แมงป่องช้าง
แมงป่องช้าง | |
---|---|
Heterometrus laoticus ที่พบในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ | |
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Animalia |
ไฟลัม: | Arthropoda |
ชั้น: | Arachnida |
อันดับ: | Scorpiones |
วงศ์: | Scorpionidae |
วงศ์ย่อย: | Scorpioninae |
สกุล: | Heterometrus Ehrenberg, 1828 |
ชนิดต้นแบบ | |
Buthus (Heterometrus) spinifer Ehrenberg, 1828[1] | |
ชนิด | |
ประมาณ 33 ชนิด (ดูในเนื้อหา) | |
ชื่อพ้อง[2] | |
|
แมงป่องช้าง เป็นแมงป่องที่อยู่ในสกุล Heterometrus ในวงศ์ Scorpionidae
ลักษณะ
[แก้]มีลักษณะเด่น คือ ลำตัวใหญ่ มีสีเข้ม เช่น สีน้ำตาลเข้ม หรือสีดำ มีก้ามขนาดใหญ่ แลดูน่าเกรงขาม มีลำตัวเรียว มีขาจำนวน 4 คู่ มีส่วนหัวและอกอยู่รวมกัน มีตาบนหัวหนึ่งคู่ และตาข้างอีก 3 คู่ตรงกลางหลัง และขอบข้างส่วนหน้า ตรงปากมีก้ามขนาดเล็ก ๆ อีก 1 คู่ ส่วนถัดมาเป็นปล้อง ประกอบด้วยปล้อง 7 ปล้อง ซึ่งปล้องที่ 3 มีอวัยวะสำคัญคือ ช่องสืบพันธุ์ และมีอวัยวะพิเศษ 1 คู่ มีรูปร่างคล้ายหวี ทำหน้าที่รับความรู้สึกจากการสั่นของพื้นดิน ส่วนสุดท้ายคือส่วนหางเรียวยาว ประกอบด้วยปล้อง 5 ปล้องกับปล้องสุดท้าย คือ ปล้องพิษ มีลักษณะพองกลมปลายเรียวแหลม คล้ายรูปหยดน้ำกลับหัว บรรจุต่อมพิษ มีเข็มที่ใช้ต่อย คือ เหล็กใน สำหรับฉีดพิษ เพื่อล่าเหยื่อและป้องกันตัว
แมงป่องช้าง พบกระจายพันธุ์ทั่วไปในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนในหลายพื้นที่ในทวีปเอเชีย เช่น กัมพูชา, ลาว, ไทย, เวียตนาม, อินเดีย, ศรีลังกา, เนปาล, จีน และธิเบต[2][3] จนถึงมาเลเซีย, สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย[4] โดยมักจะหลบซ่อนในที่ ๆ ไม่มีแสงสว่าง ปราศจากการรบกวน เช่น ใต้ก้อนหิน, ท่อนไม้ หรือใต้ใบไม้ เป็นต้น ออกหากินในเวลากลางคืน ชอบอุณหภูมิแบบร้อนชื้นประมาณ 20-30 องศาเซลเซียส[5]
แมงป่องช้างเป็นสัตว์ดุ[6] กินอาหาร ได้แก่ พวกสัตว์ตัวเล็ก ๆ เช่น แมงมุม, บึ้ง, กิ้งกือ, หนอน และแมลงอื่น ๆ โดยจะกินขณะที่เหยื่อยังไม่ตาย แมงป่องช้างจะใช้ก้ามจับเหยื่อก่อนแล้วใช้หางที่มีเหล็กในต่อยเหยื่ออย่างรวดเร็วซ้ำหลาย ๆ ครั้ง จนกระทั่งเหยื่อตายแมงป่องจึงจะใช้ก้ามเล็ก ๆ 1 คู่ ตัดอาหารออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อนที่จะกิน รวมถึงกินพวกเดียวกันเองด้วย แมงป่องช้างตัวเมียจะกินตัวผู้หลังผสมพันธุ์เสร็จ[6]
แมงป่องช้าง แม้จะมีลำตัวขนาดใหญ่ น่าเกรงขาม แต่ทว่าพิษกลับไม่สามารถทำอันตรายมนุษย์ให้ถึงแก่ชีวิตได้[4] หลังการผสมพันธุ์แมงป่องช้างตัวเมียจะตั้งท้อง โดยจะมีการขยายตัวของกล้ามเนื้อที่ยึดระหว่างปล้องที่ 3 ถึงปล้องที่ 7 แม่แมงป่องช้างจะตั้งท้องนานประมาณ 7 เดือนถึง 1 ปี จากนั้นจะออกลูกออกมาเป็นตัวในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ช่วงฤดูฝนที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์
วงจรชีวิต
