เฮอร์เบิร์ต ไซมอน
บทความนี้ได้รับแจ้งให้ปรับปรุงหลายข้อ กรุณาช่วยปรับปรุงบทความ หรืออภิปรายปัญหาที่หน้าอภิปราย
|
ศาสตราจารย์ เฮอร์เบิร์ต เอ. ไซมอน (อังกฤษ: Herbert A. Simon) แห่งมหาวิทยาลัยคาร์เนกี-เมลลอน ที่เมืองพิตต์สเบอร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย เป็นนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันซึ่งได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์สำหรับปี ค.ศ. 1978 จากผลงานค้นคว้าวิจัยในกระบวนการตัดสินใจภายในองค์การที่ประกอบการเศรษฐกิจ ซึ่งในปัจจุบันมิได้ถูกผูกขาดโดยผู้ประกอบการเพียงคนเดียว หากเป็นการตัดสินใจร่วมกันของบุคลากรหลายคนในองค์การนั้นๆ
ผลงานทางวิชาการของไซมอนแผ่ไกลไปจากบรรดาสาขาวิชาที่ได้รับมอบหมายให้สอนในมหาวิทยาลัยคือ รัฐศาสตร์, การบริหาร, จิตวิทยาและวิชาที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารหรือสารสนเทศ ศาสตราจารย์เฮอร์เบิร์ต ไซมอนมีผลงานในหลายสาขาวิชาอื่นๆ ซึ่งรวมถึงทฤษฎีวิทยาศาสตร์, คณิตศาสตร์, สถิติประยุกต์, “โอเปเรชั่น แอนาไลซีส” , เศรษฐศาสตร์, และการบริหารธุรกิจ ในทุกๆ สาขาวิชาที่ได้ทำการค้นคว้าวิจัย, ไซมอนจะมีเรื่องที่สำคัญมาบอกกล่าว, ซึ่งที่ถือเป็นหลักก็คือ ท่านศาสตราจารย์จะได้พัฒนาแนวคิดของตนเองในสาขาวิชานั้น ถึงระดับที่สามารถใช้เป็นฐานสำหรับการศึกษาหาข้อมูลต่อไปได้
อย่างไรก็ตามก็ต้องถือว่า เฮอร์เบิร์ต ไซมอนเป็นนักเศรษฐศาสตร์ในความหมายที่กว้างที่สุดของคำว่า “นักเศรษฐศาสตร์” และชื่อเสียงเกือบทั้งหมดก็จะเกี่ยวข้องกับตำราว่าด้วย โครงสร้างและกระบวนการตัดสินใจภายในองค์การที่ประกอบการเศรษฐกิจ, ซึ่งเป็นอะไรที่ค่อนข้างจะใหม่ในแวดวงของการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์
ในวิชาเศรษฐศาสตร์ยุคก่อนๆ ไม่ได้มีการแยกกันระหว่างกิจการธุรกิจ (enterprise) และผู้ประกอบการ (entrepreneur) อีกทั้งยังได้ตั้งเป็นสมมติฐานว่า ผู้ประกอบการมีเป้าประสงค์เพียงประการเดียวคือ การทำผลกำไรให้ได้มากที่สุด (profit maximization) ความมุ่งหมายของทฤษฎีว่าด้วยองค์กรธุรกิจดังกล่าว มีเพียงให้ใช้เป็นหลักเกณฑ์สำหรับการศึกษาพฤติกรรมของตลาดเป็นภาพรวม, มิได้หมายถึงพฤติกรรมในแต่ละองค์กรแต่ประการใด ตราบใดที่ธุรกิจเหล่านี้ยังประกอบด้วยหน่วยงานเล็กๆ ที่บริหารจัดการแบบธุรกิจในครอบครัว ก็ไม่มีอะไรที่น่าสนใจต่อเมื่อธุรกิจมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งการบริหารจัดการกับความเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น ได้แยกออกจากกันมากขึ้นและมากขึ้น, บรรดาลูกจ้างก็เริ่มที่จะก่อตั้งสหภาพแรงงาน, อัตราการขยายกิจการก็เพิ่มสูงขึ้น, ขณะที่การแข่งขันกันในเชิงราคา ได้เปลี่ยนไปเป็นการแข่งขันในเชิงคุณภาพและบริการในระหว่างธุรกิจที่มีจำนวนลดน้อยลงกว่าเดิม, ตรงนี้แหละที่พฤติกรรมของธุรกิจแต่ละบริษัทจะมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น
