ข้ามไปเนื้อหา

แลบราดอร์ริทรีฟเวอร์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
แลบราดอร์ริทรีฟเวอร์
ถิ่นกำเนิดพันธุ์
ถิ่นกำเนิดธงของสหราชอาณาจักร สหราชอาณาจักร
มาตรฐานพันธุ์
น้ำหนักเพศผู้ 60 - 75 ปอนด์
เพศเมีย 55 - 70 ปอนด์
ส่วนสูงเพศผู้ 22.5 - 24.5 นิ้ว
เพศเมีย 21.5 - 23.5 นิ้ว
ลักษณะขนสั้น เรียบ และแน่น
สีขนดำ, เหลือง, ช็อกโกแลต
จัดอยู่ในกลุ่มกลุ่มสุนัข Sporting
พันธุ์สุนัข

แลบราดอร์ริทรีฟเวอร์ (อังกฤษ: Labrador Retriever) เป็นสายพันธุ์สุนัขที่มีถิ่นกำเนิดในสหราชอาณาจักร

ประวัติ

[แก้]

แลบราดอร์ริทรีฟเวอร์มีต้นตระกูลอยู่ที่รัฐนิวฟันด์แลนด์และแลบราดอร์ ชายฝั่งทะเลของประเทศแคนาดา และในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ได้มีการนำสุนัขพันธุ์นี้ไปยังสหราชอาณาจักรทางเรือประมง และต่อมาก็ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์และเลี้ยงขึ้นมาในฐานะสุนัขล่าเหยื่อ และยังถูกใช้เป็นสุนัขกู้ภัย เพราะสามารถเคลื่อนที่ได้เร็วแม้ในภูมิประเทศที่ขรุขระหรือแม้กระทั่งพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง แลบราดอร์ริทรีฟเวอร์เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องความอดทน เข้มแข็ง มีความสามารถในการดมกลิ่นที่ดีเยี่ยม ชอบเอาใจผู้อื่น และชอบเล่นกับเจ้าของมาก

รายละเอียด

[แก้]
แลบราดอร์ริทรีฟเวอร์ (สีโกโก้)

ช่วงชีวิตเฉลี่ย

[แก้]

แลบราดอร์ริทรีฟเวอร์มีช่วงชีวิตระหว่าง 12-15 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมและการดูแลเอาใจใส่

อุปนิสัย

[แก้]

แลบราดอร์ริทรีฟเวอร์เป็นสุนัขที่ฉลาดหลักแหลม กระตือรือร้น รักสนุก ช่างเอาอกเอาใจ เป็นสายพันธุ์ที่เหมาะกับครอบครัวที่มีเด็กเล็ก คุณสมบัติอีกอย่างของแลบราดอร์ริทรีฟเวอร์คือ การเป็นสุนัขเฝ้ายามที่ดี เนื่องจากมีเสียงเห่าทุ้มและหนักแน่น เป็นที่น่าเกรงขาม เพื่อเตือนเมื่อมีผู้บุกรุก แลบราดอร์ริทรีฟเวอร์เป็นสุนัขที่มีขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้นผู้เลี้ยงดูจะต้องสามารถควบคุม และมีพื้นที่ในการเลี้ยงดูอย่างกว้างขวาง มีรั้วล้อมรอบที่แข็งแรง และอีกหนึ่งอย่างที่สำคัญ คือ ควรระวังเรื่องของโรคที่เกิดจากพันธุกรรมเป็นหลัก แลบราดอร์ริทรีฟเวอร์ยังเป็นสุนัขที่สามารถอ้วนได้ง่าย ผู้เลี้ยงดูจำเป็นที่จะต้องระมัดระวังเรื่องอาหารเพื่อไม่ให้เกิดโรคกระดูกและข้อ

ความเข้ากันได้กับสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ

[แก้]

แลบราดอร์ริทรีฟเวอร์เป็นสุนัขที่มีลักษณะนิสัยเป็นมิตร สามารถเลี้ยงร่วมกับสัตว์ชนิดอื่นได้ดี

ความต้องการการเอาใจใส่ดูแล

[แก้]

สำหรับการเลี้ยงดู แลบราดอร์ริทรีฟเวอร์ต้องมีคอกที่ใหญ่และมีรั้วสูงล้อมรอบ ในฤดูร้อนก็ควรมีพื้นที่มีร่มเงาสำหรับสุนัขพันธุ์นี้ด้วย เช่นเดียวกับสุนัขทั่วไป สำหรับสุนัขที่โตแล้ว ควรให้เดินวันละ 30 นาที สำหรับลูกสุนัข จะใช้เวลาในการเล่นทั้งวัน สำหรับผู้ที่คิดจะเลี้ยงสุนัขพันธุ์นี้ ควรมีบริเวณพื้นที่กว้างขวางไว้ให้สุนัขได้วิ่งเล่น แลบราดอร์ริทรีฟเวอร์ยังมีนิสัยชอบเคี้ยวและขุดอีกด้วย เนื่องจากสุนัขพันธุ์นี้จะอ้วนง่ายเมื่อมีอายุมากขึ้นซึ่งสามารถก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ ดังนั้นจึงควรดูแลอาหารการกินที่มีปริมาณและคุณค่าทางอาหารเหมาะสมตามวัยของสุนัข

โรค

[แก้]

โรคข้อสะโพกเสื่อม (Hip Dysplasia) เป็นโรคกระดูกที่พบได้มากในสุนัขพันธุ์ใหญ่ (Giant and large breed) โดยพบมากถึง 1 ใน 3 ของโรคกระดูกทั้งหมดในสุนัข โดยโรคนี้จะมีพัฒนาการในช่วงที่มีการเจริญเติบโต ของกระดูกจึงอาจพบได้ตั้งแต่ 4-12 เดือน

