ข้ามไปเนื้อหา

แดนซ์แดนซ์เรโวลูชัน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

แดนซ์แดนซ์เรโวลูชัน (ญี่ปุ่น: ダンスダンスレボリューションโรมาจิDansu Dansu Reboryūshon) ; อังกฤษ: Dance Dance Revolution) เป็นเกมที่ได้รับความนิยมในช่วงปี พ.ศ. 2541 ถึงปี พ.ศ. 2546 เป็นเกมประเภทดนตรี ลักษณะโดยทั่วไปภายในเกมจะมีลูกศร ซ้าย ลง ขึ้น ขวา ขึ้นมาตามจังหวะของเพลงที่กำลังบรรเลง โดยให้ผู้เล่นใช้เท้าเหยียบตามจังหวะให้ตรง ซึ่งเกมนี้ มีจุดเด่นตรงที่ใช้เท้าควบคุมเกม โดยมีแผงควบคุมให้เท้าเหยียบตามลูกศร ซ้าย ลง ขึ้น ขวา แดนซ์แดนซ์เรโวลูชั่น ปรากฏเป็นครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ. 2541 โดยโคนามิ และเกมนี้ ได้มีการสร้างภาคต่อไปเรื่อย ๆ และได้มีการเล่นเกมชนิตนี้ในแถบอเมริกาเหนือและแถบยุโรป โดยที่แถบยุโรปได้เรียกชื่อเกมนี้ว่า แดนซิ่งสเตจ มหาวิทยาลัยบางส่วนในสหรัฐอเมริกาได้มีการเสริมการเล่นเกมนี้เข้าเป็นกิจกรรมชมรม[1] หรือแม้แต่เข้าเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร[2]

วิธีเล่น

[แก้]

เกมนี้ใช้เท้าควบคุมการเล่น โดยการเหยียบลูกศร ขึ้น ลง ซ้าย ขวา บนแป้นเหยียบ (dance pad) ตามจังหวะของเพลงที่ได้ยิน โดยในจอภาพของเกมจะมีลูกศรต่าง ๆ เหมือนกับบนแป้นเหยียบเลื่อนขึ้นมา เมื่อลูกศรต่าง ๆ เลื่อนมาถึงตรงจุดที่กำหนดในจอ ก็ให้เหยียบแป้นเหยียบให้ตรงกับลูกศรที่ขึ้นมาให้ตรงจังหวะ ซึ่งลูกศรที่ขึ้นมาในแต่ละตัวนั้น ตรงตามจังหวะของเพลงที่บรรเลงอยู่ ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เกมเต้นได้รับความนิยมจากผู้เล่น

การควบคุม

[แก้]
แป้นเหยียบของเกมเต้นแบบตู้เล่น

ลักษณะการเหยียบลูกศรเกมเต้นในระดับพื้นฐาน จะเป็นดังนี้

  • ลูกศรซ้าย ให้ใช้เท้าซ้ายขยับออกไปทางซ้าย แล้วเหยียบลงไป
  • ลูกศรขวา ให้ใช้เท้าขวาขยับออกไปทางขวา แล้วเหยียบลงไป
  • ลูกศรขึ้น ให้ใช้เท้าข้างใดข้างหนึ่งก้าวออกไปข้างหน้า แล้วเหยียบลงไป
  • ลูกศรลง ให้ใช้เท้าข้างใดข้างหนึ่งก้าวถอยไปข้างหลัง แล้วเหยียบลงไป
  • กรณีที่ลูกศรมาพร้อมกันสองอัน ให้ใช้เท้าทั้งสองข้างเหยียบทั้งสองอันพร้อม ๆ กัน (เช่น ซ้ายกับขวา ให้ใช้เท้าซ้ายเหยียบลูกศรซ้ายและใช้เท้าขวาเหยียบลูกศรขวาพร้อมกัน)
  • กรณีที่มีลูกศรสีเขียวยาว ๆ มา นั่นหมายความว่า ลูกศรที่มีลักษณะดังกล่าว เป็นลูกศรค้าง (Freeze Arrow) วิธีการเหยียบคือ ให้เหยียบลูกศรนั้นค้างไว้จนสุด (ห้ามปล่อย) เมื่อหมดแล้วให้ปล่อยเท้าออกได้
  • นอกจากการเหยียบพื้นฐานแล้ว จะต้องในเทคนิคในการเหยียบให้ได้อย่างต่อเนื่อง และให้ตรงตามจังหวะของเพลง

หน้าจอขณะเล่น

[แก้]

การเหยียบลูกศรในแต่ละครั้ง จะมีเสียงคำพูดบอกจากเกม เพื่อบอกว่าผู้เล่นเหยียบได้ตรงจังหวะเพียงใด

  • Marvelous : เหยียบจังหวะตรงมาก (ในเกมเต้นภาคเก่า ๆ ไม่มีคำบอกนี้)
  • Perfect : เหยียบได้ตรงจังหวะพอดี
  • Great : เหยียบได้เกือบตรงจังหวะ
  • Good : เหยียบได้ใกล้จังหวะ
  • Boo : เหยียบได้ไกลจังหวะ (ในภาคภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Almost)
  • Miss : ไม่ได้เหยียบลูกศรนั้นเลย เหยียบผิด หรือพลาดจากการเหยียบลูกศร (ในภาคภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Boo)
  • ส่วนการเหยียบลูกศรค้างนั้น เมื่อเหยียบไปจนสุด จะแสดงคำว่า OK แต่ถ้าเหยียบไม่สุด (พลาด หรือปล่อยขณะที่ยังไม่สุด) จะแสดงคำว่า NG
    • ถ้าพลาดการเหยียบลูกศรค้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ต้น (คือเหยียบได้ Miss) หรือเหยียบได้ NG จะไม่สามารถแก้ตัวเหยียบอันเดิมได้อีก

เมื่อเหยียบได้ Marvelous, Perfect, Great อย่างต่อเนื่อง เกมจะนับคอบโบ (Combo) ต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะพลาด (เหยียบได้ Good, Boo, Miss) ถ้าเหยียบลูกศรตั้งแต่ต้นจนจบเพลงแล้วไม่พลาดเลย จะเรียกว่า คอมโบเต็ม (Full Combo)

หน้าจอหลังการเล่น

[แก้]

หน้าจอขณะเล่นจะมีแถบด้านบนอยู่ เรียกว่า แถบเต้น (dance gauge หรือ life bar) ถ้าผู้เล่นเหยียบได้ Marvelous, Perfect, Great แถบจะขึ้นมาเรื่อย ๆ ถ้าเหยียบพลาดเป็น Boo, Miss หรือเหยียบลูกศรค้างไม่สุด (NG) แถบก็จะลดอย่างรวดเร็ว

ในขณะที่เล่นเกมอยู่ ผู้เล่นจะต้องรักษาพลังในแถบเต้นให้มีอยู่จนกระทั่งจบเพลง หากแถบลดจนหมด จะทำให้เกมจบทันที ถ้ารักษาแถบพลังไว้ได้จนจบเพลง หน้าจอจะแสดงคำว่า CLEARED แสดงถึงการผ่านเพลงที่เลือกไว้ได้

เมื่อเล่นจบหนึ่งเพลง หน้าจอจะแสดงสถิติการเล่นดังนี้

  • เกรด แสดงผลงานการเล่นว่าดีหรือไม่ เกรดจะแบ่งเป็นระดับ A, B, C, D, และ E เรียงตามดีที่สุดไปหาแย่ที่สุด หรือแพ้เกม นอกจากนี้ ยังมีเกรดพิเศษที่ดีกว่า A โดยแต่ละภาคจะมีเกรดพิเศษต่างกัน คือ AA, AAA, หรือ S, SS, SSS
  • จำนวนการเหยียบได้ Marvelous, Perfect, Great, Good, Boo, Miss และ OK ว่าได้กี่ตัว
  • จำนวนคอมโบสูงสุดที่ทำได้
  • คะแนนที่ได้ (แสดงเป็น 9 ถึง 10 หลักในแต่ละเพลง)

หลังจากหน้าจอนี้ เกมจะให้ผู้เล่นเลือกเพลงต่อไปที่จะเล่น เมื่อเล่นจนถึงด่านสุดท้ายแล้ว จะแสดงสถิติรวมทั้งหมด โดยจะเกรดจะถูกเฉลี่ยจากทุกด่าน ส่วนจำนวนคอมโบสูงสุดจะนับจากด่านที่ได้มากที่สุดเพียงด่านเดียว (ในเกมเต้นบางภาคอาจรวมคอมโบสูงสุดทั้งหมด)

