั่งตรงข้าม[141]

ในส่วนของวิดีโอเกมภาคแยกนั้น บริษัททราเวลเลอร์ส เทลส์ ได้พัฒนาเกม เลโก แฮร์รี่ พอตเตอร์: เยียร์ 1-4 และ เลโก แฮร์รี่ พอตเตอร์: เยียร์ 5-7 ขึ้น ซึ่งเนื้อหาของเกมทั้งสองภาคนั้นไม่ได้ดำเนินเรื่องตามเส้นเรื่องหลักของหนังสือและภาพยนตร์ เช่นเดียวกับทาง เอสซีอี ลอนดอน เอนเตอร์เทนเมนท์ ที่ได้พัฒนาเกมภาคแยก บุ๊คออฟสเปลส์ และ บุ๊คออฟโพชั่นส์ ขึ้นเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของ วันเดอร์บุ๊ค อุปกรณ์เชื่อมต่อระบบความเป็นจริงเสริม (AR) ที่จำเป็นต้องใช้ร่วมกันกับเครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชันมูฟและเพลย์สเตชันอายส์[142] นอกจากนี้ สถานที่และตัวละครจักรวาลของแฮร์รี่ พอตเตอร์ยังได้ถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของเกม เลโก ไดเมนชัน ในชื่อ แฮร์รี่ พอตเตอร์ แอดเวนเจอร์ เวิลด์ ซึ่งผู้เล่นจะสามารถควบคุมตัวละครแฮร์รี่, โวลเดอมอร์ และเฮอร์ไมโอนี่ได้อีกด้วย ในปี 2017 ทางวอร์เนอร์ บราเธอร์ส อินเตอร์แอ็กทีฟ เอนเตอร์เทนเมนท์ ได้เปิดตัวสตูดิโอออกแบบเกมแฮร์รี่ พอตเตอร์ในชื่อ พอร์ทคีย์ เกม ขึ้น ก่อนที่จะปล่อยเกมแฮร์รี่ พอตเตอร์: ฮอกวอตส์มิสทะรี และแฮร์รี่ พอตเตอร์: วิซาร์ด ยูไนท์ ออกมาให้ผู้ใช้ไอโอเอสและแอนดรอยด์ได้ดาวน์โหลดในปี 2018 และ 2019 ตามลำดับ[143] ต่อมาในช่วงต้นปี 2023 เกมฮอกวอตส์ เลกาซี ได้ถูกวางจำหน่าย ถือเป็นวิดีโอเกมแรกในจักรวาลแฮร์รี่ พอตเตอร์ที่สามารถเล่นบนเพลย์สเตชัน 5 ได้

ละครเวที

[แก้]

แฮร์รี่ พอตเตอร์ได้รับการวางแผนให้ได้รับการดัดแปลงในรูปแบบละครเวทีซึ่งจะนำเนื้อหาจากหนังสือนิยายต้นฉบับมาดัดแปลง โดยจะใช้การร้องเพลงเป็นตัวดำเนินเรื่องและในวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 2013 เจ.เค.โรว์ลิ่งได้ประกาศว่าเธอกำลังทำงานในฐานะผู้อำนวยการสร้างของแฮร์รี่ พอตเตอร์ในรูปแบบละครเวที โดยเธอระบุว่าเนื้อหาของละครเวทีเรื่องนี้จะเป็นเรื่องราวซึ่งยังไม่เคยถูกเล่า เกิดในช่วงก่อนที่แฮร์รี่จะกำพร้าพ่อแม่และถูกพวกเดอร์สลีย์รับมาเลี้ยง [144][145]

โรว์ลิ่งได้เปิดเผยข้อมูลผ่านทวิตเตอร์ในวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 2015 ซึ่งตรงกับวันครบรอบการวางแผงหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มแรกว่าละครเวทีแฮร์รี่ พอตเตอร์นั้นจะใช้ชื่อการแสดงว่า "แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเด็กต้องคำสาป"[146] โดยคาดการณ์ว่าจะเริ่มเปิดการแสดงในช่วงฤดูร้อนของปี ค.ศ. 2016 ที่โรงละครพาเลซเธียเตอร์[147] ซึ่งบัตรเข้าชมในช่วงสี่เดือนแรกหรือช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายนถูกขายหมดในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังเปิดจำหน่าย[148] ภายหลังในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2016 ได้มีการเปิดเผยผ่านเว็บไซต์พอตเตอร์มอร์ว่าบทละครจะถูกตีพิมพ์จำหน่ายในรูปแบบหนังสือหนึ่งวันหลังรอบปฐมทัศน์โลกของละครเวที และเหตุการณ์ในเรื่องจะเกิดขึ้นสิบเก้าปีให้หลังจากบทจบของแฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต โดยบางกลุ่มได้จัดบทละครที่จะถูกตีพิมพ์นี้เป็นหนังสือเล่มที่แปด แม้จะไม่ได้ถูกเขียนโดยเจ. เค. โรว์ลิ่งที่ก็ตาม[149]

