เทศภักดิ์ นิยมเหตุ
เทศภักดิ์ นิยมเหตุ | |
---|---|
เกิด | 3 ก.ย. 2482 กรุงเทพฯ |
เสียชีวิต | 1 เม.ย. 2538 (56 ปี) รพ.สมิติเวช กรุงเทพฯ |
อาชีพ | นักแปล นักธุรกิจส่วนตัว |
สัญชาติ | ไทย |
คู่สมรส | ภัคคินี (ศรีพิจารณ์) นิยมเหตุ |
เทศภักดิ์ นิยมเหตุ (พ.ศ. 2482 - พ.ศ. 2538) นักแปลชาวไทย รุ่นเก่าลายคราม มีผลงานแปลไม่มากนัก แต่'ขายดี'ทุกเล่ม อาทิ แผ่นดินนี้เราจอง ลูกผู้ชาย พระจันทร์กระดาษ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีผลงานเรื่องสั้นและบทความหลายชิ้น เคยมีร้านหนังสือในนามของตนเอง และเปิดสำนักพิมพ์ด้วย
เทศภักดิ์ เข้ารับการรักษาอาการป่วยเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2538 ที่โรงพยาบาลสมิติเวช และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2538[1] ญาติพี่น้องได้นำศพไปทำการฌาปนกิจ ณ เมรุวัดธาตุทอง กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 สิ้นสุดชีวิตนักแปลมือทองด้วยอายุเพียง 55 ปี 6 เดือน 29 วัน
ประวัติ
[แก้]เทศภักดิ์ (อ่านว่า เทด-สะ-พัก) เกิดในครอบครัวที่มีฐานะดีมาก เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2482 ณ บ้านคลองบางหลวง (คลองบางกอกใหญ่ในปัจจุบัน)[1] ชื่อเล่น โหน่ง เป็นบุตรของ พ.ต.ท.เทียม เจียมวิจิตร และ นางทิพย์ นิยมเหตุ (ผู้คิดค้นสูตรยาสีฟันไทยโบราณ “ทิพย์นิยม”) แต่เดิม ด.ช. เทศภักดิ์ได้ใช้นามสกุล เจียมวิจิตร ตามคุณพ่อ ต่อมาในภายหลังได้เปลี่ยนไปใช้นามสกุลของคุณตาคือ นิยมเหตุ เริ่มเรียนหนังสือที่โรงเรียนราชินี โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนปทุมคงคา และโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เข้าเรียนระดับอุดมศึกษาในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เพียงปีเดียวก็ถูกรีไทร์[2] จึงเดินทางไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษอยู่พักหนึ่ง แล้วก็ย้ายไปศึกษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จนจบ 'สกูล ออฟ เอนจิเนียร์' ที่มิลวอคกี้
เทศภักดิ์ แต่งงานกับ รศ.ภัคคินี นิยมเหตุ (นามสกุลเดิม ศรีพิจารณ์) ซึ่งภายหลังจากเดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกาได้รับราชการเป็นอาจารย์ประจำสถาบันภาษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจัดงานแต่งที่สถานกงสุลใหญ่ไทย ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2505 ต่อมามีทายาท 2 คน คือ นางภาสนุช สุพันธุ์วณิช (นุข) และนายพันธุ์ทนง นิยมเหตุ (นง)
