ข้ามไปเนื้อหา

เรือทูลกระหม่อม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เรือทูลกระหม่อม เมื่อ พ.ศ. 2435

เรือทูลกระหม่อม เป็นเรือกำปั่นใบสามเสาประเภทบาร์ก (barque) ของรัฐบาลสยามในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรือลำนี้ต่อขึ้นที่กรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2409 และใช้เป็นเรือสินค้า โดยมีหนึ่งในกัปตันเรือคือนายฮันส์ นีลส์ แอนเดอร์เซน ชาวเดนมาร์กที่ต่อมาเป็นเศรษฐีจากธุรกิจเดินเรือ เขาได้นำเรือทูลกระหม่อมบรรทุกไม้สักไปขายที่ประเทศอังกฤษใน พ.ศ. 2426 ต่อมาเรือถูกโอนไปใช้เป็นเรือฝึกทหารของกรมทหารเรือ และได้ร่วมต่อสู้ในเหตุวิกฤตการณ์ปากน้ำเมื่อ พ.ศ. 2436 เรือทูลกระหม่อมเป็นเรือใบลำสุดท้ายของทหารเรือไทย ต่อมาถูกปลดระวางและจมอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาก่อน พ.ศ. 2451

เรือพาณิชย์

[แก้]

เรือทูลกระหม่อมต่อขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. 2409[1] (บางแหล่งกล่าวว่าต่อโดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท)[2][3] เรือจดทะเบียนที่กรุงเทพฯ เป็นเรือกำปั่นใบสามเสาประเภทบาร์ก (เอกสารสมัยนั้นเรียกสองเสาครึ่ง) มีระวางบรรทุกสุทธิ (net register tonnage) 475 ตัน ยาว 151 กว้าง 28 และลึก 15 ฟุต (46 * 8.5 * 4.6 เมตร)[1] ระวางขับน้ำ 800 ตัน[4]

เรือทูลกระหม่อมต่อมาเป็นสมบัติของหลวงสมัยรัชกาลที่ 5 นับเป็นหนึ่งในเรือพาณิชย์ราว 50 ลำที่สยามใช้ค้าขายกับต่างชาติ[5] บริษัทของนายเพาล์ พิคเคินพัค กงสุลดัตช์ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้บริหารจัดการเดินเรือ[6] โดยเรือทูลกระหม่อมใช้ค้าขายยังสิงคโปร์และเมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย นาย P. W. Vorrath ชาวเยอรมัน เป็นกัปตันเรือตั้งแต่ พ.ศ. 2419 และต่อมานายฮันส์ นีลส์ แอนเดอร์เซน ต้นเรือชาวเดนมาร์ก ได้รับหน้าที่ต่อ[5]

นายแอนเดอร์เซนเป็นกัปตันเรือทูลกระหม่อมเมื่อ พ.ศ. 2426 และต่อมาได้ขึ้นเป็นเจ้าของกิจการเดินเรืออันดับหนึ่งของเดนมาร์กในช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 20

ในปี พ.ศ. 2426 นายแอนเดอร์เซนนำเรือออกเดินทางครั้งสำคัญ เพื่อบรรทุกไม้สักไปขายที่ประเทศอังกฤษ ระหว่างทาง ลูกเรือได้พบเห็นผลพวงจากการปะทุของภูเขาไฟกรากะตัวเมื่อเรือผ่านช่องแคบซุนดาในปลายเดือนสิงหาคม[7] เรือทูลกระหม่อมแล่นอ้อมแหลมกู๊ดโฮปและเทียบท่าที่เมืองฟัลมัทก่อนเดินทางต่อไปยังลิเวอร์พูล สินค้าที่บรรทุกมาขายได้กำไรเกือบเท่าตัว นายแอนเดอร์เซนจึงบรรทุกถ่านหินกลับมาขายให้กรมทหารเรือสยาม รวมเวลาเดินทางเกือบสิบเอ็ดเดือน[6] การค้าครั้งนั้นนับการส่งออกไม้สักจากสยามสู่ยุโรปโดยตรงครั้งแรก และนับเป็นหมุดหมายสำคัญในประวัติศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมป่าไม้ของสยาม หลังจากนั้น บริษัทยุโรปหลายแห่งก็เริ่มแข่งขันกันเข้าจับจองส่วนแบ่งในตลาดนี้ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว[8]

หลังการเดินทางครั้งนั้น เรือทูลกระหม่อมถูกโอนไปใช้ในกิจการของกรมทหารเรือ[9] ส่วนนายแอนเดอร์เซนได้ลงหลักปักฐานในกรุงเทพฯ และหลังจากนั้นก็ได้ตั้งบริษัทอี๊สต์เอเชียติ๊ก กิจการเดินเรือข้ามชาติที่ต่อมาเติบโตจนกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อันดับต้นๆ ของเดนมาร์กในช่วงครึ่งแรกของคริสตศตวรรษที่ 20[6]

เรือฝึกทหาร

[แก้]

