ข้ามไปเนื้อหา

เลียดก๊ก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เลี่ยกั๋ว (มาตรฐาน)
เลียดก๊ก (ฮกเกี้ยน)
ภาพประกอบจากฉบับพิมพ์ภาษาจีน
ผู้ประพันธ์เฝิง เมิ่งหลง
ชื่อเรื่องต้นฉบับตงโจวเลี่ยกั๋วจื้อ
ประเทศจีน
ภาษาจีน
หัวเรื่องประเทศจีนสมัยโบราณ
ประเภทนิยายอิงประวัติศาสตร์
ชนิดสื่อหนังสือ
เลียดก๊ก
ชื่อภาษาจีน
อักษรจีนตัวเต็ม東周列國志
อักษรจีนตัวย่อ东周列国志
ชื่อภาษาเวียดนาม
จื๋อโกว๊กหงือĐông Chu liệt quốc chí
จื๋อฮ้าน東周列國志
ชื่อภาษาเกาหลี
ฮันกึล
동주열국지
ฮันจา
東周列國志
ชื่อภาษาญี่ปุ่น
คันจิ東周列国志
ฮิรางานะとうしゅうれっこくし
การถอดเสียง
โรมาจิToshurekkokushi

เลี่ยกั๋ว ตามสำเนียงมาตรฐาน หรือ เลียดก๊ก ตามสำเนียงฮกเกี้ยน (จีนตัวย่อ: 列国; จีนตัวเต็ม: 列國; พินอิน: Lièguó; "รัฐต่าง ๆ") หรือชื่อเต็มตามสำเนียงมาตรฐานว่า ตงโจวเลี่ยกั๋วจื้อ (จีนตัวย่อ: 东周列国志; จีนตัวเต็ม: 東周列國志; พินอิน: Dōngzhōu Lièguó Zhì; "บันทึกเรื่องรัฐต่าง ๆ สมัยโจวตะวันออก") เป็นนวนิยายจีนซึ่งเฝิง เมิ่งหลง (馮夢龍) ประพันธ์ขึ้นในช่วงปลายยุคราชวงศ์หมิง มีเนื้อหาเริ่มด้วยราชวงศ์โจวตะวันตกถึงแก่ความพินาศ ราชวงศ์โจวตะวันออกขึ้นแทนที่ แต่บ้านเมืองระส่ำระสายจนแตกแยกออกเป็นรัฐน้อยใหญ่ต่าง ๆ ในยุควสันตสารทและยุครณรัฐ ไปจบที่จิ๋นซีฮ่องเต้รวมแผ่นดินเป็นผลสำเร็จ

หนังสือเรื่องนี้ถือเป็นหนึ่งในนิยายอิงประวัติศาสตร์จีนโบราณที่มีชื่อเสียงมากที่สุด[1] เนื้อหาอ้างอิงจากเอกสารจีนดั้งเดิมจำนวนมาก เช่น จั่วจ้วน ของจั่ว ชิวหมิง ฉื่อจี้ ของซือหม่า เชียน และตำราศักดิ์สิทธิ์โบราณบางเล่ม เช่น หลี่จี้ และ ชือจิง

งานแปล

[แก้]

หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลไปเป็นภาษาต่างประเทศถึงหลายภาษา ซึ่งรวมไปถึงภาษาเกาหลี ไทย และเวียดนาม โดยฉบับภาษาเกาหลีแปลเสร็จใน พ.ศ. 2546[2] ส่วนฉบับภาษาเวียดนาม Nguyễn Đỗ Mục แปลเสร็จใน พ.ศ. 2476[3]

ฉบับแปลไทย

[แก้]

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยรับสั่งให้แปล เลียดก๊ก เป็นภาษาไทยเมื่อ พ.ศ. 2362 วันที่รับสั่งและรายชื่อคณะผู้แปลมีจารึกไว้ในบานแพนกสมุดไทยดังนี้[4]

"ศุภมัสดุ จุลศักราชพันร้อยแปดสิบ ปีเถาะ เอกศก อาษาฒมาส ศุกลปักษ์ อัฐมีดิถี คุรุวาระ พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน มีพระราชโองการดำรัสสั่งให้จัดข้าทูลละอองแปลเลียดก๊กพงศาวดารจีนนี้เป็นคำไทยไว้สำหรับแผ่นดิน

"ข้าพระพุทธเจ้า กรมหมื่นนเรศร์โยธี หนึ่ง เจ้าพระยายมราช หนึ่ง เจ้าพระยาวงศาสุรศักดิ์ หนึ่ง พระยาโชดึก หนึ่ง ขุนท่องสือ หนึ่ง จมื่นไวยวรนาถ หนึ่ง เล่ห์อาวุธ หนึ่ง จ่าเรศ หนึ่ง หลวงลิขิตปรีชา หนึ่ง หลวงญาณปรีชา หนึ่ง ขุนมหาสิทธิโวหาร หนึ่ง

"ห้องสินแลในเลียดก๊กนั้นว่าด้วยองค์พระเจ้าบู๊อ๋องครองเมืองทั้งปวงคิดทำศึกกัน ข้าพเจ้า หลวงลิขิตปรีชา เจ้ากรมอาลักษณ์ ชำระขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย"

วิธีแปลนั้นเป็นอย่างเดียวกับเรื่อง สามก๊ก[5] ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า[6]

"ลักษณะการแปลหนังสือจีนเป็นภาษาไทยแต่โบราณ (หรือแม้จนชั้นหลังมา) อยู่ข้างลำบาก ด้วยผู้รู้หนังสือจีนไม่มีใครชำนาญภาษาไทย ผู้ชำนาญภาษาไทยก็ไม่มีใครรู้หนังสือจีน การแปลจึงต้องมีพนักงานเป็นสองฝ่ายช่วยกันทำ ฝ่ายผู้ชำนาญหนังสือจีนแปลความออกให้เสมียนจดลง แล้วผู้ชำนาญภาษาไทยเอาความนั้นเรียบเรียงแต่งเป็นภาษาไทยให้ถ้อยคำแลสำนวนความเรียบร้อยอีกชั้นหนึ่ง [...] แต่สำนวนแปลคงจะไม่สู้ตรงกับสำนวนที่แต่งไว้ในภาษาจีนแต่เดิม เพราะผู้แปลมิได้รู้สันทัดทั้งภาษาจีนแลภาษาไทยรวมอยู่ในคนเดียวเหมือนเช่นแปลหนังสือฝรั่งกันทุกวันนี้"

อ้างอิง

[แก้]
  1. Li, Wai-Yee (2010). "Full-Length Vernacular Fiction". In Mair, Victor H. (ed.). The Columbia History of Chinese Literature. New York: Columbia University Press. p. 625. ISBN 978-0-231-10984-0.
  2. "최이산씨, 원전 "열국지" 완역" (ภาษาเกาหลี). kihoilbo. 2003-11-18. สืบค้นเมื่อ 2014-08-26.
  3. "Nguyễn Đỗ Mục" (ภาษาเวียดนาม). daitudien. n.d. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-08-26. สืบค้นเมื่อ 2014-08-26.
  4. เลียดก๊ก เล่ม 1. กรุงเทพฯ: องค์การค้าของคุรุสภา. 2506. p. 1.
  5. บาหยัน อิ่มสำราญ (ม.ป.ป.). "พิไชยสงครามเลียดก๊ก" [War Strategics in Laidkok] (PDF). วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี. 15 (1). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (pdf)เมื่อ 2014-08-26. สืบค้นเมื่อ 2014-08-24. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |year= (help)
  6. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (2471). ตำนานหนังสือสามก๊ก. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสภา. หน้า 33.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]