ข้ามไปเนื้อหา

เสาตรานติกะ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เสาตรานติกะ[1] หรือสุตตวาท เป็นพระพุทธศาสนานิกายหนึ่ง คัมภีร์ฝ่ายสันสกฤตระบุว่าแยกมาจากนิกายสรวาสติวาท ส่วนฝ่ายบาลีว่าแยกมาจากนิกายสังกันติกะ เหตุที่แยกออกมาเพราะเมื่อคณาจารย์ฝ่ายสรวาสติวาทหันไปนับถือพระอภิธรรมปิฎกมากขึ้น แต่มีบางส่วนเห็นแย้งว่าพระสุตตันตปิฎกสำคัญกว่า กลุ่มนี้จึงแยกมาตั้งนิกายใหม่ นิกายทั้ง 2 นี้ขัดแย้งกันอย่างรุนแรง จนมีกล่าวโต้แย้งปรัชญาซึ่งกันและกัน นิกายนี้แพร่หลายอยู่ทางตอนเหนือของอินเดีย

เชื่อว่าผู้ก่อตั้งนิกายนี้คือพระกุมารลาตะ ไม่มีคัมภีร์ของนิกายนี้เหลืออยู่ คงมีแต่ที่กล่าวพาดพิงถึงในคัมภีร์ของนิกายสรวาสติวาทเท่านั้น ปรัชญาของนิกายนี้เชื่อว่าความจริงมีสองอย่างคือวัตถุกับจิตใจ เน้นเรื่องอนิจจัง ทุกอย่างไม่เที่ยงทั้งภาวะและอภาวะ ชีวิตเป็นเพียงลำดับของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ความรู้ทั้งหลายจะรู้ได้เฉพาะอนุมานประมาณเท่านั้น เพราะจิตไม่อาจยึดความจริงที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้[2] นิกายนี้ถือว่าเฉพาะวิญญาณขันธ์ในขันธ์ห้าเท่านั้นที่ไปเกิดใหม่ได้ ซึ่งขัดแย้งกับนิกายสางมิตียะ เชื่อว่าทุกคนมีธาตุแห่งพุทธะอยู่ในตัวเช่นเดียวกับความเชื่อของฝ่ายมหายาน

นิกายนี้เมื่อแพร่หลายไปที่ญี่ปุ่นเรียกว่านิกายโจจิตสุ

อ้างอิง

[แก้]
  1. ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, ราชบัณฑิตยสถาน, 2548, หน้า 508
  2. ฟื้น ดอกบัว.ปวงปรัชญาอินเดีย. กทม. ศยาม. 2555 หน้า 371 - 373
  • ประสงค์ แสนบุราณ. พระพุทธศาสนามหายาน. กทม. โอเดียนสโตร์. 2548
  • อภิชัย โพธิ์ประสิทธิ์ศาสตร์. พระพุทธศาสนามหายาน. พิมพ์ครั้งที่ 4. กทม. มหามกุฏราชวิทยาลัย. 2539