เรือหลวงแหลมสิงห์
ประวัติ | |
---|---|
ประเทศไทย | |
ชนิด | เรือตรวจการณ์ปืนแบบเอ็ม 58 |
ชื่อ | เรือหลวงแหลมสิงห์ |
ตั้งชื่อตาม | อำเภอแหลมสิงห์ |
อู่เรือ |
|
เดินเรือแรก | 25 สิงหาคม พ.ศ. 2558 |
เข้าประจำการ | 21 กันยายน พ.ศ. 2559 (8 ปี) |
รหัสระบุ |
|
คำขวัญ |
|
สถานะ | อยู่ในประจำการ |
สัญลักษณ์ | |
ลักษณะเฉพาะ | |
ขนาด (ระวางขับน้ำ): | 520 ตัน |
ความยาว: | 58 เมตร (190 ฟุต) |
ความกว้าง: | 9.3 เมตร (31 ฟุต) |
กินน้ำลึก: | 2.9 เมตร (9.5 ฟุต) |
ความลึก: | 5.1 เมตร (17 ฟุต) |
ระบบพลังงาน: |
|
ระบบขับเคลื่อน: |
|
ความเร็ว: | 23 นอต (43 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) สูงสุด |
พิสัยเชื้อเพลิง: | 2,500 ไมล์ทะเล (4,600 กิโลเมตร; 2,900 ไมล์) |
จำนวนเรือและอากาศยาน: | 2 × เรือยางท้องแข็ง (RIB) |
อัตราเต็มที่: | 53 นาย |
ระบบตรวจการและปฏิบัติการ: |
|
ยุทโธปกรณ์: |
|
เรือหลวงแหลมสิงห์ (PGB-561) (อังกฤษ: HTMS Laemsing) เป็นเรือลำแรกและลำเดียวในเรือตรวจการณ์ปืนชุดเรือหลวงแหลมสิงห์[2] เป็นเรือที่ออกแบบและต่อขึ้นในประเทศไทย[3] และเป็นเรือตรวจการณ์ปืนลำใหม่ที่สุดในรอบเกือบ 20 ปี[4] สังกัดกองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ
เรือหลวงแหลมสิงห์ มีคำขวัญว่า ไพรีพินาศ[5] ตั้งขึ้นตามป้อมไพรีพินาศที่ตั้งอยู่บริเวณปากน้ำแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี
ประวัติ
[แก้]โครงการเรือหลวงแหลมสิงห์ เป็นโครงการเรือตรวจการณ์ปืนลำแรกและลำเดียวของประเทศไทยที่ได้รับการออกแบบและสร้างขึ้นโดยคนไทย ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงและแนวคิดการพึ่งพาตนเอง รวมถึงเป็นการพัฒนาขีดความสามารถของกรมอู่ทหารเรือในการต่อเรือตรวจการณ์ปืน หลังจากก่อนหน้านี้ประสบความสำเร็จในการต่อเรือตรวจการณ์ใกล้ฝั่งชุด เรือ ต.991 โดยออกแบบเรือตรวจการณ์ปืนชุดนี้ให้มีความสามารถในการปฏิบัติการได้ครบ 2 มิติ คือสงครามผิวน้ำ และสงครามต่อต้านอากาศยาน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานของสมาคมจัดชั้นเรือ (Classification Society) ที่เป็นสมาชิกของ IACS (International Association of Classification Societies) ซึ่งเป็นมาตรฐานของกองทัพเรือสหรัฐ (U.S. Navy Criteria) หรือองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO)[3]
โครงการเรือหลวงแหลมสิงห์มีวัตถุประสงค์เพื่อทดแทนเรือตรวจการณ์ระยะปานกลาง ตามยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือปี พ.ศ. 2551 - 2560 ซึ่งได้ทยอยปลดประจำการเรือรุ่นเก่า เป็นเรือที่ออกแบบโดยบริษัทของไทยเอง คือบริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) และขายให้กับกองทัพเรือไทยในรูปแบบของ Package Deal วงเงิน 699,459,000 บาท ซึ่งกองทัพเรือได้มอบหมายให้กรมอู่ทหารเรือเป็นผู้ดำเนินการต่อเรือ[6]
สำหรับชื่อของเรือหลวงแหลมสิงห์ ได้ตั้งขึ้นตามระเบียบของกองทัพเรือ ที่มีหลักเกณฑ์ในการตั้งชื่อเรือรบตามประเภทของเรือ ซึ่งเรือตรวจการณ์ปืนระเบียบกำหนดให้ตั้งตามชื่ออำเภอที่ตั้งอยู่ชายทะเล ซึ่งเรือได้รับพระราชทานชื่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า "เรือหลวงแหลมสิงห์" ตามอำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี[6]
