เวย์น ธีโบด์
เวย์น ธีโบด์ Wayne Thiebaud | |
---|---|
เกิด | Morton Wayne Thiebaud[1] 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1920 เมซา, แอริโซนา, สหรัฐอเมริกา |
เสียชีวิต | 25 ธันวาคม ค.ศ. 2021 Sacramento, California สหรัฐอเมริกา | (101 ปี)
สัญชาติ | อเมริกัน |
การศึกษา | Sacramento State College San Jose State College Sacramento State |
มีชื่อเสียงจาก | จิตรกรรม, Printmaking |
ขบวนการ | ป็อปอาร์ต, ลัทธิสัจนิยมใหม่, Bay Area Figurative Movement |
รางวัล | National Medal of Arts (1994) |
เวย์น ธีโบด์ (อังกฤษ: Wayne Thiebaud) เกิดที่เมืองเมซา รัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1920[2] และเป็นที่รู้จักกันในนามของศิลปินที่สร้างสรรค์งานจิตรกรรมในหัวข้อของสิ่งของในชีวิตประจำวัน หรือของกิน ไม่ว่าจะเป็นขนมเค้ก ขนมอบ พาย ไอศกรีมโคน เครื่องสำอางหรือรองเท้า แม้ว่างานส่วนใหญ่ของเขาจะถูกสร้างขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 50-60 ธีโบด์ก็ถูกนับว่าเป็นจิตรกรชาวอเมริกันที่อยู่ในกระแสความเคลื่อนไหวป็อปอาร์ต (อังกฤษ:Pop Art)งานของเขามักจะใช้สีสันที่ฉูดฉาดและเกินจริง และมีการใช้เงาที่มีลักษณะพิเศษเพื่อนำเสนอผลงาน
ชีวประวัติ การศึกษาและอาชีพ
[แก้]เวย์น ธีโบด์ (Wayne Thiebaud) เกิดที่เมืองเมซา รัฐแอริโซนา ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1920 ช่วงอายุหกปีครอบครัวของเขาต้องย้ายไปอยู่ที่ลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย ทำให้ช่วงชีวิตวัยเด็กส่วนใหญ่ของธีโบด์จะอาศัยอยู่ที่ทางตอนใต้ของแคลิฟอร์เนีย ถึงแม้ว่ารากฐานครอบครัวจะอยู่ทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ก็ตาม นอกจากนี้ธีโบด์ยังได้ใช้เวลาหลายปีอาศัยที่ฟาร์มปศุสัตว์ของคุณลุงในยูทาห์ (Utah) อีกด้วย จนกระทั่งช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนหนึ่งในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลาย เขาได้เข้าทำงานกับเดอะวอลต์ดิสนีย์สตูดิโอ (the Walt Disney Studios) เป็นช่วงเวลาสั้นๆในปี ค.ศ. 1936-1937[3] ในฐานะผู้วาดตัวการ์ตูนให้แลดูมีชีวิตชีวา กระนั้นช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนถัดมาในปี ค.ศ. 1938 ธีโบด์ได้เข้าศึกษาที่โรงเรียนแฟรงค์วิกกินส์เทรด (Frank Wiggins Trade School) ในลอสแอนเจลิส (Los Angelis) เพื่อเรียนรู้การวาดภาพตามที่เขาได้ตั้งใจเอาไว้และเริ่มที่จะเรียนรู้การวาดภาพที่เกี่ยวกับการค้า
