ข้ามไปเนื้อหา

เอริก ก็องโตนา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เอริค คันโตนา)
เอริก ก็องโตนา
ก็องโตนาในเทศกาลภาพยนตร์เมืองกาน ค.ศ. 2009
เกิดเอริก ดานีแยล ปีแยร์ ก็องโตนา[1]
(1966-05-24) 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1966 (58 ปี)[2]
มาร์แซย์ ประเทศฝรั่งเศส
อาชีพนักแสดง, อดีตนักฟุตบอลมืออาชีพ
ส่วนสูง1.87 เมตร (6 ฟุต 2 นิ้ว)[3]
คู่สมรส
  • Isabelle Ferrer (สมรส 1987; หย่า 2003)
  • Rachida Brakni (สมรส 2007)
บุตร4
อาชีพนักฟุตบอล
ตำแหน่ง กองหน้า[4]
สโมสรเยาวชน
1980–1981 แอ็สโอ เลกายอล
1981–1983 โอแซร์
สโมสรอาชีพ*
ปี ทีม ลงเล่น (ประตู)
1983–1988 โอแซร์ 82 (23)
1985–1986มาร์ตีก (ยืมตัว) 15 (4)
1988–1991 มาร์แซย์ 40 (13)
1989บอร์โด (ยืมตัว) 11 (6)
1989–1990มงเปอลีเย (ยืมตัว) 33 (10)
1991–1992 นีม 16 (2)
1992ลีดส์ยูไนเต็ด (ยืมตัว) 11 (3)
1992 ลีดส์ยูไนเต็ด 17 (6)
1992–1997 แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด 143 (64)
รวม 368 (131)
ทีมชาติ
ฝรั่งเศส อายุไม่เกิน 17 ปี
ฝรั่งเศส อายุไม่เกิน 21 ปี
1987–1995 ฝรั่งเศส 45 (20)
1997–2006 ฝรั่งเศส (ชายหาด)
จัดการทีม
1997–2011 ฝรั่งเศส (ชายหาด)
2011–2012 นิวยอร์กคอสมอส (ผู้จัดการฟุตบอล)
*นัดที่ลงเล่นและประตูที่ยิงให้แก่สโมสรเฉพาะลีกในประเทศเท่านั้น

เอริก ดานีแยล ปีแยร์ ก็องโตนา (ฝรั่งเศส: Éric Daniel Pierre Cantona; เกิดเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2509) เป็นนักแสดงและอดีตนักฟุตบอลชาวฝรั่งเศส ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ดีที่สุดในยุคของเขา รวมทั้งเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่ดีที่สุดตลอดกาลของสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด และหนึ่งในผู้เล่นที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของพรีเมียร์ลีก เขาได้รับการจดจำในฐานะนักเตะตัวหลักของทีมในทศวรรษ 1990 ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพาทีมคว้าถ้วยรางวัล และมีสถานะเป็นตำนานของสโมสร[5] เขาได้รับการยกย่องโดยเปเล่ให้มีชื่ออยู่ในฟีฟ่า 100 หรือนักฟุตบอลยอดเยี่ยมตลอดกาล 100 คนที่ยังมีชีวิตอยู่

