เตเรซาแห่งเลออน เคาน์เตสแห่งโปรตุเกส
เตเรซาแห่งเลออน (สเปน: Teresa de León; ค.ศ. 1080 – 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1130) เป็นเคาน์เตสแห่งโปรตุเกสและเป็นพระราชธิดานอกสมรสของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 แห่งเลออนกับฆิเมนา มุญโญซ สนมลับ ทั้งยังเป็นพระราชชนนีของพระเจ้าอาฟงซูที่ 1 แห่งโปรตุเกส ปฐมกษัตริย์แห่งโปรตุเกส
ชาติกำเนิดและการสมรส
[แก้]เตเรซาเป็นธิดานอกสมรสของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 แห่งเลออนและกัสติยากับฆิเมนา มุญโญซ สนมลับ[1] ปี ค.ศ. 1093 บิดาจับเธอสมรสกับอ็องรีแห่งบูร์กอญ[2] ขุนนางฝรั่งเศสซึ่งเป็นพระภาติยะของพระราชินีกงสต็องส์และเป็นน้องชายของดยุคแห่งบูร์กอญ เขาเป็นลูกหลานในสายเพศชายของกษัตริย์ฝรั่งเศส อ็องรีได้ให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่พ่อตาในการต่อสู้กับชาวมัวร์บนชายแดนฝรั่งเศส
เดือนแรกของปี ค.ศ. 1096 อ็องรีกับแรมงแห่งบูร์กอญ ลูกพี่ลูกน้องที่เป็นพระสวามีของอูร์รากา พระธิดาตามกฎหมายของพระเจ้าอัลฟอนโซได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันภายใต้เงื่อนไขที่ว่าหลังพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 สิ้นพระชนม์ ราชอาณาจักรโตเลโดกับราชสมบัติหนึ่งในสามส่วนหรือไม่ก็ราชอาณาจักรกาลิเซียจะตกเป็นของอ็องรี แลกกับการที่เขาจะต้องให้การสนับสนุนแรมงในการรักษาดินแดนทั้งหมดของกษัตริย์กับราชสมบัติอีกสองในสามส่วนที่เหลือ ทันทีล่วงรู้ถึงข้อตกลงดังกล่าว พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 ได้แต่งตั้งอ็องรีเป็นข้าหลวงในดินแดนที่ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำมีญูจนถึงซังตาไรซึ่งเดิมเคยอยู่ภายใต้การบริหารปกครองของแรมง และจำกัดอำนาจการปกครองของพระสสุระเหลือแค่ในกาลิเซีย ลูกพี่ลูกน้องที่เคยเป็นพันธมิตรกับจึงเปลี่ยนมาเป็นศัตรูกันด้วยต่างคนต่างต้องการเป็นคนโปรดของกษัตริย์
ความขัดแย้งกับพระเชษฐภคินี
[แก้]ในรัชสมัยของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 6 เตเรซากับอ็องรีเป็นข้าราชบริวารของกษัตริย์แห่งเลออนและกัสติยา แต่หลังกษัตริย์สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1109 อูร์รากา พระธิดาตามกฎหมายและทายาทของพระองค์ได้ขึ้นครองบัลลังก์[3] เป็นสมเด็จพระราชินีนาถอูร์รากาที่ 1 แห่งกัสติยา อ็องรีได้บุกเลออนด้วยความหวังที่จะได้ดินแดนเพิ่ม เมื่อเขาถึงแก่กรรมในปี ค.ศ. 1112 เตเรซาถูกทิ้งไว้ให้รับมือกับสถานการณ์ทางทหารและทางการเมือง เธอทำหน้าที่บริหารบ้านเมืองและพิชิตดินแดนทางตอนใต้กลับคืนมาจากชาวมัวร์ได้จนถึงแม่น้ำมงเดกู ชัยชนะของเธอเหนือกูอิงบราทำให้สมเด็จพระสันตะปาปาปาสคาลที่ 2 ขนานนามและให้การยอมรับเธอเป็น "พระราชินี" เธอปรากฏในเอกสารต่าง ๆ ในฐานะ "พระธิดาของพระเจ้าอัลฟอนโซและผู้ได้รับเลือกจากพระเจ้า" ทั้งยังถูกขนานนามว่าพระราชินีอย่างชัดเจนในเอกสารปี ค.ศ. 1117 จึงนับได้ว่าเธอคือพระมหากษัตริย์คนแรกของโปรตุเกส[4]