ระบบการเล่นเกมเต้น

[แก้]

ระบบต่าง ๆ ในเกมเต้นแต่ละภาคโดยรวมมีดังนี้

รูปแบบการเล่น

[แก้]

รูปแบบการเล่นมีดังต่อไปนี้

  • เล่นเดี่ยว (Single Play) เป็นรูปแบบการเล่นแบบเล่นคนเดียว เป็นลักษณะการเล่นแบบปกติ
  • เล่นสองคน มีลักษณะย่อยอีก 3 อย่างคือ
    • เล่นสองคนแบบธรรมดา (Versus Play) เป็นรูปแบบการเล่น 2 คนโดยใช้ชุดลูกศรเกมเต้นเหมือนกัน
    • เล่นสองคนแบบเต้นคู่ (Couple) เป็นรูปแบบการเล่น 2 คนโดยใช้ชุดลูกศรต่างกันและเล่นคู่กัน
    • เล่นสองคนแบบปะทะกัน (Attack) เป็นลูกแบบการเล่น 2 คนแบบการแข่งขันกันว่าใครเต้นได้เก่งกว่ากัน โดยใช้ลูกเล่นเสริมมาโจมตีฝ่ายตรงข้าม เมื่อจบเพลง ใครมีคะแนนมากกว่า ฝ่านนั้นจะเป็นฝ่ายชนะ
  • เล่นควบสองแท่น (Double Play) เป็นการเล่นคนเดียวแต่ใช้แผ่นเต้น 2 อันในการเต้น
  • เล่นหกด้าน (Solo) เป็นการเล่นคนเดียวที่ใช้ลูกศร 6 ด้านในการเล่น ประกอบด้วย ซ้าย, ลง, ขึ้น, ขวา, เฉียงขึ้นซ้าย, และ เฉียงขึ้นขวา

ระดับความยาก

[แก้]

ระดับความยากในเกมมีหน่วยนับเป็น "เท้า" ตั้งแต่ 1 ถึง 10 เท้าและแบ่งออกเป็น 5 ระดับ คือ

  • ระดับผู้เริ่มต้น เป็นระดับง่ายมากสำหรับผู้เล่นใหม่ และมีเฉพาะหมวดเล่นเดี่ยวเท่านั้น ซึ่งหมวดเล่นควบสองแท่นจะไม่มีระดับความยากนี้ สีที่ใช้ในระดับความยากนี้เป็นสีฟ้า และจะอยู่ประมาณ 1 ถึง 3 เท้า นิยามศัพท์ของระความยากนี้ คือ Beginner
  • ระดับง่าย เป็นระดับพื้นฐานที่ทุกคนในกลุ่มทั่วไปสามารถเล่นได้ สีที่ใช้ในระดับความยากนี้เป็นสีเหลือง และจะอยู่ประมาณ 1 ถึง 6 เท้า นิยามศัพท์ของระความยากนี้ คือ Basic, Light, Standard
  • ระดับปานกลาง เป็นระดับที่ผู้เล่นมีความเก่งและค่อนข้างชำนาญพอสมควร ลูกศรจะมีมากขึ้น สีที่ใช้ในระดับความยากนี้เป็นสีแดง และจะอยู่ประมาณ 3 ถึง 9 เท้า นิยามศัพท์ของระความยากนี้ คือ Another, Standard, Difficult, Trick
  • ระดับยาก เป็นระดับที่ผู้เล่นมีความชำนาญมาก ไม่เหมาะ สำหรับผู้เริ่มต้น ลูกศรมีมาก ทำให้ผู้เล่นจะต้องคิดวิธีเหยียบให้ดียิ่งขึ้น สีที่ใช้ในระดับความยากนี้เป็นสีเขียว และจะอยู่ประมาณ 5 ถึง 10 เท้า นิยามศัพท์ของระความยากนี้ คือ Maniac, Heavy, Expert
  • ระดับเชี่ยวชาญ เป็นระดับที่มีความยากกว่าระดับยาก เป็นระดับที่ท้าดวลฝีเท้าในการเล่นเกมเต้น ระดับความยากนี้จะพบเห็นเป็นบางเพลง เพราะในแต่ละเพลงโดยทั่ว ๆ ไปจะไม่ค่อยมีระดับความยากนี้ ส่วนสีที่ใช้เป็นสีน้ำเงินหรือสีม่วง และจะอยู่ประมาณ 7 ถึง 10 เท้า นิยามศัพท์ของระความยากนี้ คือ Challenge

เพลง

[แก้]

ส่วนนี้เป็นที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับเกม ถ้าไม่มีส่วนนี้จะเป็นเกมเต้นไม่ได้ เพลงเกมเต้นในแต่ละภาคจะมีเพลงให้เล่นอยู่หลายเพลง มีระดับความยาก 3 - 5 ระดับ โดยทุกเพลงจะต้องมีระดับ ผู้เริ่มต้นถึงยาก แต่บางเพลงอาจมีถึงระดับเชี่ยวชาญ ในเพลงแต่ละเพลงนั้นจะเป็นแบบสั้น ความยาวในการเล่น อยู่ประมาณ 1 นาทีครึ่งถึง 2 นาที ข้อมูลเพลงที่เกมจะแสดงมี ชื่อเพลง ชื่อผู้แต่ง,นักร้อง,หรือศิลปิน, ความเร็วของจังหวะ (นับจังหวะเป็นจำนวนครั้งต่อนาที) , และระดับความยากกับหน่วยเท้า ในเพลงเกมเต้นแต่ละเพลงจะมีแหล่งที่มาอยู่ 3 แหล่งใหญ่ ๆ ได้แก่

  1. เพลงลิขสิทธิ์ (Licenses) เป็นเพลงที่ได้รับความนิยมทั่วไป และเป็นแหล่งเพลงภายนอกบริษัทโคนามิ และได้รับการอนุญาตไปบรรจุในเป็นเพลงเกมเต้นในแต่ละภาค
  2. เพลงเกมเต้นจริงจากค่ายโคนามิ (Konami Original) เป็นเพลงที่สร้างขึ้นมาเพื่อเกมเต้นโดยเฉพาะ โดยจะมีเหล่าศิลปิน และผู้สร้างเพลงจากค่ายโคนามิ แต่งขึ้นมาสำหรับเกมเต้นในแต่ละภาค และกำหนดเพลงยากในแต่ละภาคให้อีกด้วย
  3. เพลงเกมดนตรีอื่น ๆ จากค่าย บีมานี (Bemani Crossovers) เป็นเพลงที่เคยบรรจุในเกมดนตรีอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เกมเต้น ซึ่งเพลงเหล่านี้เป็นค่ายของบีมานี แล้วกลับมาบรรจุในเกมเต้นอีกครั้ง ซึ่งเพลงเหล่านี้อาจจะพบได้ในเกมดนตรีอื่น ๆ ที่ผ่านมาเช่น บีทเมเนีย (Beatmania) , กีตาร์เฟรกและดรัมเมเนีย (Guitar Freak & Drum Mania) , ป๊อปแอนด์มิวสิก (Pop'n'Music) เป็นต้น

เพลงเกมเต้นในแต่ละภาคนั้นจะมีการบรรจุเพลงใหม่ ๆ ในทุก ๆ ภาค และอาจมีเพลงเก่าเสริมเข้ามา ในเกมเต้นประเภทตู้มีเพลงบรรจุทั้งเก่าและใหม่รวม 100 - 1,000 เพลง ในขณะที่เกมเต้นประเภทเล่นตามบ้านจะมีจำนวนเพลงประมาณ 30 - 80 เพลง

ตัวละครเต้น

[แก้]

ตัวละครเต้น เป็นลูกเล่นอย่างหนึ่งของเกมเต้น ขณะที่เล่นเกมเต้นอยู่นั้น จะมีตัวละครเต้นปรากฏตัวออกมาให้เห็น ตัวละครเต้นในแต่ละคนนั้น ทุกคนจะมีคู่เป็นของตัวเอง

ลูกเล่นเสริม

[แก้]