ก็องโตนามีจุดเด่นในด้านการมีรูปร่างสูงใหญ่ มีร่างกายแข็งแรง และความทุ่มเทในการเล่น เขาสามารถผสมผสานเทคนิคการเล่นและความสามารถเฉพาะตัวเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ในการเข้าทำประตู โดยปกติเขาจะรับบทบาทเป็นกองหน้าที่ขยับลงต่ำเพื่อเชื่อมเกม แต่ยังสามารถเล่นเป็นกองหน้าตัวเป้า, กองกลางตัวรุก หรือแม้กระทั่งกองกลางตัวกลางได้เช่นกัน ก็องโตนาเคยลงเล่นให้หลายสโมสรในฝรั่งเศส ไม่ว่าจะเป็นโอแซร์, มาร์ตีก, ออแล็งปิกเดอมาร์แซย์, ฌีรงแด็งเดอบอร์โด, มงเปอลีเย อัชแอ็สเซ และ นีมอแล็งปิก ก่อนจะย้ายมาเล่นในอังกฤษกับลีดส์ยูไนเต็ด และย้ายร่วมสโมสรคู่อริอย่างแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดใน ค.ศ. 1992 ซึ่งเป็นสโมสรที่สร้างชื่อให้กับก็องโตนามากที่สุดจนถึงปีสุดท้ายที่เขาเกษียณตนเอง โดยตลอดระยะเวลาห้าฤดูกาล ก็องโตนาพายูไนเต็ดชนะเลิศฟุตบอลพรีเมียร์ลีก 4 สมัย, เอฟเอคัพ 2 สมัย และเอฟเอคอมมิวนิตีชีลด์อีก 3 สมัย เขาได้รับเสื้อหมายเลข 7 ซึ่งเป็นหมายเลขสำคัญของผู้เล่นตำนานหลายคน ก็องโตนาเป็นที่จดจำจากการดึงปกคอเสื้อตั้งขึ้นอันเป็นเอกลักษณ์ประจำตัว และเป็นที่มาให้สโมสรทำการออกแบบเสื้อแข่งแบบคอปกมากขึ้น เขาได้รับการขนานนามว่า "คิง เอริก" ก็องโตนาคว้าแชมป์ฟุตบอลลีกได้มากถึงเจ็ดจากแปดฤดูกาลสุดท้ายก่อนเกษียณตนเอง และในการแข่งขันทีมชาติ ก็องโตนาลงสนามให้ทีมชาติฝรั่งเศสรวม 45 นัดและมีผลงาน 20 ประตู โดยมีส่วนร่วมในฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 1992 และรอบคัดเลือกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 1996 เขาเคยได้รับการแต่งตั้งเป็นกัปตันทีมชาติจนถึง ค.ศ. 1995 ซึ่งเป็นปีที่เขาถูกลงโทษห้ามลงแข่งจากเหตุการณ์อื้อฉาวในเดือนมกราคม

ก็องโตนาได้รับการโหวตโดยนิตยสารอินไซด์ยูไนเต็ดใน ค.ศ. 2003 ให้เป็นผู้เล่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลของสโมสร และได้รับการการเสนอชื่ออยู่ในหอเกียรติยศของวงการฟุตบอลอังกฤษใน ค.ศ. 2002 และได้รับการยกย่องให้เป็นผู้เล่นชาวต่างชาติที่ดีที่สุดประจำทศวรรษ 1990 รวมทั้งได้รับเสนอชื่อเข้าสู่หอเกียรติยศพรีเมียร์ลีกใน ค.ศ. 2021 ก็องโตนาเป็นนักฟุตบอลที่มีเสน่ห์ดึงดูดและเป็นที่จดจำมากที่สุดคนหนึ่ง นอกเหนือจากผลงานโดดเด่นในสนาม เขายังสร้างชื่อจากการมีวาทกรรมที่คมคายนอกสนามในการให้สัมภาษณ์สื่อ การวิจารณ์ผู้จัดการทีมและเพื่อนร่วมทีมอย่างตรงไปตรงมา รวมทั้งเคยมีข่าวในเชิงลบเกี่ยวกับระเบียบวินัยและพฤติกรรมนอกสนามบ่อยครั้ง และสืบเนื่องจากเหตุการณ์อื้อฉาวที่เขากระโดดถีบแฟนฟุตบอลสโมสรคริสตัลพาเลซใน ค.ศ. 1995 ส่งผลให้ต้องโทษจำคุกเป็นเวลาสองสัปดาห์ และถูกลงโทษห้ามลงแข่งขันทุกรายการนานถึงแปดเดือน รวมทั้งถูกถอดชื่อจากการเป็นกัปตันทีมชาติ

ก็องโตนาสร้างความประหลาดใจให้ผู้ติดตามทั่วโลกด้วยการประกาศเกษียณตนเองอย่างกระทันหันใน ค.ศ. 1997 ด้วยวัยเพียง 30 ปี จากนั้นเขาได้ผันตนเองไปเป็นนักแสดง โดยมีผลงานโด่งดังในเรื่อง อลิซาเบธ ราชินีบัลลังก์เลือด รวมถึงภาพยนตร์ตลกสัญชาติอังกฤษอย่าง French Film ใน ค.ศ. 2008 และภาพยนตร์ชีวประวัติอย่าง Looking for Eric ซึ่งเป็นภาพยนตร์แนวสร้างแรงบันดาลใจ ต่อมาใน ค.ศ. 2010 เขามีผลงานในละครเวทีครั้งแรกจากเรื่อง Face au Paradis ซึ่งกำกับการแสดงโดย ราชิดา บร็อง ภรรยาของเขา[6] ก็องโตนายังมีความสามารถในการเล่นฟุตบอลชายหาด[7] และมีบทบาทในฐานะผู้เล่นและผู้จัดการทีมของทีมชาติฝรั่งเศส ผลงานสำคัญคือการชนะเลิศรายการฟุตบอลชายหาดโลก ค.ศ. 2005

