ข้ามไปเนื้อหา

เดอ ฮาวิลแลนด์ คอเม็ท

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เดอ ฮาวิลแลนด์ คอเม็ท

เดอ ฮาวิลแลนด์ คอเม็ท (อังกฤษ: de Havilland Comet)[1] เป็นเครื่องบินเจ็ทโดยสารรุ่นแรกของโลก ผลิตและพัฒนาโดยบริษัท เดอ ฮาวิลแลนด์ จำกัด ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่สหราชอาณาจักร ขึ้นบินครั้งแรกใน พ.ศ. 2492 เป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าทางการบินของสหราชอาณาจักร

เครื่องบินเจ็ท สามารถบินได้สูงกว่า 10 กิโลเมตร และบินได้เร็วเกือบ 1000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ต่างจากเครื่องบินใบพัดรุ่นแรกหรือเรือเหาะที่ไม่สามารถบินสูงและเร็วได้เท่านั้น จึงเป็นการเปิดศักราชใหม่ของเครื่องบินที่รวดเร็ว ข้ามน้ำข้ามทะเลได้ในไม่กี่ชั่วโมง จึงได้รับความนิยมสูง มีการนำไปใช้ในหลายวงการ ในหลายประเทศ

แต่ทว่า หลังจากนั้นก็ได้มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับคอเม็ท คือ การระเบิดกลางอากาศ ซึ่งภายหลังได้มีการตรวจพบว่า มีสาเหตุมาจากการออกแบบที่ไม่สามารถทนต่อแรงดันอากาศได้มากพอ คอเม็ทจึงเริ่มถูกปลดออก

เครื่องบินรุ่นคอเม็ท ขึ้นบินครั้งแรกในวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2492 เมื่อทดสอบแล้วว่าบินได้จริง ก็ถูกสั่งซื้อจากสายการบินจำนวนมาก เช่น จาก British Overseas Airways Corporation หรือ BOAC และเปิดบริการแก่ประชาชนจริงใน พ.ศ. 2495

อุบัติเหตุ

[แก้]

ในช่วงแรก มันได้รับความนิยมสูงมาก แต่ต่อมา ในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2497 เครื่องบินคอเม็ทของสายการบิน BOAC เที่ยวบินที่ 781 ระเบิดกลางอากาศ มีผู้เสียชีวิต 35 คน[2] และในวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2497 คอเม็ทอีกลำของสายการบิน South African Airways เที่ยวบินที่ 201 ระเบิดกลางอากาศอีกครั้ง มีผู้เสียชีวิต 21 คน จากการตรวจสอบพบว่า เครื่องคอเม็ทไม่ได้ระเบิดเพราะเครื่องยนต์ แต่เป็นการแตกเป็นเสี่ยงๆ บนอากาศ[3]

จากการสืบหาสาเหตุ พบว่า เกิดจาก ความแตกต่างของความดันอากาศภายในกับภายนอกเครื่องบิน (การบินที่ระดับความสูงกว่า 10 กิโลเมตร ซึ่งมีความดันอากาศต่ำกว่าความดันที่มนุษย์จะอาศัยอยู่ได้ จึงต้องมีการปรับความดันอากาศภายในเครื่องบินให้เพียงพอ จึงเกิดเป็นความแตกต่างระหว่างภายในและภายนอก) ซึ่งความแตกต่างของความดันอากาศ จะคอยดันตัวเองออกนอกตัวเครื่อง ซึ่งจะทำให้เครื่องบินทุกเที่ยวบินมีการขยายตัวเล็กน้อยขณะบิน และหดตัวกลับเมื่อใกล้พื้น การขยายและหดตัวหลายๆ ครั้ง ทำให้เหล็กเสื่อมสภาพ และแตกออกจากกันเมื่ออยู่กลางอากาศ

จากอุบติเหตุดังกล่าว ทำให้เครื่องบินเจ็ทในรุ่นต่อๆ มา มีการเปลี่ยนโครงสร้างไป มีการตอกหมุดเป็นตารางรอบตัวเครื่องยึดไว้กับโครงเหล็ก เพื่อให้เหล็กไม่มีการขยายตัวหรือหดตัวมาก และหากเกิดการฉีกขาดก็จะฉีกเฉพาะในช่องนั้นๆ ไม่แตกทั้งตัวเครื่อง