ปี ค.ศ. 1116 เตเรซาพยายามขยายอำนาจด้วยการต่อสู้กับพระราชินีนาถอูร์กา พี่สาวต่างมารดา ทั้งคู่ต่อสู้กับอีกครั้งในปี ค.ศ. 1120 ด้วยความมุ่งมั่นอยากได้ส่วนแบ่งก้อนโตในมรดกเลออน เตเรซาที่เป็นม่ายจึงได้จับมือเป็นพันธมิตรกับเฟร์นันโด เปเรซ เด ตราบา ขุนนางกาลิเซียผู้ทรงอำนาจที่ได้ทิ้งภรรยาคนแรกมาอยู่กินกับเธออย่างเปิดเผย เขาทำหน้าที่ดูแลพรมแดนริมแม่น้ำมงเดกูทางตอนใต้ ปี ค.ศ. 1121 หลังถูกกองทัพของพระราชินีนาถอูร์รากาโจมตี เตเรซาล่าถอยออกจากชายฝั่งทางซ้ายของแม่น้ำมีญู กองทัพของเธอปราชัยและแตกพ่าย สุดท้ายเธอได้ลี้ภัยเข้าไปอยู่ในปราสาทลัญโญซูและถูกอูร์รากาปิดล้อมจับกุมตัว ด้วยความช่วยเหลือของอัครมุขนายกแห่งซานเตียโกเดกอมโปสเตลาและอัครมุขนายกแห่งบรากาสองพี่น้องร่วมบิดาได้ทำสนธิสัญญาสันติภาพร่วมกันภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเตเรซาจะเป็นอิสระหากยินยอมที่จะครอบครองเคาน์ตีโปรตุเกสในฐานะข้าราชบริวารของราชอาณาจักรเลออน ซึ่งเธอได้ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว
การก่อกบฏ
[แก้]ปี ค.ศ. 1128 อัครมุขนายกแห่งบรากาและขุนนางศักดินาของโปรตุเกสเหนื่อยหน่ายในตัวพันธมิตรชาวกาลิเซียผู้แสนดื้อด้านของเตเรซา โดยอัครมุขนายกกลัวว่าอำนาจในทางศาสนาของตนจะตกเป็นของดิเอโก เฆลมิเรซ อัครมุขนายกแห่งซานเตียโกเดกอมโปสเตลาชาวกาลิเซีย คู่อริที่เริ่มแสดงอำนาจด้วยการอ้างว่าได้ค้นพบปูชนียวัตถุของนักบุญยากอบในเมืองของตน เพื่อให้ตนเองมีอำนาจและความร่ำรวยเหนือกว่าอาสนวิหารอื่น ๆ ในคาบสมุทรไอบีเรีย
กลุ่มขุนนางโปรตุเกสได้ทำการก่อกบฏ หลังสงครามกลางเมืองที่จบลงในช่วงเวลาอันสั้น พระราชินีนาถอูร์รากาหมดอำนาจในโปรตุเกส อาฟงซู บุตรชายและทายาทของเตเรซาไม่ยอมให้เฟร์นันโด เปเรซ เด ตราบาได้ควบคุมดินแดนที่เคยเป็นของบิดาอีกต่อไป สองแม่ลูกเปิดสงครามใส่กันและผู้เป็นลูกสามารถปราบกองทัพของมารดาได้ที่สมรภูมิเซามาแมดือใกล้กับเมืองกีมาไรช์ เตเรซากับชายคนรักและลูก ๆ ของทั้งคู่ถูกออกจากโปรตุเกสไปอยู่ที่ราชอาณาจักรกาลิเซียซึ่งมีพรมแดนติดกัน ที่นั่นตราบาได้ก่อตั้งอารามโตโชสโอว์โตส ต่อมาไม่นานเตเรซาได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1130 ร่างของเธอถูกฝังที่อาสนวิหารบรากาใกล้กับหลุมฝังศพของอ็องรีแห่งบูร์กอญ สามีคนแรก
บุตรธิดา
[แก้]เตเรซามีบุตรธิดากับอ็องรี เคานต์แห่งโปรตุเกส ดังนี้
- อูรากา เอ็งรีกึช (เกิด ค.ศ. 1095)[5] ภรรยาของเบร์มุนโด เปเรซ เด ตราบา บุตรชายของเปโดร ฟรอยลัซ เด ตราบา
