เรื่องของจัน ดารา
ผู้ประพันธ์ | อุษณา เพลิงธรรม (ประมูล อุณหธูป) |
---|---|
ประเทศ | ไทย |
ภาษา | ไทย |
ประเภท | วรรณกรรมเชิงสังวาส |
ฉากท้องเรื่อง | ประเทศสยาม/ไทย |
สำนักพิมพ์ | ประพันธ์สาส์น (พิมพ์ครั้งแรก) |
วันที่พิมพ์ | พ.ศ. 2507-2509 (ตีพิมพ์เป็นตอนๆ) พ.ศ. 2509 (พิมพ์ครั้งแรก) |
ชนิดสื่อ | สิ่งพิมพ์ |
เรื่องของจัน ดารา เป็นนวนิยายเชิงสังวาส บทประพันธ์ของอุษณา เพลิงธรรม (ประมูล อุณหธูป) ตีพิมพ์เป็นตอนๆ ลงในนิตยสารสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2507 ถึง พ.ศ. 2509 [1] ตีพิมพ์ฉบับรวมเล่มครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2509 โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น[2] มีเนื้อหาแนวนาฏกรรมเชิงกามวิสัย เป็นบันทึกชีวิตของจัน ดารา ซึ่งจันเขียนขึ้นเองตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศก่อนวัยอันควรของเขา ผ่านมุมมองของเขาที่เห็นว่าคนรอบข้างล้วนมีพฤติกรรมและจิตใจจ่อมจมอยู่ในกาม ทั้งที่ตัวเขาเองก็เป็นเช่นกัน เนื้อเรื่องยังแสดงถึงอคติหลายรูปแบบ ทั้งที่เป็นความรักฉันญาติมิตร ความรักใคร่ฉันชู้สาว ความเกลียดและกลัว ซึ่งอุษณา เพลิงธรรม เขียนไว้ในคำนำว่า "ขอบอกกล่าวไว้เสียด้วยว่า เป็นเรื่องอ่านเล่นซึ่งไม่ใช่ของสำหรับเด็ก และเป็นของแสลงอย่างยิ่งสำหรับบุคคลประเภทมือถือสากปากถือศีล"
การดัดแปลงเป็นภาพยนตร์
[แก้]เรื่องของจัน ดารา ได้รับการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ 3 ครั้ง ในชื่อ จัน ดารา มีรายละเอียดดังนี้
- ฉบับ พ.ศ. 2520 กำกับโดย รัตน์ เศรษฐภักดี เขียนบทโดย ส. อาสนจินดา กำกับภาพโดย อดุลย์ เศรษฐภักดี อำนวยการสร้างโดย กิติมา เศรษฐภักดี สร้างโดย เทพกรภาพยนตร์ นำแสดงโดย สมบูรณ์ สุขีนัย (จัน), อรัญญา นามวงศ์ (บุญเลื่อง), ศิริขวัญ นันทศิริ (แก้ว), ประจวบ ฤกษ์ยามดี (บุญชัย), ภิญโญ ปานนุ้ย (เคน), แสงแข บุญเรือง, จันทร์แรม ปวงจักรทา และ วิทยา สุขดำรงค์ เข้าฉายวันแรก 11 มีนาคม พ.ศ. 2520 [3][4]
- ฉบับ พ.ศ. 2544 กำกับและเขียนบทโดย นนทรีย์ นิมิบุตร สร้างโดย ไท เอ็นเตอร์เทนเมนต์ นำแสดงโดย สันติสุข พรหมศิริ (คุณหลวง), คริสตี้ ชุง (บุญเลื่อง), เอกรัตน์ สารสุข (จัน), ครรชิต ถ้ำทอง (เคน) และ ภัทรวรินทร์ ทิมกุล (แก้ว) เข้าฉายวันแรก 28 กันยายน พ.ศ. 2544 [5]
- ฉบับ พ.ศ. 2555 - 2556 กำกับและเขียนบทโดย หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล สร้างโดย สหมงคลฟิล์ม อินเตอร์เนชั่นแนล นำแสดงโดย มาริโอ้ เมาเร่อ (จัน ดารา), รฐา โพธิ์งาม (บุญเลื่อง), ศักราช ฤกษ์ธำรงค์ (หลวงวิสนันท์เดชา), โช นิชิโนะ (แก้ว), ชัยพล พูพาร์ต (เคน) เป็นภาพยนตร์ทวิภาค ได้แก่ จัน ดารา ปฐมบท (2555) และ จัน ดารา ปัจฉิมบท (2556) [6][7]
ภาพยนตร์ | จัน | บุญเลื่อง | คุณหลวง | แก้ว | เคน |
---|---|---|---|---|---|
พ.ศ. 2520 | สมบูรณ์ สุขีนัย | อรัญญา นามวงศ์ | ประจวบ ฤกษ์ยามดี | ศิริขวัญ นันทศิริ | ภิญโญ ปานนุ้ย |
พ.ศ. 2544 | เอกรัตน์ สารสุข | คริสตี้ ชุง | สันติสุข พรหมศิริ | ภัทรวรินทร์ ทิมกุล | ครรชิต ถ้ำทอง |
พ.ศ. 2555-56 | มาริโอ้ เมาเร่อ | รฐา โพธิ์งาม | ศักราช ฤกษ์ธำรงค์ | โช นิชิโนะ | ชัยพล พูพาร์ต |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ คริส สารคาม. นักเขียนในอดีต 1. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์แสงดาว, พ.ศ. 2542. 263 หน้า. ISBN 974-7343-79-7
- ↑ http://www.thaicinema.org/kits383jandara.asp
- ↑ โครงการขึ้นบัญชีหนังไทยสูญพันธุ์ เรื่องจันดารา (2520 อรัญญา-สมบูรณ์)
- ↑ http://www.thaifilmdb.com/th/tt03225
- ↑ http://www.thaifilmdb.com/th/tt00082
- ↑ ภาพยนตร์ จันดารา ปัจฉิมบท เก็บถาวร 2016-06-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน sahamongkolfilm.com
- ↑ http://www.thaicinema.org/kits383jandaraavenger.php