ละครชุด

[แก้]

ในช่วงปี ค.ศ. 2021 ได้มีรายงานข่าวออกมาว่าจะมีการดัดแปลงแฮร์รี่ พอตเตอร์ในรูปแบบละครชุดเพื่อออกฉายทาง เอชบีโอแม็กซ์ แต่รายงานดังกล่าวยังเป็นเพียงแค่ข่าวลือเนื่องจากไม่มีการยืนยันจากทั้งทางวอร์เนอร์ส บราเธอร์ส, เอชบีโอ, หรือตัวโรว์ลิ่งเองแต่อย่างใด[150]

ต่อมาในวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 2023 ได้มีการยืนยันว่าแฮร์รี่ พอตเตอร์จะถูกดัดแปลงเป็นละครชุดจริง และจะออกอากาศผ่านทาง แม็กซ์ ซึ่งเป็นการปรับปรุงแบรนด์ใหม่จากเอชบีโอแม็กซ์เดิม โดยในการสร้างละครชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์นี้จะเป็นการร่วมงานกันระหว่างวอร์เนอร์ส บราเธอร์สและเอชบีโอ และได้โรว์ลิ่งมารับหน้าที่ผู้อำนวยการสร้าง โดยมีแผนสร้างทั้งหมด 7 ฤดูกาลตามจำนวนหนังสือทั้งหมด 7 เล่ม (1 เล่มต่อ 1 ฤดูกาล)[151][152]

ในวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 2024 ได้มีรายงานว่าละครชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ได้เปลี่ยนรูปแบบการออกฉายจากเดิมที่จะออกฉายผ่านทางเอชบีโอแมกซ์เท่านั้นมาเป็นออกฉายทางสถานีโทรทัศน์เอชบีโอ[153] และในวันต่อมา (26 มิถุนายน) เอชบีโอได้ประกาศว่า ฟรานเชสกา การ์ดิเนอร์ จะมารับหน้าที่ผู้สร้างสรรค์ซีรีส์ ในขณะที่ มาร์ค ไมลอด จะทำหน้าที่ผู้กำกับซีรีส์ในหลาย ๆ ตอน ทั้งนี้ เอชบีโอวางแผนไว้ว่าจะออกอากาศฤดูกาลแรก (ศิลาอาถรรพ์) ในช่วงปี ค.ศ. 2026[154]

อิทธิพลและผลสืบเนื่อง

[แก้]

วงดนตรี

[แก้]

แฮร์รี่ พอตเตอร์มีอิทธิพลต่อสื่อทางด้านวงดนตรีร็อกของกลุ่มวัยรุ่นชายเป็นอย่างมาก ในปี ค.ศ. 2002 ได้มีผลสำรวจว่ามีวงดนตรีร็อกของกลุ่มวัยรุ่นที่ได้รับแรงบันดาลใจหรืออิทธิพลจากแฮร์รี่ พอตเตอร์มากมายหลายร้อยวงด้วยกัน [155] วงที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือวง "แฮร์รีแอนด์เดอะพอตเตอร์ส" ซึ่งเป็นวงดนตรีอินดี้ร็อกที่นำเสนอเพลงแบบเรียบง่าย พวกเขาได้นำเนื้อหาบางส่วนในหนังสือมาแต่งเป็นบทเพลงของตน

สวนสนุก

[แก้]
ปราสาทฮอกวอตส์ในสวนสนุก

หลังจาก แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต วางแผงได้ไม่นานนัก ทางประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการวางแผนและทำแบบแปลนการสร้างสวนสนุกที่ยูนิเวอร์แซลออร์แลนโดรีสอร์ต เมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา โดยจำลองสถานที่ต่าง ๆ ในวรรณกรรมแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่เกี่ยวกับสถานที่ในโลกเวทมนตร์เช่น ฮอกวอตส์และหมู่บ้านฮอกส์มี้ด เป็นต้น สวนสนุกแห่งนี้วางแผนการสร้างโดย จิม ฮิล มีแบบจำลองปราสาทฮอกวอตส์ รวมไปถึงหมู่บ้านฮอกส์มีดส์อีกด้วย ผู้สร้างสวนสนุกยังได้เชิญ เจ. เค. โรว์ลิง ให้มาร่วมทำการเนรมิตสวนสนุกแห่งนี้ เพื่อทำให้เหมือนกับสถานที่ในหนังสือของเธอให้มากที่สุด ซึ่งโรว์ลิงก็ตอบตกลง สวนสนุกตั้งอยู่ในไอส์แลนด์ส ออฟ แอดเวนเจอร์ซึ่งเป็นเกาะรวมเครื่องเล่นแนวผจญภัยของยูนิเวอร์แซลออร์แลนโดรีสอร์ท โดยได้ใช้ชื่อว่าอย่างเป็นทางการว่าโลกมหัศจรรย์ของแฮร์รี่ พอตเตอร์และเปิดให้เข้าชมในวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 2010[156] โดยมีทั้งนักแสดงจากภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ อาทิ แดเนียล แรดคลิฟฟ์ (แฮร์รี่ พอตเตอร์), ไมเคิล แกมบอน (ศาสตราจารย์ดัมเบิลดอร์), รูเพิร์ท กรินท์ (รอน วีสลีย์) แมทธิว ลิวอิส (เนวิลล์ ลองบัตท่อม) และทอม เฟลตัน (เดรโก มัลฟอย) รวมถึง เจ.เค. โรว์ลิ่ง และผู้ประพันธ์เพลงให้กับภาพยนตร์ 3 ภาคแรกอย่าง จอห์น วิลเลียมส์ มาร่วมงานครั้งนี้ด้วย