ชีวิตช่วงต้น

[แก้]

ก็องโตนาเกิดที่มาร์แซย์ในวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2509[2] โดยเป็นบุตรของ Éléonore Raurich ช่างตัดเสื้อ กับ Albert Cantona พยาบาลและจิตรกร[8][9][10] แม่ของเขาเป็นชาวสเปนที่มาจากบาร์เซโลนา[11][12] ส่วนปู่เป็นชาวอิตาลีและอพยพจากแคว้นซาร์ดิเนียไปยังมาร์แซย์[13] Pere Raurich ตาของก็องโตนา ได้รับบาดเจ็บสาหัสที่ตับขณะสู้รบในกองทัพของนายพล ฟรังโก ในสงครามกลางเมืองสเปนเมื่อ พ.ศ. 2481 และต้องลี้ภัยไปรักษาพยาบาลกับภรรยาที่ฝรั่งเศส ทั้งคู่อาศัยอยู่ที่Saint-Priest, Ardèche ก่อนจะย้ายไปที่มาร์แซย์[14]

สโมสร

[แก้]

ในฝรั่งเศส

[แก้]

ก็องโตนาเริ่มเล่นฟุตบอลกับสโมสรออแล็งปิกเดอมาร์แซย์ เป็นคนที่ค่อนข้างหัวเสียง่าย มีอยู่ครั้งหนึ่งในขณะที่ลงแข่งขันนัดกระชับมิตรกับทีมตอร์เปโดมอสโก เขาถูกเปลี่ยนตัวออก แล้วได้แสดงอาการไม่พอใจด้วยการฉีกเสื้อแล้วขว้างทิ้ง เขาถูกลงโทษห้ามลงแข่งเป็นเวลา 1 เดือน อีก 2-3 สัปดาห์หลังจากนั้น เขาก็ได้ออกมากล่าวโจมตีผู้ฝึกสอนทีมชาติฝรั่งเศสทางโทรทัศน์

ก็องโตนาย้ายสู่บอร์โดด้วยสัญญายืมตัว หลังจากนั้นก็ได้ย้ายไปเล่นให้กับมงเปอลีเยซึ่งเขาได้สัมผัสกับถ้วยแชมป์กุปเดอฟร็องส์เป็นครั้งแรก ก่อนจะถูกมาร์แซย์ดึงตัวกลับมา แต่เขาก็ยังถูกขายให้กับสโมสรนีม

เขาถูกห้ามลงแข่งขันอีกครั้งเป็นเวลา 1 เดือน จากการขว้างบอลใส่ผู้ตัดสิน และก็องโตนาก็ให้สัมภาษณ์วิจารณ์คำตัดสินอีก จึงถูกลงโทษเพิ่มเป็น 2 เดือน และนี่เองเปรียบเสมือนฟางเส้นสุดท้ายของก็องโตนา เขาจึงตัดสินใจแขวนสตั๊ด

ต้องขอบคุณแฟนฟุตบอลพันธุ์แท้รายหนึ่ง ที่ชักจูงให้ก็องโตนากลับมาเริ่มต้นเล่นฟุตบอลอีกครั้งที่ประเทศอังกฤษ

ในอังกฤษ

[แก้]

หลังจากมาทดสอบฝีเท้ากับสโมสรเชฟฟีลด์เวนส์เดย์ ก็องโตนาก็ได้ย้ายเข้าสู่สโมสรลีดส์ยูไนเต็ดในปี พ.ศ. 2535 ก็องโตนาพายูงทองเถลิงบัลลังก์แชมป์ดิวิชัน 1 (เดิม) ได้ทันทีในฤดูกาลนั้นเอง (1991-92) แต่ในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน ก็องโตนาก็ย้ายสโมสรอีกครั้งหนึ่ง โดยเข้าสังกัดแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดด้วยค่าตัวที่ปีศาจแดงจ่ายให้กับลีดส์เพียงแค่ 1.2 ล้านปอนด์ เท่านั้น

