เลตีเซีย ราโมลีโน
เลตีเซีย โบนาปาร์ต | |
---|---|
ชนนีในสมเด็จพระจักรพรรดิ | |
เกิด | 24 สิงหาคม ค.ศ. 1750 (หรือ 1749) อาฌักซีโย คอร์ซิกา สาธารณรัฐเจโนวา มารีอา-เลตีเซีย ราโมลีโน |
เสียชีวิต | 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 1836 (85 หรือ 86 ปี) โรม รัฐสันตะปาปา |
ฝังศพ | วิหารหลวงอาฌักซีโย |
คู่สมรส | การ์โล บูโอนาปาร์เต (สมรส 1764; เสียชีวิต 1765) |
บุตร | |
นามเต็ม | มารีอา-เลตีเซีย ราโมลีโน |
ราชวงศ์ | โบนาปาร์ต |
บิดา | โจวันนี เจโรนีโม ราโมลีโน |
มารดา | อันเจลา มารีอา ปีเอตรา-ซันตา |
ศาสนา | โรมันคาทอลิก |
มารีอา-เลตีเซีย ราโมลีโน (อิตาลี: Maria-Letizia Ramolino) หรือ เลตีเซีย โบนาปาร์ต (ฝรั่งเศส: Letizia Bonaparte) เป็นหญิงสูงศักดิ์ชาวคอร์ซิกา และเป็นมารดาของจักรพรรดินโปเลียนที่ 1 แห่งฝรั่งเศส ซึ่งภายหลังสถาปนาจักรวรรดิ นางได้รับการขนานนามว่า "มาดามแมร์" (Madame Mère) ซึ่งแปลว่า "มาดามชนนี"
นางมีอุปนิสัยสมถะเรียบง่ายและสุขุม และเป็นแม่ที่ดีของครอบครัว นางไม่เห็นด้วยที่นโปเลียนจะบงการชีวิตของลูว์เซียง จึงเข้าข้างลูว์เซียง และประท้วงโดยการไม่เข้าร่วมพิธีปราบดาภิเษกของนโปเลียน นางไม่ยอมพำนักในปารีสและเลือกเดินทางไปพำนักที่โรมกับลูว์เซียง แต่เมื่อนโปเลียนถูกเนรเทศสู่เกาะเอลบาในปี 1814 นางกับโปลีนก็ไปร่วมอยู่ที่เกาะเอลบากับนโปเลียน[1] และเดินทางกลับปารีสพร้อมนโปเลียนในสมัยร้อยวัน
นางพบนโปเลียนครั้งสุดท้ายเมื่อ 29 มิถุนายน 1815 ในปารีส แล้วจึงเดินทางกลับโรมเพื่ออยู่ในความคุ้มครองของสมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 7 จวบจนเสียชีวิต
ประวัติ
[แก้]มารีอา-เลตีเซีย ราโมลีโน เกิดที่อาฌักซีโย เกาะคอร์ซิกา ในสมัยที่เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐเจโนวา เธอเป็นบุตรีของนายทหารชื่อว่าโจวันนี เจโรนีโม ราโมลีโน (Giovanni Geronimo Ramolino) กับภรรยาชื่อว่าอันเจลา มารีอา ปีเอตรา-ซันตา (Angela Maria Pietra-Santa) ตระกูลราโมลีโนเป็นตระกูลขุนนางระดับล่างจากแคว้นลอมบาร์เดีย ซึ่งอพยพมายังเกาะคอร์ซิกาหลายชั่วอายุคนแล้ว[2]
นางสาวราโมลีโนได้รับการศึกษาในบ้าน และไม่ได้เรียนรู้สิ่งใดนอกจากงานของสตรีเฉกเช่นหญิงชาวคอร์ซิกาทั่วไปในเวลานั้น บิดาของเธอเสียชีวิตขณะเธอมีอายุหกขวบ มารดาจึงสมรสใหม่กับนายทหารชาวสวิสของทัพเรือเจโนวา ซึ่งมารดากับสามีใหม่มีบุตรด้วยกันสองคน
สมรสและบุตร
[แก้]ในปี 1764 นางสาวราโมลีโนวัยสิบสี่ปี สมรสกับนายการ์โล บูโอนาปาร์เต นักศึกษาวิชากฎหมายวัยสิบแปดปี ซึ่งตระกูลบูโอนาปาร์เตก็เป็นขุนนางระดับล่างเหมือนกัน ทั้งคู่มีบุตรด้วยกันแปดคนตามลำดับดังนี้
- โฌแซ็ฟ โบนาปาร์ต (1768–1844) กษัตริย์แห่งนาโปลี กษัตริย์แห่งสเปน
- นโปเลียน โบนาปาร์ต (1769–1821) จักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส กษัตริย์แห่งอิตาลี
- ลูว์เซียง โบนาปาร์ต (1775–1840) เจ้าชายแห่งกานีโนและมูซิญญาโน
- มารี-อาน-เอลีซา โบนาปาร์ต (1777–1820) แกรนด์ดัชเชสแห่งตอสคานา
- หลุยส์ โบนาปาร์ต (1778–1846) กษัตริย์แห่งฮอลแลนด์
- โปลีน โบนาปาร์ต (1780–1825) เจ้าหญิงและดัชเชสแห่งกวัสตัลลา
- การอลีน โบนาปาร์ต (1782–1839) แกรนด์ดัชเชสแห่งแบร์คและเคลเวอ
- เฌโรม โบนาปาร์ต (1784–1860) กษัตริย์แห่งเว็สท์ฟาเลิน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Dwyer 2013, pp. 510–511.
- ↑ de Carolis 2014, p. 12.