ข้ามไปเนื้อหา

แอมฟลอรา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แอมฟลอรา
Amflora
อีเวนต์EH92-527-1
รหัสเอกลักษณ์BPS-25271-9
พืชSolanum tuberosum L.
โหมดการเคลื่อนย้ายยีน
วิธีแปลงพันธุกรรมการแทรก
พาหะpHoxwG[1]
ผู้พัฒนาสวอเลฟ เวบุลล์ ออเบีย (Svalöf Weibull AB)[1]
ลักษณะปรากฏเพิ่มลดการผลิตแอมิโลส, เพิ่มความต้านทานต่อกานามัยซิน
สารที่ใช้ดัดแปรพันธุกรรมยีนGranule bound starch synthase, นีโอมัยซิน ฟอสโฟทรานเฟอเรส II

แอมฟลอรา (Amflora) หรือที่รู้จักในชื่อ EH92-527-1 เป็นพันธุ์ปลูกมันฝรั่งดัดแปลงพันธุกรรม ที่พัฒนาโดยบริษัท บีเอเอสเอฟ แพลนท์ซายน์ (BASF Plant Science) หัวมันฝรั่งแอมฟลอราผลิตสตาร์ซชนิดอะไมโลเพกทินบริสุทธิ์ ที่นำมาแปรรูปเป็นแป้งมันฝรั่งเหนียว (waxy potato starch) คณะกรรมาธิการยุโรปได้อนุมัติการใช้ในทางอุตสาหกรรมในสหภาพยุโรปเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2553[2] ต่อมาในเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 แอมฟลอราถูกถอนออกจากตลาดในสหภาพยุโรป

ประวัติ

[แก้]

ได้รับการขึ้นทะเบียนครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2539 แอมฟลอราพัฒนาโดยนักพันธุศาสตร์ เลนนาร์ต อาริเยเฟลท์ (Lennart Erjefält) และนักวิชาการเกษตร ยูริ ชานโน (Jüri Känno) ของบริษัทสวอเลฟ เวบุลล์ ออเบีย (Svalöf Weibull AB)[1]

หลังจากการอนุมัติของคณะกรรมาธิการยุโรป บริษัทบีเอเอสเอฟประกาศว่าจะเริ่มผลิตหัวพันธุ์ของแอมฟลอราตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2553 ในบริเวณเวสเทิร์นพอเมอเรเนียของเยอรมนี (พื้นที่ 20 เฮกตาร์) และในสวีเดน (พื้นที่ 80 เฮกตาร์) นอกจากนี้ยังประกาศว่าจะทำการปลูกในพื้นที่ 150 เฮกตาร์ในสาธารณรัฐเช็ก "เพื่อจุดประสงค์ทางการค้าร่วมกับพันธมิตรที่ไม่เปิดเผยชื่อ"[3]

เนื่องจากขาดการยอมรับพืชดัดแปลงพันธุกรรมในยุโรป บริษัท บีเอเอสเอฟ แพลนท์ซายน์ จึงตัดสินใจในเดือนมกราคม พ.ศ. 2555 ที่จะหยุดกิจกรรมเชิงพาณิชย์โดยจะไม่จำหน่ายแอมฟลอราในยุโรปอีกต่อไป แต่จะยังคงขออนุมัติด้านกฎระเบียบสำหรับผลิตภัณฑ์ของตนในอเมริกาและเอเชียต่อไป[4]

ใน พ.ศ. 2556 ศาลสหภาพยุโรปได้เพิกถอนการอนุมัติการจดทะเบียนแอมฟลอรา โดยกล่าวว่าคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปฝ่าฝืนกฎในการอนุมัติเมื่อปี 2553[5]

ชีววิทยา

[แก้]

พันธุ์มันฝรั่งชนิดเหนียว (waxy potato) ผลิตสตาร์ซมันฝรั่งได้สองประเภทหลัก ได้แก่ แอมิโลสและอะไมโลเพกทิน ซึ่งชนิดหลังนี้มีประโยชน์ทางอุตสาหกรรมมากที่สุด มันฝรั่งแอมฟลอราได้รับการดัดแปลงให้มีสายอาร์เอ็นเอที่มีลำดับเบสเป็นคู่สมกับอาร์เอ็นเอนำรหัส (antisense RNA) ที่ต่อต้านเอนไซม์ที่ใช้ในการสังเคราะห์แอมิโลส ซึ่งเป็นชนิดที่ติดอยู่กับเม็ดสตาร์ซ (granule-bound starch synthase, GBSS)[6] ส่งผลให้มันฝรั่งผลิตอะไมโลเพกทินได้เกือบทั้งหมด และมีประโยชน์มากกว่าสำหรับอุตสาหกรรมแป้ง

