ข้ามไปเนื้อหา

แชลเลนเจอร์ดีป

พิกัด: 11°22.4′N 142°35.5′E / 11.3733°N 142.5917°E / 11.3733; 142.5917
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ที่ตั้งของแชลเลนเจอร์ดีปในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตก

แชลเลนเจอร์ดีป (อังกฤษ: Challenger Deep) เป็นจุดที่ลึกที่สุดในมหาสมุทรของโลกเท่าที่รู้จัก โดยมีระดับความลึก 10,911 เมตร ตั้งอยู่ทางปลายด้านใต้สุดของร่องลึกมาเรียนา ใกล้กับกลุ่มหมู่เกาะมาเรียนา แชลเลนเจอร์ดีปมีลักษณะเป็นแอ่งขนาดเล็กที่ก้นของร่องลึกใต้มหาสมุทรรูปดวงจันทร์เสี้ยวขนาดค่อนข้างใหญ่ ซึ่งร่องเหล่านี้ก็เป็นลักษณะภูมิประเทศที่ลึกผิดปกติใต้ท้องมหาสมุทรอยู่แล้ว แผ่นดินที่อยู่ใกล้กับแชลเลนเจอร์ดีปที่สุด คือ เกาะไฟส์ (ส่วนหนึ่งของหมู่เกาะแยป) ห่างออกไป 289 กิโลเมตรทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ และกวม ห่างออกไป 306 กิโลเมตรทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แอ่งดังกล่าวได้ชื่อตามเรือสำรวจราชนาวี เอชเอ็มเอส แชลเลนเจอร์ ซึ่งจัดการสำรวจใน ค.ศ. 1872–76 เป็นการบันทึกความลึกของมหาสมุทรเป็นครั้งแรก

การทำแผนที่โซนาร์ของแชลเลนเจอร์ดีปครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ. 2009 โดยระบบโซนาร์หลายทิศทางซิมรัด อีเอ็ม 120 สำหรับการทำแผนที่ที่ระดับความลึก 300–11,000 เมตร บนเรืออาร์วี กิโล โมอะนา ได้บ่งชี้ถึงจุดที่มีความลึก 10,971 เมตร ระบบโซนาร์ดังกล่าวใช้เฟสและแอมพลิจูดใต้การตรวจจับ โดยมีค่าความแม่นยำสูงกว่า 0.2% ของระดับความลึกของน้ำ (แสดงว่ามีข้อผิดพลาดราว 22 เมตรที่ระดับความลึกขนาดนี้)[1][2]

การดำลงไปในแชลเลนเจอร์ดีปมีการจดบันทึกไว้เพียงสามครั้ง ครั้งแรกเป็นการดำโดยยานสำรวจน้ำลึกตรีเอสต์ ใน ค.ศ. 1960 ซึ่งมีมนุษย์ลงไปด้วย และครั้งต่อมาไม่มีมนุษย์ลงไป ได้แก่ พาหนะใต้น้ำควบคุมระยะไกลไคโก ใน ค.ศ. 1995 และเนเรซัส ใน ค.ศ. 2009 การดำทั้งสามครั้งได้วัดค่าความลึกใกล้เคียงกันระหว่าง 10,902 ถึง 10,916 เมตร ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2010 ซึ่งเป็นปีครบรอบปีที่ 50 ของการดำของตรีเอสต์ มูลนิธิเอกซ์ไพรซ์ประกาศว่าจะให้รางวัล 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับยานพาหนะของเอกชนรายแรกที่สามารถดำลงไปถึงแชลเลนเจอร์ดีปตามรอยตรีเอสต์[3]

อ้างอิง

[แก้]
  1. "Daily Reports for R/V KILO MOANA June and July 2009". University of Hawaii Marine Center. 4 มิถุนายน 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2009.
  2. "Inventory of Scientific Equipment aboard the R/V KILO MOANA". University of Hawaii Marine Center. 4 มิถุนายน 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 ธันวาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 4 มิถุนายน 2009.
  3. "Ocean 'X Factor' to reach deepest point will net £6m". The Times. 23 มกราคม 2010.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]

11°22.4′N 142°35.5′E / 11.3733°N 142.5917°E / 11.3733; 142.5917