สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก
สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่: ปลายดีโวเนียน-ปัจจุบัน | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
โดเมน: | ยูแคริโอตา Eukaryota |
อาณาจักร: | สัตว์ Animalia |
ไฟลัม: | สัตว์มีแกนสันหลัง Chordata |
เคลด: | Batrachomorpha |
ชั้น: | สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก Linnaeus, 1758 |
ชั้นย่อย และ อันดับ | |
|
สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก หรือที่นิยมเรียกอย่างทั่วไปว่า สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ (อังกฤษ: Amphibians) เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังที่อยู่ในชั้น Amphibia อาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำและบนบก มีลักษณะเฉพาะ คือ ผิวหนังมีต่อมเมือกทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นตลอดเวลา ผิวหนังเปียกลื่นอยู่เสมอ ไม่มีเกล็ดตัวไม่แห้งหรือไม่มีขน หายใจด้วยเหงือก, ปอด, ผิวหนัง หรือผิวในปากในคอ โดยชั้นผิวหนังนั้นมีลักษณะพิเศษสามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้เนื่องจากมีโครงข่ายหลอดเลือดฝอยจำนวนมาก เพื่อใช้ในการหายใจ[1] สืบพันธุ์โดยการผสมพันธุ์ภายนอกลำตัว สืบพันธุ์เมื่ออายุ 2–3 ปี ออกลูกเป็นไข่อยู่ในน้ำ ไม่มีเปลือก วางไข่เป็นกลุ่มในน้ำมีสารเป็นวุ้นหุ้ม
ลูกอ่อนที่ออกจากไข่มีรูปร่างคล้ายปลาเรียกว่า "ลูกอ๊อด" อยู่ในน้ำหายใจด้วยเหงือก เมื่อเติบโตเต็มที่แล้วมีปอดหายใจ ขึ้นบกได้ แต่ต้องอยู่ใกล้น้ำ
สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกส่วนใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างทั้งภายนอกและภายในอย่างสิ้นเชิง ไปตามวงจรชีวิต ตัวอ่อนอาศัยอยู่ในน้ำ หายใจด้วยเหงือก เมื่อโตขึ้นจะเปลี่ยนรูปร่างอาศัยอยู่บนบก หายใจด้วยปอดหรือผิวหนัง โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้งในช่วงระหว่างฤดูหนาวถึงฤดูร้อน ส่วนใหญ่จะขุดรูจำศีล เพื่อหนีความแห้งแล้ง มิให้ผิวหนังแห้ง ถ้าผิวหนังแห้งจะหายใจไม่ได้และตายในที่สุด เพราะก๊าชจากอากาศต้องละลายไปกับน้ำเมือกที่ผิวหนัง แล้วจึงแพร่เข้าสู่กระแสโลหิต ระยะนี้จะใช้อาหารที่สะสมไว้ในร่างกายอย่างช้า ๆ นิวต์และซาลามานเดอร์ก็เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเหมือนกัน แต่แตกตางกันตรงที่นิวต์และซาลามานเดอร์จะยังคงหางของมันไว้ เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่
สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกถือเป็นสัตว์เลือดเย็น เช่นเดียวกับสัตว์พวกปลา หรือแมลง หรือสัตว์เลื้อยคลาน ปัจจุบันมีการอนุกรมวิธานสัตว์ในชั้นแล้วกว่า 6,500 ชนิด[2]
ศัพทมูลวิทยา
[แก้]คำว่าสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า "Amphibian" (/แอม-ฟิ-เบียน; พหูพจน์: Amphibians; ซึ่งรวมถึงชื่อวิทยาศาสตร์ Amphibia ด้วย) มีที่มาจากคำว่า "Amphi" ในภาษากรีกคำว่า ἀμφί (หรือคำว่า "Ambi" ในภาษาละติน) เป็นอุปสรรค ซึ่งแปลว่า "ทั้งคู่" หรือ "ทั้งสองด้าน" กับคำว่า βíος ในภาษากรีก ("Víos") ที่แปลว่า "ชีวิต" โดยมีความหมายถึง สัตว์กลุ่มนี้มีชีวิตครึ่งหนึ่งในน้ำและอีกครึ่งหนึ่งอาศัยอยู่บนบก[3]
วิวัฒนาการของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก
[แก้]สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกถือเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังจำพวกแรกที่ขึ้นจากน้ำมาอยู่บนบก โดยวิวัฒนาการตัวเองมาจากปลาในยุคปลายดีโวเนียน (406 ล้านปีก่อน) ในปลาชั้น Sarcopterygii โดยเฉพาะปลาในชั้นย่อย Tetrapodomorpha ที่ปัจจุบันได้สูญพันธุ์และวิวัฒนาการมาเป็นสัตว์อย่างอื่นไปแล้ว ก่อนที่จะวิวัฒนาการเป็นสัตว์เลื้อยคลานต่อไป[4]
อันดับของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก
[แก้]- Anura หรือ อันดับกบ
เป็นอันดับของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ซึ่งรวมถึง คางคก, อึ่ง และเขียดหรือปาดด้วย มีรูปร่างโดยรวมคือ มีสี่ขา ขาหลังขาวใหญ่และมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงใช้กระโดดได้ระยะไกล โดยมุมที่กระโดดได้มีความสูงที่สุด คือ 90 องศา กับพื้นราบ ส่วนการกระโดดที่ไกลที่สุดคือ เมื่อทำมุม 45 องศา กับพื้นราบ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับอัตราการเร่งและหดตัวของกล้ามเนื้อ[5] ระหว่างนิ้วมีพังผืดเชื่อมติดกันเพื่อช่วยในการว่ายน้ำ ตาโต ปากกว้าง เป็นสัตว์ที่ดูเหมือนว่าไม่มีคอ ในตัวผู้มีต่อมที่ลำคอทั้งสองข้างใช้ในการส่งเสียงร้องได้ เพื่อเรียกความสนใจของตัวเมียเพื่อการผสมพันธุ์และวางไข่ วางไข่ในน้ำ ไข่ติดกันเป็นพวงเหมือนเม็ดแมงลัก วัยอ่อนมีหางเหมือนปลาและมีพู่เหงือกใช้ในการหายใจเห็นชัดเจน มี 2 ชุด เรียกว่า "ลูกอ๊อด" บางจำพวก เช่น ปาดอาจวางไข่เพียงครั้งละฟองบนน้ำค้างบนใบไม้ เมื่อเป็นตัวเต็มวัยแล้วจะไม่มีหาง
กบในประเทศไทยใช้เนื้อในการรับประทานของมนุษย์เป็นอาหาร มีหลายชนิด ที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี อาทิ กบภูเขา (Limnonectes blythii) ซึ่งเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกชนิดที่ใหญ่ที่สุดที่พบได้ในประเทศไทยด้วย, อึ่งปากขวด (Glyphoglossus molossus), กบนา (Hoplobatrachus rugulosus) ซึ่งนิยมเพาะเลี้ยงกันเป็นสัตว์เศรษฐกิจ
ปัจจุบันมีการค้นพบและอนุกรมวิธานแล้วกว่าเกือบ 4,800 ชนิด นับว่ามีความหลากหลายที่สุดของสัตว์ในชั้นนี้[6]
- Caudata หรือ อันดับซาลาแมนเดอร์และนิวต์
เป็นอันดับของสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกอีกอันดับหนึ่ง มีรูปร่างโดยรวมคล้ายกับจิ้งจกที่เป็นสัตว์เลื้อยคลาน จึงได้มีอีกชื่อเรียกหนึ่งในภาษาไทยว่า "จิ้งจกน้ำ" หรือ "จั๊กกิ้มน้ำ" กล่าวคือ เมื่อเป็นตัวเต็มวัยแล้วก็ยังมีหาง ในขณะที่ยังเป็นวัยอ่อนก็มีรูปร่างไม่ได้ต่างอะไรกับตัวเต็มวัย แต่สภาพของพู่เหงือกจะมีความแตกต่างกันออกไปตามสภาพถิ่นที่อยู่ โดยพวกที่วางไข่ในแหล่งน้ำนิ่งหรือบกบก เหงือกได้ลดรูปและช่องเหงือกปิดก่อนหน้าจะเป็นตัวฟักออกจากไข่ สำหรับพวกที่อาศัยในแหล่งน้ำไหลมีปริมาณออกซิเจนละลายในน้ำสูง จะมีได้ทั้งเหงือกขนาดเล็กและขนาดใหญ่มีทั้งแบบเป็นพู่คล้ายขนนก แต่ในจำพวกที่ต้องอาศัยอยู่ในน้ำตลอดเวลา จะไม่เปลี่ยนรูปร่างของเหงือกไปตามวัย แม้จะมีปอดขึ้นมาแล้วก็ตาม [7]