การใช้งานทางอุตสาหกรรม

[แก้]

สตาร์ซมันฝรั่งปกติประกอบด้วยโมเลกุล 2 ชนิด คือ อะไมโลเพกทิน (ร้อยละ 80) ซึ่งมีประโยชน์มากในฐานะโพลีเมอร์สำหรับอุตสาหกรรม และแอมิโลส (ร้อยละ 20) ซึ่งมักสร้างปัญหาการคืนตัว (retrogradation) ของสตาร์ซ ซึ่งต้องทำการดัดแปรโดยใช้ปฏิกิริยาเคมีที่อาจมีต้นทุนสูง

หลังจากความพยายามในการวิจัยนานสองทศวรรษ[7] นักเทคโนโลยีชีวภาพของบริษีทบีเอเอสเอฟ ประสบความสำเร็จโดยการใช้พันธุวิศวกรรมในการสร้างมันฝรั่งพันธุ์ปลูก "แอมฟลอรา" ซึ่งยีนที่ทำหน้าที่ในการสังเคราะห์แอมิโลสถูกปิดลง ดังนั้นมันฝรั่งจึงไม่สามารถสังเคราะห์แอมิโลสที่เป็นที่ต้องการของตลาดน้อยกว่า

มันฝรั่งแอมฟลอราจะถูกแปรรูปและขายเป็นสตาร์ซให้กับอุตสาหกรรมที่ต้องการแป้งมันฝรั่งเหนียวที่มีเพียงอะไมโลเพกตินเท่านั้น แอมฟลอรามีเป้าหมายสำหรับการใช้งานทางอุตสาหกรรมเท่านั้น เช่นการผลิตกระดาษ และการใช้งานด้านเทคนิคอื่น [8] ยุโรปผลิตแป้งมันฝรั่งธรรมชาติมากกว่าสองล้านเมตริกตันต่อปี และบริษัทบีเอเอสเอฟ หวังว่าจะเข้าสู่ตลาดขนาดใหญ่นี้ด้วยผลิตภัณฑ์มันฝรั่งแอมฟลอรา

การใช้งานอื่น ๆ ที่เป็นไปได้

[แก้]

ตามรายงานของ เดอะนิวยอร์กไทมส์ บริษัทบีเอเอสเอฟมีคำขอสองครั้งเพื่อใช้เยื่อมันฝรั่งแอมฟลอราเป็นอาหารสัตว์[7]

ความขัดแย้งทางการเมือง

[แก้]

องค์กรสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น กรีนพีซ ไม่เห็นด้วยกับการนำมันฝรั่งดัดแปลงพันธุกรรมแอมฟลอราออกสู่ตลาด กระบวนการอนุมัติที่ใช้เวลานานทำให้ผู้สนับสนุนมันฝรั่งบางรายผิดหวัง นักวิทยาศาสตร์ของบริษัทบีเอเอสเอฟกล่าวกับ เดอะนิวยอร์กไทมส์ ว่า "เป็นเรื่องยากเมื่อคุณเห็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมต้องเวียนซ้ำกระบวนการครั้งแล้วครั้งเล่า การตัดสินใจเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ แต่เป็นเรื่องการเมือง"[7] หลังจากที่มันฝรั่งได้รับการอนุมัติ พรรคการเมืองยูโรเปียนกรีนส์ (European Greens) และ ลูกา ซายา (Luca Zaia) รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของอิตาลีในขณะนั้น ได้วิพากษ์วิจารณ์การอนุมัติดังกล่าว[9] ขบวนการเกษตรกรนานาชาติ ลา เบีย กัมเปซินา (La Via Campesina) ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2553 โดยวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจดังกล่าวด้วย[10]

ปฏิกิริยาของนักการเมืองกรีซ

[แก้]
การประท้วงต่อต้านมันฝรั่งแอมฟลอรา

หลังจากที่แอมฟลอราได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมาธิการยุโรปเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2553 ในวันต่อมา ตาซอส กูเวลิส (Αναστάσιος (Τάσος) Κουράκης) สมาชิกสภาเขตเลือกตั้งจังหวัดเทสซาโลนีกี อา (Εκλογική περιφέρεια Α΄ Θεσσαλονίκης) แนวร่วมฝ่ายซ้ายจัด ได้ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรของกรีซประกาศให้การผลิตมันฝรั่งแอมฟลอราผิดกฎหมายในกรีซ[11] เมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2553 กริตอน อาร์เซนิส (Κρίτων Αρσένης) สมาชิกสภายุโรปจากพรรคขบวนการสังคมนิยมแพนเฮลเลนิก (Πανελλήνιο Σοσιαλιστικό Κίνημα, ΠΑΣΟΚ หรือ PASOK) ได้ยื่นกระทู้ที่รัฐสภายุโรปเพื่อสอบถามเกี่ยวกับผลที่จะตามมาจากแอมฟลอรา

