ข้ามไปเนื้อหา

เอชทีซี วัน

นี่คือบทความคุณภาพ คลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติม
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เอชทีซี วัน
HTC One
เอชทีซี วัน
ผู้พัฒนาเอชทีซี
ผู้ผลิตเอชทีซี
ซีรีส์เอชทีซี วัน ซีรีส์
เปิดตัวครั้งแรกมีนาคม พ.ศ. 2556
รุ่นก่อนหน้าเอชทีซี วันเอ็กซ์
รูปแบบสมาร์ตโฟน
ขนาดสูง 137.4 mm (5.41 in)
กว้าง 68.2 mm (2.69 in)
หนา 9.3 mm (0.37 in) (ช่วงที่หนาที่สุด)
หนา 4 mm (0.16 in) (ช่วงที่บางที่สุด)
น้ำหนัก143 g (5.0 oz)
ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.1.2 "เจลลีบีน"
แอนดรอยด์ 4.2 "เจลลีบีน" (รุ่นกูเกิล)
ระบบบนชิปควอล์คอมม์ สแนปดรากอน 600 เอพีคิว8064
ซีพียูไครท์ 300 ควอดคอร์ 1.7 จิกะเฮิรตซ์
จีพียูอาดรีโน 320
หน่วยความจำระบบจิกะไบต์ ดีดีอาร์2
หน่วยความจำ32 หรือ 64 จิกะไบต์
หน่วยความจำภายนอกไม่มี (รุ่นวางขายทั่วโลก)
ไมโครเอสดีเอ็กซ์ซี สูงสุด 64 จิกะไบต์ (รุ่นวายขายในจีน และญี่ปุ่น)
แบตเตอรี่2,300 มิลลิแอมแปร์ ลิเทียมพอลิเมอร์
จอแสดงผล4.7 in (120 mm) ซูเปอร์แอลซีดี 3 อาร์จีบีเมทริกซ์
ความละเอียด 1920×1080 พิกเซล (อัตราส่วน 16:9) (468 พิกเซลต่อนิ้ว)
คอร์นิง กอริลลากลาส 2.0
กล้องหลัง4 ล้านพิกเซล 2.0 μm พร้อม ออโตโฟกัส, เซนเซอร์ "อุลตราพิกเซล" แอลอีดีแฟลช, เซ็นเซอร์บีเอสไอ, รูรับแสง F2.0, เลนส์ 28 มิลลิเมตร, อิมเมจชิพ, ถ่ายภาพต่อเนื่อง, เสถียรภาพแสง
บันทึกวิดีโอ 1080p ฟูลเอชดี, เสถียรภาพวิดีโอ, วิดีโอสโลว์โมชัน ที่ 768 x 432 พิกเซล, วิดีโอแบบ เอชดีอาร์
กล้องหน้า2.1 ล้านพิกเซล (1080p สำหรับการบันทึกวิดีโอ)
การเชื่อมต่อ2 จี (จีเอสเอ็ม/จีพีอาร์เอส/เอดจ์): 850/900/1800/1900 เมกาเฮิรตซ์
3 จี (ยูเอ็มทีเอส/เอชเอสพีเอ/เอชเอสพีเอ+): 850/900/1900/2100 เมกาเฮิรตซ์
วายฟาย: 2.4/5.0 จิกะเฮิรตซ์, 802.11a/b/g/n/ac
เอ็นเอฟซี
บลูทูธ 4.0 พร้อม เอพีที-เอ็กซ์
ดีแอลเอ็นเอ
วายฟายไดเร็กส์
วายฟายฮอตสปอต
อินฟราเรด
อื่น ๆเซนเซอร์เครื่อง, ไจโรสโคป, เข็มทิศ, เซนเซอร์แสง

เอชทีซี วัน (อังกฤษ: HTC One) เป็นสมาร์ตโฟน ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ผลิตโดยเอชทีซี โดยเปิดตัวในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นสมาร์ตโฟนรุ่นเรือธง ที่ต่อยอดมาจากเอชทีซี วันเอ็กซ์ รุ่นในปีก่อนหน้า ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากการทำตลาดที่ล้มเหลว โดยมาพร้อมกับซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ รูปแบบใหม่ที่ออกแบบมาพิเศษโดยเอชทีซี เช่น วัสดุตัวเครื่องอะลูมิเนียม, ชิปกล้องอุลตราพิกเซล, ลำโพงคู่สเตอริโอ รวมไปถึงเอชทีซี เซนส์ รุ่นใหม่ที่มีซอฟต์แวร์ "บลิงก์ฟีด" ซึ่งเป็นกระดานรวบรวมข่าวสาร และ "โซอี" คุณสมบัติเพิ่มเติมในกล้องถ่ายรูป