ตั้งแต่ทศวรรษ 1930 มาแล้ว เมื่อนักเศรษฐศาสตร์ได้เห็นการศึกษาวิจัยองค์การในสาขาวิชาการอื่นๆ ก็หันมาให้ความเอาใจใส่ต่อโครงสร้างของธุรกิจตลอดจนกระบวนการตัดสินใจในทิศทางที่แตกต่างไปจากเดิม ศาสตราจารย์เฮอร์เบิร์ต ไซมอนได้มีผลงานซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการพัฒนาแนวใหม่นี้ ซึ่งปรากฏในหนังสือที่เปิดฉากยุคใหม่ซึ่งมีชื่อว่า Administrative Behavaior (1947) และในข้อเขียนอื่นๆที่ตามมา
เฮอร์เบิรต์ ไซมอนวาดภาพของบริษัทเป็นระบบที่อาจปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งระบบดังกล่าวนี้ประกอบด้วยชิ้นส่วนต่างๆ ทั้งที่เป็นกายภาพ, บุคคลและสังคมซึ่งประกบเข้าด้วยกันด้วยเครือข่ายการติดต่อสื่อสารระหว่างกันและโดยความเต็มใจของบรรดาสมาชิกในองค์กรที่จะร่วมมือกันดำเนินงานไปสู่เป้าหมายอันเดียวกัน ประเด็นที่ถือว่าเป็นของใหม่ในความคิดของไซมอนที่เด่นชัดที่สุดก็คือ การที่ปฏิเสธข้อสมมติฐานของทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิมว่า กิจการธุรกิจหมายถึงผู้ประกอบการที่เป็นสัพพัญญู, มีเหตุมีผลและมุ่งแสวงหาผลกำไรสูงสุด ศาสตราจารย์เฮอร์เบิร์ต ไซมอนได้เปลี่ยนข้อสมมติฐานดังกล่าว เป็นกลุ่มบุคคลที่ร่วมกันตัดสินใจในการดำเนินงานของธุรกิจ ซึ่งขีดความสามารถในการดำเนินการอย่างมีเหตุมีผลมีขอบเขตจำกัด อันเนื่องมาจากการขาดความรู้ในผลที่ตามมาภายหลังการตัดสินใจ และที่มาจากขีดความสามารถของบุคคลและกลุ่มบุคคลเมื่อบุคคลกลุ่มดังกล่าวไม่สามารถที่จะเลือกดำเนินการในทางที่ดีที่สุดได้ก็จำเป็นจะต้องพอใจกับทางเลือกที่เห็นว่าพอจะรับได้ ดังนั้น บริษัทหรือองค์การเอกชนจึงมิได้มุ่งแสวงหาผลกำไรสูงสุด แต่จะค้นหาทางออกที่พอจะรับได้ในปัญหาที่รุ่นแรงซึ่งต้องเผชิญ ซึ่งการนี้อาจจะหมายถึงว่า จะมีเป้าหมายในการดำเนินงานหลายประการที่ขัดแย้งกันอยู่ แต่จะต้องให้บรรลุถึงในขณะเดียวกัน แต่ละบุคคลที่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในกิจการธุรกิจได้พยายามที่จะค้นหาทางออกที่พอใจสำหรับปัญหาต่างๆ โดยการนั้นก็ได้นำเอาการแก้ไขปัญหาของบุคคลอื่นๆ มาพิจารณาร่วมด้วย
ทฤษฎีและข้อสังเกตของไซมอนอันเกี่ยวกับการตัดสินใจในปัญหาต่างๆ ขององค์การ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในระบบและในเทคนิคของการวางแผนธุรกิจ การจัดสรรงบประมาณ และการควบคุมดูแลซึ่งดำเนินการกันอยู่ในธุรกิจสมัยปัจจุบัน ตลอดจนในการบริหารรัฐกิจด้วยทฤษฎีของเฮอร์เบิร์ต ไซมอนดังกล่าวนี้ อาจจะไม่หรูหรา อีกทั้งไม่สู้จะเข้ากับการวิเคราะห์เศรษฐกิจเป็นส่วนรวมมากเท่ากับทฤษฎีผลกำไรสูงสุดที่รู้จักกันมาแต่ดั้งเดิม แต่ก็เป็นทฤษฎีที่เปิดกว้างมากกว่า สำหรับความเข้าใจและการพยากรณ์สถานการณ์ต่างๆ เช่นในกรณีการปรับเปลี่ยนกลวิธีในการตลาดภายใต้ภาวการณ์แข่งขัน การเลือกซื้อหลักทรัพย์เพื่อเป็นการลงทุน และการเลือกประเทศที่จะไปลงทุน เหล่านี้เป็นต้นงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ธุรกิจและการบริหารจัดการสมัยใหม่ ส่วนใหญ่จะอาศัยแนวความคิดของศาสตราจารย์ไซมอน
