เออแฌน ปูแบล
เออแฌน-เรอเน ปูแบล | |
---|---|
รูปปั้นครึ่งตัวปูแบลโดย Denys Puech | |
เกิด | 15 เมษายน ค.ศ. 1831 ก็อง ประเทศฝรั่งเศส |
เสียชีวิต | 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1907 ปารีส ประเทศฝรั่งเศส | (76 ปี)
สุสาน | การ์กาซอน ประเทศฝรั่งเศส |
สัญชาติ | ฝรั่งเศส |
อาชีพ | ทนายความ อาจารย์มหาวิทยาลัย ผู้ว่าการจังหวัด |
มีชื่อเสียงจาก | นำเข้าถังขยะ / "ลาปูแบล" สู่ประเทศฝรั่งเศส |
เออแฌน-เรอเน ปูแบล (ฝรั่งเศส: Eugène-René Poubelle; 15 เมษายน ค.ศ. 1831 – 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1907)[1] เป็นทนายความและทูตชาวฝรั่งเศสที่ริเริ่มนำถังขยะมาใช้ในปารีสและบังคับใช้อย่างเป็นทางการ[2] การริเริ่มนี้ถือเป็นนวัตกรรมล้ำสมัยมากในเวลานั้นจนทำให้นามสกุลของปูแบลกลายมาเป็นคำพ้องความหมายกับถังขยะ (la poubelle) และยังคงเป็นคำภาษาฝรั่งเศสที่ใช้เรียกถังขยะอย่างแพร่หลายที่สุดในปัจจุบัน
ชีวประวัติ
[แก้]เออแฌน ปูแบล เกิดในครอบครัวชนชั้นกระฎุมพีที่ก็อง เขาเข้าเรียนเพื่อเป็นทนายความและได้รับปรัชญาดุษฎีบัณฑิต[3] เขาสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยที่ก็อง เกรอนอบล์ และตูลูซ ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการจังหวัดชาร็องต์ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1871[3] จากนั้นใน ค.ศ. 1883 ถึง 1896 เขาจึงกลายเป็นผู้ว่าการจังหวัดอีแซร์, จังหวัดคอร์ซิกา, จังหวัดดู, จังหวัดบุช-ดูว์-โรน และท้ายที่สุดคือจังหวัดแซน
ณ วันที่ 7 มีนาคม ค.ศ. 1884 ปูแบลออกคำสั่งให้เจ้าของอาคารต้องจัดหาถังที่มีฝาปิดจำนวน 3 ถัง ขนาด 40 ถึง 120 ลิตร ให้กับผู้อยู่อาศัย เพื่อใส่ขยะในครัวเรือน ขยะเหล่านี้จะถูกแยกเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ กระดาษกับผ้า และจานชามดินเผากับเปลือกหอย[2][4]
ประชากรของกรุงปารีสเกือบสองล้านคนต้องการระบบเก็บขนถังขยะอย่างสม่ำเสมอ ชาวปารีสเริ่มขนานนามถังเหล่านั้นตามนามสกุลของปูแบล นับเป็นธรรมเนียมที่ได้รับการสนับสนุนจากหนังสือพิมพ์ เลอฟีกาโร ซึ่งเรียกถังเหล่านั้นว่า กล่องปูแบล (Boîtes Poubelle)[2] ถังเหล่านั้นเสื่อมสลายไป แต่หลักการที่ปูแบลวางไว้ยังคงอยู่ แต่กว่าที่ถังขยะและการเก็บขยะโดยเทศบาลกลายเป็นเรื่องปกติต้องรอถึงช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง[4] เมื่อถึงเวลานั้น ปูแบล ก็กลายเป็นสามานยนามที่หมายถึงถังขยะไปแล้ว
เออแฌน ปูแบล ยังรณรงค์ให้ทำทางระบายน้ำสายตรงที่ประสบความสำเร็จ การอุบัติซ้ำของอหิวาตกโรคใน ค.ศ. 1892 นำไปสู่การออกคำสั่งใน ค.ศ. 1894 ให้อาคารทั้งหมดจะต้องเชื่อมต่อกับท่อระบายน้ำโดยตรง โดยเจ้าของอาคารต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย[2]
การเสียชีวิตและการรำลึก
[แก้]ปูแบลเสียชีวิตที่ปารีสในวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 1907 และฝังที่สุสาน Herminis ใกล้การ์กาซอน รูปปั้นครึ่งตัวของเขาจัดแสดงนอกพิพิธภัณฑ์วิจิตรศิลป์ของตัวนคร[5] ถนนเออแฌน ปูแบล (Rue Eugène Poubelle) ถนนระหว่าง Avenue de Versailles กับ Quai Louis-Blériot ในเขตที่ 16 ของปารีส ตั้งชื่อตามเขา
เมื่อวันที่ 15 เมษายน ค.ศ. 2021 กูเกิลฉลองวันเกิดครบรอบ 190 ปีผ่านกูเกิล ดูเดิล[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Naissance-Mort Eugène Poubelle
- ↑ 2.0 2.1 2.2 2.3 Le Monde, Économie, 1 December 2009, p2
- ↑ 3.0 3.1 ""Le préfet Poubelle est un Caennais"". Caen Magazine. Mairie de Caen. November–December 2001. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-05-01. สืบค้นเมื่อ 2009-12-02.
- ↑ 4.0 4.1 "Histoire des déchets de Lutèce à Paris, le préfet Eugène Poubelle, l'inventeur de la poubelle". www.planete-echo.net. Planète Écho.
- ↑ Bonnet, Jean-Louis (2005), Carcassonne d'hier à aujourd'hui, La Tour Gile, France
- ↑ "Eugène Poubelle's 190th Birthday". Google. 15 April 2021.