การเปิดตัวครั้งแรกของเอชทีซี วัน ในช่วงกลางเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 เกิดความล่าช้าในเรื่องของการผลิตฮาร์ดแวร์ของตัวเครื่องในช่วงปลายเดือนมีนาคม ทำให้การเริ่มวางขายตามท้องตลาดมีขึ้นในเดือนเมษายน ในทวีปเอเชีย และทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งต่อมาในเดือนพฤษภาคม บริษัทได้เพิ่มกำลังผลิตเป็น 2 เท่า เพื่อเพิ่มการวางขายในท้องตลาด เนื่องจากในเดือนก่อนเกิดความล่าช้า และล่าสุดเอชทีซี วัน ได้วางขายในทั่วโลกไปแล้ว 5 ล้านเครื่องภายในระยะเวลา 2 เดือน[1] และได้รับคำชมเชยจากการออกแบบฮาร์ดแวร์ที่ดี และซอฟต์แวร์ที่ทำมาสำหรับฮาร์ดแวร์ที่เหมาะสม และลงตัว[2][3]

การพัฒนาและการวางขาย

[แก้]

ก่อนการวางขาย

[แก้]

แม้ว่าเอชทีซีได้ผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่โดดเด่นหลายรุ่น เช่น ดรีม ซึ่งเป็นสมาร์ตโฟนแอนดรอยด์รุ่นแรกของโลก รวมไปถึง เอชทีซี อีโว 4จี สมาร์ตโฟน 4 จี เครื่องแรกของโลกบนระบบวายแม็กซ์ ของค่ายสปรินต์ แต่ในช่วงปีที่ผ่านมา การสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดไปให้กับคู่แข่งหลายบริษัท อย่างซัมซุง และแอปเปิล[4] ส่วนสมาร์ตโฟนที่เป็นรุ่นเรือธงในปี พ.ศ. 2555 อย่าง เอชทีซี วันเอ็กซ์ ก็ไม่ได้รับความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากมีปัญหาในหลายด้าน บวกกับความสำเร็จของซัมซุง กาแลคซีเอส 3 และไอโฟน 5 ทำให้เอชทีซี ต้องทำการเปิดตัวสมาร์ตโฟนที่เป็นรุ่นเรือธงที่จะโดดเด่นพอในการแข่งขันกับสมาร์ตโฟนจากบริษัทอื่น และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี พ.ศ. 2556 เอชทีซีตั้งเป้าที่จะทำยอดขายเป็น 2 เท่าของปีก่อน[5][4]

โดยช่วงก่อนหน้านี้มีข่าวลือสำหรับรุ่นนี้ ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ของเอชทีซี โดยมีชื่อรหัสว่า เอ็ม 7 (M7) รั่วไหลออกมาในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนการเปิดตัว หลังจากนั้น ปีเตอร์ โจว ประธานกรรมการบริษัท ได้ออกมายืนยันถึงสมาร์ตโฟนเครื่องใหม่นี้ในงานวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ข้อมูลที่รั่วไหลออกมานี้คาดว่าจะมาพร้อมระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.1.2 พร้อม เอชทีซี เซนส์ 5.0 รวมไปถึง หน้าจอ 4.7 นิ้ว ฟูลเอชดี 1080p, แรม 2 จิกะไบต์, หน่วยประมวลผล ควอด-คอร์, กล้อง 13 ล้านพิกเซล, พื้นที่หน่วยความจำ 32 จิกะไบต์ และระบุอีกว่าจะออกแบบต่อยอดจาก เอชทีซี บัตเตอร์ฟลาย[6][7]

เอ็ม 7 เปิดตัวอย่างเป็นทางการในชื่อ เอชทีซี วัน ในงานแถลงข่าว เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 โดย "วัน" จะวางขายในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2556 ผ่าน 185 ผู้ให้บริการเครือข่าย ใน 80 ประเทศทั่วโลก โดยเป็นการเปิดตัวที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของบริษัท ผู้ให้บริการเครือข่ายที่จะร่วมเปิดตัวเช่น เอทีแอนด์ที, สปรินต์ และทีโมบายล์ ในสหรัฐอเมริกา, เอเวรีธิงเอเวรีแวร์ (EE), โอทู และโวดาโฟน ในสหราชอาณาจักร และเบลล์, โรเจอส์ และเทลุส ในประเทศแคนาดา[6][8] ส่วนเวอไรซอนไวร์เลส ได้เปิดตัวและวางขาย ในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2556 จึงทำให้เอชทีซี วัน เป็นอุปกรณ์ที่วางขายกับเครือข่ายชั้นนำ 4 เครือข่ายจากสหรัฐอเมริกา (ส่วนเอชทีซี วันเอ็กซ์ วางขายเฉพาะ เอทีแอนด์ที)[9][10]

