เอมัน เดฟเลอรา
บทความนี้ยังต้องการเพิ่มแหล่งอ้างอิงเพื่อพิสูจน์ความถูกต้อง |
เอมัน เดฟเลอรา Éamon de Valera | |
---|---|
ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐไอร์แลนด์ (ลำดับที่ 3) | |
ดำรงตำแหน่ง 25 มิถุนายน พ.ศ. 2502 – 24 มิถุนายน พ.ศ. 2516 | |
ก่อนหน้า | Seán T. O'Kelly |
ถัดไป | Erskine Hamilton Childers |
นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐไอร์แลนด์ | |
ดำรงตำแหน่ง 29 ธันวาคม พ.ศ. 2480 – 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491 | |
ก่อนหน้า | ตัวเอง (ในตำแหน่งประธานคณะมนตรีบริหารแห่งเสรีรัฐไอร์แลนด์) |
ถัดไป | John A. Costello |
ดำรงตำแหน่ง 13 มิถุนายน พ.ศ. 2494 – 2 มิถุนายน พ.ศ. 2497 | |
ก่อนหน้า | John A. Costello |
ถัดไป | John A. Costello |
ดำรงตำแหน่ง 20 มีนาคม พ.ศ. 2500 – 23 มิถุนายน พ.ศ. 2502 | |
ก่อนหน้า | John A. Costello |
ถัดไป | Seán Lemass |
ประธานคณะมนตรีบริหารแห่งเสรีรัฐไอร์แลนด์ (นายกรัฐมนตรี) | |
ดำรงตำแหน่ง 9 มีนาคม พ.ศ. 2475 – 29 ธันวาคม พ.ศ. 2480 | |
ก่อนหน้า | W. T. Cosgrave |
ถัดไป | ตัวเขาเอง (ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐไอร์แลนด์) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 14 ตุลาคม พ.ศ. 2425 แมนฮัตตัน, นิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา |
เสียชีวิต | 29 สิงหาคม พ.ศ. 2518 (92 ปี) ดับลิน, ไอร์แลนด์ |
ศาสนา | โรมันคาทอลิก |
พรรคการเมือง | เฟียนนาเฟล (พ.ศ. 2469 – พ.ศ. 2518), ชินน์เฟน (พ.ศ. 2459 – พ.ศ. 2465, พ.ศ. 2466 – พ.ศ. 2469) |
คู่สมรส | ซิเนด เดฟเลอรา (แฟลนากัน) |
ลายมือชื่อ | |
เอมัน เดฟเลอรา (ไอริช: Éamon de Valera; ˈeːmˠən̪ˠ dʲɛ ˈvˠalʲəɾʲə;14 ตุลาคม พ.ศ. 2425 — 29 สิงหาคม พ.ศ. 2518) เป็นนักการเมืองชาวไอริชผู้ต่อสู้เพื่อให้ไอร์แลนด์เป็นอิสระจากอังกฤษจนมีการสถาปนาสาธารณรัฐไอร์แลนด์ เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐไอร์แลนด์[1] ในช่วงปี พ.ศ. 2475 - พ.ศ. 2502 หลังจากนั้นได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในปี พ.ศ. 2502 - พ.ศ. 2516[2]
ประวัติ
[แก้]เกิดเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2425 ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา บิดาเป็นจิตรกรชาวสเปน มารดาเป็นชาวไอริช เมื่อเขาอายุ 3 ขวบ บิดาก็เสียชีวิตลง เขาจึงถูกส่งไปอยู่กับลุงซึ่งมีฐานะยากจนที่เมืองบรูรี มณฑลไลเมอริก ในไอร์แลนด์ หลังจากจบการศึกษาจากโรงเรียนของคณะสอนศาสนาที่เมืองชาร์ลวิลล์แล้ว เขาได้เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยแบล็กร็อก กรุงดับลิน ในปี พ.ศ. 2441 และที่มหาวิทยาลัยรอยัล ในปี พ.ศ. 2444 เขาโดดเด่นมากในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ เมื่อเขาสำเร็จการศึกษา ใน พ.ศ. 2447 เขาก็เริ่มอาชีพครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาละติน และภาษาฝรั่งเศสตามมหาวิทยาลัยคาทอลิกหลายแห่ง ในด้านชีวิตครอบครัว เขาสมรสกับซิเนด แฟลนากัน ในปี พ.ศ. 2453 มีบุตรชาย 5 คน และบุตรสาว 2 คน