และด้วยความสำเร็จของสวนสนุกที่สามารถเพิ่มยอดผู้เข้าชมได้มากกว่าร้อยละ 36 ทางผู้สร้างจึงได้ริเริ่มโครงการที่สอง เป็นการสร้างส่วนขยายของสวนสนุกโดยการได้ทำการสร้างขึ้นในสวนสนุกยูนิเวอร์แซล ฟลอริดา ในส่วนของโครงการที่สองได้มีการสร้างสถานที่ในโลกเวทมนตร์อย่างตรอกไดแอกอน ประกอบด้วยร้านค้าต่างๆ รวมถึงธนาคารกริงก็อตส์[157] ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของเครื่องเล่นว่าแฮร์รี่ พอตเตอร์กับการหลบหนีจากกริงก็อตส์ และยังรวมไปถึงสถานนีรถไฟของรถด่วนขบวนพิเศษฮอกวอตส์ซึ่งสร้างเชื่อมกับไอส์แลนด์ส ออฟ แอดเวนเจอร์ เพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถเดินทางไปได้อย่างสะดวก[158][159] โดยในส่วนของสถานีรถไฟได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 และตามด้วยการเปิดตัวของตรอกไดแอกอนในวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 2013[160]

สวนสนุกโลกมหัศจรรย์ของแฮร์รี่ พอตเตอร์ได้มีการขยายสาขาไปเปิดยังต่างประเทศ ที่เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 2013[161] ก่อนที่จะมีการขยายสาขาเพิ่มเติมในปี 2016 ที่สวนสนุกที่ยูนิเวอร์แซล ฮอลลีวูด ใกล้กับเมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย[162]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Grady, Constance (2017-06-26). "How Harry Potter changed the world". Vox (ภาษาอังกฤษ).
  2. Allsobrook, Dr. Marian (18 June 2003). "Potter's place in the literary canon". BBC. สืบค้นเมื่อ 15 October 2007.
  3. 3.0 3.1 The Pottermore News Team (1 กุมภาพันธ์ 2018). "500 million Harry Potter books have now been sold worldwide". พอตเตอร์มอร์. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2020
  4. 4.0 4.1 Harry Potter finale sales hit 11 m. BBC News. 23 July 2007. Retrieved 27 July 2007.
  5. Fry, Stephen (10 December 2005). "Living with Harry Potter". BBC Radio 4. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-02. สืบค้นเมื่อ 10 December 2005.
  6. Jenson, Jeff (2000). "Harry Up!". ew.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-30. สืบค้นเมื่อ 20 September 2007.
  7. NancypCarpentier Brown (2007). "The Last Chapter" (PDF). Our Sunday Visitor. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-10-13. สืบค้นเมื่อ 28 April 2009.
  8. J. K. Rowling. "J. K. Rowling at the Edinburgh Book Festival". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-08-20. สืบค้นเมื่อ 10 October 2006.
  9. 9.0 9.1 Geordie Greig (11 January 2006). "'There would be so much to tell her...'". Daily Telegraph. London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-11. สืบค้นเมื่อ 4 April 2007.
  10. 10.0 10.1 Meyer, Katie (6 April 2016). "Harry Potter's $25 Billion Magic Spell". Time. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 April 2016. สืบค้นเมื่อ 4 November 2016.
  11. Ed, Pottermore. "Pottermore Insider: You ask, we answer". Pottermore. สืบค้นเมื่อ 22 July 2011.
  12. "Pottermore - WW Publishing Cursed Child Script Book Announcement". Pottermore. 10 February 2016. สืบค้นเมื่อ 10 February 2016.
  13. The Years in Which the Stories Take Place The Harry Potter Lexicon เรียกข้อมูลวันที่ 24-05-2550 (อังกฤษ)
  14. Lemmerman, Kristin (14 July 2000). "Review: Gladly drinking from Rowling's 'Goblet of Fire'". CNN. สืบค้นเมื่อ 28 September 2008.
  15. 15.0 15.1 "A Muggle's guide to Harry Potter". BBC. 28 May 2004. สืบค้นเมื่อ 22 August 2008.
  16. Hajela, Deepti (14 July 2005). "Plot summaries for the first five Potter books". SouthFlorida.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 May 2010. สืบค้นเมื่อ 29 September 2008.
  17. Foster, Julie (October 2001). "Potter books: Wicked witchcraft?". Koinonia House. สืบค้นเมื่อ 15 May 2010.
  18. Farndale, Nigel (15 July 2007). "Harry Potter and the parallel universe". Daily Telegraph. London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-29. สืบค้นเมื่อ 28 September 2008.
  19. 19.0 19.1 19.2 19.3 19.4 Memmott, Carol (19 July 2007). "The Harry Potter stories so far: A quick CliffsNotes review". USA Today. สืบค้นเมื่อ 28 September 2008.
  20. "J K Rowling at the Edinburgh Book Festival". J.K. Rowling.com. 15 August 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-08-20. สืบค้นเมื่อ 27 September 2008.
  21. Maguire, Gregory (5 September 1999). "Harry Potter and the Prisoner of Azkaban". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 28 September 2008.
  22. King, Stephen (23 July 2000). "Harry Potter and the Goblet of Fire". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 28 September 2008.