ความล่าช้า

[แก้]

ก่อนการเปิดตัว เอชทีซี ได้กำหนดการเปิดตัวของเอชทีซี วัน ไว้ในวันที่ 15 มีนาคม ในสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีปัญหาด้านความต้องการสูง แต่ขาดชิ้นส่วนของเรื่องกล้องถ่ายรูป จึงมีปัญหาเรื่องอุปสงค์และอุปทาน ทำให้เอชทีซี ต้องเลื่อนวันเปิดตัวออกไป 1 สัปดาห์ เป็นวันที่ 22 มีนาคม ซึ่งจะวางขายในสหราชอาณาจักรก่อน และจะวางขายในประเทศเยอรมนี และประเทศไต้หวัน ในสัปดาห์ถัดมา และวางขายทั่วทวีปยุโรป, ทวีปอเมริกาเหนือ และเอเชียแปซิฟิก ภายในปลายเดือนเมษายน โดยในสหราชอาณาจักร ได้มีการเปิดให้สั่งจองล่วงหน้าผ่านอินเทอร์เน็ต โดยผู้ให้บริการเครือข่ายบางเครือข่าย ก่อนที่เอชทีซีจะทำการเปิดตัวและวางขายเอชทีซี วัน[11][12][13] โดยเอชทีซี วัน ได้เปิดตัวและวางขายกับเอทีแอนด์ที (AT&T) (พร้อมกับรุ่นความจุ 64 จิกะไบต์) และสปรินต์ ในสหรัฐอเมริกา วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2556[14]

หลังจากที่เกิดความล่าช้าในการวางขาย แจ็ก ถง ประธานบริษัทเอชทีซีในเอเชียเหนือ ได้ยืนยันว่าบริษัทได้สั่งเพิ่มการผลิตเป็น 2 เท่า เพื่อให้ทันต่อความต้องการ และทันต่อการแข่งขันกับรุ่นอื่น ๆ ภายในกลางเดือนพฤษภาคม[15]

การดำเนินคดี

[แก้]

ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2556 โนเกีย ได้ทำการยื่นฟ้องกับศาลชั้นต้นในประเทศเนเธอร์แลนด์ กับเอสทีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (STMicroelectronics) สำหรับการที่ผลิตไมโครโฟน ให้กับเอชทีซี ในเอชทีซี วัน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีกรรมสิทธิ์ของโนเกีย[16] โดยระหว่างการฟ้องกับเอสทีไมโครอิเล็กทรอนิกส์นั้น โนเกียจะยังอนุญาตให้เอชทีซี สามารถใช้ไมโครโฟนนี้ได้ โดยไม่ต้องเรียกเครื่องที่ขายไปแล้วส่งคืน แต่รุ่นที่กำลังผลิตนั้น จะต้องจัดหาไมโครโฟนตัวใหม่มาทดแทน[17]

คุณสมบัติ

[แก้]

ฮาร์ดแวร์

[แก้]

เอชทีซี วัน ใช้อะลูมิเนียมล้วนทั้งตัวเครื่อง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ดูหรูหรามากกว่าสมาร์ตโฟนที่ใช้พลาสติก[18] โดยการผลิตนั้นจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 200 นาที[18] ส่วนคุณสมบัติของเอชทีซี วัน นั้น ใช้หน่วยประมวลผล ควอดคอร์ 1.7 จิกะเฮิรตซ์ ชิพควอล์คอมม์ สแนปดรากอน 600, แรม 2 จิกะไบต์, หน้าจอ 4.7 นิ้ว ฟูลเอชดี ซูเปอร์แอลซีดี 3 มีความละเอียดหน้าจอ 468 พิกเซลต่อนิ้ว[19], หน่วยความจำ 32 หรือ 64 จิกะไบต์ โดยไม่สามารถเพิ่มความจุผ่าน ไมโครเอสดีการ์ดได้ สำหรับรุ่นที่วางขายทั่วโลก ส่วนรุ่นที่วางขายในประเทศจีน และประเทศญี่ปุ่น จะมีช่องสำหรับเพิ่มความจุผ่านไมโครเอสดีการ์ด[19] โดยจะสามารถใช้บริการ แอลทีอี ได้ตามผู้ให้บริการ[20] ชิ้นส่วนภายในนั้นจัดเป็นรูปแบบ "พีระมิด" คล้ายกับเอชทีซี บัตเตอร์ฟลาย และเอชทีซี 8เอ็กซ์ ทำให้ด้านหลังตัวเครื่องมีลักษณะโค้งเว้า[21] และมีระบบเสียงที่มาพร้อมกับลำโพงสเตอริโอคู่ ด้านหน้า ที่มีชื่อว่า "บูมซาวด์" (BoomSound) รวมไปถึงบันทึกเสียงแบบตัดเสียงรบกวน (HDR) และบีตส์ ออดีโอ[20]