เป็นลูกเล่นเสริมในการปรับรูปแบบของลูกศรภายในเกมเต้นได้ ทำให้เกิดความเพลิดเพลินต่อผู้เล่นได้ส่วนหนึ่ง ลูกเล่นเสริมในเกมเต้นมี 2 ประเภทคือ

ลูกเล่นเสริมปกติ

[แก้]

เป็นลูกเล่นเสริมที่ผู้เล่นสามารถปรับแต่งได้ในหมวดเกมทั่วไป ซึ่งลูกเล่นเสริมประเภทปกติมีดังนี้

  • ความเร็วเคลื่อนที่ (Speed) เป็นการขยายการเคลื่อนที่ของลูกศรเกมเต้นให้เร็วขึ้น ในขนาดเท่าตัว ตัวเลือกประเภทนี้ประกอบด้วย
    • 1x เป็นค่าเรื่มต้น ความเร็วการเคลื่อนที่เป็นปกติ
    • 1.5x ความเร็วการเคลื่อนที่เร็วจากเดิมเป็น 1.5 เท่า
    • 2x ความเร็วการเคลื่อนที่เร็วจากเดิมเป็น 2 เท่า
    • 3x ความเร็วการเคลื่อนที่เร็วจากเดิมเป็น 3 เท่า
    • 5x ความเร็วการเคลื่อนที่เร็วจากเดิมเป็น 5 เท่า
    • 8x ความเร็วการเคลื่อนที่เร็วจากเดิมเป็น 8 เท่า
  • ลูกศรเร่ง (Boost) เมื่อเปิดลูกเล่นเสริมนี้ จะทำให้ลูกศรที่กำลังขึ้นมา เพิ่มกำลังความเร็วเมื่อใกล้จุดเหยียบ
  • การปรากฏ (Apperance) เป็นการปรับลูกเล่นเสริมในการปรากฏของลูกศร ตัวเลือกประเภทนี้ประกอบด้วย
    • แสดงตามปกติ (Visible) เป็นค่าเริ่มต้นของลูกเล่นเสริมนี้ ซึ่งการกรากฎของลูกศรมาเป็นปกติ
    • จางหาย (Hidden) เมื่อปรับเป็นค่านี้จะทำให้ลูกศรจางหายลงไปเมื่อมาถึงจุดเหยียบ
    • โผล่ออก (Sudden) เมื่อปรับเป็นค่านี้จะทำให้ลูกศรไม่ปรากฏในตอนต้น แต่จะโผล่ขึ้นเมื่อมาถึงจุดเหยียบ
    • ซ่อนตัว (Stealth) เมื่อปรับเป็นค่านี้จะทำให้ลูกศรไม่ปรากฏให้เห็นเลย ทำให้ยากในการหาว่าลูกศรใดจะขึ้นมา
      • ตัวเลือกการซ่อนลูกศรแบบนี้ ยังมีการซ่อนจุดเหยียบของลูกศรอีกคือ ซ่อนจุดเหยียบ (Dark) จะมีเลือกให้เปิด (ON) หรือปิด (OFF) ถ้าเปิดตัวเลือกนี้ ทำให้ซ่อนจุดเหยียบได้
  • หมุนพลิก (Turn) เป็นการหมุนพลิกลูกศรให้มาอีกแนวหนึ่ง ตัวเลือกประเภทนี้ประกอบด้วย
    • กระจก (Mirror) ทำให้ลูกศรที่มากลับด้านกันเหมือนส่องกระจก จากซ้ายเป็นขวา จากขึ้นเป็นลง
    • พลิกซ้าย (Left) ทำให้ลูกศรทีมาหมุนทวนเข็มนาฬิกา 90 องศา จากขึ้นเป็นซ้าย จากลงเป็นขวา
    • พลิกขวา (Right) ทำให้ลูกศรที่มาหมุนตามเข็มนาฬิกา 90 องศา จากขึ้นเป็นขวา จากลงเป็นซ้าย
    • สลับกัน (Shuffle) ทำให้ลูกศรที่มาสลับที่กันเป็นแบบสุ่ม เช่น ลูกศรขึ้นทั้งหมดจะถูกสลับกับลูกศรลงบ้าง ซ้ายบ้าง ขวาบ้าง เป็นต้น
  • ทิศทางการเคลื่อนตัว (Scroll) มี 2 ลักษณะคือ
    • แบบปกติ (Standard) เป็นค่าเริ่มต้นคือ ลูกศรขึ้นมาตามปกติ
    • ย้อนกลับ (Reverse) ทำให้ทิศทางการเคลื่อนตัวของลูกศรแบบจากบนมาล่าง โดยสังเกตที่จุดเหยี่ยบจะอยู่ด้านล่าง
  • ลบลูกศรบางส่วน ตัวเลือกนี้เป็นลูกเล่นเสริมที่ลบลูกศรบางส่วนเพื่อง่ายต่อผู้เล่น เมื่อปรับตัวเลือกนี้จะมีผลทำให้เกรดลดลงเมื่อเล่นจบเพลง ตัวเลือกชนิดนี้มีหลายอย่างดังนี้
    • น้อย หรือ ตัด (Little หรือ Cut) เมื่อเปิดตัวเลือกนี้จะทำให้ลบลูกศรครึ่งจังหวะ และลูกศรที่ไม่ใช่ลูกศรเต็มจังหวะออกไป
    • ลูกศรค้าง (Freeze Arrow) จะมีเปิด (ON) กับปิด (OFF) ถ้าปิดลูกศรค้าง จะทำให้เปลี่ยนจากลูกศรค้างกลายเป็นลูกศรธรรมดา
    • กระโดด (Jump) ลูกศรใดก็ตามที่มาสองอันพร้อมกัน จะถูกนับเป็นลูกศรกระโดด ตัวเลือกย่อยของลูกศรกระโดดมีดังนี้
      • เปิด (ON) เป็นค่าเริ่มต้น แสดงลูกศรกระโดดทั้งหมด
      • ปิดแบบที่ 1 (OFF1) เกมจะเปลี่ยนลูกศรกระโดดเป็นลูกศรเดี่ยว
      • ปิดแบบที่ 2 (OFF2) เกมจะลบลูกศรกระโดดทั้งหมด

ลูกเล่นเสริมพิเศษ

[แก้]

เป็นลูกเล่นเสริมที่ทำให้ผู้เล่นเกิดความสับสน และไม่มีให้ปรับแต่ง ลูกเล่นเสริมเหล่านี้พบได้ในเกมเต้นภาคใหม่ ๆ ของเพลย์สเตชัน 2 ซึ่งอยู่ในหมวดภารกิจ ลูกเล่นเสริมพิเศษถือว่า เป็นการเพิ่มความยากในการมองลูกศร ซึ่งลูกเล่นเสริมประเภทพิเศษมีดังนี้

  • ความเร็วเคลื่อนที่ (Speed) สำหรับลูกเล่นเสริมพิเศษมีดังนี้
    • 0.5x ความเร็วการเคลื่อนที่ช้าจากเดิมเป็นครึ่งเท่า (50%)
    • 0.25x ความเร็วการเคลื่อนที่ช้าจากเดิมเป็น 1/4 เท่า (25%)
  • ลูกศรจอด (Brake) ลูกเล่นเสริมนี้ตรงข้ามกับลูกศรเร่ง (Boost) ซึ่งจะทำให้ลูกศรชลอลงหรือความเร็วช้าลงเมื่อใกล้จุดเหยียบ
  • ลูกศรคลื่นน้ำ (Wave) ทำให้ลูกศรที่มายืด ๆ หด ๆ เหมือนกระแสคลื่นน้ำเข้าฝั่ง
  • จุดเหยียบสลับตำแหน่ง จากปกติจุดเหยียบลูกศรที่เรียงมาเป็น ซ้าย ลง ขึ้น ขวา ซึ่งจะทำให้จุดเหยียบจะถูกสลับตำแหน่ง เช่น ขวา ขึ้น ลง ซ้าย เป็นต้น ซึ่งลูกเล่นเสริมลักษณะนี้ทำให้ผู้เล่นเกิดความสับสนได้มากที่สุด
  • จุดเหยียบรวมตำแหน่ง (Accumulate) ซึ่งจะทำให้จุดเหยียบ 4 ตัวมาอยู่ในตำแหน่งเดียวกันซึ่งลูกเล่นเสริมลักษณะนี้ทำให้ผู้เล่นเกิดความสับสนได้มากที่สุดเช่นกัน
  • จุดเหยียบต่างระดับ ตำแหน่งจุดเหยียบของลูกศรบางอัน อยู่ไม่เสมอกัน เช่น ลูกศรซ้ายอยู่ตำแหน่งไม่เสมอกับลูกศรลง ขึ้น ขวา เป็นต้น
  • จุดเหยียอยู่กลางตำแหน่ง จุดเหยียบจะอยู่ตรงกลางตำแหน่ง แต่ลูกศรจะมาแบบปกติ (จากล่างมาบน)

