ข้ามไปเนื้อหา

เมืองกุยบุรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เมืองกุยบุรี หรือ เมืองกุย เป็นเมืองโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีวัดกุยบุรีเป็นศูนย์กลางชุมชน ไม่มีประวัติแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ตัวเมืองตั้งอยู่บริเวณฝั่งแม่น้ากุยบุรีด้านเหนือ ตั้งอยู่ในตำบลกุยบุรี อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ปัจจุบันมีการสร้างกำแพงเมืองกุยบุรีจำลองเพื่อพยายามบอกเล่าเรื่องราวประวัติและความสำคัญของป้อมยันทัพพม่าครั้งเมื่อมีการใช้สู้รบกับข้าศึกในสมัยอยุธยา รวมทั้งมีการตั้งศาลเจ้าเมืองกุยบุรีอยู่ทางทิศเหนือของเนินโบราณสถาน

ประวัติและการบันทึก

[แก้]

เมืองกุยปรากฏชื่อในแผนที่ประเทศสยามในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งวาดโดยชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาพร้อมกับลาลูแบร์ โดยระบุชื่อเมืองว่า Couil

บันทึกการเดินทางของ แซมวล ไวต์ (Samuel White) ที่บันทึกการเดินทางจากเมืองมะริดมายังกรุงศรีอยุธยา โดยผ่านเข้ามาทางด่านสิงขร มายังเมืองกุยบุรีเมืองปราณบุรีเมืองเพชรบุรีแล้วลงเรือล่องแม่น้ำขึ้นมายังกรุงเทพฯ และกรุงศรีอยุธยา[1]

จดหมายเหตุการเดินทางของสังฆราชแห่งเบริธซึ่งเดินทางมายังกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2205 ระบุว่ากำแพงเมืองกุยทำด้วยไม้ มีบ้านอยู่ประมาณ 200 หลังคาเรือน[2]

จากหลักฐานในกฎหมายตราสามดวงซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชได้โปรดให้ชำระขึ้นมีความว่า "สมัยพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา มีพระราชโองการสั่งว่า บรรดาข้าราชการ ณ หัวเมืองปักษ์ใต้ ฝ่ายเหนือทั้งปวงให้ถือศักดินาตามพระราชบัญญัติหัวเมือง และมีข้อความตามพระราชบัญญัติหัวเมืองบัญญัติไว้ว่าออกพระพิไชยภักดีศรีวิสุทธิสงคราม เมืองกุย หรือเจ้าเมืองกุย ให้ถือศักดินาสามพัน เป็นเมืองจัตวา"

มีตำนานในท้องถิ่นเล่าขานว่า บรรพบุรุษชาวเมืองกุยได้ใช้ป้อมยันทัพพม่าทำการรบแบบกองโจรด้านทานพม่า รวมทั้งเป็นม้าเร็วนำใบบอกไปยังเมืองต่าง ๆ จนถึงกรุงศรีอยุธยา จนได้รับสมญานามว่า "เสือกุย" จากวีรกรรมดังกล่าว

โบราณสถาน

[แก้]

โบราณสถานตั้งอยู่ในพื้นที่ทางทิศใต้ของวัดกุยบุรี มีลักษณะเป็นเนินดินและมีวัชพืชปกคลุม บนเนินดินมีซากโบราณสถานที่ก่อสร้างด้วยอิฐและก้อนหินใหญ่ ทำให้ไม่สามารถเห็นลักษณะที่แท้จริงของตัวป้อมได้ มีขนาดกว้างประมาณ 16 เมตร สูงประมาณ 4–5 เมตร ปัจจุบันเหลืออยู่เพียงเนินดินเดียว[3]

มีสิ่งก่อสร้างที่เป็นป้อมโบราณซึ่งสันนิษฐานว่าคงเป็นชุมชนที่ช่วยสกัดทัพพม่าเมื่อยกมาตีกรุงศรีอยุธยา[4] ลักษณะป้อมมีสภาพไม่ชัดเจน แต่ยังมีโครงเดิมอยู่บ้าง[5] แต่เดิมริมคลองกุยหรือแม่น้ำกุยบุรีมีอยู่ 11 ป้อม ปัจจุบันเหลือหลักฐานให้เห็นเพียงป้อมเดียว

อ้างอิง

[แก้]
  1. สุเมธ สารีวงษ์. "ประจวบฯ ในสมัยอยุธยา : เส้นทางข้ามคาบสมุทรและชุมชนชายฝั่งทะเล" (PDF). กรมศิลปากร.
  2. กรมศิลปากร. (2530). จดหมายเหตุการเดินทางของพระสังฆราชแห่งเบริธประมุขมิสซังสู่อาณาจักรโคจินจีน. หน้า 44
  3. "ป้อมยันทัพพม่า". ฐานข้อมูลแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในประเทศไทย.
  4. "ชุมชนเมืองกุยบุรี". แหล่งศิลปกรรมอันควรอนุรักษ์ - สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม.
  5. "ประวัติความเป็นมา". สำนักงานเทศบาลตำบลกุยบุรี.[ลิงก์เสีย]