กล้องถ่ายรูป

[แก้]

เอชทีซี วัน มีกล้องหลักความละเอียด 4 ล้านพิกเซล พร้อมกับเซนเซอร์ "อุลตราพิกเซล" (UltraPixel) โดยจะใช้พิกเซลขนาด 2.0 ไมโครเมตร ขณะที่สมาร์ตโฟนรุ่นระดับสูง รุ่นอื่น ๆ จะใช้กล้องความละเอียด 8 หรือ 13 ล้านพิกเซล โดยขนาดของพิกเซลจะอยู่ที่ประมาณ 1.4 จนถึง 1.0 ไมโครเมตร ถึงแม้ว่าเม็ดพิกเซลจะมีขนาดเล็กกว่า แต่ก็ไม่ได้ถ่ายภาพออกมาได้ดีกว่า ซึ่งจากการทดลอง ภาพอาจจะสั่น หรือมีปริมาณของคลื่นรบกวนที่มากกว่า และการถ่ายภาพในที่แสงน้อยจะทำได้ยากกว่า เนื่องจากมีขนาดของเม็ดพิกเซลที่เล็กกว่า โดยเอชทีซีได้อ้างว่า การออกแบบกล้องของเอชทีซี วัน จะเพิ่มคุณภาพของภาพที่ถ่ายออกมา และการถ่ายในพื้นที่ที่มีแสงน้อยได้ดีกว่า[22][23] รวมไปถึงระบบป้องกันาพสั่นไหว และซอฟต์แวร์กล้องใหม่ รวมไปถึงหน่วยประมวลผลภาพ อิมเมจเซนส์ 2.0[24][20]

ซอฟต์แวร์

[แก้]

เอชทีซี วัน เปิดตัวพร้อมกับระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.1.2 "เจลลีบีน" โดยใช้ส่วนต่อประสานกับผู้ใช้ เอชทีซี เซนส์ 5 ซึ่งออกแบบมาใหม่ ทั้งหน้าจอหลัก โดยฟลิปคล็อก (Flip Clock) จากสมาร์ตโฟนของเอชทีซีในรุ่นก่อนนั้น แทนด้วยนาฬิกาดิจิทัลและส่วนแสดงสภาพอากาศปัจจุบัน และด้านล่างนาฬิกานั้นเป็นหน้าหลักแบบใหม่ที่จะมีการรวบรวมข่าว มาให้เลื่อนอ่าน ที่มีชื่อว่า "บลิงก์ฟีด" (BlinkFeed) ซึ่งคล้ายกับ ฟลิปบอร์ด (Flipboard) และหน้าหลักของ วินโดวส์โฟน โดยจะแสดงข่าวเด่น และเนื้อหาจากสังคมออนไลน์ที่เชื่อมต่อไว้ ซึ่งเนื้อหาจะโอนถ่ายข้อมูลใหม่ทุก ๆ 2 ชั่วโมง เมื่อมีการเชื่อมต่อผ่านเครือข่าย หรือผ่านวายฟาย[25] โดย วัน จะใช้หน้าหลัก 2 หน้า คือหน้าบิลงก์ฟีด พร้อมกับนาฬิกาดิจิทัล และหน้าหลักแบบธรรมดาที่มีโปรแกรมต่าง ๆ (เหมือนกับเอชทีซี เซนส์ รุ่นก่อน ๆ)[25][5] โดยโปรแกรมประยุกต์ ที่ติดตั้งไว้ จะแสดงบนหน้าจอขนาด 3×4 แต่สามารถเปลี่ยนกลับมาเป็น 4×5 เหมือนรุ่นก่อน ๆ ได้[22]