อย่างไรก็ตามอาชีพนักวาดการ์ตูนและนักออกแบบกราฟิกก็ต้องถูกขัดจังหวะโดยการผันตนเองไปรับใช้ชาติในสงครามโลกครั้งที่สอง (World War II) ในกองทัพทหารอากาศ แต่ด้วยทักษะด้านศิลปะทำให้เขาไม่ต้องเข้าร่วมรบใดๆ ระหว่างช่วงสงครามธีโบด์ได้แต่งงานกับแพทริเชีย เพทเทอร์สัน (Patricia Petterson) และมีลูกด้วยกันถึงสองคนคือ ทวิงกา ธีโบด์ (Twinka Thiebaud) และ มัลลารี แอน ธีโบด์ (Mallary Ann Thiebaud) ในปี ค.ศ. 1945 และ 1951[4] ตามลำดับ
หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง ธีโบด์หันกลับมายึดอาชีพเดิมและทำงานออกแบบให้กับบริษัทยาเร็กซอลล์ (Rexall Drugstore) ในลอสแอนเจลิส จนทำให้พบกับโรเบิร์ต มัลลารี (Robert Mallary) เพื่อนร่วมงาน ด้วยเหตุนี้ทำให้ธีโบด์เริ่มหันมาศึกษาวิจิตรศิลป์ (Fine Art) และเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ตนเอง จนกระทั่งปี ค.ศ. 1949-1950 ธีโบด์เข้าศึกษาที่วิทยาลัยรัฐแซน โฮเซ่ (San Jose State College) (ปัจจุบันคือ San Jose State University) และย้ายไปที่วิทยาลัยรัฐแคลิฟอร์เนีย (California State College) (ปัจจุบันคือ California State University) ในปี ค.ศ. 1950-1953 จนจบระดับปริญญาโทและปริญญาเอก[5]
ธีโบด์ใช้เวลาทั้งหมดในช่วงทศวรรษที่ 50 ด้วยการเป็นครูสอนศิลปะที่วิทยาลัยแซคราเมนโตจูเนียร์ (Sacramento Junior College) (ปัจจุบันคือ Sacramento City College) และดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาศิลปะ ในปี ค.ศ. 1954-1956 และ ปี ค.ศ. 1958-1960 อย่างไรก็ตามในช่วงปี ค.ศ. 1956-1957 ธีโบด์ได้ใช้ช่วงปีนี้ไปกับการหยุดพักผ่อนในนิวยอร์ก (New York) และได้ทำความรู้จักกับศิลปินชั้นแนวหน้าของอเมริกาในยุคนั้นไม่ว่าจะเป็น ศิลปินลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แบบนามธรรม (Abstract Expressionism) วิลเลม เดอ คูนนิ่ง (Willem De Kooning) และ โรเบิร์ต เราส์เชนเบิร์ก (Robert Rauschenberg) กับแจสเปอร์ จอนส์ (Jesper Johns) ศิลปินในกระแสความเคลื่อนไหวป็อปอาร์ต (Pop Art) ซึ่งศิลปินเหล่านี้ก็เป็นตัวแปรที่สำคัญที่ส่งอิทธิพลให้กับธีโบด์เป็นอย่างมาก[6] จากความประทับใจในผลงานของศิลปินเหล่านั้น ธีโบด์ได้เริ่มหันมาวาดภาพบนผืนผ้าใบขนาดเล็กเกี่ยวกับภาพอาหารหรือขนาดต่างๆ ด้วยสีสันที่สดใสพร้อมกับการลงสีอย่างพิถีพิถัน ฉูดฉาด และให้ลักษณะเงาที่สมจริงจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นพาย ขนมเค้ก ลูกกวาด หรือไอศกรีมโคน ซึ่งงานเหล่านี้ก็มักจะถูกจัดวางอยู่ตามหน้าต่างร้านค้าต่างๆ ในขณะภาพหุ่นนิ่ง (Still Life) ธรรมดาทั่วไปมักจะถูกลงสีในขณะที่เฝ้าสังเกตสิ่งเหล่านั้น ธีโบด์กลับวาดภาพอาหารทั้งหมดจากความทรงจำและจินตนาการของเขาเอง
หลังจากที่เขากลับมาที่แคลิฟอร์เนีย ในช่วงทศวรรษที่ 50 ไม่มีหอศิลป์ใดเลยในแซคราเมนโตที่เขาจะสามารถจัดแสดงผลงานของตนเองได้ ธีโบด์จึงทำการจัดแสดงผลงานของเขาในทุกๆ ที่ที่เขาสามารถจะวางผลงานไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นในร้าค้า ร้านอาหาร หรือแม้แต่ในโรงภาพยนตร์ จนกระทั่งเขาพบหอศิลป์ในแซคราเมนโตซึ่งปัจจุบันเป็นที่รู้จักกันในนาม อาร์ตติส คอนเท็มโพรารี่ แกเลอรี่ (Artists Contemporary Gallery) และ พอนด์ ฟาร์ม (Pond Farm)