หมวดเกม

[แก้]

ในเกมเต้นแต่ละภาค จะมีหมวดเกมหลาย ๆ หมวด แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ

หมวดเกมประเภทตู้เกม (Arcade Version)

[แก้]
ตู้เล่นเกมเต้น แดนซ์ แดนซ์ เรโวลูชัน (ภาค 1)

เป็นประเภทตู้เกม ซึ่งผู้เล่นจะต้องหยอดเหรียญ 1 หน่วยเครดิตเมื่อเล่น ลักษณะตู้จะมีลักษณะใหญ่กว่าตู้เกมทั่วไป เพราะตู้เกมเต้นจะมีแป้นลูกศรสำหรับเหยียบ และเล่นได้สองคน หมวดเกมประเภทตู้เกมมีดังนี้

หมวดเกมปกติ (Arcade Mode, Game Mode)

[แก้]

ก่อนที่จะทำความรู้จักกับหมวดเกมในแต่ละหมวด ต้องรู้จักหมวดการเล่นปกติก่อน หมวดเกมปกติ เป็นหมวดเกมหลักของเกมเต้น ซึ่งจะได้เล่นตามตู้เกมเต้นทั่วไป ลักษณะของหมวดเกมปกติจะมีขั้นตอนดังนี้

  • หยอดเหรียญ 1 หน่วยเครดิต แล้วเข้าสู่เกม
  • เมื่อเข้าสู่เกมแล้วให้เลือกรูปแบบการเล่นที่ต้องการ (ถ้าเล่นสองคนหรือควบสอง ให้หยอดเหรียญอีก 1 หน่วยเครดิต)
  • เลือกระดับความยาก
  • เลือกเพลงเต้น เมื่อตัวเลือก (เคอร์เซอร์) อยู่ที่เพลงใด จะเล่นท่อนตัวอย่างของเพลงนั้น ๆ สามารถกดปุ่มซ้ายหรือขวาเพื่อเปลี่ยนเพลง กดขึ้นสองครั้งเพื่อลดระดับความยาก หรือกดลงสองครั้งเพื่อเพิ่มระดับความยาก ในขณะที่เลือกเพลงนั้น ในแกมเต้นรุ่นใหม่ ๆ ผู้เล่นสามารถเรียงลำดับเพลงได้ โดยการกดซ้ายกับขวาพร้อมกันอย่างรวดเร็ว ลักษณะการเรียงลำดับคือ
    • เรียงตามกลุ่ม (เรียงให้สีของเพลงอยู่ในกลุ่มเดียวกัน)
    • เรียงตามชื่อ (เรียงตาม A ถึง Z)
    • เรียงตามระดับความเร็ว (เรียงจากเพลงที่ช้าที่สุดไปหาเพลงที่เร็วที่สุด)
    • เรียงตามระดับความยาก (เรียงจากเพลงง่ายที่สุดไปหาเพลงที่ยากที่สุดตามหน่วยเท้าของระดับความยากที่เลือก)
    • เรียงตามความนิยม (เพลงใดที่นิยมกันมากที่สุด จะถูกเรียงลำดับเป็นอันดับต้น ๆ)
  • เมื่อเลือกเพลงเต้นแล้วให้กดปุ่มยืนยัน ถ้ากดค้างไว้จะเข้าสู่การปรับแต่งลูกเล่นเสริม
  • เล่นเกมเต้น
  • ถ้าผู้เล่นสามารถเล่นผ่านได้ เกมจะแสดงเกรด แล้วเลือกเพลงต่อไปจนกว่าจะครบ 3 ถึง 5 เพลง ในตู้เกมเต้นแต่ละตู้จะปรับค่าจำนวนเพลงต่อ 1 เกมที่จะเล่นไม่เหมือนกัน ส่วนใหญ่ ใน 1 เกมจะเล่นได้ 3 ถึง 5 เพลง
  • เมื่อเล่นจบเพลงสุดท้ายแล้ว เกมจะสรุปผล ถ้าคะแนนทำลายสถิติ ให้ลงชื่อไว้กับตู้
  • ฉากจบของเกม แสดงชื่อเพลงทั้งหมดที่อยู่ในตู้เพลง หรือ แสดงผู้จัดทำ

หมวดเล่นเป็นชุดเพลงต่อเนื่อง (Nonstop Mode)

[แก้]

เป็นหมวดเกมสำหรับเล่นเป็นชุดอย่างต่อเนื่อง เมื่อเล่นผ่าน 1 เพลงแล้วไปเล่นเพลงถัดไปทันทีโดยไม่ต้องกลับเข้าไปเลือกเพลงอีก หมวดนี้ สามรถเล่นเพลงต่อเนื่องได้ 3 ถึง 4 เพลงขึ้นไป

หมวดดวลประลอง (Challenging Mode)

[แก้]

ลักษณะคล้ายหมวดเล่นเป็นชุดเพลงต่อเนื่อง แต่จะเปลี่ยนจากแถบเต้น เป็นแถบแบตเตอรี่ ในขณะที่เล่นนั้น ผู้เล่นจะพลาดได้ไม่เกิน 4 ครั้ง ถ้าพลาดเกินกว่านั้นจะทำให้จบเกม ซึงหมวดนี้อาจจะไม่เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้น

หมวดเกมประเภทเล่นตามบ้าน (Home Version)

[แก้]
แผ่นเต้นสำหรับเกมเต้นแบบเล่นตามบ้าน

เป็นหมวดเกมที่พบในเกมเต้นประเภทเล่นตามบ้าน โดยใช้เครื่องเกมต่าง ๆ ในแต่ละรุ่น และมีอุปกรณ์สำคัญคือ แผ่นเต้น (Dance Pad) ที่จะต้องเสียบเข้าเครื่องเกม เพื่อให้เล่นเกมเต้นได้อย่างถูกหลักการ หมวดเกมที่จัดอยู่ในประเภทเล่นตามบ้านมีดังนี้

หมวดเล่นไม่รู้จบ (Endless Mode)

[แก้]

เป็นหมวดที่เล่นเพลงเกมเต้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุด จนกว่าจะแพ้เกม ซึ่งเพลงที่เล่นออกมาเป็นแบบสุ่ม และสามารถพักการเล่น (Break Stage) ได้เมื่อเล่นครบ 5 ถึง 10 เพลงในแต่ละครั้ง (จำนวนเพลงเป็นค่าไม่แน่นอน แล้วการกำหนดค่าของผู้เล่น)

หมวดเล่นไม่จำกัด (Event Mode)

[แก้]

เป็นหมวดเล่นเพลงอย่างไม่จำกัดแล้วแต่ความพอใจของผู้เล่น เมื่อแพ้เกมก็จะกลับไปที่หน้าจอเลือกเพลง

หมวดแข่งขัน (Attack, Magic Dance Mode)

[แก้]

เป็นหมวดที่ต้องเล่นสองคน ถ้าเล่นคนเดียวจะมีระบบคอมพิวเตอร์มาเล่นให้ หมวดนี้ เป็นหมวดเล่น 2 คนแบบการแข่งขันกันว่าใครเต้นได้เก่งกว่ากัน โดยใช้ลูกเล่นเสริมมาโจมตีฝ่ายตรงข้าม เมื่อจบเพลง ใครมีคะแนนมากกว่า ฝ่านนั้นจะเป็นฝ่ายชนะ

หมวดภารกิจ (Mission Mode)

[แก้]

เป็นการเล่นแบบทำตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ถ้าทำสำเร็จจึงจะผ่านด่านได้ ลักษณะของหมวดนี้ จะมีเพลงให้เล่นท่อนส่วนหนึ่ง แล้วบอกแค่ให้ทำอะไรโดยที่จะกำหนดลูกเล่นเสริมทั้ง 2 แบบโดยผู้เล่นไม่รู้ และจะมาทราบทีหลังเมื่อเล่นไปแล้ว ตัวอย่างเช่น