  23. 23.0 23.1 23.2 Leonard, John (13 July 2003). "'Harry Potter and the Order of the Phoenix'". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 28 September 2008.
  24. A Whited, Lana (2004). The Ivory Tower and Harry Potter: Perspectives on a Literary Phenomenon. University of Missouri Press. p. 371. ISBN 9780826215499.
  25. Kakutani, Michiko (16 July 2005). "Harry Potter Works His Magic Again in a Far Darker Tale". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 28 September 2008.
  26. Atkinson, Simon (19 July 2007). "How Rowling conjured up millions". BBC. สืบค้นเมื่อ 7 September 2008.
  27. "Comic Relief : Quidditch through the ages". Albris. สืบค้นเมื่อ 7 September 2008.
  28. "The Money". Comic Relief. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-29. สืบค้นเมื่อ 25 October 2007.
  29. "JK Rowling book fetches £2 m". BBC. 13 December 2007. สืบค้นเมื่อ 13 December 2007.
  30. "Amazon purchase book". Amazon.com Inc. สืบค้นเมื่อ 14 December 2007.
  31. Williams, Rachel (29 May 2008). "Rowling pens Potter prequel for charities". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 30 March 2010. Retrieved on 31 May 2008.
  32. "J.K. Rowling Has Mysterious New Potter Website". NPR.org. June 16, 2011. สืบค้นเมื่อ June 16, 2011.[ลิงก์เสีย]
  33. 33.0 33.1 "Harry Potter makes boarding fashionable". BBC. 13 December 1999. สืบค้นเมื่อ 1 September 2008.
  34. 34.0 34.1 King, Stephen (23 July 2000). "Wild About Harry". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 9 August 2010.
  35. 35.0 35.1 Grossman, Lev (28 June 2007). "Harry Potter's Last Adventure". Time Inc. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-27. สืบค้นเมื่อ 1 September 2008.
  36. "Two characters to die in last 'Harry Potter' book: J.K. Rowling". CBC. 26 June 2006. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-06-30. สืบค้นเมื่อ 1 September 2008.
  37. "Press views: The Deathly Hallows". Bloomsbury Publishing. 21 July 2007. สืบค้นเมื่อ 22 August 2008.
  38. Understanding Harry Potter: Parallels to the Deaf World
  39. "JK Rowling outs Dumbledore as gay". BBC News. BBC. 21 October 2007. สืบค้นเมื่อ 21 October 2007.
  40. "About the Books: transcript of J.K. Rowling's live interview on Scholastic.com". Quick-Quote-Quill. 16 February 1999. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-01-10. สืบค้นเมื่อ 28 July 2008.
  41. Max, Wyman (26 October 2000). ""You can lead a fool to a book but you cannot make them think": Author has frank words for the religious right". The Vancouver Sun (British Columbia). สืบค้นเมื่อ 28 July 2008.
  42. Rowling, JK (2006). "Biography". JKRowling.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-17. สืบค้นเมื่อ 21 May 2006.
  43. "Final Harry Potter book set for release". Euskal Telebista. 15 July 2007. สืบค้นเมื่อ 21 August 2008.
  44. Lawless, John (2005). "Nigel Newton". The McGraw-Hill Companies Inc. สืบค้นเมื่อ 9 September 2006.
  45. 45.0 45.1 A Whited, Lana (2004). The Ivory Tower and Harry Potter: Perspectives on a Literary Phenomenon. University of Missouri Press. p. 351. ISBN 9780826215499.
  46. Huler, Scott. "The magic years". The News & Observer Publishing Company. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-18. สืบค้นเมื่อ 28 September 2008.
  47. Savill, Richard (21 June 2001). "Harry Potter and the mystery of J K's lost initial". London: Telegraph.com. สืบค้นเมื่อ 27 September 2008.
  48. "The Potter phenomenon". BBC. 18 February 2003. สืบค้นเมื่อ 27 September 2008.
  49. Rozhon, Tracie (21 April 2007). "A Brief Walk Through Time at Scholastic". The New York Times. p. C3. สืบค้นเมื่อ 21 April 2007.
  50. "A Potter timeline for muggles". Toronto Star. 14 July 2007. สืบค้นเมื่อ 27 September 2008.
  51. "Speed-reading after lights out". London: Guardian News and Media Limited. 19 July 2000. สืบค้นเมื่อ 27 September 2008.
  52. Harmon, Amy (14 July 2003). "Harry Potter and the Internet Pirates". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 21 August 2008.
  53. Cassy, John (16 January 2003). "Harry Potter and the hottest day of summer". London: Guardian News and Media Limited. สืบค้นเมื่อ 27 September 2008.
  54. "July date for Harry Potter book". BBC. 21 December 2004. สืบค้นเมื่อ 27 September 2008.