ในปี ค.ศ. 1958 ธีโบด์ได้อย่าร้างกับภรรยาของเขา และลูกสาวของเขา ทวิงกา ก็ได้กลายมาเป็นนางแบบให้แก่ศิลปินชื่อดัง นักเขียนและจิตรกร กระนั้นธีโบด์ก็ได้แต่งงานอีกครั้งหนึ่งกับผู้ผลิตภาพยนตร์สาว เบ็ตตี้ จีน แครร์ (Betty Jean Carr) และรับลูกชายของเธอ แมธทิว (Matthew) มาเลี้ยงซึ่งในภายหลังก็ได้กลายมาเป็นศิลปินเช่นเดียวกัน ต่อมาทั้งสองก็ได้มีลูกอีกหนึ่งคนคือ พอล ธีโบด์ (Paul Thiebaud) นักซื้อขายงานศิลปะ และผู้ดูแลหอศิลป์
จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1961 หลายสิ่งกลับเปลี่ยนแปลงไป เขาได้พบกับ อัลลัน สโตน นักซื้อขายงานศิลปะในนิวยอร์ก และภายหลังก็ได้กลายมาเป็นตัวแทนที่ผูกขาดในการซื้อขายงานศิลปะของธีโบด์ ยิ่งไปกว่านั้นทั้งสองก็กลายเป็นเพื่อนที่สนิทสนมกันอีกด้วย ในปี ค.ศ. 1962 เขาก็ได้จัดแสดงผลงานเป็นครั้งแรกใน อัลลัน สโตน แกเลอรี่ (Allan Stone Gallery) ซึ่งภายในงานผลงานของเขาก็ถูกจัดแสดงรวมไว้กับงานของรอย ลิคเท็นสไตล์ (Roy Lichtenstein), จิม ไดน์ (Jim Dine) และแอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol) ทำให้ธีโบด์นั้นขึ้นมาเป็นที่รู้จักในแวดวงศิลปะ[7] และเวลาถัดมาในปีเดียวกัน ซิดนีย์ แจนิส แกเลอรี่ (Sidney Janis Gallery) ก็ได้จัดนิทรรศการแสดงผลงานในชื่อ International Exhibition of the New Realists ซึ่งเช่นเดียวกันผลงานของธีโบด์ก็ถูกนำไปรวมกับผลงานของวอร์ฮอล ลิคเท็นสไตล์และ เจมส์ โรเซ็นควิสท์ (James Rosenquist) ซึ่งนิทรรศการจัดแสดงผลงานครั้งนี้ก็ทำให้ศิลปะในกระแสความเคลื่อนไหวป็อปอาร์ต กลายเป็นสิ่งที่โดดเด่นขึ้นมาในช่วงทรรศวรรษที่ 60 กลางทศวรรษที่ 60 ธีโบด์เริ่มหันมาลงมือสร้างงานภาพพิมพ์อย่างจริงจังเช่นเดียวเดียวกับงานจิตรกรรมในครั้งอดีต
ในช่วงทศวรรษที่ 70 เขาหันกลับมาสานต่อการสร้างงานจากการเฝ้าสังเกตสิ่งของในชีวิตประจำวันเช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นรองเท้าหรือเครื่องสำอาง โดยงานจิตรกรรมส่วนใหญ่ของเขามักจะเป็นภาพภูมิทัศน์ของซานฟรานซิสโก เป็นเวลาตลอด 20 ปีที่เขาได้สร้างงานเหล่านี้ด้วยรายละเอียดที่สมจริงเพื่อค้นหาความสวยงามในความทรงจำของฉากที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกวัน
จนมาถึงช่วงทศวรรษที่ 80 เป็นต้นมา ธีโบด์ได้รับเกียรติยศและชื่อเสียงจากผลงานของตนเองเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรางวัล National Medal of Arts ที่ให้สำหรับศิลปินที่โดดเด่นในสหรัฐอเมริกา โดยประธานาธิบดีวิลเลียม เจฟเฟอร์สัน คลินตัน (William J. Clinton) หรือที่รู้จักกันในนาม บิล คลินตัน (Bill Clinton) ในปี ค.ศ. 1994[8] และในปี ค.ศ. 2001 ก็ได้มีนิทรรศการรำลึกถึงผลงานของธีโบด์ที่พิพิธภัณฑ์วิทนีย์ (Whitney Museum) ในนิวยอร์กเพื่อสรรเสริญผลงานของเขา หลังจากนั้นในปี ค.ศ. 2006 เพื่อนสนิทและตัวแทนผู้ซื้อขายผลงานศิลปะของธีโบด์ อัลลัน สโตนก็ได้เสียชีวิตลง และตำแหน่งตัวแทนผู้ซื้อขายผลงานศิลปะของเขาก็กลายมาเป็นของพอล ลูกชายของเขาจนกระทั่งพอลเสียชีวิตลงในปี ค.ศ. 2009
ในปี 2010 ชื่อของเขาก็ถูกบันทึกลงในหอเกียรติยศแคลิฟอร์เนีย (The California Hall of Fame) ที่พิพิธภัณฑ์แคลิฟอร์เนีย (The California Museum) อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน ธีโบด์ได้เกษียณจากงานสอนศิลปะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลายทศวรรษที่เขาได้อุทิศไปแก่การสอนได้กลายเป็นอิทธิพลหลักที่สำคัญแก่ศิลปินและศิลปะอเมริกา นักเรียนจำนวนมากของเขาได้เรียนรู้ถึงความแตกต่างในฐานะศิลปินและอาชีพศิลปิน ในช่วงอายุ 90 ปีของธีโบด์ เขายังคงวาดภาพต่างๆ อยู่ ผลงานขนาดใหญ่ที่แสนล้ำค่าของเขายังคงสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชมทั่วไปอยู่เสมอในมุมมองที่มีเอกลักษณ์ของความสวยงามและมนต์เสน่ห์ของสิ่งของในชีวิตประจำวัน
แนวคิดและผลงาน
[แก้]ธีโบด์เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากงานจิตรกรรมที่โด่งดังและสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในร้านอาหาร เนื่องจากงานของเขามักจะมีเนื้อหาที่เกี่ยวอาหาร หรือของหวานเป็นจำนวนมาก อย่างเช่นขนมเค้ก ขนมอบ พายต่างๆ รวมถึงไอศกรีมโคน ผลงานของเขาได้รับอิทธิพลจากประสบการณ์ที่เขาประสบมาครั้งยังเป็นเด็ก เริ่มจากชีวิตวัยเด็กขณะที่เขาอาศัยอยู่ที่ลอง บีช เขาทำงานอยู่ร้านขายไอศกรีมฮอตดอกที่มีชื่อว่า Mile High and Red Hot ด้วยเหตุผลนี้เองจึงทำงานส่วนใหญ่ของเขามักจะเล่าเรื่องราวหรือพรรณนาถึงสิ่งเหล่านี้อยู่เสมอ[9] ขณะที่ธีโบด์อายุ 16 ปี เขาได้เข้าทำงานให้กับเดอะดิสนีย์ สตูดิโอในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนในฐานะนักวาดการ์ตูนหรือวาดภาพประกอบ เมื่อเขาโตขึ้นก็ได้กลายเป็นศิลปินที่วาดภาพเกี่ยวกับการค้า ออกแบบภาพประกอบสำหรับสื่อโฆษณาต่างๆ จนกระทั่งเขาหันมาสนใจในงานวิจิตรศิลป์และได้ผันตัวกลายมาเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานลงบนผืนผ้าใบ