ราว พ.ศ. 2450 เขาได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของสันนิบาตแห่งชาติเกล และเข้าร่วมกับกลุ่มภราดรแห่งสาธารณรัฐไอริช ซึ่งดำเนินการเคลื่อนไหวทางด้านชาตินิยมอย่างลับๆ ขณะที่สงครามโลกครั้งที่ 1 กำลังดำเนินอยู่นั้น เขาเข้าร่วมกับองค์กรอาสาสมัครแห่งชาติไอริช ซึ่งมุ่งดำเนินการเพื่อการเป็นเอกราชอย่างสมบูรณ์จากอังกฤษ และได้รับมอบหมายให้บังคับบัญชากองพันอาสาสมัครไอริชกองหนึ่งระหว่างที่เกิดการจลาจลวันอีสเตอร์ ซึ่งก่อความเสียหายอย่างมากให้แก่กองกำลังอังกฤษที่ถูกส่งเข้ามารักษาความสงบ และเป็นกองพันสุดท้ายที่จำต้องยอมจำนนต่ออังกฤษในช่วงการเจรจาดังกล่าว ศาลตัดสินให้ประหารเขาเช่นเดียวกับผู้นำการจลาจลอื่นๆ แต่การที่เขาถือสัญชาติอเมริกัน เขาจึงได้รับโทษให้ทำงานในเรือนจำตลอดชีวิต อย่างไรก็ดี เขาได้รับการนิรโทษกรรมในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2460
เข้าสู่การเมือง
[แก้]ทันทีที่ได้รับอิสรภาพเขาได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาสามัญจากเขตเลือกตั้งแคลร์ นอกจากนี้เขายังเป็นหัวหน้าพรรคชินน์เฟน ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการสถาปนาสาธารณรัฐไอร์แลนด์ขึ้น เขาจึงถูกจับกุมอีกครั้งในปี พ.ศ. 2461 ด้วยข้อหาร่วมมือกับเยอรมนีวางแผนโจมตีอังกฤษ และถูกส่งไปคุมขังที่อังกฤษ
ในการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2461 พรรคชินน์เฟนของเขาได้ที่นั่งถึง 3 ใน 4 ของที่นั่งทั้งหมดจากเขตเลือกตั้งในไอร์แลนด์ แต่สมาชิกพรรคฯ ปฏิเสธเข้าประชุม ณ รัฐสภาเวสต์มินเตอร์ของอังกฤษ และประกาศตั้งสภาราษฎรแห่งสาธารณรัฐไอร์แลนด์ขึ้นแทน ในเดือนเมษายน ปีเดียวกัน สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติให้เขาเป็นประธานาธิบดีแห่งรัฐบาลชั่วคราวทั้งๆ ที่ยังถูกคุมขังอยู่ ทำให้อังกฤษไม่พอใจและส่งทหารเข้ามาปราบเพื่อล้มรัฐบาลชั่วคราว เกิดการสู้รบของกองพันแห่งสาธารณรัฐไอร์แลนด์กับกองตำรวจหลวงแห่งไอร์แลนด์ซึ่งได้รับกำลังเสริมจากอังกฤษ ขณะที่การรบยังดำเนินอยู่ เขาจึงแอบหลบหนีออกจากเรือนจำลินคอล์น และลอบเดินทางสู่นิวยอร์ก ระหว่างที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา 18 เดือน เขาได้เดินทางไปทั่วอเมริกาเพื่อขอความสนับสนุนในการต่อสู้เพื่อเอกราชของไอร์แลนด์
การสู้รบดำเนินในลักษณะของสงครามกองโจรและยุติลงในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2464 เพราะความรุนแรงและความทารุณจากการต่อสู้ทั้งสองฝ่าย ทำให้ชาวอังกฤษและสหรัฐอเมริกาบีบบังคับให้รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีเดวิด ลอยด์ จอร์จ รีบหาทางยุติความขัดแย้งโดยเร็ว
แม้ว่าเขาจะเดินทางไปกรุงลอนดอนเพื่อเจรจากับลอยด์ จอร์จ แต่เขาก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในการเจรจาช่วงสุดท้ายซึ่งนำไปสู่การลงนามสนธิสัญญาอังกฤษ - ไอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2464 โดยมีผู้แทนรัฐบาลอังกฤษกับอาเทอร์ กริฟฟิท และไมเคิล คอลลินส์ ซึ่งเป็นผู้แทน 2 คน จากพรรคชินน์เฟน เขาไม่ยอมรับในสนธิสัญญา ซึ่งมีเนื้อหาสถาปนาเสรีรัฐไอร์แลนด์ ขึ้นเป็นอาณาจักรในเครือจักรภพอังกฤษ ซึ่งครอบคลุมอาณาเขตเกือบทั้งหมดของเกาะไอร์แลนด์ ยกเว้น 6 มณฑลทางเหนือที่เรียกว่า อัลสเตอร์ อันมีเมืองสำคัญ ได้แก่ เบลฟัสต์ และลอนดอนเดอร์รี เป็นต้น เขาเห็นว่าการสถาปนาเสรีรัฐไอน์แลนด์นี้ จะทำให้การนำไอร์แลนด์เหนือรวมกับไอร์แลนด์ใต้เป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น