รุ่นของคอเม็ท

[แก้]

คอเม็ท แบ่งออกเป็น 4 รุ่น ดังนี้

คอเม็ท 1

[แก้]
เดอ ฮาวิลแลนด์ คอเม็ท 1

รุ่นแรกของคอเม็ท มีหน้าต่างเป็นรูปสี่เหลี่ยม ซึ่งอุบัติเหตุสะเทือนขวัญทั้ง 2 ครั้ง เกิดกับคอเม็ทรุ่นแรกนี้เอง ต่อมาภายหลังพบว่าหน้าต่างทรงเหลี่ยมเป็นจุดอ่อนที่ทำให้คอเม็ทแตกออกกลางอากาศ เพราะแรงกดอากาศจะดันบริเวณขอบเหลี่ยมมากกว่า ภายหลังจึงได้มีการออกรุ่น 1A โดยมีการแก้ไขหน้าต่างเป็นทรงรี ช่วยกระจายแรงเครียดที่เกิดกับเหล็ก

คอเม็ท 2

[แก้]
เดอ ฮาวิลแลนด์ คอเม็ท 2

รุ่นที่2 มีปีกที่ใหญ่ขึ้น ใช้เครื่องยนต์ที่ทรงพลังขึ้น เปิดใช้ครั้งแรกโดยสายการบิน BOAC โดยคอเม็ทรุ่น 2 มักถูกใช้ในเส้นทางแอตแลนติกตอนใต้ เริ่มให้บริการครั้งแรกใน พ.ศ. 2496 ซึ่งก็มีประวัติค่อนข้างดี

คอเม็ท 3

[แก้]
เดอ ฮาวิลแลนด์ คอเม็ท 3

รุ่นที่ 3 ได้รับการพัฒนาขึ้นในด้านความจุเชื้อเพลิงและพิสัยการบิน ออกให้บริการครั้งแรกใน พ.ศ. 2497 ซึ่งเป็นปีเดียวกับอุบัติเหตุ BOAC 781 และ South African Airways 201 เกิดขึ้น ทำให้มีการยกเลิกการสั่งซื้อคอเม็ท จนเหลือเพียง 2 ลำที่ผลิตขึ้นได้

คอเม็ท 4

[แก้]
เดอ ฮาวิลแลนด์ คอเม็ท 4

รุ่นที่ 4 ออกให้บริการครั้งแรกใน พ.ศ. 2501 นับว่าพัฒนามาไกลมากจากรุ่นที่ 1 เทียบขนาดกันแล้ว ลำตัวเครื่องของรุ่นที่ 4 ยาวกว่ารุ่นแรกถึง 5.64 เมตร และบรรทุกผู้โดยสารได้มากที่สุดถึง 81 คน เมื่อเทียบกับรุ่นที่ 1 ซึ่งบรรทุกได้ไม่เกิน 44 คน นอกจากนี้ ยังมีพิสัยการบินที่ไกลขึ้น ความเร็วสูงขึ้น บรรทุกได้หนักขึ้น ระบบความปลอดภัยที่ดีขึ้นมาก และทางบริษัทฯ ก็มีแผนที่จะผลิตคอเม็ทรุ่นที่ 5 ต่อไป

กระนั้น ก็ไม่สามารถลบภาพพจน์สยองของอุบัติเหตุที่เกิดกับคอเม็ท 1 ในสายตาสังคมได้ ชื่อเสียงของคอเม็ทตกต่ำลงตามลำดับ ยอดการสั่งซื้อลดลง โปรเจกต์คอเม็ทรุ่นที่ 5 ถูกยกเลิก แล้วก็ไม่มีการผลิตเครื่องบินในชื่อ "คอเม็ท" อีกเลย คอเม็ท 4 กลายเป็นรุ่นสุดท้ายของคอเม็ท แต่ต้นแบบของคอเม็ทได้ถูกพัฒนาเป็นเครื่องบินในชื่อใหม่ "Hawker Siddeley Nimrod"

  1. https://www.rafmuseum.org.uk/research/archive-exhibitions/comet-the-worlds-first-jet-airliner/
  2. https://www.faa.gov/lessons_learned/transport_airplane/accidents/G-ALYV
  3. https://www.faa.gov/lessons_learned/transport_airplane/accidents/G-ALYV