ลักษณะในชิ้นงานของธีโบด์มักจะสร้างโครงร่างของวัตถุที่มีลักษณะชัดเจนจนทำให้นึกถึงภาพการ์ตูน เขามักจะใช้สีสันที่สดใสและรุนแรงตัดกับฉากหลังที่มีสีอ่อนกว่าเพื่อบรรยายถึงตัววัตถุหลักภายในภาพให้ชัดเจน อีกทั้งยังใช้การแสดงเงาในลักษณะพิเศษของการโฆษณาที่มีความเข้มสมจริง ซึ่งลักษณะเงาเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่าธีโบด์ได้ให้ความสำคัญในเรื่องของแสงเป็นอย่างมากดังที่เห็นในตัวอย่าง Candy Counter (1969) จะเห็นได้ว่างานในช่วงแรกของธีโบด์นี้มีลักษณะการใช้เส้นสีสร้างให้เกิดเส้นในลักษณะแนวนอน ซึ่งเส้นเหล่านี้ไม่ได้มีความหมายใดเลย มันอาจจะเป็นเพียงเส้นขอบของโต๊ะก็ได้ แต่ในความจริงมันเป็นเพียงการใช้สีเพื่อสร้างความสนุกให้กับภาพ และหากสังเกตใกล้ๆ จะพบว่าโครงสร้างของภาพหรือสิ่งของนั้นไม่ปกติแต่มีการลงสีที่เหมาะสมแทน[10]
ในช่วงทศวรรษที่ 50 เขาได้เห็นงานศิลปะลัทธิสำแดงพลังอารมณ์แบบนามธรรมจากศิลปินชื่อดังอย่าง วิลเลม เดอ คูนนิ่ง และ โรเบิร์ต เราส์เชนเบิร์ก จนทำให้เขาหันมาสร้างสรรค์ผลงานลงบนผืนผ้าใบขนาดเล็กในหัวข้อเดิมที่เกี่ยวกับอาหารต่างๆ อย่างไรก็ตามตัวธีโบด์เองไม่ได้นำกรอบความคิดของศิลปะในกระแสความเคลื่อนไหวป็อปอาร์ตมาใช้สักเท่าไหร่นัก โดยส่วนใหญ่แล้วงานของเขามักจะกล่าวถึงการล้อเลียน เสียดสีหรือวิพากษ์วิจารณ์วิธีทางด้านพาณิชย์และสังคมการบริโภคเสียมากกว่า ธีโบด์ต้องการที่จะอธิบายตัวตนของเขาว่าเป็นจิตรกรหัวโบราณที่สนใจในงานเพื่อการโฆษณา การ์ตูน หรือภาพประกอบการค้า นอกจากนี้เขายังแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของตัวเขาท่ามกลางความร่วมสมัยผ่านฝีมือที่มีความพิถีพิถันและการตอกย้ำถึงอุดมการณ์ของตนเองโดยไม่สนใจกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลกของศิลปะ[11]
นอกจากนี้หลังจากที่เขาย้ายกลับไปที่แคลิฟอร์เนียในช่วงต้นทศวรรษที่ 60 ธีโบด์ก็เริ่มหันมาสร้างผลงานในประเด็นอื่น ซึ่งคือภาพภูมิทัศน์ของชนบทในแซคราเมนโตก่อนที่จะย้ายไปอยู่ที่ซานฟรานซิสโกและสร้างสรรค์ชุดภาพภูมิทัศน์ของตัวเมืองซานฟราสซิสโกออกมาเป็นจำนวนมากในปี ค.ศ. 1972 โดยใช้ฉากภูมิประเทศที่โดดเด่นของเบย์ แอเรีย (the Bay Area) เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างงาน[12] ไม่ว่าจะเป็นฉากเมือง อาคาร สิ่งก่อสร้างและถนนหนทาง เช่นภาพ Sunset Streets (1985) และ Flatland River (1997) จะเห็นได้ว่าภาพจะมีลักษณะเกินจริง นอกจากนี้เขายังได้วาดภาพตัวละครการ์ตูนที่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไปเช่น มิกกี้ เมาส์ (Mickey Mouse) อีกด้วย
กล่าวโดยสรุปได้ว่างานที่ธีโบด์สร้างขึ้นมานั้นไม่ได้เป็นเพียงความต้องการหรือความปรารถนาในอาหารดังที่เห็นในภาพ หากแต่เป็นความทรงจำที่ได้พบเห็นครั้งยังเป็นเด็กตามฝาผนัง กำแพงหรือหน้าต่างในร้านค้า ร้านอาหาร หรือโรงภาพยนตร์ แต่สิ่งที่ธีโบด์ต้องการจะสื่อถึงไม่ได้มีเพียงภาพอาหารหรือภาพภูมิทัศน์เพียงอย่างเดียว ในปัจจุบัน