เมื่อโอนมาสังกัดกรมทหารเรือ เรือทูลกระหม่อมก็ถูกใช้เป็นเรือฝึกทหาร แต่ก็ได้ติดตั้งปืนใหญ่แบบบรรจุปากจำนวนหกหรือแปดกระบอก[a] และแหล่งข้อมูลบางแหล่งก็ระบุว่าเป็นเรือลาดตระเวน (cruiser)[4]

เรือยูเอสเอสเพเทรลของกองทัพเรือสหรัฐฯ ได้เดินทางมายังกรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2435 และได้เขียนรายงานซึ่งระบุถึงเรือทูลกระหม่อมดังนี้[9]

เรือฝึกทหาร ชื่อเรือทูลกระหม่อม แต่ก่อนเป็นเรือพาณิชย์ เป็นเรือบาร์กขนาดประมาณ 1,000 ตัน ติดตั้งปืนใหญ่วิถีโค้งทองเหลืองหกกระบอกหันทางกราบเรือ ที่ทำการเรืออยู่ที่เกาะช้าง[b] ซึ่งอยู่เลยจากปากแม่น้ำไปทางแนวฝั่งยี่สิบไมล์ เรือนี้ประจำการโดยลาดตระเวนในอ่าวอยู่ตลอด

รายงานนั้นระบุว่าเรือทูลกระหม่อมเป็นเรือลำเดียวในบรรดากองเรือทั้งหมดที่ออกทะเลอยู่เป็นประจำ[9] นอกจากนั้นยังมีบันทึกว่าบางครั้งเรือก็แล่นไปถึงสิงคโปร์[10] ขณะนั้นอ็องเดร ดูว์ แปลซี เดอ รีเชอลีเยอ นายเรือชาวเดนาร์ก เพิ่งขึ้นเป็นผู้บังคับบัญชากรมทหารเรือ และเรือส่วนใหญ่ก็มีนายทหารชาวยุโรป (ซึ่งมีชาวเดนมาร์กเป็นสัดส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ) ประจำการร่วมกับลูกเรือชาวสยาม[9] นายเอช วาริงตัน สมิธ ได้เขียนถึงเรือทูลกระหม่อมในหนังสือของเขาที่พิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2441 ว่า[11]

เรือฝึกที่พาเหล่าเด็กหนุ่มออกทะเลในอ่าวหลายๆ เดือนทุกปีนั้นเป็นภาพที่น่าปลื้มปริ่มที่สุดในประเทศนี้ และเป็นสิ่งที่สะอาด สง่างาม และมีประสิทธิภาพที่สุดที่รัฐบาลจะพึงอวดได้ มันแสดงให้เห็นว่าจะสามารถทำอะไรได้บ้างเมื่อชาวสยามได้รับการฝึกฝนที่เหมาะสม

เรือทูลกระหม่อมเป็นหนึ่งในเรือรบของไทยที่เข้าปะทะกับเรือรบฝรั่งเศสสองลำที่ได้บุกเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในเหตุวิกฤตการณ์ปากน้ำเมื่อ พ.ศ. 2436 ในการต่อสู้ครั้งนั้น เรือทูลกระหม่อมถูกยิงได้รับความเสียหาย และมีลูกเรือเสียชีวิตสองนาย[3]

เรือทูลกระหม่อมเป็นเรือใบลำสุดท้ายในกองทหารเรือ[12] และปลดระวางในเวลาต่อมา[c] เรือได้จมลงในแม่น้ำเจ้าพระยาที่กรุงเทพฯ ก่อน พ.ศ. 2451 โดยหนังสือ Twentieth Century Impressions of Siam ซึ่งพิมพ์ในปีนั้น ระบุว่าเวลาน้ำลงจะมองเห็นซากโครงเรือที่กำลังผุพังได้ที่ตรงหน้าวังสมเด็จฯ กรมหมื่นมหิศร[13]

เรือจำลอง

[แก้]
เรือสิริมหรรณพ ซึ่งจำลองแบบจากเรือทูลกระหม่อม

เมื่อราว พ.ศ. 2560 เจ้าของโครงการเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนต์ ซึ่งเป็นศูนย์การค้าตั้งอยู่บริเวณท่าเรือเก่าของบริษัทอี๊สต์เอเชียติ๊ก ได้ให้ต่อเรือจำลองขึ้นตามแบบเรือทูลกระหม่อม ชื่อว่าเรือสิริมหรรณพ เรือนี้ต่อโดยบริษัทอู่กรุงเทพ และปล่อยลงน้ำใน พ.ศ. 2563 โดยเปิดเป็นร้านอาหารและบาร์ลอยน้ำจอดเทียบท่าถาวรอยู่ที่เอเชียทีค[14]