  • ห้ามกดลูกศรขึ้น ในภาคภาษาอังกฤษอาจบอกว่า "Don't step on Up Arrow" หมายความว่า เวลาเล่นห้ามให้ผู้เล่นเหยียบลูกศรขึ้น ให้เหยียบลูกศรอื่นแทน ถ้าเล่นจนจบท่อนที่กำหนดของเพลงโดยไม่กดลูกศรขึ้น ถือว่าเล่นผ่านภารกิจ
  • เล่นให้ได้เกรด AA ขึ้นไป ในภาคภาษาอังกฤษอาจบอกว่า "Complete a song with AA or more" หมายความว่า ต้องเล่นให้ได้เกรด AA ขึ้นไป จึงจะผ่านภารกิจ
  • ห้ามเหยียบพลาดเป็น Miss ในภาคภาษาอังกฤษอาจบอกว่า "Complete a song without MISS judgement" หมายความว่า ห้ามเหยียบพลาด ซึ่งได้คำว่า MISS มิฉะนั้นจะแพ้เกม

การให้กระทำในหมวดภารกิจนั้น แค่ให้ผู้เล่นทำ แต่ผู้เล่นจะไม่ทราบว่าจะใช้ลูกเล่นเสริมอะไร ดังนั้นการใช้สายตาก็เป็นส่วนสำคัญอย่างมากในหมวดนี้

หมวดฝึกเล่น

[แก้]

หมวดฝึกเล่น เป็นหมวดสำหรับผู้เริ่มต้น ผู้เริ่มเล่นใหม่ควรเข้าเล่นหมวดนี้ ลักษณะลูกศรสำหรับหมวดฝึกเล่น เป็นลูกศรง่าย ๆ และเทคนิคเบื้องต้น สำหรับหมวดฝึกเล่นมีอยู่ 2 แบบคือ

หมวดฝึกเล่นแบบเก่า (Lesson Mode)
[แก้]

เป็นหมวดแบบฝึกหัดที่เล่นทีละด่าน มี 3 ระดับ ระดับละ 8 ด่าน การเล่นหมวดฝึกเล่นแบบเก่าเป็นดังนี้

  • เลือระดับที่ต้องการ
  • เลือกฝึกด่าน 1 ถึง 7 เลือกมาแล้วทำให้ผ่าน
  • ในด่านที่ 1 ถึง 7 นั้น เกมจะแสดงตัวอย่างการเล่นก่อนแล้วให้ผู้เล่นฝึกตาม 2 ครั้ง
  • การเล่นด่านที่ 8 นั้นต้องผ่านด่าน 1 ถึง 7 ก่อน จึงจะเข้าได้
หมวดฝึกเล่นแบบใหม่ (Tutorial Mode)
[แก้]

เกมเต้นสมัยใหม่ได้ทำการปรับเปลี่ยนหมวดฝึกเล่นให้ผู้เริ่มต้นเข้าใจในการเล่นยิ่งขึ้น เมื่อเข้าสู่หมวดนี้จะมีเสียงพากษ์อธิบายการเล่น ถ้าผ่านก็จะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป ขั้นตอนการเล่นในหมวดฝึกเล่นสมัยใหม่เป็นดังนี้

  • ดูตำแหน่งของลูกศร และลักษณะการเหยียบลูกศรเบื้องต้น การฝึกเหยียบแต่ละครั้ง ระบบจะแสดงตัวอย่างให้ดู ขั้นตอนละ 1 รอบ
  • ฝึกเหยียบลูกศรทั้ง 4 อย่าง (ซ้าย ขวา ขึ้น ลง ตามลำดับ) ครั้งแรก โดยมีเส้นนำ ครั้งที่สองไม่มีเส้นนำ
  • ฝึกเหยียบลูกศรกระโดด (ซ้าย-ขวา และ ขึ้น-ลง ตามลำดับ) ครั้งแรก โดยมีเส้นนำ ครั้งที่สองไม่มีเส้นนำ
  • ฝึกเหยียบลูกศรค้าง (ซ้าย กับ ขวา) ตามลำดับ ครั้งแรก โดยมีเส้นนำ ครั้งที่สองไม่มีเส้นนำ
  • เมื่อผ่านแล้ว เลือกเพลง 1 เพลงในระดับเริ่มต้น

หมวดฝึกซ้อม (Training Mode)

[แก้]

เป็นหมวดที่มีในเกมเต้นประเภทเล่นตามบ้านทุกภาค ลักษณะของหมวดคือ เลือกเพลงมา 1 เพลง แล้วปรับตัวเลือกต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ ขั้นตอนการใช้หมวดฝึกซ้อมมีดังนี้

การปรับแต่งตัวเลือก
[แก้]

ลักษณะการปรับแต่งตัวเลือกสำหรับหมวดฝึกซ้อมมีดังนี้

  • เลือกเพลงที่ต้องการมา 1 เพลง
  • เลือกรูปแบบการเล่น
  • เลือกระดับความยาก
  • เครื่องช่วยฝึก เป็นเครื่องมือที่ฝึกให้เล่นง่ายขึ้น มี 3 อย่างคือ
    • เสียงเพลง มีเปิด (ON) กับปิด (OFF) ถ้าเปิด ก็จะมีเสียงเพลงตามปกติ
    • ตัวนับจังหวะ ถ้าเปิด จะมีเสียงนับตามจังหวะเต็มของเพลง โดยจังหวะที่ 1 จะมีเสียงต่างออกจากจังหวะที่ 2 ถึง 4
    • เสียงมือปรบ ถ้าเปิด จะมีเสียงปรบมือเมื่อมีลูกศรขึ้นมาอยู่ตรงจุดเหยียบ การเปิดตัวเลือกนี้ทำให้ง่ายต่อการเล่นมากยิ่งขึ้น
  • ความเร็วเพลง มี 1 ถึง 5, โดยที่ 5 เป็นความเร็วปกติ ส่วน 1 เป็นความเร็วช้าสุด
  • ลูกเล่นเสริม เมื่อกดปุ่มยืนยัน จะมีลูกเล่นเสริมแบบปกติให้ปรับแต่งได้
  • ห้องจังหวะเริ่มต้น (First Bar) กดปุ่มซ้ายหรือขวาเพื่มเริ่มในจุดที่ต้องการ
  • ห้องจังหวะสุดท้าย (Last Bar) กดปุ่มซ้ายหรือขวาเพื่อให้หยุดเล่นในจุดการ
  • การเล่นจากต้นจนจบ จะประมวลว่าจะเล่นเรื่มตั้งแต่ตรงไหนถึงตรงไหน ถ้ากดซ้าย จะเป็นการเล่นทั้งเพลง ส่วนกดขวา จะเป็นการเล่นตามจุดที่เลือกไว้
  • แผงลูกศรกำหนดเอง (Edit Data) ถ้ากดปุ่มยืนยัน ก็จะเข้าไปเลือกแผงลูกศรที่ผู้เล่นสร้างขึ้นมาเองในหมวดสร้าง (Edit Mode) มาใช้ในการฝึกซ้อม
  • เริ่มเล่น (Start) กดตรงนี้เพื่อทำการฝึกซ้อมตามตัวเลือกที่ปรับแต่งไปแล้ว วิธีลัดคือกดปุ่มเริ่ม (Start) แล้วเล่นจนจบ (ไม่มีการแพ้เกม)
การแสดงผลหลังการเล่น
[แก้]

การแสดงผลหลังการเล่นในหมวดฝึกซ้อมนั้น จะแสดงเหมือนเล่นปกติ ถ้ากดปุ่มยืนยัน จะมีตัวเลือกออกมา 3 อย่างคือ เล่นอีกครั้ง (Again) , ตรวจสอบ (Check) , และ กลับสู่เมนู (Menu) ลักษณะการใช้มีดังนี้