นอกจากจะได้รับการยกย่อง ในฐานะที่ค้นคว้าวิจัยกระบวนการตัดสินใจภายในองค์การที่ประกอบการเศรษฐกิจแล้ว เฮอร์เบิร์ต ไซมอนก็ยังมีผลงานที่มีความสำคัญต่อวิชาเศรษฐศาสตร์ในอีกหลายด้าน เช่น การทำให้เข้าใจกระบวนการตัดสินใจในสถานการณ์ที่ยุ่งยากซับซ้อนได้ง่ายขึ้น อันนำไปสู่ความพยายามที่จะแยกแยะระบบสมการที่ซับซ้อนดังกล่าวโดยใช้เทคนิคการวิเคราะห์จากวิชาการอื่นๆ เช่น จิตวิทยา เป็นต้น เข้ามาช่วยทำความเข้าใจ ดังนั้นก็ถือได้ว่า เฮอร์เบิร์ต ไซมอนมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาวิชาการบริหารจัดการด้วยในขณะเดียวกัน
ศาสตราจารย์เฮอร์เบิร์ต ไซมอน เกิดที่มิลวอคี่ รัฐวิสคอนซิน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ปี ค.ศ. 1916 (พ.ศ. 2459) บิดาเป็นวิศวกรไฟฟ้าที่มาจากเยอรมนี และเป็นผู้ประดิษฐ์อุปกรณ์ไฟฟ้าคือ เกียร์ไฟฟ้า ซึ่งต่อมาก็ได้รับปริญญาเอกกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง สำหรับมารดานั้นเป็นนักเปียโนที่มีระดับอันมีบรรพบุรุษที่มาจากรุงปรากและเมืองโคโลญ โดยมาตั้งรกรากอยู่ในอเมริกา 3 ชั่วคนแล้ว
เฮอร์เบิร์ต ไซมอนเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยชิคาโกในปี ค.ศ. 1933 โดยตั้งเข็มว่าจะเป็นนักสังคมศาสตร์เชิงคณิตศาสตร์ (mathematicalsocial scientist) ดังนั้น จึงได้เลือกศึกษาวิชาต่างๆ เช่น เศรษฐศาสตร์, รัฐศาสตร์, คณิตศาสตร์ชั้นสูง, สถิติคณิตศาสตร์ ทั้งนี้โดยมีความประทับใจในการสอนของเฮนรี่ ชูลทส์ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ทางเศรษฐมิติและเศรษฐศาสตร์คณิตศาสตร์ที่ชิคาโกในสมัยนั้น เฮอร์เบิร์ต ไซมอนสำเร็จชั้นปริญญาตรีในปี ค.ศ. 1936 จากนั้นก็ได้งานเป็นผู้ช่วยนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยแคลิฟร์เนียที่เบิร์กลี่ย์ โดยในระหว่างนั้นก็เป็นนักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยชิคาโกจนกระทั่งสำเร็จการศึกษา
เฮอร์เบิร์ต ไซมอนกลับคืนสู่ชิคาโกในปี ค.ศ. 1942 และได้เข้าร่วมในทีมงานวิจัยของ Cowles Commission ซึ่งในขณะนั้นมีนักเศรษฐมิติชั้นนำร่วมงานวิจัยกันอยู่ที่นั่นหลายคน อาทิเช่น จาคอป มาร์ชาค, ทจาลลิ่ง โคพมานส์, เคนเนท แอร์โรว์, ลอรนซ์ คลายน์, ดอน พาทินกิน, ลีโอ เฮอร์วิคส์ รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงอีกหลายคน เช่น ออสคาร์ ลางเอ (Oscar Lange) , ฟรักโก โมดิกลิอานี (Franco Modigliani) และ มิลตัน ฟริดแมน (Milton Friedman) เป็นต้น ในโอกาสนั้น เฮอาร์เบิร์ต ไซมอนก็รู้สึกว่า ได้รับความรู้ทางเศรษฐศาสตร์เพิ่มเติมขั้นมาอีกมาก เช่นได้ศึกษาตำรา General Theory ของเคนส์ที่ขยายผลให้เข้าใจได้ลึกซึ้งขึ้นโดยผ่านแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ของเจมส์ มี้ด, จอห์น ฮิคส์, และ ฟรังโก โมดิกลิอานี, และได้สัมผัสกับเทคนิคทางเศรษฐมิติที่แปลกใหม่ที่นำเสนอโดยแร้กนาร์ ฟริสช์และนำมาศึกษาโดยทีมงานวิจัย Cowles Commission