เสือโค ก กา
ผู้ประพันธ์ | หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) |
---|---|
ประเทศ | ประเทศสยาม |
ภาษา | ภาษาไทย |
ประเภท | ชาดก, แบบเรียน |
เสือโค ก กา หรือ ทศมูลเสือโค เป็นแบบเรียนไทยที่แต่งขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น แต่งโดยหมื่นพรหมสมพัตสร (มี)
ลักษณะและเนื้อหา
[แก้]วรรณกรรมแต่งเป็นกาพย์ชนิดต่าง ๆ เช่น กาพย์ฉบัง 16 กาพย์ยานี 11 กาพย์สุวัณมาลา 28 ฯลฯ ตอนท้ายเรื่องแต่งเป็นกลอนสุภาพ[1] โดยมีลักษณะแสดงให้เห็นเป็นแบบฝึกหัดอ่านมาตราตัวสะกดต่าง ๆ ใช้รูปแบบคำประพันธ์ที่ไม่ปรากฏในกวีนิพนธ์ของกวีท่านอื่นและกวียังใช้รูปแบบคำประพันธ์กลบทชนิดต่าง ๆ ทำให้เป็นเอกลักษณ์[2]
เนื้อเรื่อง เสือโค ก กา ดำเนินตามเรื่อง เสือโคคำฉันท์ และบทละครเรื่อง คาวี ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นที่รู้จักในสังคมไทยมาตั้งแต่สมัยอยุธยา แต่เนื้อเรื่องไม่จบ ดำเนินถึงตอนที่นางคาวีได้เป็นนางชายา
ประวัติ
[แก้]หมื่นพรหมสมพัตสร (มี) แต่งขึ้นขณะยังเป็นภิกษุเพื่อใช้เป็นแบบเรียนสอนลูกศิษย์ หลังจากลาสิกขาจนรับราชการย้ายจากมหาดเล็กช่างเขียนมาเป็นอาลักษณ์แล้วจึงได้แต่งปรับปรุงกาพย์ตอนต้นขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวใน พ.ศ. 2381 เพื่อใช้ถวายพระอักษรพระเจ้าลูกเธอตามรับสั่ง
ต้นฉบับมีทั้งสมุดไทยขาวและสมุดไทยดำ ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร มีอยู่ 4 ฉบับ[3]
เสือโค ก กา หรือ ทศมูลเสือโค ได้รับการตีพิมพ์สองครั้ง ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2474 ครั้งที่สองพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2521[4]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "ทศมูลเสือโค". นามานุกรมวรรณคดีไทย.
- ↑ "เสือโค ก กา : แบบฝึกหัดอ่านสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น". สำนักวรรณกรรมเเละประวัติศาสตร์.
- ↑ "คำชี้แจงในการตรวจสอบชำระ เรื่อง เสือโค ก กา". วัชรญาณ.
- ↑ นิยะดา เหล่าสุนทร. "พินิจวรรณการ: รวมบทความวิจัยด้านวรรณคดีและภาษา". มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ ภาควิชาวรรณคดี.