เรือหลวงแหลมสิงห์ ได้ทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำ เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2558 โดยมี พลเรือเอก ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานในพิธี และมี นางณุฉัตรา จันทร์สุวานิชย์ ภริยาของผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้ประกอบพิธีปล่อยเรือตามประเพณีโบราณ ณ อู่แห้งหมายเลข 1 กรมอู่ทหารเรือ[7]
เรือหลวงแหลมสิงห์ ได้ทำพิธีรับมอบและเข้าประจำการณ์เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2559 โดยมี พลเรือเอก ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือเป็นประธานในพิธี ณ ท่าเรือแหลมเทียน จังหวัดชลบุรี[6]
การออกแบบ
[แก้]เรือหลวงแหลมสิงห์ เป็นเรือตรวจการณ์ปืนแบบเอ็ม 58 (M58 Patrol Gun Boat) ของมาร์ซัน[8] มีความยาวตลอดลำเรือ 58 เมตร มีความกว้างกลางลำ 9.3 เมตร ความลึกกลางลำเรือ 5.1 เมตร กินน้ำลึกเต็มที่ 2.9 เมตร มีระวางขับน้ำสูงสุด 520 ตัน มีความเร็วที่ระวางขับน้ำสูงสุด 23 นอต[9] ระยะในการปฏิบัติการไม่น้อยกว่า 1,500[5] - 2,500[9] ไมล์ทะเล ตัวเรือทำจาก สตีล/อะลูมิเนียม มีความจุถังเชื้อเพลิง 86,600 ลิตร ความจุถังน้ำจืด 59,800 ลิตร[8] ความคงทนทะเลถึงระดับ 4 (Sea State 4) มีสถานที่จัดเก็บสเบียงอาหาร และน้ำจืดเพียงพอสำหรับการปฏิบัติการในทะเลอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 7 วันโดยไม่ต้องส่งกำลังบำรุง และมีห้องพักอาศัยเพียงพอต่อกำลังพลประจำเรือตามอัตราที่กำหนดไว้คือ 53 นาย[9]
ระบบขับเคลื่อน ใช้เครื่องจักรใหญ่ CAT 3516 C ขนาด 2,525 kW จำนวน 3 เครื่อง ใบจักรกลางแบบปรับพิทช์ได้ (CPP) 1 เพลา และใบจักรข้างแบบพิทช์คงที่ (FPP) 2 เพลา เครื่องกำเนิดไฟฟ้า MAN D2876 LE301/Leroy Somer LSAM 47.2 M7 กำลังไฟ 375 kVA (300kW) 50Hz 3Ph จำนวน 3 เครื่อง[8]
ระบบสื่อสาร ประกอบไปด้วย เรดาร์แบบ S BAND กำลัง 30kW เรดาร์แบบ X BAND กำลัง 25kW ระบบสารสนเทศเพื่อการเดินเรือ ECDIS เข็มทิศไยโรแบบ Ring Laser Gyro ระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก (GPS) วิทยุสื่อสารย่าน HF/SSB, HF/SSB แบบ Frequency Hopping, UHF AM/FM และ VHF/UHF[8]
ระบบอาวุธในเรือประกอบไปด้วย ปืนขนาด 76/62 มิลลิเมตร OTO Melara (Refurbished) จำนวน 1 กระบอก ปืนกลขนาด 30 มิลลิเมตร MIS จำนวน 1 กระบอก ปืนกลขนาด .50 นิ้ว จำนวน 2 กระบอก[9]
เรือหลวงแหลมสิงห์ ผลงานการออกแบบของบริษัท มาร์ซัน จำกัด (มหาชน) ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ด้านสังคม ในรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2561 เนื่องจากเรือมีภารกิจในการคุ้มครองเรือประมงและเรือพาณิชย์ ปกป้องผลประโยชน์ของชาติในชายฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน รวมถึงปฏิบัติหน้าที่ในการช่วยเหลือประชาชนในเหตุการณ์ต่าง ๆ และการประสบภัย จึงถือว่าสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมเป็นอย่างยิ่ง[10]
การต่อเรือ
[แก้]เรือหลวงแหลมสิงห์ ต่อขึ้นโดยกรมอู่ทหารเรือเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการต่อเรือ โดยใช้พื้นที่ของอู่ทหารเรือธนบุรีเป็นสถานที่ในการต่อเรือโดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะ[9] ได้แก่
- ระยะแรก เป็นการต่อส่วนของตัวเรือและวางระบบเครื่องจักร ในพื้นที่อู่แห้งหมายเลข 1 อู่ทหารเรือธนบุรี แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร ใช้ระยะเวลาในการดำเนินงานประมาณ 13 เดือน โดยเมื่อต่อเสร็จแล้วได้ปล่อยเรือลงน้ำ และนำเรือไปประกอบส่วนของหอบังคับการและสายอากาศสื่อสาร (superstructure) รวมไปถึงระบบอาวุธ ณ อู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า ตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ[9]