  55. "Harry Potter finale sales hit 11 m". BBC News. 23 July 2007. สืบค้นเมื่อ 21 August 2008.
  56. "Rowling unveils last Potter date". BBC. 1 February 2007. สืบค้นเมื่อ 27 September 2008.
  57. "Harry Potter finale sales hit 11 m". BBC. 23 July 2007. สืบค้นเมื่อ 20 August 2008.
  58. Reynolds, Nigel. Harry Potter and the Latin master's tome take on Virgil, Telegraph.co.uk 02-12-2001 เรียกข้อมูลวันที่ 11-05-2550 (อังกฤษ)
  59. Castle, Tim. Harry Potter? It's All Greek to Me เรียกข้อมูลวันที่ 11-05-2550 (อังกฤษ)
  60. Cheung, Grace. The magic words เก็บถาวร 2006-07-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ThaiDay 01-12-2548 เรียกข้อมูลวันที่ 11-05-2550 (อังกฤษ)
  61. Güler, Emrah (2005). "Not lost in translation: Harry Potter in Turkish". The Turkish Daily News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 9 May 2007.
  62. Staff Writer (1 July 2003). "OOTP is best seller in France — in English!". BBC. สืบค้นเมื่อ 28 July 2008.
  63. "Differences in the UK and US Versions of Four Harry Potter Books". FAST US-1. 21 January 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-19. สืบค้นเมื่อ 17 August 2008.
  64. Freeman, Simon (2005-07-18). "Harry Potter casts spell at checkouts". Times Online. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-06-15. สืบค้นเมื่อ 2008-07-29.
  65. "Potter book smashes sales records". BBC. 2005-07-18. สืบค้นเมื่อ 2008-07-29.
  66. "'Harry Potter' tale is fastest-selling book in history". The New York Times. 23 July 2007. สืบค้นเมื่อ 30 March 2010.
  67. "Harry Potter at Bloomsbury Publishing — Adult and Children Covers". Bloomsbury Publishing. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-28. สืบค้นเมื่อ 2008-08-18.
  68. McCaffrey, Meg (2003-05-01). "'Muggle' Redux in the Oxford English Dictionary". School Library Journal. สืบค้นเมื่อ 2007-05-01.
  69. "Book corner: Secrets of Podcasting". Apple Inc. 8 September 2005. สืบค้นเมื่อ 31 January 2007.
  70. "Mugglenet.com Taps Limelight's Magic for Podcast Delivery of Harry Potter Content". PR Newswire. 8 November 2005. สืบค้นเมื่อ 31 January 2007.
  71. "Book honour for Harry Potter author". BBC. 21 September 2001. สืบค้นเมื่อ 28 September 2008.
  72. "JK Rowling: From rags to riches". BBC. 20 September 2008. สืบค้นเมื่อ 28 September 2008.
  73. "Book 'Oscar' for Potter author". BBC. 30 May 2001. สืบค้นเมื่อ 28 September 2008.
  74. "Harry Potter casts a spell on the world". CNN. 18 July 1999. สืบค้นเมื่อ 28 September 2008.
  75. "Harry Potter: Meet J.K. Rowling". Scholastic Inc. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-04. สืบค้นเมื่อ 27 September 2008.
  76. "Moviegoers get wound up over 'Watchmen'". MSNBC. 22 July 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-16. สืบค้นเมื่อ 28 September 2008.
  77. "Harry Potter beaten to top award". BBC. 7 July 2000. สืบค้นเมื่อ 28 September 2008.
  78. Levine, Arthur (2001–2005). "Awards". Arthur A. Levine Books. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-04-29. สืบค้นเมื่อ 21 May 2006.
  79. Watson, Julie (2004-02-26). "J. K. Rowling And The Billion-Dollar Empire". Forbes. สืบค้นเมื่อ 2007-12-03.
  80. "All Time Worldwide Box Office Grosses". Box Office Mojo, LLC. 1998–2008. สืบค้นเมื่อ 29 July 2008.
  81. Booth, Jenny (1 November 2007). "J.K. Rowling publishes Harry Potter spin-off". London: Telegraph.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-10-10. สืบค้นเมื่อ 28 September 2008.
  82. (JK) -Rowling_CRTT.html "The World's Billionaires:#891 Joanne (JK) Rowling". Forbes. 2007-03-08. สืบค้นเมื่อ 2008-07-29. {{cite web}}: ตรวจสอบค่า |url= (help)
  83. "J. K. Rowling Richer than the Queen". BBC. 2003-04-27. สืบค้นเมื่อ 2008-07-29.
  84. "Harry Potter Brand Wizard". Business Week. 2005-07-21. สืบค้นเมื่อ 2008-07-29.
  85. "Rowling joins Forbes billionaires". BBC. สืบค้นเมื่อ 2008-09-09.
  86. Smith, Dinitia (24 June 2000). "The Times Plans a Children's Best-Seller List". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 30 September 2008.
  87. 87.0 87.1 87.2 Fierman, Daniel (31 August 2005). "Wild About Harry". Entertainment Weekly. ew.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-31. สืบค้นเมื่อ 4 March 2007. When I buy the books for my grandchildren, I have them all gift wrapped but one...that's for me. And I have not been 12 for over 50 years.