ขณะนั้นทีมปีศาจแดงกำลังประสบกับปัญหาปืนฝืด ไม่สามารถทำประตูคู่แข่งได้เนื่องมาจากการที่สโมสรขายมาร์ก รอบินส์ และดีออน ดับลิน ซึ่งประสบปัญหาการบาดเจ็บออกไป

อย่างไรก็ตาม ก็องโตนาปรับตัวเข้ากับสโมสรแห่งใหม่ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้เขาสามารถทำประตูและส่งให้เพื่อนร่วมทีมทำประตูได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

2 ฤดูกาลต่อมา แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดประสบความสำเร็จอย่างน่าทึ่ง โดยคว้าแชมป์ลีกในปี พ.ศ. 2536 และดับเบิลแชมป์ในปี พ.ศ. 2537 ซึ่งก็องโตนาทำประตูจากลูกจุดโทษสองประตูถล่มเชลซี 4-0 ในนัดชิงชนะเลิศของเอฟเอคัพ

ก็องโตนาก่อเรื่องน่าอายขึ้นในเกมเยือนคริสตัลพาเลซ เดือนมกราคม ฤดูกาลถัดมา (พ.ศ. 2538) เมื่อกระโดดถีบใส่แมตทิว ซิมมอนส์ แฟนบอลทีมเจ้าบ้าน หลังจากโดนผู้ตัดสินไล่ออกจากสนาม

ในงานแถลงข่าวภายหลังเหตุการณ์ดังกล่าว กลุ่มนักข่าวพากันมารอสัมภาษณ์ก็องโตนา เขาได้เดินเข้ามานั่งก่อนจะกล่าวว่า เมื่อนกนางนวลบินตามเรือประมง... ก็เพราะพวกมันคิดว่าปลาซาร์ดีนจะถูกโยนลงมาในทะเล เพียงเท่านี้ก็ลุกออกจากห้องไป สร้างความงุนงงให้กับกองทัพนักข่าวทั้งหลาย

ก็องโตนาถูกศาลชั้นต้นสั่งลงโทษจำคุกเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะเปลี่ยนบทลงโทษให้เป็นทำงานบริการสังคมเป็นเวลา 120 ชั่วโมงแทน นอกจากนี้สมาคมฟุตบอลอังกฤษยังสั่งลงโทษก็องโตนาห้ามลงสนามจนกว่าจะถึงเดือนตุลาคมอีกด้วย

มีการคาดการณ์กันไปต่าง ๆ นานา ว่าก็องโตนาอาจจะยุติการค้าแข้งที่อังกฤษหลังจากพ้นโทษแบน แต่อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน เป็นผู้ที่ชักจูงให้ก็องโตนาอยู่กับทีมต่อไป ซึ่งในช่วงต้นฤดูกาลนั้นสโมสรได้ขายผู้เล่นสำคัญบางคนออกไปและเลื่อนชั้นนักเตะจากทีมเยาวชนขึ้นมาแทน ทำให้ความหวังในการคว้าแชมป์ไม่สู้จะดีนักเช่นเดียวกับในปี พ.ศ. 2535

ก็องโตนายิงประตูจากลูกจุดโทษในเกมพบกับลิเวอร์พูลได้ในนัดประเดิมสนามหลังจากพ้นโทษ และประตูของเขาก็ช่วยให้สโมสรคว้าแชมป์ลีกได้หลังจากต้องเป็นฝ่ายไล่ตามหลัง 10 คะแนนตั้งแต่เดือนธันวาคมเป็นต้นมา และเป็นทีมแรกที่สามารถคว้าดับเบิลแชมป์ได้สองสมัยติดต่อกันหลังจากก็องโตนาทำประตูชัยได้ในนัดชิงชนะเลิศเอฟเอคัพ

แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดคว้าแชมป์ได้อีกครั้งในฤดูกาล 1996-97 ทำให้ก็องโตนาได้แชมป์ลีกไปแล้วถึง 6 ครั้งในรอบ 7 ปี ยกเว้นเพียงปีที่เขาโดนแบนเท่านั้น หลังฤดูกาลจบลง ก็องโตนาก็สร้างความประหลาดใจให้กับแฟนบอลด้วยการประกาศเลิกเล่นในขณะที่อายุเพิ่งจะ 30 ปีเท่านั้น ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานได้เปลี่ยนไปเล่นฟุตบอลชายหาดให้กับทีมชาติฝรั่งเศส โดยเป็นกัปตันทีมด้วย