โปรแกรมของกล้องนั้น จะมาพร้อมกับ การถ่ายภาพแบบใหม่ที่มีชื่อว่า "โซอี" (Zoe) ซึ่งมาจากคำว่า โซโทรป (zoetrope) หมายถึง ภาพที่มีชีวิต ในภาษากรีก ด้วยวิดีโอ 4 วินาทีที่จะบันทึก และเล่นเป็นภาพเคลื่อนไหวบนแกลลอรี และยังมี "ไฮไลต์" (Highlights) คุณสมบัติที่จะรวมรวมภาพ และวิดีโออัตโนมัติ ออกมาเป็นงานนำเสนอมัลติมีเดียสั้น ๆ และสามารถแบ่งปันผ่นสังคมออนไลน์ผ่านโซอี[22][24] เอชทีซี วัน มีโปรแกรมสำหรับดูโทรทัศน์ ซึ่งมาพร้อมด้วยตารางการออกอากาศ, คำแนะนำต่าง ๆ และการแจ้งเตือน รวมไปถึงยังใช้ วัน เป็นรีโมตคอนโทรล ผ่านอินฟราเรด ที่ซ่อนในปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง ได้อีกด้วย[20][25][22] และโปรแกรมเครื่องเล่นเพลงรุ่นใม่ ที่จะสามารถแสดงเนื้อเพลงบนหน้าจอขณะที่ฟังเพลงอยู่ได้[25] และคุณสมบัติ "เกตสตาร์ต" (Get Started) ที่จะแนะนำตัวเครื่องด้วยเอชทีซี วันเอ็กซ์+ และการโอนถ่ายข้อมูลจากอุปกรณ์ไอโอเอส และอุปกรณ์เอชทีซี ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 ขึ้นไป[25]

เซนส์ 5.0 ไม่ได้ผลิตมาสำหรับเอชทีซี วัน เพียงรุ่นเดียว โดยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 เอชทีซีได้ทำการยืนยันว่าจะทำการอัปเดตเซนส์ 5.0 ให้กับบัตเตอร์ฟลาย, วันเอส และวันเอ็กซ์ ในเร็ว ๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ด้วยความแตกต่างในด้านของฮาร์ดแวร์ ทำให้รุ่นที่จะได้รับการอัปเดตไม่ได้รับคุณสมบัติที่ครบทุกอย่างเหมือนกับเอชทีซี วัน[26]

การอัปเดต

[แก้]

การอัปเดตซฟอต์แวร์เป็นแอนดรอยด์ 4.2.2 "เจลลีบีน" จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2556 โดยการอัปเดตครั้งนี้จะเพิ่มคุณสมบัติใหม่ ๆ รวมถึงระบบ และการตั้งค่าที่เร็วขึ้น (เหมือนกับแอนดรอยด์ 4.2 บนอุปกรณ์เน็กซัส) รวมไปถึงยังสามารถที่จะแสดงเปอร์เซนต์ หรือร้อยละของแบตเตอรีที่คงเหลืออยู่บนแถบแจ้งเตือน, การนำไอคอนจากหน้าหลักออก และการเข้าใช้หน้าแอปพลิเคชันล่าสุดด้วยการกดปุ่มเมนูค้างไว้[27]

รุ่น

[แก้]

เอชทีซี วัน จะแบ่งรุ่น โดยแยกซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ที่แตกต่างกันตามแต่ละภูมิภาค

รุ่นนักพัฒนา

[แก้]

"รุ่นนักพัฒนา" หรือ "Developer Edition" เป็นเอชทีซี วัน รุ่นความจุ 64 จิกะไบต์ ซึ่งวางขายในปริมาณที่จำกัดในสหรัฐอเมริกา โดยวางขายผ่านทางเว็บไซต์ของเอชทีซี เมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2556 โดยรุ่นนี้จะปลดล็อกบูตโหลดเดอร์ เพื่อให้นักพัฒนาได้ทำการติดตั้งรอมได้ โดยรุ่นนี้รองรับจีเอสเอ็ม, แอลทีอี ของเอทีแอนด์ที และทีโมบายล์ (แต่ไม่รองรับเอดับเบิลยูเอสของทีโมบายล์)[28]

รุ่นกูเกิลเอ็กซ์พีเรียนซ์

[แก้]

วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 เอชทีซีได้ทำการยืนยันว่า จะขายเอชทีซี วัน ในรุ่นที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.2 แบบเพียวแอนดรอยด์ (เหมือนกับสมาร์ตโฟนเน็กซัสบนกูเกิล เพลย์ ซึ่งจะแทนที่แอนดรอยด์ 4.1 ที่มาพร้อมกับเอชทีซี เซนส์ และการอัปเดตซอฟต์แวร์นั้นจะได้รับการอัปเดตโดยตรงจากกูเกิล โดยรุ่นนี้จะวางขายในสหรัฐอเมริกา วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2556 (วันเดียวกันกับการวางขายซัมซุง กาแลคซีเอส 4 รุ่นกูเกิล)[29][30]