  88. "New Harry Potter breaks pre-order record". RTÉ.ie Entertainment. 2007-04-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-04-18. สืบค้นเมื่อ 2007-04-23.
  89. "Harry Potter hits midnight frenzy". CNN. 2005-07-15. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-12-21. สืบค้นเมื่อ 2007-01-15.
  90. "Worksheet: Half-Blood Prince sets UK record". BBC. 2005-07-20. สืบค้นเมื่อ 2007-01-19.
  91. "Record print run for final Potter". BBC News. 15 March 2007. สืบค้นเมื่อ 22 May 2007.
  92. 92.0 92.1 92.2 92.3 Eccleshare, Julia (2002). A Guide to the Harry Potter Novels. Continuum International Publishing Group. p. 10. ISBN 9780826453174.
  93. Bloom, Harold (2003-09-24). "Dumbing down American readers". The Boston Globe. สืบค้นเมื่อ 2006-06-20.
  94. Byatt, A. S. (2003-07-07). "Harry Potter and the Childish Adult". The New York Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-20. สืบค้นเมื่อ 2008-08-01.
  95. Holden, Anthony (2000-06-25). "Why Harry Potter does not cast a spell over me". The Observer. สืบค้นเมื่อ 2008-08-01.
  96. Allison, Rebecca (2003-07-11). "Rowling books 'for people with stunted imaginations'". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 2008-08-01.
  97. Wilson, A. N. (2007-07-29). "Harry Potter and the Deathly Hallows by JK Rowling". Times Online. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-07-06. สืบค้นเมื่อ 2008-09-28.
  98. Taylor, Charles (8 July 2003). "A. S. Byatt and the goblet of bile". Salon.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 June 2008. สืบค้นเมื่อ 3 August 2008.
  99. Fox, Killian (31 December 2006). "JK Rowling: The mistress of all she surveys". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 10 February 2007.
  100. "Person of the Year 2007 Runners-Up: J. K. Rowling" เก็บถาวร 2007-12-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Time magazine. 2007-12-23. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-12-23.
  101. Charles, Ron (2007-07-15). "Harry Potter and the Death of Reading". The Washington Post. เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-04-16.
  102. Sawyer, Jenny (2007-07-25). "Missing from 'Harry Potter" – a real moral struggle". The Christian Science Monitor. เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-04-16.
  103. Suellentrop, Chris (2002-11-08). "Harry Potter: Fraud" เก็บถาวร 2008-03-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Slate Magazine. เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-04-16.
  104. Hitchens, Christopher (2007-08-12). "The Boy Who Lived". The New York Times. 2. เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-04-01.
  105. "SScholastic Inc, J.K. Rowling and Time Warner Entertainment Company, L.P, Plaintiffs/Counterclaim Defendants, -against- Nancy Stouffer: United States District Court for the Southern District of New York". ICQ. 2002-09-17. สืบค้นเมื่อ 2007-06-12.
  106. McCarthy, Kieren (2000). "Warner Brothers bullying ruins Field family Xmas". The Register. สืบค้นเมื่อ 2007-05-03.
  107. "Fake Harry Potter novel hits China". BBC. 2002-07-04. สืบค้นเมื่อ 2007-03-11.
  108. Olsen, Ted. "Opinion Roundup: Positive About Potter". Cesnur.org. สืบค้นเมื่อ 2007-07-06.
  109. Bonta, Steve (28 January 2002). "Tolkien's Timeless Tale". The New American. Vol. 18 no. 2.
  110. Liddle, Rod (21 กรกฎาคม 2007). "Hogwarts is a winner because boys will be sexist neocon boys". The Times. London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มิถุนายน 2010. สืบค้นเมื่อ 17 สิงหาคม 2008.
  111. "Books: Cover Stories At the Frankfurt Book Fair". The Independent. London. 10 ตุลาคม 1998. สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2009.
  112. "WiGBPd About Harry". The Australian Financial Review. 19 กรกฎาคม 2000. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2007.
  113. "Harry Potter and the Philosopher's Stone". The Guardian. London. 16 พฤศจิกายน 2001. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 กันยายน 2013. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2007.
  114. Linder, Bran (28 March 2000). "Chris Columbus to Direct Harry Potter". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 January 2008. สืบค้นเมื่อ 8 July 2007.
