ข้ามไปเนื้อหา

เสือหวัด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สวัสดิ์ โพธิ์หอม
ภาพเปรียบเทียบกลุ่มโจร "เสือหวัด"
เกิดพ.ศ. 2460 กว่าๆ
จังหวัดสุพรรณบุรี ประเทศสยาม
เสียชีวิตพ.ศ. 2491
จังหวัดสุพรรณบุรี ประเทศไทย
สัญชาติไทย
อาชีพชาวนา, โจร

เสือหวัด หรือ เสือสวัสดิ์ เป็นจอมโจรเมืองสุพรรณ ร่วมสมัยกับ เสือฝ้าย, เสือดำ, เสือใบ, เสือมเหศวร เรื่องราวของเสือหวัดยังไม่ชัดเจน ปรากฏข้อมูลว่าเป็นเสือ (โจร) ที่มีประวัติร้ายกาจ และค่าหัวสูง[1] ออกปล้นในพื้นที่ภาคกลาง ภาคตะวันตก เช่น จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครปฐม จังหวัดกาญจนบุรี

ประวัติ

[แก้]

เสือหวัด มีชื่อจริงว่า นายสวัสดิ์ ชื่อเล่นว่า นายหวัด นามสกุล โพธิ์หอม เกิดที่บ้านตำบลมดแดง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อราว พ.ศ. 2460 กว่าๆ

นายสวัสดิ์ เติบโตในครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรรม ช่วยบิดามารดาทำนา กระทั่งวัยหนุ่ม คืนหนึ่งมีโจรลักควายในหมู่บ้าน นำควายมาทางบ้านนายสวัสดิ์ นายสวัสดิ์ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นโจร เจ้าหน้าที่จึงดำเนินการจับกุม ดำเนินคดีและส่งตัวคุมขัง ณ เรือนจำแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร

ระหว่างถูกคุมขังมีเจ้าหน้าที่ออกอุบายว่าจะปล่อยตัวนายสวัสดิ์กับนักโทษอีกจำนวนหนึ่ง แต่ต้องไปปล้นทรัพย์สินเพื่อนำมาแลกกับอิสรภาพ ภายหลังได้มีการตลบหลังเพื่อปิดปาก แต่นายสวัสดิ์กับพรรคพวกบางคนหลบหนีไปได้ ถูกตั้งข้อหาอุกฉกรรจ์ จึงแยกย้ายหลบหนีคนละทิศทาง

ชีวิตระหว่างที่เป็นเสือ

[แก้]

นายสวัสดิ์หลบหนีซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือระยะเวลาหนึ่ง ระหว่างนั้นเจ็บป่วยจนแทบเอาชีวิตไม่รอด เมื่อรักษาตัวหายดีแล้ว ทราบข่าวกิตติศัพท์ของเสือฝ้ายที่จังหวัดสุพรรณบุรีซึ่งเป็นบ้านเกิด จึงลอบเข้าพื้นที่พบเสือฝ้าย เข้าร่วมเป็นสมาชิกในชุมโจรเสือฝ้ายซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในขณะนั้น[2]

ระหว่างอยู่ในชุมโจรเสือฝ้ายออกปล้นหลายพื้นที่ อาทิ จังหวัดพิจิตร จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดชัยนาท จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดอ่างทอง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดสุพรรณบุรี[2] โดยปล้นเฉพาะผู้ที่มีฐานะร่ำรวย แล้วนำทรัพย์สินบางส่วนไปแจกจ่ายชาวบ้านเพื่อเป็นการปิดปากการให้เบาะแส และมอบให้เจ้าหน้าที่บางรายที่ทุจริตรับสินบน ส่งผลให้ชุมโจรเสือฝ้ายหนีรอดจากการจับกุมได้เสมอ

เสือหวัดมีฝีมือร้ายกาจ ค่าหัวสูง[1] มีลักษณะนิสัย พูดน้อย ใจนักเลง มักนำทรัพย์สินที่ปล้นได้ส่วนของตนแจกจ่ายแก่คนรอบข้าง โดยมีเพื่อนสนิทในชุมโจรเดียวกัน คือ เสือใบ และเสืออิ่ม ทองแดง

เมื่อเสือฝ้ายวางมือจากการปล้น เสือหวัด เสืออิ่ม ทองแดง จึงตั้งกลุ่มโจรขึ้นใหม่ ออกปล้นเรือโยง เรือบรรทุก ในย่านแม่น้ำลำคลอง พื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดนครปฐม จังหวัดกาญจนบุรี[3]

เสือหวัดเคยก่อคดีอุกอาจนำพรรคพวกปล้นบ้านนายอำเภอแห่งหนึ่ง ถูกนายอำเภอใช้ปืนลูกซองยิงตกลงจากบ้าน แต่ไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ จับตัวนายอำเภอและสมาชิกในบ้านมัดไว้ แล้วปล้นเอาทรัพย์สินและปืนทองของนายอำเภอไปด้วย

มรณกรรม

[แก้]

พ.ศ.2491 เสือหวัดเดินทางไปเยี่ยมครอบครัวที่บ้านเกิด ขากลับได้รับชายฉกรรจ์จำนวนหนึ่งไปสมทบเป็นสมาชิกกลุ่มโจร จากนั้นจึงร่วมมือกับเสืออิ่ม ทองแดง และพรรคพวกปล้นเรือพ่วงที่บ้านบางซอ อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี แล้วถูกร้อยตำรวจเอก ยอดยิ่ง สุวรรณาคร (ยศในขณะนั้น) พร้อมกองกำลังเจ้าหน้าที่กองปราบควบคุมตัว นำไปวิสามัญฆาตกรรมในพื้นที่หมู่ที่ 5 ตำบลบางใหญ่ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี ทิ้งศพตากแดดประจานไว้เป็นเวลาหลายวัน กระทั่งผู้ใหญ่สวาท ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 ได้ทำการฌาปนกิจศพ ณ กลางท้องทุ่งนั้น[3]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 ผงทอง. (2515, พฤศจิกายน). อภินิหารหลวงพ่อเนียม วัดน้อย.อภินิหารและพระเครื่อง. 1(5): 72-73.
  2. 2.0 2.1 นายฉันทนา. (2490, จันทร์ 19, พฤษภาคม). อวสานต์ของเสือฝ้าย. สยามสมัยรายสัปดาห์, 12-15.
  3. 3.0 3.1 เสมียน หงษ์โต. บรรพชนคนบางแม่หม้าย นักสู้ผู้ไร้ชื่อในประวัติศาสตร์ไทย. [ม.ป.ท.] : [ม.ป.พ.], 2561.