ข้ามไปเนื้อหา

เอกชัย นพจินดา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เอกชัย นพจินดา
ย.โย่ง
เอกชัย นพจินดา ขณะรายงานข่าวกีฬาเอเชียนเกมส์ 1994
เกิด21 มิถุนายน พ.ศ. 2496
อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร ประเทศไทย
เสียชีวิต6 มีนาคม พ.ศ. 2540 (43 ปี)
โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล กรุงเทพมหานคร​ ประเทศไทย
สาเหตุเสียชีวิตภาวะหัวใจวาย
สัญชาติไทย
ชื่ออื่นย.โย่ง
การศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย
ศิษย์เก่าวชิราวุธวิทยาลัย
อาชีพผู้บรรยายการแข่งขันกีฬา
ผู้ประกาศข่าวกีฬา
บรรณาธิการ
คอลัมนิสต์
ปีปฏิบัติงานพ.ศ. 25172540
นายจ้างสยามสปอร์ตซินดิเคท (2517–2540)
ช่อง 7HD (2531–2540)
มีชื่อเสียงจากคัมภีร์ฟุตบอลเมืองไทย
โทรทัศน์ช่อง 7HD
คู่สมรสยุรี นพจินดา
บุตรทวีพร นพจินดา
ญาติธราวุธ นพจินดา
เว็บไซต์เอกชัย นพจินดา

เอกชัย นพจินดา ชื่อเล่น นิดหน่อย​ แต่นิยมเรียกนามแฝง​ว่า แจ็กกี้ อดีตผู้บรรยายการแข่งขันกีฬาที่มีชื่อเสียง, อดีตผู้ประกาศข่าวกีฬาทาง ช่อง 7HD, อดีตบรรณาธิการและคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวัน, สตาร์ซอคเก้อร์รายวัน และนิตยสารสตาร์ซอคเก้อร์รายสัปดาห์

ประวัติ

[แก้]

เอกชัยเกิดเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2496 ที่จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของพันโทไพฑูรย์ (บิดา) กับพันโทหญิงอุไร (มารดา) มีน้องชายซึ่งเป็นที่รู้จักทั่วไปคือธราวุธ นพจินดา (เกิด: 31 มีนาคม พ.ศ. 2499; ถึงแก่กรรม: 19 มิถุนายน พ.ศ. 2555; อายุ 56 ปี) [1] แต่ได้โยกย้ายมาอาศัยที่อำเภอลำสนธิ จังหวัดลพบุรี เอกชัยเริ่มเข้าศึกษาชั้นประถมที่โรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ค่ายนารายณ์ศึกษา จังหวัดลพบุรี แต่เนื่องจากพ่อของเขารับราชการทหารก็ต้องโยกย้ายอยู่เสมอ จึงย้ายไปเรียนต่อที่โรงเรียนอักษรเจริญ และมาจบการศึกษาชั้นมัธยมจากวชิราวุธวิทยาลัย และเมื่อปี พ.ศ. 2532 เขาสมรสกับยุรี (นามสกุลเดิม: วีระสุคนธ์; เกิด: 12 มีนาคม พ.ศ. 2504; ถึงแก่กรรม: 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2550; อายุ 46 ปี) พยาบาลประจำโรงพยาบาลศิริราช โดยทั้งสองพบกันในปี พ.ศ. 2529 ระหว่างที่เอกชัยเข้ารับการผ่าตัด เส้นเอ็นลูกสะบ้าที่หัวเข่าข้างซ้ายซึ่งฉีกขาด และทั้งคู่มีบุตรสาวด้วยกันคนหนึ่ง ชื่อทวีพร นพจินดา (ชื่อเล่น: แตงโม) ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2533

งานสื่อมวลชนสายกีฬา

[แก้]

ในขณะที่เอกชัยกำลังศึกษาอยู่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง พ่อของเขาได้เสียชีวิตลง เขาจึงลาออกจากมหาวิทยาลัยและเข้าสู่วงการสื่อมวลชนสายกีฬา เพราะความชื่นชอบในกีฬาฟุตบอลตั้งแต่ยังเด็ก โดยเฉพาะฟุตบอลอังกฤษ (เป็นแฟนของสโมสรฟุตบอลลีดส์ยูไนเต็ด) โดยเริ่มจากการเป็นนักแปลข่าวกีฬาที่หนังสือพิมพ์บ้านเมืองเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2517 จากนั้นพิศณุ นิลกลัด ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าข่าวกีฬาของบ้านเมือง, ผู้สื่อข่าวกีฬาของสยามสปอร์ตซินดิเคท และช่อง 7 สี จึงทาบทามให้เอกชัยมาเป็นผู้แปลข่าว การแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งที่ 11 ซึ่งสาธารณรัฐอาร์เจนตินาเป็นเจ้าภาพในปี พ.ศ. 2521 ให้กับทางสยามสปอร์ตฯ

จากนั้นจึงรับงานเขียนคอลัมน์ และเป็นบรรณาธิการหนังสือ ในเครือสยามสปอร์ตอีกหลายฉบับ โดยใช้นามปากกาว่า ย.โย่ง เนื่องจากเป็นผู้มีรูปร่างผอมสูง ต่อมายังเป็นผู้ประกาศข่าวกีฬา ในช่วงข่าวภาคค่ำประจำวัน และผู้บรรยายการแข่งขันกีฬาทางช่อง 7 สี โดยเอกชัยเริ่มทำงานกับทางช่อง 7 สีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 ร่วมกับ จักรพันธุ์ ยมจินดา และพิศณุด้วย จนมีชื่อเสียงในฐานะผู้บรรยายฟุตบอลที่มีความสามารถมากที่สุดคนหนึ่ง เนื่องจากมีความรอบรู้ในเรื่องฟุตบอลอย่างแตกฉาน เอกชัยจึงได้รับฉายาจากแฟนฟุตบอล ผู้อ่านและผู้ชมว่าเป็น คัมภีร์ลูกหนัง หรือ คัมภีร์ฟุตบอล ของประเทศไทย ทั้งนี้ นายเอกชัยยังมีชื่อเสียง จากการเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ประเภทกีฬา นาทีระทึกใจ, ชั่วโมงระทึกใจ และ เจาะสนาม ที่ผลิตโดย บริษัท จีเอส เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด และออกอากาศทางช่อง 7 สี

การเสียชีวิต

[แก้]

เอกชัยถึงแก่อนิจกรรมอย่างกะทันหัน เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2540 เวลา 21.45 น. ด้วยภาวะหัวใจวาย ขณะนำส่งโรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล ระหว่างการเล่นเทนนิส ร่วมกลุ่มกับสุรางค์ เปรมปรีดิ์ อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด, พิศณุ และเพื่อนร่วมงาน ที่สนามเทนนิสภายในที่ทำการ ช่อง 7 เอชดี ญาติประกอบพิธีสวดพระอภิธรรมศพ ที่ศาลา 12 วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร ต่อมาในวันที่ 17 มีนาคม ปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเป็นองค์ประธาน ในพิธีพระราชทานเพลิงศพเอกชัย หลังจากนั้น ยุรี นพจินดาและยอดชาย ขันธะชวนะ (นามปากกา: ยอดทอง) เพื่อนสนิทตั้งแต่ครั้งศึกษาที่วชิราวุธวิทยาลัย จนกระทั่งร่วมงานกันที่สยามสปอร์ตฯ ร่วมกันก่อตั้งมูลนิธิเอกชัย นพจินดา ขึ้นเพื่อช่วยเหลือนักกีฬาเยาวชน และกิจการกีฬาของประเทศไทย

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]