  115. "Daniel Radcliffe, Rupert Grint and Emma Watson bring Harry, Ron and Hermione to life for Warner Bros. Pictures: Harry Potter and the Sorcerer's Stone". Warner Brothers. 21 August 2000. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 April 2002. สืบค้นเมื่อ 26 May 2007.
  116. "Harry Potter and the Chamber of Secrets (2002)". Yahoo! Inc. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 July 2008. สืบค้นเมื่อ 18 August 2008.
  117. "Goblet Helmer Confirmed". IGN. 11 สิงหาคม 2003. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 มิถุนายน 2007. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2007.
  118. Daly, Steve (6 เมษายน 2007). "Sneak peek: Harry Potter and the Order of the Phoenix". Entertainment Weekly. p. 28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 เมษายน 2007. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2019.
  119. "David Yates Dark Horizons Interview, OOTP and HBP Production". Darkhorizons.com. 13 July 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 April 2011. สืบค้นเมื่อ 24 February 2011.
  120. Spelling, Ian (3 May 2007). "Yates Confirmed For Potter VI". Sci Fi Wire. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 May 2007. สืบค้นเมื่อ 3 May 2007.
  121. "Coming Sooner: Harry Potter Changes Release Date". TV Guide. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 April 2009. สืบค้นเมื่อ 15 April 2009.
  122. "Harry Potter and the Half-Blood Prince". Market Watch. 14 สิงหาคม 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 August 2008. สืบค้นเมื่อ 17 August 2008.
  123. Boucher, Geoff (13 มีนาคม 2008). "Final 'Harry Potter' book will be split into two movies". Los Angeles Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 พฤษภาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม 2008.
  124. "Last Day 12 June 2010". Snitchseeker.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 สิงหาคม 2010. สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2011.
  125. "Warner Bros. Pictures mentions J. K. Rowling as producer". Business Wire. 20 กันยายน 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 ธันวาคม 2010. สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2011.
  126. "All Time Worldwide Box Office Grosses". Box Office Mojo. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2010. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2007.
  127. "Box Office Harry Potter". The-numbers.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 กรกฎาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2011.
  128. "Box Office Mojo". boxofficemojo.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 กันยายน 2010. สืบค้นเมื่อ 11 มีนาคม 2011.
  129. "Harry Potter: Books vs films". Digital Spy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 กรกฎาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 7 กันยายน 2008.
  130. "Potter Power!". Time For Kids. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 December 2007. สืบค้นเมื่อ 31 May 2007.
  131. Puig, Claudia (27 พฤษภาคม 2004). "New 'Potter' movie sneaks in spoilers for upcoming books". USA Today. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 พฤษภาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 31 พฤษภาคม 2007.
  132. "JK 'loves' Goblet of Fire movie". Newsround. BBC. 7 พฤศจิกายน 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 มีนาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 31 พฤษภาคม 2007.
  133. "Exclusive: Harry Potter Director David Yates". Comingsoon.net. 13 กรกฎาคม 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2010.
  134. Rowling, J. K. "How did you feel about the POA filmmakers leaving the Marauder's Map's background out of the story? (A Mugglenet/Lexicon question)". J. K. Rowling. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 August 2011. สืบค้นเมื่อ 6 September 2008.
  135. "Harry Potter franchise to get Outstanding BAFTA award". BBC News. 3 กุมภาพันธ์ 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 กรกฎาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2011.
  136. "Outstanding British Contribution to Cinema in 2011 – The Harry Potter films". BAFTA. 3 February 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 February 2011. สืบค้นเมื่อ 3 February 2011.