มารีอา ดามานากี (Μαρία Δαμανάκη) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรค PASOK ยอมรับการตัดสินใจของคณะกรรมาธิการยุโรป ในขณะที่ เอกาเตรีนี บัตเจลี (Αικατερίνη Μπατζελή) รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของกรีซกล่าวว่าการผลิตแอมฟลอราจะไม่ได้รับอนุญาตในกรีซ[12]

ขั้นตอนการออกใบอนุญาต

[แก้]

แอมฟลอราจะไม่สามารถขายภายในสหภาพยุโรปได้หากไม่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งจะสามารถออกใบอนุญาตได้ภายหลังจากการลงคะแนนเสียงของคณะมนตรียุโรปผ่านด้วยเกณฑ์การสนับสนุนร้อยละ 74 ขึ้นไปเท่านั้น มีการจัดให้มีการลงคะแนนเสียงสองรอบ ครั้งแรกโดยผู้เชี่ยวชาญในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2549 และครั้งที่สองโดยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2550 แต่ทั้งสองไม่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 74 แม้ว่าการลงคะแนนจะกระทำโดยออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ แต่ เดอะนิวยอร์กไทมส์ รายงานว่าจากการลงคะแนนเสียง แอมฟลอราได้รับการสนับสนุนจากรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของเยอรมนีและเบลเยียม และถูกคัดค้านโดยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของอิตาลี ไอร์แลนด์ และออสเตรีย ในขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรของฝรั่งเศสและบัลแกเรียงดออกเสียง[7]

หลังจากได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2553 บริษัทบีเอเอสเอฟได้ประกาศความตั้งใจที่จะขออนุมัติมันฝรั่งดัดแปลงพันธุกรรมอีกหลายพันธุ์ปลูก เช่น มันฝรั่งพันธุ์ฟอร์ทูนา (Fortuna)[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 "Notification for Placing the Potato Clone EH92-527-1, Being Genetically Modified for Increased Content of Amylopectin, on the Market" (PDF). Amylogene HB. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 4 ตุลาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 17 สิงหาคม 2011.
  2. Benner, Susanne (2 มีนาคม 2010). "European Commission approves Amflora starch potato". BASF - Corporate Website. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 ธันวาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2010.
  3. 3.0 3.1 "GM potatoes: BASF at work". GMO Compass. 5 มีนาคม 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 พฤษภาคม 2010. สืบค้นเมื่อ 26 มีนาคม 2010.
  4. Kanter, James (16 มกราคม 2012). "BASF to Stop Selling Genetically Modified Products in Europe". The New York Times.
  5. Dunmore, Charlie (13 ธันวาคม 2013). "EU court annuls approval of BASF's Amflora GMO potato". Reuters. สืบค้นเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2015.
  6. "Potato EH92-527-1". GMO compass database. 9 ตุลาคม 2014. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 ตุลาคม 2014. สืบค้นเมื่อ 6 ตุลาคม 2014.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 Rosenthal, Elisabeth (24 กรกฎาคม 2007). "A Genetically Modified Potato, Not for Eating, Is Stirring Some Opposition in Europe". The New York Times.
  8. Tagliabue, John (10 มิถุนายน 2010). "A Potato Remade for Industry Has Some Swedes Frowning". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2015.
  9. Η Ευρ. Επιτροπή ενέκρινε την καλλιέργεια της μεταλλαγμένης πατάτας Amflora. ΠΑΣΕΓΕΣ. 2 มีนาคม 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 กรกฎาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2010.
  10. "GM Potato"AmFlora" – Commission defies farmers and biodiversity". La Via Campesina (ภาษาอังกฤษ). 8 มีนาคม 2010. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2023.
  11. Κουράκης, Τάσος (3 มีนาคม 2010). Να απαγορευτεί η καλλιέργεια της μεταλλαγμένης πατάτας Amflora από τους αγρότες της χώρας μας (ภาษากรีก). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 สิงหาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 26 กันยายน 2023.
  12. «Οχι» Μπατζελή σε μεταλλαγμένη πατάτα Amflora. Η Ναυτεμπορική (ภาษากรีก). 4 มีนาคม 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 กันยายน 2011.

บรรณานุกรม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
  • วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ แอมฟลอรา