ในปี พ.ศ. 2547 ก็องโตนาได้ให้สัมภาษณ์อีกครั้งโดยได้กล่าวว่า ผมภูมิใจที่แฟน ๆ ยังคงร้องเรียกชื่อผม แต่ผมกลัวว่าพรุ่งนี้พวกเขาอาจจะไม่ทำเช่นนั้น ผมกลัวเพราะผมรักมัน และทุก ๆ สิ่งที่คุณรัก คุณก็ต้องกลัวที่จะเสียมันไป คำพูดนี้ได้ถูกนำมาประกอบลงไปในวอลเปเปอร์ของสโมสรที่ให้แฟน ๆ ในเว็บไซต์ของสโมสร

นานาชาติ

[แก้]

ก็องโตนาเป็นที่ชื่นชอบของมีแชล ปลาตีนี ซึ่งเป็นผู้จัดการทีมชาติในขณะนั้น ซึ่งปลาตีนีพูดถึงก็องโตนาว่า เขาจะต้องเลือกก็องโตนาเป็นหนึ่งในขุนพลเลอเบลออย่างแน่นอน ถ้ายังเล่นได้อย่างสุดยอด ปลาตีนีเป็นอีกคนหนึ่งที่ริเริ่มความคิดการเล่นฟุตบอลในอังกฤษให้กับก็องโตนา

ภายหลังล้มเหลวจากศึกฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 1992 ที่ประเทศสวีเดน ปลาตีนีก็ได้ลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งขณะนั้นฝรั่งเศสมีคู่ศูนย์หน้า คือ ก็องโตนาและฌ็อง-ปีแยร์ ปาแป็ง ผู้ที่เข้ามารับงานต่อจากปลาตีนีก็คือ เฌราร์ อูลีเย

ฝรั่งเศสไม่สามารถผ่านรอบคัดเลือกไปเล่นฟุตบอลโลกที่สหรัฐอเมริกาได้ในอีกสองปีต่อมา หลังจากที่แพ้บัลแกเรียคาบ้าน 2 ต่อ 1 ซึ่งฝรั่งเศสต้องการเพียงแค่ผลเสมอ ในเกมนั้น ดาวีด ฌีโนลา ทำบอลเสียนำไปสู่การได้ประตูชัยของบัลแกเรียโดยเอมิล กอสตาดีนอฟ ทำให้ก็องโตนาโกรธฌีโนลามาก หลังเกมนั้น อูลีเยลาออกจากตำแหน่ง ทำให้เอเม ฌาแก เข้ามาสานงานต่อ

สองปีต่อมา ฝรั่งเศสผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 1996 ที่อังกฤษได้สำเร็จ ซึ่งฌาแกได้ปรับปรุงทีมโดยใช้ผู้เล่นสายเลือดใหม่สองสามคน หนึ่งในนั้นก็คือกองกลางจอมทัพซึ่งมีลีลาการเล่นที่น่าตื่นตาตื่นใจและมีความเป็นผู้นำสูงอย่างซีเนดีน ซีดาน โดยก็องโตนาถูกหมางเมิน

หลายฝ่ายต่างคาดการณ์กันว่า ก็องโตนาคงจะหลุดจากทีมชาติชุดลุยบอลโลกที่ประเทศตัวเองอย่างแน่นอน และมีข่าวเล็ดลอดออกมาว่า ก็องโตนาประกาศเลิกเล่นเมื่อปี พ.ศ. 2540 ก็เพราะว่าต้องการหลีกเลี่ยงแรงกดดันที่ฌักเก้ต์และทีมชาติฝรั่งเศสต้องเผชิญจากการที่ไม่เลือกเขาร่วมทีม

ฝรั่งเศสสามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกที่ประเทศตัวเองได้สำเร็จ โดยซีดานทำสองประตูในนัดชิงชนะเลิศกับบราซิล

ชีวิตหลังเลิกค้าแข้ง

[แก้]

หลังจากแขวนสตั๊ดแล้ว ก็องโตนาก็หันไปเป็นนักแสดงในประเทศฝรั่งเศส นอกจากเป็นนักแสดงแล้ว เขายังเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ขนาดสั้นด้วย ก็องโตนาเริ่มเป็นที่รู้จักในฐานะนักแสดงจากภาพยนตร์เรื่อง เอลิซาเบท ที่เขาเล่นเป็นทูตชาวฝรั่งเศส นอกจากนี้เขาก็ยังรับงานนายแบบโฆษณาให้กับบริษัทไนกี้ด้วย