แม้ว่าเขาคัดค้านในสนธิสัญญา แต่สภาผู้แทนราษฎรไอร์แลนด์ก็ให้สัตยาบันรับรองสนธิสัญญาดังกล่าว ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้น กระทั่งเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2466 เขาได้ลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี อาเทอร์ กริฟฟิท ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งแทน สงครามกลางเมืองยังคงดำเนินต่อไป สิ้นสุดด้วยความปราชัยของเขา เขาจึงถูกรัฐบาลแห่งเสรีรัฐไอร์แลนด์คุมขังอีกเกือบ 1 ปี จึงได้รับการปล่อยตัว
ในปี พ.ศ. 2469 เขาได้แยกตัวออกจากพรรคชินน์เฟนและตั้งพรรคการเมืองใหม่ชื่อว่า เฟียนนาเฟล (Fianna Fail / Soldier of Destiny) และได้รับเสีงข้างมากในการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2475 เขาจึงขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ถึง 3 วาระ รวม 21 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2475 - พ.ศ. 2491, พ.ศ. 2494 - พ.ศ. 2497 และ พ.ศ. 2500 - พ.ศ. 2502
ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
[แก้]ทันทีที่ขึ้นบริหารประเทศเขาพยายามที่จะยกเลิกพันธะต่างๆที่เสรีรัฐไอร์แลนด์ทำขึ้นต่อประเทศอังกฤษ เช่น ยกเลิกการปฏิญาณที่จะจงรักภักดีต่ออังกฤษ การลิดรอนอำนาจของข้าหลวงใหญ่อังกฤษในไอร์แลนด์ ล้มเลิกวุฒิสภาซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของรัฐบาล ยุติการส่งคดีที่อุทธรณ์ในไอร์แลนด์ไปให้สภาองคมนตรีในอังกฤษพิจารณา และยกเลิกการจ่ายค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่ดินในไอร์แลนด์ให้แก่อังกฤษ
และที่สำคัญที่สุดคือการที่เขาพยายามให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นในช่วงที่อังกฤษกำลังประสบวิกฤตการณ์สละราชสมบัติของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 8 ในปี พ.ศ. 2479 เพื่อเพิกถอนรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐไอร์แลนด์ฉบับเดิม ซึ่งในที่สุดก็ผ่านการรับรองโดยสาธารณชน ใน พ.ศ. 2480 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ล้มเลิกเสรีรัฐไอร์แลนด์และสถาปนาไอร์แลนด์ขึ้นเป็นรัฐเอกราชที่มีอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์ โดยมีชื่อว่า "แอรา" (Eire)
อังกฤษตอบโต้โดยการขึ้นอัตราภาษีสินค้าจากไอร์แลนด์ ทำให้สินค้าส่งออกหลักของไอร์แลนด์ เช่น ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และนม ได้รับผลกระทบกระเทือนมาก เกิดเป็นความขัดแย้งทางด้านเศรษฐกิจระหว่างแอรากับอังกฤษ เขาจึงพยายามบังคับใช้แผนการพึ่งตนเองทางเศรษฐกิจอย่างเข้มงวด ลดเงินเดือนข้าราชการ และประกาศใช้พิกัดอัตราภาษีเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศ
กระทั่งเมื่อใกล้จะเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลอังกฤษซึ่งนำโดยนายกรัฐมนตรีเนวิลล์ เชมเบอร์เลน เห็นว่าควรยุติความขัดแย้งทางเศรษฐกิจกับแอราโดยเร็วที่สุด จึงตามมาด้วยการเจรจาระหว่างแอรากับอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2481 ผลของการเจรจาคือแอรายอมตกลงจ่ายเงิน 10 ล้านปอนด์เพื่อชดเชยค่าธรรมเนียมที่ดินที่เคยจ่ายแก่อังกฤษ แลกกับการที่อังกฤษยอมที่จะถอนตัวออกจากเมืองท่าโคฟ เบียร์เฮเวน ลอกสวิลลี ที่อังกฤษครอบครองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2465
ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขาประกาศยโนบายเป็นกลางและยึดมั่นมาโดยตลอด ทั้งที่ได้รับแรงกดดันจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้เขาได้รับความพอใจจากชาวไอริชเป็นจำนวนมาก พรรคของเขาจึงได้รับการเลือกตั้งให้บริการประเทศต่อไปอีกหลายสมัย
ในเดือนธันวาคมปี พ.ศ. 2491 รัฐสภาแห่งแอราได้ผ่านพระราชบัญญัติแห่งสาธารณรัฐไอร์แลนด์ ซึ่งทำให้แอรามีสถานะเป็นสาธารณะรัฐอย่างเป็นทางการและยุติการเป็นสมาชิกเครือจักรภพแห่งประชาชาติด้วย รัฐสภาอังกฤษได้ให้การรับรองเอกราชของสาธารณรัฐใหม่นี้ด้วยดี โดยการผ่านร่างพระราชบัญญัติไอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2492
ลดบทบาททางการเมือง
[แก้]ต่อมาในปี พ.ศ. 2502 เขาได้เริ่มละบทบาททางการเมืองลง โดยลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและผู้นำพรรคเฟียนนาเฟล เพราะปัญหาสุขภาพโดยเฉพาะตา แต่ในปีนั้นเองเขายังได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีซึ่งเป็นตำแหน่งประมุขที่ไม่มีอำนาจบริหาร มีวาระ 7 ปี เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอยู่ถึง 2 สมัยติดต่อกันก่อนที่จะอำลาการเมืองอย่างสิ้นเชิงในปี พ.ศ. 2516
ในช่วง 2 ปีสุดท้ายของชีวิตเขาพำนักอยู่ที่สถานพยาบาลใกล้กรุงดับลินจนถึงแก่อสัญกรรม เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2518 ขณะอายุ 92 ปี[3]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Mr. Éamon de Valera". Oireachtas Members Database. สืบค้นเมื่อ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2552.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|accessdate=
(help) - ↑ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม 3 อักษร E-G. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน, 2546.
- ↑ RTE 1975 - Eamon De Valera is dead RTÉ News (วิดีโอ). สืบค้นเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2011.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- 1911 ย้อนรอยบรรพบุรุษของเอ็ดเวิร์ด (sic) เดฟเลอรา เก็บถาวร 2011-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน จาก หอจดหมายเหตุแห่งชาติไอร์แลนด์
- Murray, Patrick (2001). "เงื่อนงำประวัติศาสตร์: เอมัน เดฟเลอรา การเมืองและชื่อเสียง" (PDF). บทความวิชาการของสถาบันวิชาการไอริช. สถาบันวิชาการไอริช. 101 (C): 37–65. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2003-04-30. สืบค้นเมื่อ 2011-06-11.