[แก้]แมงป่องช้างตัวผู้จะมีลักษณะเรียว หางยาวและก้ามใหญ่ แถบข้างลำตัวสีขาวอมเทา เมื่อถูกบุกรุกจะชูก้าม ชูหางข่มคู่ต่อสู้ ส่วนตัวเมียส่วนท้องจะอ้วนและโตกว่า แถบข้างลำตัวสีขาวอมเทา [5]
ก่อนตกลูก แม่แมงป่องจะซ่อนตัวในที่ปลอดภัย ลูกแมงป่องเกิดใหม่จะคลานไปมาบริเวณใต้ท้องแม่ ส่วนแม่แมงป่องจะงอขาคู่แรกรองรับลูกบางตัวเอาไว้ และกางอวัยวะคล้ายหวี ออกเต็มที่เพื่อให้ช่องสืบพันธุ์อยู่พ้นจากพื้นดินให้มากที่สุด หากอวัยวะคล้ายหวีส่วนนั้นสัมผัสพื้นจะไม่ยอมคลอด เพราะลูกอาจมีอันตราย
แมงป่องช้างตกลูกครั้งละประมาณ 7–28 ตัว ด้วยอัตราประมาณ 1 ตัว/1 ชั่วโมง ดังนั้นแม่แมงป่องจึงใช้เวลาตกลูกแต่ละครอกนานมาก ตั้งแต่ 12–24 ชั่วโมง ลูกแมงป่องเกิดใหม่จะปีนขึ้นไปเกาะกลุ่มเป็นก้อนสีขาวยั้วเยี้ยบนหลังแม่แมงป่อง ซึ่งระยะนี้แม่แมงป่องจะกินอาหารและน้ำน้อยมาก และไม่เคลื่อนย้ายไปไหนหากไม่จำเป็น เพราะต้องคอยระวังภัยให้ลูก ส่วนลูกแมงป่องจะอยู่บนหลังแม่นานถึงสองสัปดาห์โดยไม่กินน้ำและอาหารเลย
ลูกแมงป่องช้างแรกเกิดมีสีขาวล้วน ยกเว้นตาที่เป็นจุดดำสองจุด ตามลำตัวอาจมีจุดสีดำหรือน้ำตาล ตัวอ่อนนุ่มนิ่ม อ้วนกลมเป็นปล้อง ๆ ส่วนหางสั้น ลำตัวเมื่อยืดหางออกเต็มที่ยาว 1.3 เซนติเมตร และหนัก 0.2 กรัม ในสามวันแรกลักษณะภายนอกไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัด ส่วนใหญ่ลูกแมงป่องจะเกาะกลุ่มกันอยู่นิ่ง ๆ กระทั่งหลังวันที่ 5 สีของลูกแมงป่องช้างจะเข้มขึ้น จากสีขาวเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน เมื่ออายุ 7 วัน ลูกแมงป่องช้างมีขนาด 1.7 เซนติเมตร หนัก 0.18 กรัม เคลื่อนไหวมากขึ้น และอาจไต่ไปมาบนหลังแม่
ในช่วงที่อยู่บนหลังแม่นี้ ลูกแมงป่องช้างได้พลังงานและน้ำจากการสลายไขมันที่สะสมอยู่ในลำตัวที่อ้วนกลม จึงทำให้น้ำหนักตัวลดลงเรื่อย ๆ ตั้งแต่แรกเกิดกระทั่งถึงระยะนี้ และไม่พบการเรืองแสง
ลูกแมงป่องช้างจะลอกคราบครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 11 วัน หลังลอกคราบลักษณะภายนอกจะเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน จากลำตัวอวบอ้วนสีขาวเปลี่ยนเป็นลำตัวผอมเพรียวสีน้ำตาลเข้ม เริ่มเคลื่อนไหวรวดเร็ว ลูกแมงป่องบางตัวจะขึ้น ๆ ลง ๆ จากหลังแม่ และเริ่มสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แต่ยังคงไม่กินอะไรทำให้น้ำหนักตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ลักษณะสำคัญที่เห็นได้ชัดคือเริ่มมีการเรืองแสงตามก้ามและขา ยกเว้นส่วนหลังและท้อง กระทั่งเข้าสู่วันที่ 14 แม้สีของลูกแมงป่องไม่ต่างจากตอนลอกคราบใหม่ ๆ นัก แต่กลับพบว่ามีการเรืองแสงเพิ่มมากขึ้น เมื่อลูกแมงป่องมีอายุประมาณ 15 วัน จะลงจากหลังแม่จนหมด และมีการเรืองแสงทั่วทั้งตัว ลำตัวยาว 2.7 เซนติเมตร น้ำหนัก 0.14 กรัม พร้อมแสดงท่าทางการยกหาง