รุ่นประเทศจีน

[แก้]

รุ่นของเอชทีซี วัน ที่จะวางขายในประเทศจีน ในปลายเดือนเมษายน พ.ศ. 2556 ผ่านเครือข่าย ไชนายูนิคอม (China Unicom), ไชนาเทเลคอม (China Telecom) และไชนาโมบายล์ (China Mobile) ซึ่งรุ่นนี้จะไม่เหมือนกับรุ่นที่วางขายทั่วโลก โดยรุ่นที่วางขายในประเทศจีนจะสามารถถอดฝาหลังได้ และสามารถใส่ไมโครเอสดีได้ รวมไปถึงยังเป็นรุ่นที่รองรับ 2 ซิมอีกด้วย ด้วยคุณสมบัติเช่นนี้ ทำให้มีรุ่นที่มีฝากหลังเป็นลายหวัง ลี่หง วางขายด้วย[31] เอชทีซี วัน รุ่นประเทศจีน รองรับไมโครเอสดีได้ เนื่องจากฮาร์ดแวร์ในการรับสัญญาณวิทยุนั้น ไม่ได้กินพื้นที่มากเหมือนกับรุ่นที่วางขายทั่วโลก[32]

รุ่นประเทศญี่ปุ่น

[แก้]

เอชทีซี วัน รุ่นที่วางขายในประเทศญี่ปุ่น โดยจะรู้จักกันทั่วไปในชื่อ เอชทีซี เจวัน เอชทีแอล22 (HTC J One HTL22) โดยเปิดตัวกับเคดีดีไอ (KDDI) ผู้ให้บริการเครือข่ายญี่ปุ่น ซึ่งเจวันนั้น คล้ายคลึงกับรุ่นที่วางขายในประเทษจีน และยังรองรับการใช้งานเนียร์ฟิลด์คอมมูนิเคชัน ด้วยระบบเฟลิซา (FeliCa)[33]

หลังการวางขาย

[แก้]
ด้านหลังของเอชทีซี วัน ใช้อะลูมิเนียมทั้งตัวเครื่อง

หลังจากการวางขายเอชทีซี วัน ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ในทางด้านดีมากเป็นส่วนใหญ่ โดยในงานโมบายล์เวิลด์คองเกรส วัน ได้รับรางวัล "อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ยอดเยี่ยม" (Best New Mobile Device) ซึ่งเป็นรางวัลจากจีเอสเอ็มเอ (GSMA)[34][35] อีกทั้งยังได้รับรางวัล "โทรศัพท์มือถือยอดเยี่ยม" (Best Phone) และ "โทรศัพท์มือถือที่ดีที่สุด" (Best in Show) จากเทคเรดาร์[36] วอลต์ มอสส์เบิร์ก นักข่าวจากเดอะวอลล์สตรีตเจอร์นัล ได้วิพากษ์วิจารณ์เอชทีซี วัน ว่ามีความชื่นชอบเป็นพิเศษ มากกว่าซัมซุง กาแลคซีเอส 4 และยังดูดีในเรื่องของวัสดุที่เป็นอะลูมิเนียม ซึ่งดูดีกว่ากาแลคซีเอส 4 ที่ใช้วัสดุเครื่องเป็นพลาสติก[37]

อนานด์เทค (AnandTech) ได้ให้รางวัล "มือถือตัวเลือกแรกของผู้เขียน" (Editor's Choice Gold) และระบุว่าเอชทีซี วัน เป็นโทรศัพท์มือถือที่ดี และมีประสิทธิภาพ ทั้งเรื่องนวัตกรรมใหม่และการออกแบบ ส่วนกล้องนั้นเป็นกล้องที่ดีที่สุดของอุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ด้วยการแบ่งพิกเซลและความไวของชัตเตอร์ และยกย่องเอชทีซี ที่ใช้เทคโนโลยีกล้องแบบใหม่ แทนที่การเพิ่มขนาดของภาพด้วยพิกเซลที่มากขึ้น ส่วนโซอีนั้นเป็นคุณสมบัติที่น่าสนใจมากที่สุดตัวหนึ่ง ที่เข้ากันได้ดีกับฮาร์ดแวร์ (เช่นหน้าจอ, กล้อง และลำโพง) ขณะที่กราฟิกในตัวเครื่อง ได้รับการชมว่ามีความคลาสสิคมีเอกลักษณ์[22]