  • เล่นอีกครั้ง (Again) ถ้าเลือกตัวเลือกนี้ จะไปเล่นใหม่อีกครั้ง
  • ตรวจสอบ (Check) เป็นการตรวจสอบความแม่นยำของการเหยียบลูกศร จะแสดงให้ดูว่าอันใดที่เหยียบพลาด โดยแสดงลูกศรออกมาเป็นสีดังนี้
    • สีขาวคล้ายเหลือง หมายความว่าเหยียบได้ Marvelous
    • สีเหลือง หมายความว่าเหยียบได้ Perfect
    • สีเขียว หมายความว่าเหยียบได้ Great
    • สีฟ้า หมายความว่าเหยียบได้ Good
    • สีชมพู หมายความว่าเหยียบได้ Boo (หรือ Almost ในภาคภาษาอังกฤษ)
    • สีแดง หมายความว่าเหยียบได้ Miss (หรือ Boo ในภาคภาษาอังกฤษ)
    • นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบการเหยียบอีกแบบหนึ่ง เมื่อผู้เล่นกด "เลือก (Select)" จะมีการเปลี่ยนสีเล็กน้อย แต่ความหมายจะเปลี่ยนเป็นดังนี้
      • สีเหลือง หมายความว่า เหยียบได้ตรงจังหวะ (เหยียบได้ Marvelous, Perfect)
      • สีฟ้า หมายความว่า เหยียบเร็วกว่าจังหวะ (เหยียบได้ Great, Good, Boo)
      • สีชมพู หมายความว่า เหยียบช้ากว่าจังหวะ (เหยียบได้ Great, Good, Boo)
      • สีแดง หมายความว่า พลาดจากการเหยียบลูกศร (เหยียบได้ Miss)
  • กลับสู่เมนู (Menu) ถ้าเลือกตัวเลือกนี้ จะกลับเข้าไปที่เมนูปรับแต่งตัวเลือกเหมือนเดิม

หมวดออกกำลังกาย (Workout Mode)

[แก้]

เป็นหมวดที่ช่วยในการออกกำลังกาย ลักษณะจะคล้ายหมวดเล่นไม่จำกัด (Event Mode) แต่จะมีที่วัดการเผาผลาญของแคลอรี่ของผู้เล่น รวมไปถึงการเปรียบเทียบค่ากับการออกกำลังกาย 3 อย่างคือ กระโดดเชือก วิ่ง และว่ายน้ำ ขั้นตอนการใช้หมวดออกกำลังกายมีดังนี้

การปรับแต่งตัวเลือก
[แก้]

การตั้งค่าสำหรับหมวดออกกำลังกายเบื้องต้นมีดังนี้

  • ปรับค่าน้ำหนักของตัวเอง (Weight) ค่าที่ปรับจะแสดงเป็น ปอนด์ หรือ กิโลกรัม
  • เป้าหมายในการออกกำลังกาย (Goal) สามารถปรับได้เป็นดังนี้
    • การเผาผลาญของแคลอรี่ (Calorie Burn)
    • ระยะเวลาที่จะเล่น (Time Passed)
    • ไม่จำกัดความ (Off)
  • ค่าของเป้าหมาย (Value) เป็นการปรับค่าตามเป้าหมายในการออกกำลังกาย (Goal) ถ้าเลือกเป้าหมายเป็น การเผาผลาญของแคลอรี่ (Calorie Burn) เกมจะให้ผู้เล่นใส่ค่า เป็นแคลอรี ถ้าปรับค่าเป็น 150 หมายความว่า เป้าหมายในการเผาผลาญอยู่ที่ 150 แคลอรี
  • ลูกศรแบบออกกำลังกาย (Workout Step) ให้ปรับว่าเป็นเปิดหรือปิด ถ้าเปิดจะมีผลเหมือนลูกเล่นเสริม น้อย (Little) คือ ลบลูกศรน้อยจังหวะให้เหลือลูกศรเต็มจังหวะ
  • โปรแกรมการเล่น มีให้เลือกอยู่ 2 อย่างคือ แบบทีละเพลง (Free) และเล่นต่อเนื่อง (Course)

เมื่อเสร็จจากการปรับค่าแล้วให้เลือก OK แล้วเล่นได้ (ไม่มีการแพ้เกม)

การแสดงผลหลังการเล่น
[แก้]

หลังจากเล่นไปแล้วเกมจะแสดงผลดังนี้

  • มุมมองผลการเล่น แสดงค่าต่าง ๆ ดังนี้
    • เป้าหมายที่เหลือ คือจำนวนแคลอรี่หรือระยะเวลาที่จะต้องเล่นอีกว่าเหลือเท่าไหร่
    • การเผาผลาญของแคลอรีโดยรวม
    • ระยะเวลาที่เล่นไปทั้งหมด
    • เทียบจากการวิ่ง เทียบจากการเผาผลาญเป็นวิ่งได้กี่ไมล์
    • เทียบจากกระโดดเชือก เทียบจากการเผาผลาญเป็นโดดเชือกกี่ครั้ง
    • เทียบจากการว่ายน้ำ เทียบจากการเผาผลาญเป็นว่ายน้ำได้กี่ไมล์
  • มุมมองแบบสมุดบันทึก (Workout Diary) สามารถเปลี่ยนมุมมองได้ด้วยการกดเลือก (Select) มุมมองนี้เป็นมุมมองการแสดงกราฟแท่ง โดยที่สีฟ้าเป็นผู้เล่น 1 ส่วนสีชมพูเป็นผู้เล่นที่ 2 ถ้ากดเริ่ม (Start) จะแสดงเส้นกราฟของน้ำหนักของผู้เล่นนั้น ๆ, การแสดงผลแบบนี้เป็นการแสดงผลรายวัน ถ้าผู้เล่นมีน้ำหนักลดลง เส้นกราฟก็จะลดลงไปตามนั้น

หลังจากการแสดงผลแล้ว ผู้เล่นสามารถเล่นต่อ หรือออกจากหมวดนี่ได้

หมวดงานเลี้ยง (Party Mode)

[แก้]

เป็นหมวดมินิเกมเล็ก ๆ เพื่อสร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้เล่นหลาย ๆ คนที่กำลังมีงานเลี้ยง (ปาร์ตี้) ในหมวดนี้ สามารถเล่นกับอุปกรณ์เสริมกล้องอายทอยส์ (EyeToys) ได้ หมวดนี้จึงมีขึ้นในเกมเต้นของเพลย์สเตชัน 2 เป็นบางรุ่นเท่านั้น เมื่อเข้าสู่หมวดนี้จะแบ่งเป็น 2 หมวดย่อยดังนี้

หมวดมินิเกมแบบไม่ใช้อุปกรณ์เสริมกล้อง EyeToys
[แก้]

เป็นหมวดมินิเกมที่ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เสริม แต่จะเล่นกับแผ่นเต้น มินิเกมที่มีในหมวดย่อยมีดังนี้

  • วิ่งแข่ง (Hyper Dash) วิธีการเล่นคือ ผู้เล่นทั้ง 2 คนจะต้องบังคับตัวละครวิ่งแข่งโดยการเหยียบแป้นซ้ายและขวาสลับกัน หากฝ่ายใดเป็นผู้ตามจะมีคำสั่งให้กดลง ถ้ากดแล้วจะมีอุกกาบาตไปกระแทกลานวิ่งของฝ่ายตรงข้ามทำให้เป็นหลุม ทำให้ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามตกหลุมได้ สำหรับการป้องกันการตกหลุมคือ กดขึ้น จะทำให้ตัวละครกระโดด ใครที่วิ่งไปถึงเส้นชัยก่อน จะเป็นฝ่ายชนะ, ในกรณีที่เล่นคนเดียว ผู้เล่นสามารถเล่นกับระบบคอมพิวเตอร์ และจะมีการแข่งขันแบบ 10 เกม ฝ่ายใดที่ชนะมากที่สุดจะเป็นฝ่ายชนะ
  • ป้อนอาหารสัตว์ (Feeding Time) วิธีการเล่นคือ ให้ผู้เล่นทั้ง 2 คน ป้อนอาหารสัตว์ 4 อย่างด้วยกันคือ สุนัข แมว กระต่าย และ กบ โดยจะต้องเลือกอาหารที่ตรงกับสัตว์นั้น ๆ คือ สุนัขกินกระดูก แมวกินปลา กระต่ายกินแครอท และ กบกินแมลงปอ, อาหารสัตว์ดังกล่าว จะประจำตำแหน่งที่แป้นหยียบในเกมแบบสุ่ม เช่น แป้นลูกศรขึ้นเป็นกระดูก หมายความว่า ถ้าสัตว์ที่จะต้องป้อนเป็นสุนัข จะต้องกดลูกศรขึ้นซึ่งอาหารสัตว์ประจำตำแหน่งเป็นกระดูก ถ้าป้อนถูก จะทำให้ได้คะแนนและสามารถป้อนสัตว์ตัวอื่นได้ทันที การแข่งขันแบบนี้ใช้เวลาจำกัด 60 วินาที (หรือ 1 นาที) เมื่อเวลาหมดแล้ว ใครทำคะแนนมากกว่าจะเป็นฝ่ายชนะ, ในกรณีที่เล่นคนเดียว ผู้เล่นสามารถเล่นกับระบบคอมพิวเตอร์ได้เช่นกัน
  • การเล่นสองคนสำหรับหมวดย่อยนี้ ให้เลือกมินิเกมที่มีคำว่า "Versus" กำกับอยู่
หมวดมินิเกมแบบใช้อุปกรณ์เสริมกล้อง EyeToys
[แก้]