หลังจากนี้เป็นต้นไป สีผิวของลูกแมงป่องจะเข้มขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น จะเคลื่อนไหวรวดเร็ว และชอบซุกตัวอยู่ตามซอกหิน ใต้ใบไม้ ลูก ๆ ที่เป็นอิสระจากแม่แล้วจะยังคงอาศัยอยู่ร่วมกันกับแม่ เนื่องจากยังล่าเหยื่อไม่ได้ก็จะคอยกินเศษอาหารที่เหลือจากแม่ จนกว่าจะสามารถล่าเหยื่อเองได้จึงจะแยกไปอยู่ตามลำพัง ลูกแมงป่องช้างเจริญเติบโตช้ามาก อายุ 1 เดือนมีขนาดราว 3.3 เซนติเมตร หนัก 0.32 กรัม อายุ 1 ปี มีขนาดราว 6 เซนติเมตร และหนักราว 2 กรัม ต้องใช้เวลาอีกนานนับปีและลอกคราบอีกหลายครั้งจึงจะโตเป็นตัวเต็มวัย โดยทั่วไปแมงป่องช้างจะมีอายุราว 3–5 ปี[7]
และบางครั้งหลังการผสมพันธุ์และคลอดลูก แมงป่องช้างตัวเมียจะจับตัวผู้หรือลูก ๆ กินเป็นอาหาร[5]
ความสำคัญ
[แก้]แมงป่องช้าง เป็นสัตว์ที่บางพื้นที่นิยมจับมากินเป็นอาหาร โดยให้โปรตีนเช่นเดียวกับสัตว์อื่น ๆ ปัจจุบันมีบางพื้นที่นิยมเพาะเลี้ยงกันในบ่อปูนซีเมนต์เป็นสัตว์เศรษฐกิจ เพื่อการบริโภค มีราคาซื้อขายกันในราคาที่สูง อีกทั้งบางเชื้อชาติ เช่น ชาวจีน, ชาวญี่ปุ่น เชื่อว่าอาจรับประทานแมงป่องช้างแล้ว มีสรรพคุณทางยาหลายอย่าง[7] โดยการเลี้ยงเพื่อการบริโภคใช้เวลาประมาณ 8–12 เดือน หรือ 1 ปี[8] รวมถึงมีผู้นิยมเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลินเช่นเดียวกับ บึ้ง ด้วย [5][4] ซึ่งแมงป่องช้างที่เพาะเลี้ยงออกมาซึ่งการเลี้ยงจะใช้เวลานานกว่าแบบที่เพาะเลี้ยงเพื่อการบริโภค[8]
การจำแนก
[แก้]จำแนกได้ประมาณ 33 ชนิด (พบในประเทศไทย 6 ชนิด[9]) ได้แก่
- Heterometrus barberi (Pocock, 1900)
- Heterometrus beccaloniae (Kovařík, 2004)
- Heterometrus bengalensis (Koch 1841)
- Heterometrus cimrmani (Kovařík, 2004) (พบในประเทศไทย)
- Heterometrus cyaneus (Koch, 1836)
- Heterometrus flavimanus (Pocock, 1900)
- Heterometrus fulvipes (Koch, 1837)
- Heterometrus gravimanus (Pocock, 1894)
- Heterometrus indus (DeGeer, 1778)
- Heterometrus kanarensis (Pocock, 1900)
- Heterometrus keralaensis (Tikader & Bastawade, 1983)
- Heterometrus laoticus Couzijn, 1981 (พบในประเทศไทย)
- Heterometrus latimanus (Pocock, 1894)
- Heterometrus liangi (Zhu & Yang, 2007)
- Heterometrus liophysa (Thorell, 1888)
- Heterometrus liurus (Pocock, 1897)
- Heterometrus longimanus (Herbst, 1800) (พบในประเทศไทย)
- Heterometrus madraspatensis (Pocock, 1900)
- Heterometrus mysorensis (Kovařík, 2004)
- Heterometrus nepalensis (Kovařík, 2004)
- Heterometrus petersii (Thorell, 1876) (พบในประเทศไทย)
- Heterometrus phipsoni (Pocock, 1893)
- Heterometrus rolciki (Kovařík, 2004)
- Heterometrus scaber (Thorell, 1876)
- Heterometrus sejnai Kovařík, 2004 (พบในประเทศไทย)
- Heterometrus spinifer (Ehrenberg, 1828) (พบในประเทศไทย)
- Heterometrus swammerdami (Simon, 1872) (เป็นแมงป่องชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยความยาวกว่า 9 นิ้ว[10])
- Heterometrus telanganaensis (Javed, Mirza, Tampal & Lourenço, 2010)
- Heterometrus thorellii (Pocock, 1897)
