ข้ามไปเนื้อหา

เส้นทางสายเกลือเก่า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ผิวถนนเส้นทางสายเกลือเก่า

เส้นทางสายเกลือเก่า (อังกฤษ: Old Salt Route, เยอรมัน: Alte Salzstraße) เป็นเส้นทางการค้าของยุคกลางทางตอนเหนือของเยอรมนีที่ใช้ในการขนส่งเกลือและสินค้าอื่น ๆ

เกลือเป็นสินค้าที่มีค่าสูงในยุคกลางซึ่งทำให้บางครั้งก็เรียกกันว่า “ทองขาว” เกลือที่ขนส่งบนเส้นทางสายนี้ส่วนใหญ่มาจากเหมืองใกล้ลือเนอบวร์ค (Lüneburg) ซึ่งเมืองทางเหนือตอนกลางของเยอรมนี จากนั้นก็ขนส่งไปยังลือเบค ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญของเยอรมนีบนฝั่งทะเลบอลติก[1]

ประวัติ

[แก้]

นักประวัติศาสตร์ยอมรับกันว่าเส้นทางสายเกลือเก่าเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าที่ยาวกว่า ที่ใช้เป็นเส้นทางสำคัญในการเชื่อมระหว่างทางตอนเหนือและใต้ของเยอรมนี จากเอกสารที่เก่าที่สุดสนับสนุนหลักฐานที่ว่าลือเนอบวร์คมีบทบาทในการขนส่งเกลือมาตั้งแต่ ค.ศ. 956 ในเอกสารฉบับนั้นสมเด็จพระจักรพรรดิออตโตที่ 1 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์พระราชทานสิทธิให้สำนักสงฆ์เซนต์มิเคลลิส (St. Michaelis Monastery) ให้เก็บค่าธรรมเนียมจากการทำเกลือได้ แม้จะในเวลานั้นความมั่งคั่งของเมืองส่วนใหญ่ก็มาจากรายได้จากเกลือที่พบในบริเวณนั้น[2] เส้นทางสายเกลือเก่ารุ่งเรืองที่สุดระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 12 ถึง คริสต์ศตวรรษที่ 16[1]

เส้นทางการค้าสายนี้เริ่มตั้งแต่ลือเนอบวร์คไปสิ้นสุดที่ลือเบค จากเมืองท่าลือเบคเกลือส่วนใหญ่ก็ถูกส่งต่อไปยังเมืองต่าง ๆ บนฝั่งทะเลบอลติกที่รวมทั้งฟาลสเตอร์โบ (Falsterbo) ที่เป็นที่ตั้งของตลาดสแกนเนีย (Scania Market) หรือตลาดเฮอร์ริง ที่ใช้เกลือในการทำผลิตผลต่าง ๆ จากปลาเฮอร์ริง ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญของยุคกลาง และในการถนอมอาหารอื่น ๆ การค้าขายเกลือเป็นปัจจัยอันสำคัญของความมีอำนาจของลือเบคและสันนิบาตฮันเซียติก[3]

การขนส่งเกลือ

[แก้]
แผนที่เส้นทางสายเกลือเก่า

การขนส่งเกลือทำโดยการใช้เกวียนที่ลากด้วยม้าจากลือเนอบวร์คข้ามแม่น้ำเอลเบที่อาร์ตเล็นบวร์ก (Artlenburg) จากที่นั่นก็ผ่านทางเมิลเลน (Mölln) ไปยังลือเบค ผิวถนนส่วนใหญ่เป็นเพียงทางเดินหรือทางเกวียนที่ไม่มีผิวที่ได้รับการปราบหรือปูด้วยวัสดุที่แข็ง เป็นเพียงถนนที่เป็นทรายและเป็นโคลนเมื่อฝนตกหนัก ทางผ่านทุ่ง ป่า และหมู่บ้านเล็ก ๆ ซึ่งทำให้การขนส่งเป็นไปอย่างลำบากยากเข็ญ นอกจากนั้นก็ยังเป็นถนนที่อันตรายจากโจรผู้ร้าย เพราะสิ่งที่ขนส่งเป็นของที่มีค่า การขนส่งแต่ละครั้งทำได้เพียงจำนวนจำกัดซึ่งทำให้กลายเป็นสินค้าที่มีค่า[1][4]

ในปี ค.ศ. 1398 เมื่อมีการเปิดใช้คลองชเต็คนิทซ์ (Stecknitz Canal) ซึ่งเป็นคลองในบรรดาคลองขุดแรกของยุโรป การขนส่งเกลือก็ทำได้ง่ายขึ้นและเป็นจำนวนมากขึ้น ซึ่งสามารถทำให้ตอบสนองความต้องการของตลาดที่เพิ่มขึ้นได้มากยิ่งขึ้น[4] ตัวอย่างเช่นในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ลือเนอบวร์คส่งเกลือประมาณ 19,000 ตันต่อปีไปยังลือเบค แต่ไม่ว่าจะขนทางบกหรือทางน้ำการขนส่งก็ยังใช้เวลาราวยี่สิบวันจึงจะถึงที่หมาย[1]

การท่องเที่ยว

[แก้]

ในสมัยปัจจุบันการท่องเที่ยวตามเส้นทางสายเกลือเก่าเป็นการท่องเที่ยวที่ได้รับทั้งประสบการณ์ทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ที่นักท่องเที่ยวอาจจะทำได้โดยการเดินเท้า หรือ การขี่จักรยาน และบางส่วนอาจจะทำโดยเรือ ระหว่างทางก็มีเมืองที่น่าสนใจและมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่รวมทั้งลือเนอบวร์ค เมิลเลน ลือเบค[1]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 Sell, Nora. Die Alte Salzstraße – von Lüneburg nach Lübeck. [1]
  2. St. Michaelis Lüneburg. “St. Michaelis Lüneburg - die Bachkirche im Norden”. [2] เก็บถาวร 2009-03-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 2003.
  3. Pulsiano, Phillip and Wolf, Kirsten. Medieval Scandinavia. [3] Taylor & Francis. 1993. ISBN 0824047877, p. 651.
  4. 4.0 4.1 DHL. “The Old Salt Road – Logistics networks today and yesterday”. [4]

ดูเพิ่ม

[แก้]