การออกแบบวัสดุและกล้องของเอชทีซี วัน ได้รับการชื่นชมโดยซีเน็ต (CNET) และพีซีแม็กกาซีน (PC Magazine) อย่างไรก็ตาม พีซีแม็กกาซีน ได้วิจารณ์ในเรื่องของโปรแกรมที่ติดตั้งมาพร้อมกับตัวเครื่อง และไม่สามารถนำออกได้ ในรุ่นของเอทีแอนด์ที รวมไปถึงกล้องถ่ายรูป ที่สามารถถ่ายภาพออกมาได้ในขนาดเพียง 4 ล้านพิกเซล ซึ่งยากต่อการนำไปขยายภาพให้ใหญ่ขึ้น ส่วนซีเน็ต ก็ได้วิพากษ์วิจารณ์ในคุณสมบัติบลิงก์ฟีด ที่ขาดแหล่งที่มาของเนื้อหาที่จะนำมาแสดง และไม่สามารถที่จะกำหนดเองได้ แต่ก็ชื่นชมในการอัปเดตของเอชทีซี เซนส์ รุ่นใหม่ และโปรแกรมโทรทัศน์ และก็ได้รับวิจารณ์ในเรื่องของโปรแกรมบนเครื่องของเครือข่ายสปิรนต์ และเอทีแอนด์ที เช่นกัน แต่เอชทีซีได้ตัดสินใจย้ายโปรแกรมของผู้ให้บริการเครือข่ายไปไว้ในโฟลเดอร์รวมกัน[2][3]

และในเรื่องของการซ่อมแซม ไอฟิกอิต (iFixit) ได้ให้คะแนนเอชทีซี วัน 1 คะแนน จาก 10 คะแนน ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่า จะต้องใช้วิธีการที่ยากมากหรือแทบจะเป็นไปไม่ได้ ในการเปิดอุปกรณ์ออกมาโดยที่ตัวเครื่องไม่เป็นรอย และการซ่อมหน้าจอที่แตกนั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะซ่อมได้ อย่างไรก็ตาม ก็ได้รับการวิจารณ์ว่า โลหะอะลูมิเนียมที่ครอบไว้มีความทนทานสูง ทำให้ยากที่จะแกะซ่อมได้ โดยไอโฟน 5 และซัมซุง กาแลคซีเอส 4 ได้คะแนนจากไอฟิกอิตมากกว่าเอชทีซี วัน[38]

การวางขาย

[แก้]

ในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 เดอะวอลล์สตรีตเจอร์นัล' ได้รายงานว่าเอชทีซี วัน ได้ทำยอดขายไป 5 ล้านเครื่องทั่วโลก ตั้งแต่การเปิดตัวในเดือนมีนาคม หากเปรียบเทียบกับไอโฟน 5 โดยไอโฟน 5 ทำยอดขาย 5 ล้านเครื่องภายใน 3 วัน[39] และซัมซุง กาแลคซีเอส 4 ที่วางขาย 10 ล้านเครื่องภายในเดือนแรกหลังจากวางขาย[1]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "5 million HTC One sales is good news for Taiwanese firm". TechRadar. Future Publishing. สืบค้นเมื่อ 23 May 2013.
  2. 2.0 2.1 "HTC One Review". CNET. CBS Interactive. สืบค้นเมื่อ 06 May 2013. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  3. 3.0 3.1 "HTC One (AT&T) Review". PC Magazine. Ziff Davis. สืบค้นเมื่อ 06 May 2013. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  4. 4.0 4.1 "HTC One looks great. But will anyone care?". CNET. CBS Interactive. สืบค้นเมื่อ 20 March 2013.
  5. 5.0 5.1 "HTC One reboots Sense and hopes for a comeback". CNET. CBS Interactive. สืบค้นเมื่อ 19 February 2013.
  6. 6.0 6.1 "HTC's Peter Chou seen holding the upcoming M7". Pocket-lint. สืบค้นเมื่อ 2 February 2013.
  7. "More HTC M7 details emerge, focusing on design and Sense 5.0". Unwired View. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-07-21. สืบค้นเมื่อ 2 February 2013.
  8. "HTC One coming to Sprint, T-Mobile, AT&T in the US, arriving in UK on EE, Vodafone and O2 Mobile". Engadget. AOL. สืบค้นเมื่อ 19 February 2013.
  9. "HTC One coming to Verizon this summer". The Verge. สืบค้นเมื่อ 3 June 2013.
  10. "HTC One X Available Exclusively from AT&T Beginning May 6 for $199.99". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-20. สืบค้นเมื่อ May 4, 2012.
  11. "HTC vaguely confirms the One's impending availability". TechRadar. Future Publishing. สืบค้นเมื่อ 22 April 2013.
  12. "HTC One Launch Delayed Until Late April". All Things D. Dow Jones & Company. สืบค้นเมื่อ 22 March 2013.
  13. "HTC One faces shipment delays, may hit stores in April". CNET. CBS Interactive. สืบค้นเมื่อ 20 March 2013.
  14. "PSA: HTC One available today at AT&T and Sprint". Engadget. AOL. สืบค้นเมื่อ 22 April 2013.
  15. "Hot, hot, hot: HTC One production doubling to meet demand". TechRadar. Future Publishing. สืบค้นเมื่อ 24 May 2013.
  16. "Nokia granted preliminary injunction against HTC in the Netherlands over high-amplitude mics". Engadget. AOL. สืบค้นเมื่อ 22 April 2013.
  17. "After injunction over smartphone part, HTC plans switch to new microphone". The Verge. Vox Media. สืบค้นเมื่อ 25 April 2013.
  18. 18.0 18.1 "HTC One aims to make good first impression with all-metal body". CNET. สืบค้นเมื่อ 19 February 2013.
  19. 19.0 19.1 "Hands On With the HTC One". PC Magazine. Ziff Davis. สืบค้นเมื่อ 19 February 2013.
  20. 20.0 20.1 20.2 20.3 "HTC One announced: a 4.7-inch, 1080p Android flagship with an 'UltraPixel' camera". The Verge. Vox Media. สืบค้นเมื่อ 19 February 2013.
  21. "HTC One review (2013)". Engadget. AOL. สืบค้นเมื่อ 20 April 2013.
  22. 22.0 22.1 22.2 22.3 22.4 "The HTC One Review". AnandTech. AnandTech Inc. สืบค้นเมื่อ 5 May 2013.
  23. "HTC explains why 4 megapixels are better than 8". CNET. CBS Interactive. สืบค้นเมื่อ 19 February 2013.
  24. 24.0 24.1 "HTC One imaging in depth: UltraPixel camera and Zoe Share". Engadget. AOL. สืบค้นเมื่อ 19 February 2013.
  25. 25.0 25.1 25.2 25.3 25.4 "HTC One software hands-on: Sense 5, BlinkFeed, Sense TV and new Sync Manager". Engadget. AOL. สืบค้นเมื่อ 19 February 2013.
  26. "HTC: One X, One S, Butterfly will be updated to Sense 5". Pocket-lint. Pocket-lint Ltd. สืบค้นเมื่อ 28 February 2013.
  27. "HTC One Android 4.2.2 update adds UI features, sticks with Sense 5.0". Engadget. AOL. สืบค้นเมื่อ 3 June 2013.
  28. "HTC does what Google wouldn't: sell an LTE phone that sidesteps AT&T". The Verge. Vox Media. สืบค้นเมื่อ 10 May 2013.
  29. "HTC One with stock Android announced, launching June 26th for $599". The Verge. สืบค้นเมื่อ 30 May 2013.
  30. "Google turns the Samsung Galaxy S4 into a Nexus phone, coming June 26th for $649". The Verge. สืบค้นเมื่อ 15 May 2013.
  31. "HTC One announced in China. Gets dual SIM, micro-SD, removable back-cover, but no removable battery". Unwired View. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-14. สืบค้นเมื่อ 6 May 2013.
  32. "Why no HTC One on Verizon, microSD for US and UK? HTC explains". TechRadar. Future Publishing. สืบค้นเมื่อ 28 May 2013.
  33. "KDDI's HTC J One variant packs a microSD slot (updated)". Engadget. AOL. สืบค้นเมื่อ 23 May 2013.
  34. "Winners 2013". GSM Accociation. สืบค้นเมื่อ 29 April 2013.
  35. "HTC One wins award for best new mobile handset, device or tablet at MWC 2013". PhoneArena. สืบค้นเมื่อ 7 May 2013.
  36. "HTC One beats Xperia Tablet Z to Best in Show at MWC 2013". TechRadar. Future Publishing. สืบค้นเมื่อ 29 April 2013.
  37. Mossberg, Walt. "Galaxy S 4 Is a Good, but Not a Great, Step Up". All Things D. Dow Jones & Company. สืบค้นเมื่อ 19 May 2013.
  38. "Try not to break your HTC One. It's harder to fix than the iPhone". TechRadar. Future Publishing. สืบค้นเมื่อ 28 May 2013.
  39. Graham, Jefferson (September 24, 2012). "Apple: Weekend sales top 5 million for iPhone 5". USA Today. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-11. สืบค้นเมื่อ October 26, 2012.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]