โรคกระดูกอ่อน เป็นโรคที่เกิดขึ้นกับสุนัขที่มีการเจริญเติบโตของกระดูกไม่สมบูรณ์ จะมีอาการที่พบเห็นทั่วไป คือ สุนัขมีอาการขาโก่ง หรือขณะเดินจะสังเกตว่าขาจะไม่มั่นคง จะปัดไปปัดมา ซึ่งสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ในช่วงที่กำลังเจริญวัย กินอาหารครั้งละมาก ๆ กินแล้วก็นอน ฯลฯ และผลที่ตามมา ขาก็จะลีบเล็กลง โดยที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ขาเสียในที่สุด วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือ ให้อาหารสุนัขไม่ต้องมากในแต่ละมื้อ โดยอาจจะเพิ่มจำนวนมื้อให้มากยิ่งขึ้น และให้เวลากับสุนัขของคุณโดยพาออกไปวิ่งเล่นออกกำลังกายยามว่าง ที่สำคัญอาหารที่ให้ก็ควรมีคุณค่าสารอาหารครบถ้วน ไม่ควรที่จะให้ข้าวคลุกกับข้าวติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ควรจะให้สลับกับอาหารสำเร็จรูปสำหรับสุนัขบ้าง เพราะอาหารเหล่านั้นจะมีสารอาหารอย่างครบถ้วนสมบูรณ์

โรคขาดฮอร์โมนไทรอยด์ กล่าว คือ ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนน้อยกว่าปกติ และก่อให้เกิดความผิดปกติต่าง ๆ ของร่างกาย โดยแสดงออกทางผิวหนัง อาการที่พบคือ สุนัขจะมีอาการขนร่วง เช่น ข้างลำตัว รอบก้นและหาง หน้าอก ในสุนัขอายุมากมักพบรังแคกระจายทั่วร่างกาย อาจพบผิวหนังมีเม็ดสีสะสม มักพบเป็นสีดำ อาจมีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ อ่อนเพลีย ซึ่งโรคนี้มักพบในสุนัขอายุ 6-10 ปี แต่ถ้าเป็นสุนัขพันธุ์ใหญ่สามารถพบในอายุน้อยกว่า 6 ปีได้ ดังนั้น หากสุนัขของคุณมีอาการดังนี้ แนะนำให้พาสุนัขมาตรวจกับสัตวแพทย์เพื่อรับการรักษาจะดีที่สุด

โรคประสาทตาเสื่อม อาจเรียกได้ว่าเป็นโรคประจำของสุนัขแลบราดอร์เนื่องจากพบอัตราการป่วยมากกว่าสายพันธุ์อื่น โดยอาการจอตาเสื่อมมีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับบริเวณของจอตาที่มีปัญหา อาการที่สังเกตได้คือ สุนัข จะมองภาพได้ไม่ชัดเจนในที่มีแสงน้อย และเจ้าของจะรู้สึกว่าตาแวววาวผิดปกติ เนื่องจากม่านตาขยายเพื่อให้แสงผ่านไปได้มากขึ้น สุนัข อาจเห็นภาพได้แคบลง จึงต้องหันหัวมอง หรืออาจเดินชนสิ่งของ ส่วนใหญ่อาการนี้ไม่สามารถรักษาได้ แต่ไม่ใช่ทุกตัวที่เป็นจะต้องตาบอดอย่างสมบูรณ์ ทั้งนี้ต้องได้รับตรวจอย่างละเอียด

โรคต้อกระจก มักเกิดกับสุนัขที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป โดยจะมองเห็นแก้วตามีลักษณะขุ่นขาว ซึ่งสุนัขยังพอมองเห็นได้ แต่ถ้าแก้วตาขุ่นเพิ่มมากขึ้นก็จะทำให้มองไม่เห็น เนื่องจากแสงไม่สามารถผ่านเข้าไปยังจอรับภาพได้ ทั้งนี้สาเหตุเป็นเพราะโรคเบาหวาน หรือได้รับบาดเจ็บมีแผลที่ตา อย่างไรก็ตาม โรคต้อกระจกอาจจะพบได้ในสัตว์อายุน้อยตั้งแต่เกิดจนถึง 3 ปี เนื่องจากเป็นมาตั้งแต่เกิด สำหรับการรักษา ควรรีบพาสุนัขของคุณไปพบสัตวแพทย์ เพื่อรับการตรวจและรักษาทันที หากปล่อยทิ้งไว้นาน จะทำให้การรักษายากขึ้น และอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ตาบอดได้

โรคลมบ้าหมูจะทำให้สุนัขชักบ่อย ๆ และควบคุมการทรงตัวไม่ได้ การแก้ไขเบื้องต้นควรหาสถานที่ให้สุนัขอยู่อย่างสงบในห้องที่มืดทๆ จนกว่าอาการชักจะทุเลาลง ในระหว่างที่สุนัขชัก อย่าได้เข้าไปจับตัวเด็ดขาด เพราะมันอาจหันมากัดได้ ทั้งนี้ ยารักษาโรคลมบ้าหมูอาจช่วยลดอาการชักให้น้อยลงได้ แต่ควรปรึกษาการใช้ยาจากสัตวแพทย์ สำหรับสาเหตุของโรคชักเกิดจากพยาธิในลำไส้เป็นตัวการสำคัญ

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]