หมายเหตุ

[แก้]
  1. แหล่งข้อมูลแต่ละแหล่งให้ข้อมูลเรื่องปืนไม่ตรงกัน แหล่งหนึ่งระบุว่ามีปืนบรรจุปากขนาด 4 นิ้ว 32 ปอนด์ จำนวนสี่กระบอก กับปืนเล็กอีกสี่กระบอก[9] อีกแหล่งระบุว่ามีปืน 16 18 และ 20 ปอนด์ รวมแปดกระบอก[10] รายงานเรือเพเทรล (กล่าวถึงถัดไป) ระบุว่าเป็นปืนใหญ่วิถีโค้งทองเหลืองหกกระบอก ส่วนวาริงตัน สมิธ (ถัดไปเช่นกัน) ระบุอาวุธของเรือว่าเป็นปืนใหญ่แบบสั้น (carronade) ทำจากทองเหลืองจำนวนหกกระบอก ใช้สำหรับยิงสลุต[11]
  2. ที่ถูกคือเกาะสีชัง
  3. แหล่งข้อมูลบางแหล่งระบุว่าเรือถูกขายให้บริษัทอี๊สต์เอเชียติ๊ก แต่เรื่องนี้ไม่ตรงกับบันทึกของบริษัทฯ บางแหล่งว่าขายเมื่อ พ.ศ. 2446[12] บางแหล่งว่า พ.ศ. 2466[3] ซึ่งอย่างหลังนั้นผิดพลาดอย่างชัดเจน เป็นไปได้ว่าอาจสับสนกับเรืออีกลำที่ต่อขึ้นภายหลังโดยใช้ชื่อเดียวกัน

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Lloyd's Register Foundation (1 January 1886). Lloyd's Register of Shipping 1886 (ภาษาอังกฤษ). Lloyd's Register.
  2. v. Mach, Andrzej (1988). "Re: "The Thai Navy," WI No. 3, 1986". Warship International. 25 (2): 113. ISSN 0043-0374.
  3. 3.0 3.1 3.2 "เรือทูนกระหม่อม". นาวิกศาสตร์. 79 (1): 151. มกราคม พ.ศ. 2539. ISSN 0125-4324. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  4. 4.0 4.1 The Naval Pocket-book (ภาษาอังกฤษ). Tower Publishing Company, Limited. 1900. p. 528.
  5. 5.0 5.1 Laugesen, Mary E.; Westphall, Povl; Dannhorn, Robin (1980). Scandinavians in Siam (ภาษาอังกฤษ). Scandinavian Society of Siam. p. 38.
  6. 6.0 6.1 6.2 Eggers-Lura, A. (1993). "The Danes in Siam: Their Involvement in Establishing The Siam Commercial Bank Ltd. At the End of the Last Century" (PDF). Journal of the Siam Society. 81 (2): 131–140.
  7. Royal Society (Great Britain) Krakatoa Committee; Symons, George James; Judd, John Wesley; Strachey, Sir Richard; Wharton, William James Lloyd; Evans, Frederick John; Russell, Francis Albert Rollo; Archibald, Douglas; Whipple, George Mathews (1888). The Eruption of Krakatoa: And Subsequent Phenomena (ภาษาอังกฤษ). Trübner & Company. p. 16.
  8. Bristowe, William Syer (1976). Louis and the King of Siam (ภาษาอังกฤษ). London: Chatto & Windus. p. 69. ISBN 978-0-7011-2164-8.
  9. 9.0 9.1 9.2 9.3 9.4 Roberts, Stephen S. (1986). "The Thai Navy". Warship International. 23 (3): 217–265. ISSN 0043-0374.
  10. 10.0 10.1 ประพัฒน์ จันทวิรัช (มกราคม พ.ศ. 2539). "แด่ ร.ล.แม่กลอง.. เรือพิพิธภัณฑ์ลำแรก". นาวิกศาสตร์. 79 (1): 3–4. ISSN 0125-4324. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  11. 11.0 11.1 Smyth, Herbert Warington (1898). Five Years in Siam, from 1891 to 1896 (ภาษาอังกฤษ). Vol. 1. London: J. Murray. pp. 29, 263.
  12. 12.0 12.1 กฤษฎา เฟื่องระบิล (มิถุนายน พ.ศ. 2539). "เรือรบที่ยิ่งใหญ่ของราชนาวีไทย". นาวิกศาสตร์. 79 (6): 7. ISSN 0125-4324. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  13. Wright, Arnold; Breakspear, Oliver T. (1908). Twentieth century impressions of Siam: its history, people, commerce, industries, and resources, with which is incorporated an abridged edition of Twentieth century impressions of British Malaya. London [etc.] Lloyds Greater Britain Publishing Company, Ltd. p. 106.
  14. Tanphaibul, Suthivas (10 January 2023). "Docked dinner cruise that serves a tale in every bite". Bangkok Post (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 16 January 2024.
    Møller, Gregers (8 January 2022). "Extra Show Sunday Evening 16.30 - Danish Gymnastics Team in Thailand". Scandasia. สืบค้นเมื่อ 16 January 2024.
    "เอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ ได้ฤกษ์ทำพีธีปล่อยเรือ 'สิริมหรรณพ' ลงน้ำ เตรียมโปรโมทสู่ไฮไลท์การท่องเที่ยวใหม่ของเมืองไทย (press release)". Positioning Magazine. 6 July 2018. สืบค้นเมื่อ 16 January 2024.