ข้ามไปเนื้อหา

เป้า ชูหยา

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เครื่องดนตรีสัมฤทธิ์ ค้นพบเมื่อ ค.ศ. 1870 จารึกว่า ผู้ปกครองรัฐฉีประทานที่ดินและบริวารให้แก่หลานคนหนึ่งของเป้า ชูหยา

เป้า ชูหยา ตามสำเนียงมาตรฐาน หรือ เปาซกแหย ตามสำเนียงฮกเกี้ยน (จีนตัวย่อ: 鲍叔牙; จีนตัวเต็ม: 鮑叔牙; พินอิน: Bào Shūyá; ตาย 644 ปีก่อนคริสตกาล) เป็นข้าราชการแห่งรัฐฉี (齐国) ภายใต้การปกครองของฉีหฺวันกง (齊桓公) ในยุควสันตสารท (春秋時代) ของจีน อยู่ร่วมสมัยเดียวกับและเป็นสหายของกว่าน จ้ง (管仲) นักปฏิรูปผู้เลื่องชื่อ

แม้จะเป็นนักปกครองที่มีความสามารถ แต่เขามีชื่อเสียงเพราะเป็นเพื่อนของกว่าน จ้ง ทั้งยังทูลเสนอให้ฉีหฺวันกงยอมวางความแค้นส่วนตัวกับกว่าน จ้ง ลง แล้วตั้งกว่าน จ้ง เป็นอัครมหาเสนาบดี (宰相) เขายังเป็นที่รู้จักเพราะสามารถมองบุคลิกลักษณะและพรสวรรค์ของแต่ละคนออก

ประวัติ

[แก้]

เป้า ชูหยา และกว่าน จ้ง เป็นชาวอำเภออิ่งช่าง (潁上縣) ปัจจุบันอยู่ในมณฑลอานฮุย (安徽省) ครอบครัวค่อนข้างร่ำรวยเมื่อเทียบกับกว่าน จ้ง แต่ทั้งคู่ก็คบหาสนิทสนมกันมาแต่เด็ก และเป้า ชูหยา ชื่นชมความสามารถของกว่าน จ้ง มาก ก่อนเข้ารับราชการ ทั้งสองยังมักทำธุรกิจการค้าร่วมกัน[1]

เป้า ชูหยา และกว่าน จ้ง เข้ารับราชการในฐานะอาจารย์ขององค์ชายสององค์แห่งรัฐฉี กว่าน จ้ง ได้สอนองค์ชายจิว (公子糾) ส่วนเป้า ชูหยา ได้สอนองค์ชายเสี่ยวไป๋ (小白) ซึ่งต่อมา คือ ฉีหฺวันกง เวลานั้น ฉีเซียงกง (齊襄公) พระบิดาขององค์ชายทั้งสอง ปกครองรัฐฉีอย่างเสเพล เป้า ชูหยา เล็งเห็นได้ว่า ความวุ่นวายจะบังเกิดขึ้นสักวันหนึ่ง จึงพาองค์ชายเสี่ยวไป๋หนีไปรัฐจฺวี่ (莒国) ส่วนกว่าน จ้ง ก็พาองค์ชายจิวหนีไปรัฐหลู่ (魯國)

ที่สุดแล้ว ขุนนางนาม อู๋จือ (無知) สังหารฉีเซียงกง ยึดอำนาจ แล้วประกาศตนเป็นผู้ปกครองคนใหม่ แต่อยู่ได้ไม่นานก็ถูกขุนนางอีกคนนาม ยง หลิน (雍廩) สังหารตามไป การแก่งแย่งอำนาจกันทำให้บ้านเมืองไร้ผู้ปกครอง ผู้มีสิทธิชอบธรรมจะขึ้นเป็นใหญ่ก็คือองค์ชายทั้งสอง ทำให้เป้า ชูหยา และกว่าน จ้ง กลายเป็นคู่แข่งกันในการผลักดันให้ศิษย์ของตนได้ขึ้นสู่อำนาจ เป้า ชูหยา ชิงพาองค์ชายเสี่ยวไป๋กลับรัฐฉีก่อนแล้วประกาศให้องค์ชายเสี่ยวไป๋เป็นเจ้ารัฐคนใหม่นาม ฉีหฺวันกง และฉีหฺวันกงชักจูงให้รัฐหลู่สังหารองค์ชายจิวแล้วส่งกว่าน จ้ง กลับคืนรัฐฉีเป็นผลสำเร็จ[2]

เมื่อกว่าน จ้ง กลับมาแล้ว เป้า ชูหยา ทูลเสนอฉีหฺวันกงให้ตั้งกว่าน จ้ง เป็นอัครมหาเสนาบดี เพราะมีความสามารถมาก ทั้งว่ากล่าวให้กว่าน จ้ง หันมาภักดีต่อฉีหฺวันกง ทำให้เป้า ชูหยา เป็นที่ยกย่องเพราะคุณธรรมน้ำมิตร นักประวัติศาสตร์ซือหม่า เชียน (司馬遷) ยังออกความเห็นไว้ว่า คนเก่งอย่างกว่าน จ้ง จะหาที่ไหนก็ได้ในโลก แต่คนที่เห็นความเก่งของคนอื่นอย่างเป้า ชูหยา นี้หายาก[1]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Shi Ji, Chapter 62 "Biography of Guan and Yan"
  2. Zuo Zhuan, 10th year of Duke Zhaung of Lu

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]