เป็นหมวดมินิเกมที่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เสริมกล้อง EyeToys เมื่อติดตั้งแล้ว ผู้เล่นสามารถกระทำสื่งต่าง ๆ ในหน้าจอให้เกิดผลลัทธ์ได้ และสามารถถ่ายภาพผู้เล่นเข้าไปอยู่ในจอได้ สำหรับมินิเกมที่มีในหมวดย่อยมีดังนี้

  • ดูฉันเต้น (Watch Me Dance) เป็นการเล่นเกมเต้นตามปกติ แต่จะทำให้เห็นผู้เล่นเต้นในจอด้วย
  • กวาดล้างหน้าจอ (Clean The Screen) เป็นการเล่นเกมเต้นตามปกติ แต่เพิ่มความสนุกสนานคือการใช้มือปัดกวาดหน้าจอที่มีฟองอากาศบังอยู่ ถ้าไม่ปัดกวาดหน้า จอจะทำให้ฟองอากาศบังลูกศรจนมองไม่เห็น
  • มือและเท้า (Hands And Feet) เป็นการเล่นเกมเต้นตามปกติเช่นกันแต่เพิ่มจุดเหยียบโดยการใช้มือซ้ายและมือขวาแตะตรงจุดเหยียตรงหน้าจอ ส่วนเท้าเหยียบลูกศรตามปกติ
  • ลูกบอลวิเศษ (Magical Ball) วิธีการเล่นคือ ใช้มือของผู้เล่นประคับประของลูกบอลในจอให้ไปกระดอนกำแพงให้หมด
  • มะพร้าวปั่นป่วน (Coconut Panic) วิธีรการเล่นคือ ให้เขย่าต้นมะพร้าว ให้มีลูกมะพร้าวตกลงมา แล้วใช้มือเก็บลูกมะพร้าวให้ได้มากที่สุดในเวลา 1 นาที

หมวดเกมประเภทปรับแต่ง

[แก้]

หมวดเกมประเภทนี้จัดอยู่ในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ได้ใช้เล่นเป็นหลัก และเป็นหมวดที่ใช้ในการปรับแต่งค่าต่าง ๆ ของเกมเต้นแบบเล่นตามบ้าน (Home Version) หมวดเกมประเภทปรับแต่งจะมีดังนี้

หมวดสร้าง (Edit Mode)

[แก้]

เป็นหมวดที่ผู้เล่นสามารถกำหนดแผงลูกศรเองได้ เมื่อกำหนดเสร็จแล้ว สามารถนำไปใช้ในหมวดเกมอื่น ๆ ได้ แต่จะต้องมีแผ่นบันทึกข้อมูล (Memory Card) สำหรับเรื่องเพลย์สเตชัน (1 หรือ 2) ก่อน จึงจะสามารถบันทึกได้ สำหรับการใช้หมวดสร้างแผงลูกศรเกมเต้น (ในเครื่อง เพลย์สเตชัน 2) มีเมนูคำสั่งต่อไปนี้

  • สร้างแฟ้มข้อมูลขึ้นมาใหม่ (New Data) สร้างแผงลูกศรใหม่โดยเลือกเพลงที่ต้องการมา 1 เพลง
  • โหลดแฟ้มข้อมูลเดิม (Load) เปิดแฟ้มข้อมูลเดิมที่เคยสร้างไว้
  • ดูที่เก็บภายใน (Library Manager) จัดการข้อมูลของแฟ้มข้อมูลภายใน
  • ดูที่เก็บภายนอก (Outside Manager) จัดการข้อมูลของแฟ้มข้อมูลภายนอก
  • ช่วยเหลือ (Guide) ดูข้อมูลการใช้งานสำหรับหมวดนี้
  • ออก (Exit) ออกจากหมวดสร้าง

สถิติ (Records)

[แก้]

หมวดนี้เป็นการแสดงสถิติการเล่นเกมเต้นในแต่ละครั้งของผู้เล่น ซึ่งจะมีการแสดงสถิติของเพลง ชุดเพลงต่อเนื่อง และอื่น ๆ

การปรับแต่ง (Options)

[แก้]

เป็นหมวดสำหรับการปรับแต่งค่าต่าง ๆ สำหรับเกมเต้นประเภทเล่นตามบ้านได้ตามต้องการของผู้เล่น ซึ่งจะมีเมนูการปรับคำสั่งดังต่อไปนี้

  • ตัวเลือกการตั้งค่าเสียง (Sound Options) เป็นตัวเลือกของการปรับเสียงต่าง ๆ ของค่าเกม ซึ่งจะมีคำสั่งย่อยดังนี้
    • ระบบเสียง สามารถปรับได้เป็น เสตอริโอ หรือ โมโนรัล
    • ปรับค่าเสียงพากษ์ (Voice) เป็นการปรับค่าของเสียงพากษ์ได้ดังนี้
      • เปิดทั้งหมด (All) เป็นการเปิดเสียงพากษ์ขณะเล่นเกมเต้นทั้งหมด
      • ปิด (Off) เป็นการปิดเสียงพากษ์ขณะเล่นเกมเต้น
      • ไม่มีการโห่ (No Booting) ทุกครั้งที่ผู้เล่น เล่นได้แย่จนแถบใกล้จะหมด หรือพลาดหลายครั้ง จะทำให้มีเสียงพากษ์ พากษ์ผู้เล่นไปทางด้านลบ หรือมีเสียงโห่ออกมา ถ้าเลือกตัวเลือกนี้แล้ว จะตัดเสียงโห่ออกไป และไม่มีพากษ์การเล่นในด้านลบ, การเปิดตัวเลือกนี้ สามารถทำให้ผู้เล่นไม่เสียกำลังใจและสุขภาพจิตได้ ทุกครั้งที่เล่นพลาด
    • ตัวเลือกการเทียบเสียง (Thiming Options) เป็นการเลือกให้เทียบเสียงตรงกับลูกศร โดยปกติแล้วค่านี้จะเป็น 0 ถ้าปรับค่าให้เป็นจำนวนลบ จะทำให้ลูกศรมาเร็วกว่าเพลง, ถ้าปรับค่าให้เป็นจำนวนบวก จะทำให้ลูกศรมาช้ากว่าเพลง ตัวเลือกนี้ ผู้เล่นสามารถปรับค่าได้ตั้งแต่ -16 ถึง +16
  • ตัวเลือกปุ่มบังคับ (Controller Options) เป็นการปรับตั้งค่าสำหรับปุ่มบังคับของการเล่นเกมเต้น ซึ่งจะมีคำสั่งย่อยดังนี้
    • การปรับปุ่มสำหรับหมวดควบสอง (Double Play Settings) เป็นการปรับปุ่มในการเล่นหมวดควบสองแท่น
    • การรับค่าเกมเต้น (Dance Play Settings) เป็นการปรับการรับค่าของเกมว่าจะให้รับค่าจากผู้เล่นที่ 1 หรือ 2 หรือไม่ โดยมีตัวเลือกเปิด (ON) หรือ ปิด (OFF) สำหรับค่าผู้เล่น 1 หรือ 2
  • ตัวเลือกการบันทึกและโหลดข้อมูล (Save & Load) เกมเต้นนประเภทเล่นตามบ้านนั้น มีความจำเป็นในการบันทึกข้อมูลผ่านแผ่นบันทึกของมูลของเครื่องเพลย์สเตชัน เพื่อสามารถเล่นเพลงลับต่อไปได้ สำหรับตัวเลือกดังกล่าว มีเมนูคำสั่งย่อยดังนี้
    • บันทึกข้อมูล (Save) เลือกคำสั่งนี้จะเป็นการบันทึกข้อมูลลงแผ่นบันทึกของมูล (มีการถามยืนยันก่อนที่ผู้เล่นจะบันทึก)
    • โหลดข้อมูล (Load) เลือกคำสั่งนี้จะเป็นการเรียกข้อมูลเดิมที่บันทึกไว้ล่าสุดจากแผ่นบันทึกของมูล (มีการถามยืนยันก่อนที่ผู้เล่นจะโหลด)
    • บันทึกอัตโนมัติ (Auto Save) มีตัวเลือก เปิด (ON) หรือ ปิด (OFF) เมื่อเปิดคำสั่งนี้จะเป็นการบันทึกข้อมูลอัตโนมัติ เมื่อออกจากหมวดเกมต่าง ๆ แล้ว ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล เกมจะบันทึกทันที
    • เรียกใช้ลูกศรกำหนดเอง (Edit Folder Load) มีตัวเลือก เปิด (ON) หรือ ปิด (OFF) เมื่อเปิดคำสั่งนี้ ผู้เล่นสามารถเรียกแผงลูกศรกำหนดเองจากหมวดสร้าง (Edit Mode) มาใช้ในหมวดเกมปกติ (Game Mode) ได้