  137. "Fantastic Beasts: JK Rowling confirms there will be five films in Harry Potter spin-off series". Independent.co.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 มกราคม 2017. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2017.
  138. "Fantastic Beasts 2-5: Everything you need to know". Digital Spy (ภาษาอังกฤษ). 23 November 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 August 2018. สืบค้นเมื่อ 9 August 2018.
  139. "Fantastic Beasts 3 cast, release date, plot, title and everything you need to know". Digital Spy (ภาษาอังกฤษ). 10 December 2018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 December 2018. สืบค้นเมื่อ 28 December 2018.
  140. "All Time Top 20 Best Selling Games". 21 May 2003. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 February 2006. สืบค้นเมื่อ 1 December 2006.
  141. EA Harry Potter gameplay Retrieved 19 June 2010. เก็บถาวร 1 กรกฎาคม 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  142. Robinson, Andy (5 June 2012). "E3 2012: Sony announces intriguing Wonderbook for PS3 – Harry Potter author on board". Computer and Video Games. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 June 2012. สืบค้นเมื่อ 5 June 2012.
  143. Mayo, Benjamin (24 April 2018). "Harry Potter: Hogwarts Mystery game now available on iPhone and iPad, but it's an obnoxious free-to-play game". 9to5Mac. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 April 2018. สืบค้นเมื่อ 25 April 2018.
  144. "J.K. Rowling to Work on Harry Potter Stage Play". 20 December 2013. สืบค้นเมื่อ 22 December 2013.
  145. "J.K. Rowling to produce Harry Potter stage play". USA Today. 20 December 2013. สืบค้นเมื่อ 22 December 2013.
  146. "Harry Potter and the Cursed Child to open in 2016". BBC. 26 June 2015. สืบค้นเมื่อ 26 June 2015.
  147. Bamigboye, Baz (26 June 2015). "Harry Potter and the biggest West End show EVER: Spellbinding drama about the fate of young wizard's parents is coming to London's theatreland". The Daily Mail. สืบค้นเมื่อ 26 June 2015.
  148. "First batch of Harry Potter and the Cursed Child tickets sell out". 29 October 2015. สืบค้นเมื่อ 29 October 2015.
  149. Begley, Sarah (10 February 2016). "Harry Potter and The Cursed Child Will Be Published In Book Form". TIME. TIME Magazine. สืบค้นเมื่อ 10 February 2016.
  150. Goldberg, Lesley (25 January 2021). "'Harry Potter' Live-Action TV Series in Early Development at HBO Max (Exclusive)". The Hollywood Reporter. สืบค้นเมื่อ 25 January 2021.
  151. "First ever Harry Potter television series ordered by new streaming service, Max". Wizarding World (ภาษาอังกฤษ). 12 April 2023. สืบค้นเมื่อ 2023-04-13.
  152. "Introducing the enhanced streaming service: Max". Wizarding World (ภาษาอังกฤษ). 12 April 2023. สืบค้นเมื่อ 2023-04-13.
  153. White, Peter (25 June 2024). "'Harry Potter' & 'Welcome To Derry' Moving From Max To HBO As Part Of Big-Budget Streaming Strategy Rethink". Deadline Hollywood. สืบค้นเมื่อ 25 June 2024.
  154. Schneider, Michael (2024-06-26). "'Harry Potter' Series at HBO Taps Francesca Gardiner as Showrunner; Mark Mylod to Direct Multiple Episodes". Variety (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2024-06-26.
  155. Wizrocklopedia band listings
  156. The Wizarding World of Harry Potter
  157. MacDonald, Brady (April 6, 2011). "Universal Studios wonders how and when to expand Wizarding World of Harry Potter". Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ May 18, 2013.
  158. Thurston, Susan (23 January 2014). "Harry Potter's Diagon Alley plans Escape from Gringotts ride, new stores". Tampa Bay Times. สืบค้นเมื่อ 25 January 2014.
  159. Bevil, Dewayne (23 January 2014). "New details about Harry Potter Diagon Alley: Lots of shops, Gringotts ride gets name". Orlando Sentinel. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-24. สืบค้นเมื่อ 25 January 2014.
  160. Bevil, Dewayne (July 17, 2014). "Universal's Diagon Alley: Answers to your burning questions". Orlando Sentinel. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-09-15. สืบค้นเมื่อ 15 September 2014.
  161. Cripps, Karla (16 July 2014). "Universal Studios Japan's 'Wizarding World of Harry Potter' opens". CNN. สืบค้นเมื่อ 12 September 2014.
  162. Barnes, Brooks (8 April 2014). "A Makeover at Universal Studios Hollywood Aims at Disney". The New York Times. Universal City, California. สืบค้นเมื่อ 12 September 2014.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]