- ซังชา เอ็งรีกึช (เกิด ค.ศ. 1097)[5] พระอธิการิณีแห่งอารามซานตามาริอาเดโซบราโดในกาลิเซีย[6]
- ตึเรซาแห่งโปรตุเกส (เกิด ค.ศ. 1098)[5]
- เอ็งรีกึ เอ็งรีกึช (เกิด ค.ศ. 1106)
- อาฟงซู เอ็งรีกึช หรือพระเจ้าอาฟงซูที่ 1 แห่งโปรตุเกส (เกิด ค.ศ. 1109)[7] ปฐมกษัตริย์ของโปรตุเกส
- เปดรู พระอธิการแห่งอารามอัลกูบาซา
พระนางมีธิดานอกสมรสกับเฟร์นันโด เปเรซ เด ตราบา
- เตเรซา เฟร์นันเดซ เด ตราบา ภรรยาของนุญโญ เปเรซ เด ลารา หลังเป็นม่ายได้สมรสเป็นพระมเหสีคนที่สองของพระเจ้าเฟร์นันโดที่ 2 แห่งเลออน[8]
- ซันชา เฟร์นันเดซ เด ตราบา สมรสกับอัลบาโร โรดริเกซ เด ซาร์เรีย หลังเป็นม่ายได้สมรสเป็นภรรยาคนที่สองของเปโดร อัลฟอนโซ และหลังเป็นม่ายอีกครั้งได้สมรสครั้งที่สามกับกอนซาโล โรดริเกซ ซัลบาโดเรซ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Rodrigues Oliveira, Ana (2010). Rainhas medievais de Portugal. Dezassete mulheres, duas dinastias, quatro séculos de História (in Portuguese). Lisbon: A esfera dos livros. ISBN 978-989-626-261-7, p. 23.
- ↑ Spain in the Eleventh Century, Simon Barton, The New Cambridge Medieval History: Volume 4, C.1024-c.1198, Part II, ed. David Luscombe, Jonathan Riley-Smith, (Cambridge University Press, 2015), 187.
- ↑ Rodrigues Oliveira, Ana (2010). Rainhas medievais de Portugal. Dezassete mulheres, duas dinastias, quatro séculos de História (in Portuguese). Lisbon: A esfera dos livros. ISBN 978-989-626-261-7, p. 32.
- ↑ Marsilio Cassotti, "D. Teresa utilizou armas de homens" - Jornal de Notícias (p.39), 13 July 2008
- ↑ 5.0 5.1 5.2 Rodrigues Oliveira, Ana (2010). Rainhas medievais de Portugal. Dezassete mulheres, duas dinastias, quatro séculos de História (in Portuguese). Lisbon: A esfera dos livros. ISBN 978-989-626-261-7, p. 28.
- ↑ López Morán, Enriqueta (2005). «Galician female monasticism in the High Middle Ages (Lugo and Orense) (XIII to XV centuries)» . Nalgures (A Coruña: Association of Historical Studies Culture of Galicia) (II): 49-142 (vid pp. 88-89). ISSN 1885-6349 . Archived from the original on February 6, 2011.
- ↑ Rodrigues Oliveira, Ana (2010). Rainhas medievais de Portugal. Dezassete mulheres, duas dinastias, quatro séculos de História (in Portuguese). Lisbon: A esfera dos livros. ISBN 978-989-626-261-7, p. 31.
- ↑ Torres Sevilla-Quiñones de León, Margarita Cecilia (1999). Linajes nobiliarios de León y Castilla: Siglos IX-XIII. Salamanca: Junta de Castilla y León, Consejería de educación y cultura. ISBN 84-7846-781-5, p. 230.