- ระยะที่สอง ใช้ระยะเวลาประมาณ 10 เดือน ในการประกอบส่วนที่เหลือของเรือข้างต้นคือหอบังคับการ สายอากาศสื่อสาร และระบบอาวุธ โดยใช้บุคลากรของกองทัพเรือดำเนินการติดตั้งและทดสอบระบบเองทั้งหมด[9] ใช้ระยะเวลาถึงกลางเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559[7]
ภารกิจ
[แก้]เรือหลวงแหลมสิงห์ เป็นเรือตรวจการณ์ปืนขอกองทัพเรือไทย มีภารกิจในการลาดตระเวนและตรวจการณ์บริเวณน่านน้ำไทยทั้งฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ป้องกันการเข้าแทรกซึมทางทะเล ปฏิบัติการปกป้องคุ้มครองเรือประมงและเรือพาณิชย์ในน่านน้ำไทย คุ้มครองผลประโยชน์ทางทะเลโดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลและชายฝั่งกรณีเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ และมีการร้องขอความช่วยเหลือ[11][9]
ขีดความสามารถ
[แก้]เรือหลวงแหลมสิงห์ รองรับขีดความสามารถในการปฏิบัติการต่อต้านเรือผิวน้ำด้วยการซ่อนพราง การใช้งานอาวุธหลักและอาวุธรองของเรือ การชี้เป้าให้กับเรือผิวน้ำและอากาศยานทางทะเล การโจมตีสนับสนุนที่หมายบนฝั่งด้วยปืนหลักและปืนรองของเรือ การรักษาฝั่ง สกัดกั้น ตรวจค้นด้วยระบบการตรวจการณ์ และการใช้งานเรือยางท้องแข็งไฟเบอร์กลาสความเร็วสูง (RIB) การป้องกันภัยทางอากาศในรูปแบบของการป้องกันตนเองด้วยระบบตรวจการณ์ทางอากาศและระบบควบคุมการยิง
นอกจากนี้ยังมีขีดความสามารถในการค้นหาและกู้ภัยผู้ประสบภัยทางทะเลตามแนวชายฝั่ง[11] และสนับสนุนการปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายทางทะเลและท่าเรือ รวมถึงสนับสนุนการปฏิบัติการอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย[6]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Ship RTN 561 (Cargo) Registered in Thailand - Vessel details, Current position and Voyage information - MMSI 567001910, Call Sign HSNV | AIS Marine Traffic
- ↑ "MARSUN PUBLIC COMPANY LIMITED". 2021-07-06.
- ↑ 3.0 3.1 "เรือหลวงแหลมสิงห์ | Innovation Thailand". www.innovationthailand.org (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2023-11-26. สืบค้นเมื่อ 2023-11-26.
- ↑ "ผบ.ทร.รับมอบเรือหลวงแหลมสิงห์ จัดสร้างด้วยงบประมาณเกือบ 700 ล้านบาท". Thai PBS.
- ↑ 5.0 5.1 "Royal Thai Navy - Detail History". www.fleet.navy.mi.th.
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 "สมราคา! ทร.เสริมเขี้ยวเล็บ เรือแหลมสิงห์ เข้าประจำการ กองเรือตรวจอ่าว". www.thairath.co.th. 2016-09-21.
- ↑ 7.0 7.1 "รู้จัก! 'รล.แหลมสิงห์' เรือตรวจการณ์ปืนลำใหม่ของ ทร.ไทย". www.thairath.co.th. 2015-08-25.
- ↑ 8.0 8.1 8.2 8.3 "MARSUN PUBLIC COMPANY LIMITED". 2021-07-07.
- ↑ 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 9.5 9.6 9.7 Kaewdang, Darunrat (2020-12-04). "เรือหลวงแหลมสิงห์". TIC | ศูนย์รวมนวัตกรรมคนไทยเพื่อคนไทย (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน).
- ↑ "MARSUN PUBLIC COMPANY LIMITED". 2021-07-06.
- ↑ 11.0 11.1 "กองทัพเรือ ส่งเรือรบ "แหลมสิงห์" เข้าช่วยลูกเรือสินค้าประสบอุบัติเหตุหนักกลางทะเล". สยามรัฐ. 2022-03-26.