ข้ามไปเนื้อหา

สระ (สัทศาสตร์)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เสียงสระ)

ในทางสัทศาสตร์ สระ (สะ-หฺระ) หมายถึงเสียงในภาษาที่เปล่งออกมาจากช่องเสียง (vocal tract) ที่เปิดออกโดยตรงจากช่องเส้นเสียง (glottis) โดยไม่กักอากาศ ตัวอย่างเช่น "อา" หรือ "โอ" (โดยไม่กักอากาศด้วยอักษร ) ตรงข้ามกับพยัญชนะซึ่งมีการกักอากาศอย่างน้อยหนึ่งจุดภายในช่องเสียง เสียงสระสามารถจัดได้ว่าเป็นพยางค์ ส่วนเสียงเปิดที่เทียบเท่ากันแต่ไม่สามารถเปล่งออกมาเป็นพยางค์ได้เรียกว่า กึ่งสระ (semivowel)

เสียงสระเป็นแกนพยางค์ (syllable nucleus) ในทุกภาษา ซึ่งเสียงพยัญชนะจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังเสียงสระเสมอ อย่างไรก็ตามในบางภาษาอนุญาตให้เสียงอื่นเป็นแกนพยางค์ เช่นคำในภาษาอังกฤษ table [ˈteɪ.bl̩] "โต๊ะ" ใช้เสียง l เป็นแกนพยางค์ (ขีดเล็กๆ ที่อยู่ใต้ l หมายถึงสามารถออกเสียงได้เป็นพยางค์ ส่วนจุดคือตัวแบ่งพยางค์) หรือคำในภาษาเซอร์เบีย vrt [vr̩t] "สวน" เป็นต้น แต่เสียงเหล่านี้ไม่เรียกว่าเป็นเสียงสระ

สระในระบบการเขียน

[แก้]

อักษรละติน

[แก้]

สระ ยังหมายถึงสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนของเสียงสระในระบบการเขียนของภาษาหนึ่งๆ โดยเฉพาะถ้าสระนั้นมีการใช้อักษร ในระบบการเขียนที่มีพื้นฐานบนอักษรละติน อักษร A, E, I, O, U, W, และ Y ถูกใช้แทนเสียงสระ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ภาษาทั้งหมดที่ใช้อักษรทุกตัวเป็นเสียงสระ และบางตัวก็ใช้แทนเสียงกึ่งสระเช่น W กับ Y นอกจากนั้นก็ยังมีอักษรละตินที่ปรับแต่งเพิ่มเติมเป็นสระชนิดใหม่ ตัวอย่างเช่น Ä, Ö, Ü, Å, Æ, และ Ø เป็นต้น

เสียงสระที่แทนด้วยอักษรสระออกเสียงแตกต่างกันไปในแต่ละภาษา บางภาษาใช้ I และ Y สำหรับแทนเสียงพยัญชนะ [j] เมื่อปรากฏเป็นอักษรตัวแรกเช่นในภาษาโรมาเนียและภาษาอังกฤษตามลำดับ ในตอนเริ่มแรกนั้น อักษรละตินไม่มีความแตกต่างระหว่าง V กับ U ซึ่งใช้แทนเสียงพยัญชนะ [w] และเสียงสระ [u] กับ [ʊ] แต่ในปัจจุบันภาษาเวลส์ (Welsh) ใช้ W แทนเสียงเหล่านี้ทั้งหมด หรือในภาษาครีก (Creek) กลับใช้ V แทนเสียงสระ [ə] ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจับคู่เสียงสระแบบหนึ่งต่อหนึ่งเข้ากับอักษรสระโดยตรง หลายภาษาที่ใช้อักษรละตินและมีเสียงสระมากมายก็สามารถใช้อักษรสระห้าตัวหลัก A, E, I, O, และ U เป็นตัวแทนได้

ในภาษาอื่นๆ ที่มีเสียงสระมากมายแต่ไม่มีอักษรสระพอใช้ หลายภาษาแก้ปัญหานี้ด้วยการผสมอักษรสระสองตัวขึ้นไปเข้าด้วยกัน หลายภาษาใช้การปรับแต่งด้วยการเพิ่มเครื่องหมายเสริมสัทอักษรลงบนอักษรสระ เช่น À, Á, Â, Ä ในภาษาฝรั่งเศส และมีบางภาษาเปลี่ยนอักษรสระเสียใหม่โดยการนำมาเชื่อมกันหรือดัดแปลงเป็นอักษรอื่น เช่น Æ กับ Ø ในภาษากลุ่มสแกนดิเนเวีย สำหรับสัทอักษรสากลได้กำหนดสัญลักษณ์ไว้ 28 แบบสำหรับแทนเสียงสระพื้นฐาน และมีเครื่องหมายเสริมสัทอักษรกลุ่มหนึ่งเพื่อปรับแต่งเสียงสระที่แตกต่างจากเสียงสระพื้นฐาน

สระเป็นปัญหาหนึ่งของการทับศัพท์ เนื่องจากเสียงสระในภาษาหนึ่งอาจไม่มีในอีกภาษาหนึ่ง หรือสามารถแทนได้มากกว่าหนึ่งเสียง ทางออกที่มักใช้คือการใช้เสียงสระที่ใกล้เคียง หรือกำหนดด้วยหลักเกณฑ์การทับศัพท์โดยองค์กรควบคุมการใช้ภาษา

สระลอยและสระจม

[แก้]

สระลอย (independent vowel) หมายถึงสระที่ไม่ต้องมีพยัญชนะต้นกำหนด ก็สามารถประสมเป็นคำหรือพยางค์ได้ ซึ่งตรงข้ามกับ สระจม (dependent vowel) ที่จำเป็นต้องมีพยัญชนะต้นจึงประสมเป็นคำหรือพยางค์ได้