ในช่วงก่อนการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2002 (พ.ศ. 2545) ก็องโตนาก็เล่นภาพยนตร์โฆษณาให้กับไนกี้ร่วมกับตีแยรี อ็องรี, โรเบร์ตู การ์ลูส, โรนัลโด และลูอิช ฟีกู โดยก่อนหน้านี้ เขาก็เคยเล่นภาพยนตร์โฆษณาให้กับไนกี้ในประเทศอังกฤษ ในการปรากฏตัวร่วมกับเอียน ไรต์, สตีฟ มักแมนามัน และร็อบบี ฟาวเลอร์ด้วย

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]

ก็องโตนาแต่งงานกับ Isabelle Ferrer ใน พ.ศ. 2530 และทั้งคู่มีลูกสองคน ก่อนที่จะหย่าร้างใน พ.ศ. 2546 เขาจึงแต่งงานกับ Rachida Brakni นักแสดงสาวใน พ.ศ. 2550 และมีลูกกัน 2 คนเช่นกัน[15]

โฌแอล น้องชายของเขา ก็เป็นอดีตนักฟุตบอลที่เกษียณในวัยหนุ่มและไปเล่นในการแสดง ส่วน Sacha Opinel ลูกพี่ลูกน้อง ก็เป็นนักฟุตบอลด้วย[16] และ Martin Cantona หลานชายของเขา เป็นผู้รักษาประตูในทีมมหาวิทยาลัยมอนทรีออล[17]

สถิติ

[แก้]

สโมสร

[แก้]
จำนวนที่ลงเล่นและได้ประตูตามสโมสร ฤดูกาล และการแข่งขัน[18][19][20][21]
สโมสร ฤดูกาล ลีก เนชันนอลคัพ[a] ลีกคัพ[b] ทวีป อื่น ๆ รวม
ดิวิชัน ลงเล่น ประตู ลงเล่น ประตู ลงเล่น ประตู ลงเล่น ประตู ลงเล่น ประตู ลงเล่น ประตู
โอแซร์ 1983–84 Division 1 2 0 0 0 2 0
1984–85 Division 1 5 2 0 0 0 0 5 2
1985–86 Division 1 7 0 0 0 1[c] 0 8 0
1986–87 Division 1 36 13 4 4 40 17
1987–88 Division 1 32 8 5 1 2[c] 1 39 10
รวม 82 23 9 5 3 1 94 29
มาร์ตีก (ยืมตัว) 1985–86 Division 2 15 4 0 0 15 4
มาร์แซย์ 1988–89 Division 1 22 5 0 0 22 5
1990–91 Division 1 18 8 0 0 3[d] 1 21 9
รวม 40 13 0 0 3 1 43 14
บอร์โด (ยืมตัว) 1988–89 ลีกเอิง 11 6 1 0 0 0 12 6
มงเปอลีเย (ยืมตัว) 1989–90 ลีกเอิง 33 10 6 4 39 14
นีม 1991–92 ลีกเอิง 16 2 0 0 16 2
ลีดส์ยูไนเต็ด 1991–92 เฟิสต์ดิวิชัน 15 3 0 0 0 0 15 3
1992–93 พรีเมียร์ลีก 13 6 0 0 1 0 5[e] 2 1[f] 3 20 11
รวม 28 9 0 0 1 0 5 2 1 3 35 14
แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด 1992–93 พรีเมียร์ลีก 22 9 1 0 0 0 0 0 23 9
1993–94 พรีเมียร์ลีก 34 18 5 4 5 1 4[e] 2 1[f] 0 49 25
1994–95 พรีเมียร์ลีก 21 12 1 1 0 0 2[e] 0 1[f] 1 25 14
1995–96 พรีเมียร์ลีก 30 14 7 5 1 0 0 0 38 19
1996–97 พรีเมียร์ลีก 36 11 3 0 0 0 10[e] 3 1[f] 1 50 15
รวม 143 64 17 10 6 1 16 5 3 2 185 82
รวมทั้งหมด 368 131 33 19 7 1 27 9 4 5 439 165

นานาชาติ

[แก้]
จำนวนที่ลงเล่นและได้ประตูตามทีมชาติ[22]
ทีมชาติ ปี ลงเล่น ประตู
ฝรั่งเศส 1987 3 1
1988 2 0
1989 4 3
1990 7 6
1991 4 2
1992 9 2
1993 7 5
1994 8 1
1995 1 0
รวม 45 20