เมื่อกลับประเทศไทย เริ่มแปลหนังสือ ชื่อ อเล็กซานเดอร์ บอทท์ส ที่ซื้อกลับมาจากอเมริกา นำบทแรกที่แปลไปหา อาจินต์ ปัญจพรรค์ ซึ่งเป็นบรรณาธิการหนังสือ ไทยโทรทัศน์ ของช่อง 4 ในขณะนั้น อาจินต์แนะว่าให้ส่งไปลง ชาวกรุง และแนะนำให้รู้จัก นพพร บุณยฤทธิ์ บรรณาธิการนิตยสารชาวกรุงด้วย ซึ่งก็ได้ลงเรื่อยๆ จนกระทั่งหยุดแปล ต่อมาไปสมัครเป็นล่ามให้นักข่าวหนังสือพิมพ์ บางกอกเวิร์ลด์ และได้รับตำแหน่งนักข่าวกีฬา จนได้เลื่อนขึ้นเป็นบรรณาธิการข่าวกีฬา แต่ทำอยู่ไม่นานก็ลาออกไปทำงานให้สำนักงานข่าวสารอเมริกันประจำประเทศไทย หรือ 'ยูซิส' (USIS) ทำหน้าที่แปลข่าววิทยุ โดยรับฟังวิทยุ 'เสียงจากอเมริกา' (Voice of America) ซึ่งส่งจากอเมริกาผ่านสถานีถ่ายทอดที่ฟิลิปปินส์ อัดเทปไว้ จากนั้นก็ถอดเทปภาษาอังกฤษแปลเป็นภาษาไทยเพื่อส่งไปตามสถานีวิทยุและโทรทัศน์ต่างๆ ในประเทศไทย[2]
นอกจากงานแปลหนังสือแล้ว เทศภักดิ์ได้เขียนเรื่องสั้นและบทความไว้หลายชิ้น เช่น 'ยังเหมือนเมื่อวานซืน' ซึ่งลงในหนังสือครบ 30 ปี ของ ต.อ. รุ่น 18 [3]
งานที่เทศภักดิ์ชอบรองมาจากงานแปลหนังสือก็คือการแข่งรถแบบแรลลี่ ซึ่งเขาร่วมกับทักษพล เจียมวิจิตร ผู้เป็นน้องชาย ทำการแข่งขัยในยุคบุกเบิกของการแข่งขันรถแรลลี่ในเมืองไทย ทำผลงานได้ดีระดับคว้าถ้วยรางวัลชัยชนะไปครองหลายครั้ง เคยให้สัมภาษณ์ว่า "..แรกๆ ผมก็ลงทุนเอง เอารถของตัวเองลงแข่ง ปรากฏว่าไม่ไหว ต้องซ่อมกันเยอะ ต่อมาก็ไปเข้าทีมของรถซูบารุ (สยามกลการ) พอมีสปอนเซอร์ก็แข่งกันบ่อย ได้ถ้วยมาหลายใบ บางใบก็ยังวางอยู่ที่อาคารแสดดำ.." [2]
ผลงาน
[แก้]หนังสือแปล 10 เล่ม
- อเล็กซานเดอร์ บอทท์ส นักการค้าผู้สามารถมาแต่กำเนิด (The Best of Botts by William Hazlett Upson)
- แผ่นดินนี้เราจอง (Pioneer, Go Home! By Richard Powell)
- หลายรักของโดบี้ (The Many Loves of Dobie Gillis by Max Shulman)
- เสรีภาพเจ้ากรรม (A Feast of Freedom by Leonard Wibberley)
- ลูกผู้ชาย (The Philadelphian by Richard Powell)
- ฟ้าใหม่ในซานมาร์โค (Don Quixote U.S.A. by Richard Powell)
- นายอำเภอดำ (Blazing Saddles by Ted Richards)
- น้ำวน (Shark River by Richard Powell)
- ชายชาติทหาร (The Soldier by Richard Powell)
- พระจันทร์กระดาษ (Paper Moon by Joe David Brown)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 เทศภักดิ์ : หนังสือที่ระลึกในงาน ฌาปนกิจศพ นายเทศภักดิ์ นิยมเหตุ ณ เมรุวัดธาตุทอง 1 พฤษภาคม 2538
- ↑ 2.0 2.1 2.2 "สิงห์สนามหลวงสนทนา / สิงห์สนามหลวง เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 14 ฉบับที่ 662วันที่ 7 - 13 ก.พ. 2548". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-10. สืบค้นเมื่อ 2010-11-19.
- ↑ อนุสรณ์ เทศภักดิ์ นิยมเหตุ, สำนักพิมพ์เทศภักดิ์, พฤษภาคม 2538.