ธีโบด์ยังคงวาดภาพในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับสิ่งของในชีวิตประจำวันที่เราสามารถพบเห็นได้บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น เครื่องสำอางหรือรองเท้า ที่ถูกวาดออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อล้อไปกับบริบททางสังคมแบบอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน อีกทั้งการลงสีที่หลากหลายกับแสงที่สว่างเพื่อที่จะเน้นถึงสิ่งที่เขาต้องการเน้นย้ำ เช่นคน สถานที่หรือสิ่งของ และต้องการที่จะสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองในอดีตของวัฒนธรรมป็อป และฉากหรือภูมิทัศน์ของอเมริกาที่ผู้ชมสามารถบ่งบอกถึงสถานที่ได้อย่างง่ายดาย
ตัวอย่างผลงาน
[แก้]- 1957 Antique Coin Machine
- 1961 Pies, Pies, Pies
- 1962 Around the Cake
- 1962 Bakery Counter
- 1963 Cakes
- 1963 Girl with Ice Cream Cone
- 1963 Three Machines
- 1964 Three Strawberry shakes
- 1964 Man Sitting - Back View
- 1965 Stick Candy
- 1966 Powder With Puff
- 1967-68 Coloma Ridge
- 1967-87 Sandwich Plate
- 1970 Large Sucker
- 1970 Seven Suckers
- 1971 Millefeuilles
- 1975 Shoe Rows
- 1977 24th Street Intersection
- 1979 Four Cakes
- 1981 Candy Apple
- 1981 Hill Street (Day City)
- 1987 Two Paint Cans
- 1993 Apartment View
- 1996 Farm Channel
- 1999 Reservoir
- 2002 Jolly Cones (Ice Cream Cones)
- 2005 Donuts and Cupcakes
- 2006 Seven Dogs
- 2010 Google - 12th Birthday Cake
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Wayne Thiebaud biography". National Gallery of Art. สืบค้นเมื่อ January 28, 2020.
- ↑ http://www.achievement.org/autodoc/page/thi0bio-1
- ↑ Wayne Thiebaud. (2551). Vision and Revision: Hand Colored Prints.
- ↑ http://www.achievement.org/autodoc/page/thi0bio-1
- ↑ http://global.britannica.com/EBchecked/topic/1481461/Wayne-Thiebaud[ลิงก์เสีย]
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-01-22. สืบค้นเมื่อ 2013-10-11.
- ↑ http://www.allanstonegallery.com/artists/wayne-thiebaud/
- ↑ http://artobserved.com/2012/11/new-york-wayne-thiebaud-retrospective-at-acquavella-galleries-through-november-30th-2012/
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-01-22. สืบค้นเมื่อ 2013-10-11.
- ↑ http://www.joefitschen.com/uncategorized/wayne-thiebaud-painter
- ↑ http://www.achievement.org/autodoc/page/thi0bio-1
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-08. สืบค้นเมื่อ 2013-10-11.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]Susan Goldman Rubin. (2007). Delicious: The Art and Life of Wayne Thiebaud.