ซึ่งสัตว์ในอันดับนี้ในประเทศไทยมีพบเพียงชนิดเดียวเท่านั้น คือ กะท่าง หรือ จิ้งจกน้ำดอยอินทนนท์ (Tylototriton verrucosus) ซึ่งจะพบได้เฉพาะลำธารในเขตภูเขาสูงของภาคเหนือของประเทศเท่านั้น และต่อมาได้มีการค้นพบเพิ่มอีกที่แอ่งน้ำในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งตัวผู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งถึงฤดูผสมพันธุ์จะมีสีสันที่สดใสสวยงามมาก นอกจากนี้แล้ว สัตว์ในอันดับนี้ถือได้ว่าเป็นสัตว์สะเทินน้ำทะเทินบกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกด้วย คือ ซาลาแมนเดอร์ยักษ์จีน (Andrias davidianus) ที่อยู่ในวงศ์ซาลาแมนเดอร์ยักษ์ (Cryptobranchidae) เมื่อโตเต็มที่อาจมีความยาวได้ถึงเกือบ 2 เมตร อาศัยอยู่เฉพาะในลำธารน้ำที่ใสสะอาดแถบภาคกลางและภาคใต้ของป่าดิบชื้นในจีนเท่านั้น
อนึ่ง คำว่า "ซาลาแมนเดอร์" นั้น มีที่มาจากเทพปกรณัมกรีกคือ ตัวซาลาแมนเดอร์ ที่เป็นสัตว์ในตำนานที่เมื่ออยู่ในไฟก็ไม่ตาย ส่วนคำว่า "นิวต์" นั้นจะใช้เรียกซาลาแมนเดอร์ที่มีขนาดเล็ก เช่น กะท่าง เป็นต้น[8] ปัจจุบันมีการจำแนกและอนุกรมวิธานแล้วกว่า 580 ชนิด [9]
- Gymnophiona หรือ อันดับเขียดงู
เป็นอันดับที่มีรูปร่างคล้ายเหมือนปลาไหลหรืองูที่เป็นสัตว์เลื้อยคลาน เพราะมีลำตัวเรียวยาวไม่มีขาหรือเกล็ด ตามีขนาดเล็ก ทำให้ส่วนใหญ่เมื่อมีผู้พบเห็นเข้าใจผิดอยู่เสมอว่าเป็นงูหรือสัตว์เลื้อยคลาน พบได้ในทั่วโลก มีลำตัวเป็นปล้อง โดยปล้องโดยทั่วไปมีขนาดจำนวนเท่ากับปล้องของกระดูกสันหลัง แต่บางชนิดอาจมีปล้องจำนวน 2 หรือ 3 ปล้องต่อกระดูกสันหลังปล้องเดียวก็ได้ ในบางชนิดที่มีเกล็ด จะเป็นเกล็ดที่ประกอบด้วยคอลลาเจนหลายชั้นฝังและเรียงตัวซ้อนกันในร่องส่วนลึกสุดของปล้องลำตัวปฐมภูมิ โดยเรียงลำดับต่อเนื่องกันในแนวเฉียง
อาศัยทั้งบนบก โพรงดิน ใต้กองใบไม้ หรือในน้ำ ปัจจุบันมีการอนุกรมวิธานได้ 33 สกุล 174 ชนิด ใน 6 วงศ์ จำแนกโดยการใช้รูปร่างโครโมโซม และลักษณะทางโมเลกุล ในประเทศไทยพบได้ 4 ชนิด อยู่ในวงศ์และสกุลเดียวกันทั้งหมด ชนิดที่เป็นที่รู้จักกันดี คือ เขียดงูเกาะเต่า (Ichthyophis kohtaoensis) [10]
อ้างอิง
[แก้]รายการอ้างอิง
[แก้]- ↑ วีรยุทธ์ เลาหะจินดา, 2552: หน้า 2
- ↑ "Amphibian diversity and life history" (PDF). fds.oup. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากAmphibian diversity and life history แหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-07-15. สืบค้นเมื่อ July 25, 2016.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่า|url=
(help) (อังกฤษ) - ↑ "เปิดโลกสัตว์หรรษา". ไทยพีบีเอส. July 24, 2016. สืบค้นเมื่อ July 25, 2016.[ลิงก์เสีย]
- ↑ A supertree of early tetrapods. (อังกฤษ)
- ↑ วีรยุทธ์ เลาหะจินดา, 2552: หน้า 115
- ↑ วีรยุทธ์ เลาหะจินดา, 2552: หน้า 301
- ↑ วีรยุทธ์ เลาหะจินดา, 2552: หน้า 14-42
- ↑ "ดิกชันนารีออนไลน์ โปรแกรมแปลภาษา แปลศัพท์ online English-Thai". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-05. สืบค้นเมื่อ 2011-10-13.
- ↑ วีรยุทธ์ เลาหะจินดา, 2552: หน้า 14-42
- ↑ วีรยุทธ์ เลาหะจินดา, 2552: หน้า 303-304
บรรณานุกรม
[แก้]- เลาหะจินดา, วีรยุทธ์ (2552). วิทยาสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. ISBN 978-616-556-016-0.