บริการข้อมูล

[แก้]

เป็นหมวดที่ให้การช่วยเหลือสำหรับผู้เล่น ในเกมเต้นในแต่ละภาคจะมีข้อมูลเพลงที่ปลดล็อกได้ ข้อมูลตัวละคร ข้อมูลการเล่นต่าง ๆ ในเกมเต้นประเภทเล่นตามบ้าน เมื่อผู้เล่นซื้อมาครั้งแรก จะแสดงข้อความขอบคุณที่ผู้เล่นซื้อสินค้าในหมวดนี้เมื่อเปิดเกม

ผู้จัดทำ

[แก้]

เมื่อเข้าหมวดนี้จะแสดงรายชื่อผู้จัดทำเกมเต้นภาคที่ผู้เล่นใช้เล่นอยู่

รายชื่อภาคของเกมเต้นแดนซ์ แดนซ์ เรโวลูชัน

[แก้]

รายชื่อของเพลงเกมเต้น แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่คือ เกมที่เล่นตามตู้เกมและเกมที่เล่นตามบ้านในเครื่องเล่น เพลย์สเตชัน เพลย์สเตชัน2 คอมพิวเตอร์ในระบบปฏิบัติการวินโดวส์ เอกซ์บอกซ์ และ เกมคิวบ์

ในระบบของตู้เกม

[แก้]
เกมเต้นประเภทตู้ในญี่ปุ่นและสำหรับเอเชีย (วันที่อ้างอิงจากฝั่งญี่ปุ่น และบางภาคไม่มีสำหรับเอเชีย)
  • Dance Dance Revolution 1st (1998-09)
  • Dance Dance Revolution 2ndMIX (1999-01-29)
  • Dance Dance Revolution 2ndMIX with beatmania IIDX (1999-04-28)
  • Dance Dance Revolution 2ndMIX with beatmania IIDX Substream CLUB VERSION (1999-05-06)
  • Dance Dance Revolution 3rdMIX (1999-10-30)
  • Dance Dance Revolution 3rdMIX PLUS (2000-06-21)
  • Dance Dance Revolution 4thMIX (2000-08-24)
  • Dance Dance Revolution 4thMIX PLUS (2000-12-28)
  • Dance Dance Revolution 5thMIX (2001-03-27)
  • Dance Dance Revolution MAX (2001-10)
  • Dance Dance Revolution MAX2 (2002-03)
  • Dance Dance Revolution EXTREME (2002-12-25)
  • DanceDanceRevolution SuperNOVA (2006-07-12)
  • DanceDanceRevolution SuperNOVA 2 (2007-08-22)
  • DanceDanceRevolution X (2008-12-24)
  • DanceDanceRevolution X2 (2010-07-07)
  • DanceDanceRevolution X3 VS 2ndMIX (2011-11-16)
  • DanceDanceRevolution (2013-03-14)
เกมเต้นประเภทตู้ในญี่ปุ่น (แบบเพิ่มลูกศรเฉียงขึ้นซ้ายและลูกศรเฉียงขึ้นขวา)
  • Dance Dance Revolution SOLO BASS MIX (1999-08-19)
  • Dance Dance Revolution SOLO 2000 (1999-12-16)
  • Dance Dance Revolution 4thMIX SOLO (2000-08-24)
  • Dance Dance Revolution 4thMIX PLUS SOLO (2000-12-28)
เกมเต้นประเภทตู้ในสหรัฐ
  • Dance Dance Revolution
  • Dance Dance Revolution USA
  • DanceDanceRevolution SuperNOVA
  • DanceDanceRevolution SuperNOVA 2
เกมเต้นประเภทตู้ในแถบยุโรป
  • Dancing Stage
  • Dancing Stage EUROMIX
  • Dancing Stage EUROMIX 2
  • Dancing Stage FUSION
  • DancingStage SuperNOVA
  • DanceDanceRevolution X
  • DanceDanceRevolution X2

ในระบบของเกมเล่นตามบ้าน

[แก้]

รายชื่อเกมเต้นประเภทเล่นตามบ้านนั้น เป็นการนำเอาเครื่องเกมมาเล่นคู่กับแผ่นควบคุมพิเศษเสียบเข้าแทนที่จอยสติก ซึ่งจะแบ่งเป็นประเภทย่อยอีกดังนี้

เพลย์สเตชัน

[แก้]
ภาคญี่ปุ่น
  • Dance Dance Revolution 1stMIX (1999)
  • Dance Dance Revolution 2nd ReMIX (1999)
    • Dance Dance Revolution 2ndMIX Append CLUB VERSION Vol.1 (1999)
    • Dance Dance Revolution 2ndMIX Append CLUB VERSION Vol.2 (1999)
  • Dance Dance Revolution 3rdMIX (2000)
  • Dance Dance Revolution OHA STA!! (2000)
  • Dance Dance Revolution BEST HITS (2000)
  • Dance Dance Revolution 4thMIX (2001)
  • Dance Dance Revolution EXTRA MIX (2001)
  • Dance Dance Revolution 5thMIX (2001)
ภาคสหรัฐ
  • Dance Dance Revolution (2001)
  • Dance Dance Revolution Disney MIX (2001)
  • Dance Dance Revolution KONAMIX (2002)

DreamCast

[แก้]
ภาคญี่ปุ่น
  • Dance Dance Revolution 2nd Remix (2000)
  • Dance Dance Revolution Club Mix (2000)

เพลย์สเตชัน 2

[แก้]
ภาคญี่ปุ่น
  • DDRMAX: Dance Dance Revolution 6thMIX (2001)
  • DDRMAX2: Dance Dance Revolution 7thMIX (2002)
  • Dance Dance Revolution EXTREME (2003)
  • Dance Dance Revolution Party Collection (2003)
  • DDR FESTIVAL: Dance Dance Revolution (2004)
  • Dance Dance Revolution STR!KE (2006)
  • Dance Dance Revolution SuperNOVA (2006)
  • Dance Dance Revolution SuperNOVA 2 (2008)
ภาคสหรัฐ
  • DDRMAX: Dance Dance Revolution (2002)
  • DDRMAX2: Dance Dance Revolution (2003)
  • Dance Dance Revolution EXTREME (2004)
  • Dance Dance Revolution EXTREME 2 (2005)
  • Dance Dance Revolution SuperNOVA (2006)
  • Dance Dance Revolution SuperNOVA 2 (2007)
  • Dance Dance Revolution X (2008)
  • Dance Dance Revolution X2 (2009)

วินโดวส์

[แก้]
  • Dance Dance Revolution PC (2002)

เอกซ์บอกซ์

[แก้]
  • Dance Dance Revolution ULTRAMIX (2003)
  • Dance Dance Revolution ULTRAMIX 2 (2004)
  • Dance Dance Revolution ULTRAMIX 3 (2005)

เกมคิวบ์

[แก้]
  • Dance Dance Revolution: Mario Mix (2005)

นินเทนโด้วี

[แก้]
  • DanceDanceRevolution HOTTEST PARTY (2007-09-25)
  • DanceDanceRevolution HOTTEST PARTY 2 (2008-09-16)
  • DanceDanceRevolution HOTTEST PARTY 3 (2009-10-27)
  • DanceDanceRevolution (2010-11-02)
  • DanceDanceRevolution II (2011-10-11)

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]