รางวัลและเกียรติยศ

[แก้]

สโมสร

[แก้]
ลีดส์ยูไนเต็ด
แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด

ทีมชาติ

[แก้]
ทีมชาติฝรั่งเศส U21
ทีมชาติฝรั่งเศส (ฟุตบอลชายหาด)

เกียรติยศส่วนตัว

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Wightman, Rob (2004) [2002]. Eric Cantona. FourFourTwo Great Footballers. London: Virgin Books. p. 5. ISBN 9-780753-508923.
  2. 2.0 2.1 "E. Cantona: Summary". Soccerway. Perform Group. สืบค้นเมื่อ 5 June 2019.
  3. "Eric Cantona". L'Équipe (ภาษาฝรั่งเศส). Paris. สืบค้นเมื่อ 5 June 2019.
  4. "เอริก ก็องโตนา". Barry Hugman's Footballers. สืบค้นเมื่อ 7 มิถุนายน 2019.
  5. Chicken, Steven (2022-11-26). "Eric Cantona: One of English football's greatest ever bargains". Planet Football (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
  6. Davies, Lizzy (2010-01-10). "Eric Cantona and Rachida Brakni are toast of Paris as ex-footballer makes stage debut". The Observer (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). ISSN 0029-7712. สืบค้นเมื่อ 2023-10-23.
  7. "ERIC CANTONA". Beach Soccer Worldwide (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 2020-05-15.
  8. Coman, Julian (25 March 2012). "The king and I: meeting Eric Cantona". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 21 July 2012.
  9. Williams, Richard (17 April 1994). "The other side of Cantona: Eric Cantona has become the most exciting footballer in England. The fact that he is French, loves poetry and philosophy, and has a volatile temperament makes him the most intriguing. Last week he was voted players' player of the year – while under suspension". The Independent. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 May 2009. สืบค้นเมื่อ 21 July 2012.
  10. Henderson, Paul (5 July 2011). "When GQ met Eric Cantona". GQ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 October 2012. สืบค้นเมื่อ 21 July 2012.
  11. "Eric Cantona: I didn't punch him strong enough. I should have punched him harder". FourFourTwo. 22 January 2015. สืบค้นเมื่อ 13 April 2015.
  12. Lowe, Sid (19 November 2019). "Eric Cantona: 'Big democracies are, in a way, dictatorships'". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 17 February 2020.
  13. "Ozieri, strani incontri in cimitero, Cantona visita la tomba del nonno". L'Unione Sarda (ภาษาอิตาลี). 1 September 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 September 2012. สืบค้นเมื่อ 15 December 2012.
  14. Auclair (2009), p. 13.
  15. "Eric Cantona makes waves at the seaside - but are there any seagulls following him?". The Mirror. สืบค้นเมื่อ 22 September 2018.
  16. "Former Orient defender Sacha Opinel wants kids to learn football the way France used to play it". Guardian. สืบค้นเมื่อ 22 September 2021.
  17. "Le Cantona de l'UQAM". สืบค้นเมื่อ 10 October 2022.
  18. "Eric Cantona". Football Database.eu. สืบค้นเมื่อ 17 July 2012.
  19. "Eric Cantona". UEFA. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 April 2012. สืบค้นเมื่อ 17 April 2013.
  20. "Cantona Manchester United stats". Stretfordend.co.uk. สืบค้นเมื่อ 2 February 2013.
  21. "Éric Cantona". National Football Teams. Benjamin Strack-Zimmermann. สืบค้นเมื่อ 17 July 2012.
  22. "Eric Cantona – International Matches". RSSSF. 15 June 2002. สืบค้นเมื่อ 2 February 2013.
  23. ไร้ข้อโต้แย้ง "พรีเมียร์ลีก" ประกาศ "ตำนานแมนยูฯ" เข้าฮอลล์ ออฟ เฟม คนที่ 3

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
ก่อนหน้า เอริก ก็องโตนา ถัดไป
พอล มักกราท นักฟุตบอลยอดเยี่ยมของพีเอฟเอ
(พ.ศ. 2537)
แอลัน เชียเรอร์
เยือร์เกิน คลินส์มันน์ นักฟุตบอลยอดเยี่ยมของสมาคมผู้สื่อข่าวอังกฤษ
(พ.ศ. 2539)
จันฟรังโก โซลา