- Heterometrus tibetanus (Lourenço, Qi & Zhu, 2005)
- Heterometrus tristis (Henderson, 1919)
- Heterometrus ubicki (Kovařík, 2004)
- Heterometrus wroughtoni (Pocock, 1899)
- Heterometrus xanthopus (Pocock, 1897)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Karsch, F. (1879). "Skorpionologische Beiträge I.". Mitteilungen des Münchener Entomologischen Vereins (ภาษาเยอรมัน). 3: 6–22.
- ↑ 2.0 2.1 Kovařík, F. (2004). "A review of the genus Heterometrus Ehrenberg, 1828, with descriptions of seven new species (Scorpiones, Scorpionidae)" (PDF). Euscorpius. 15: 1–60.
- ↑ Lourenço, W.O.; Qi, J.-X.; Zhu, M.-S. (2005). "Description of two new species of scorpion from China (Tibet) belonging to the genera Mesobuthus Vachon (Buthidae) and Heterometrus Ehrenberg (Scorpionidae)" (PDF). Zootaxa. 985: 1–16.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 พิสุทธิ์ เอกอำนวย, คู่มือคนรักแมลง 2 การเลี้ยงด้วง (มีนาคม พ.ศ. 2552). หน้าที่ 254. 255 หน้า ISBN 978-974-660-832-9.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 5.3 "'แมงป่องช้าง'ลงทุนน้อย-ตลาดรับไม่อั้น". คมชัดลึก. 24 พฤษภาคม 2013.
- ↑ 6.0 6.1 เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย : แมงป่องช้าง. ช่อง 7. 1 กันยายน 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2015. สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน 2015.
- ↑ 7.0 7.1 แมลงและแมงกินได้ที่พบมากในเดือนกุมภาพันธ์. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช.
- ↑ 8.0 8.1 สารคดีเกษตร : เปิดพิสดาร “แมงป่องช้างทอด”. ช่อง 7. 1 กันยายน 2015. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (Flash)เมื่อ 1 กันยายน 2015. สืบค้นเมื่อ 1 กันยายน 2015.
- ↑ "Species : Heterometrus laoticus". siamensis.org. 4 ตุลาคม 2011.
- ↑ Manny Rubio (2000). "Commonly Available Scorpions". Scorpions: Everything About Purchase, Care, Feeding, and Housing. Barron's Educational Series. pp. 26–27. ISBN 978-0-7641-1224-9.
The emperor scorpion can reach an overall length of more than 8 inches (20 cm). It is erroneously claimed to be the largest living scorpion in the world. However, some species of Forest Scorpions are its equal. [...] Emperor scorpions have the same venom as a bee.The Guinness Book of Records claims a Forest Scorpion native to rural India, Heterometrus swammerdami, to be the largest scorpion in the world (9 inches [23 cm]).
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ Heterometrus ที่วิกิสปีชีส์
- สายใยแห่งรักของแม่แมงป่องช้าง จากไบโอเทค เก็บถาวร 2012-10-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน