เดอะแบ็กรูมส์

เดอะแบ็กรูมส์ (อังกฤษ: The Backrooms) เป็นคริปปี้พาสต้าที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเขาวงกตในมิติที่ซ้อนทับกับโลกโดยไม่มีสิ้นสุด เดอะแบ็กรูมส์มีลักษณะที่ประกอบด้วยกลิ่นเหม็นอับพรมชื้น ผนังโทนสีเหลืองขาวดำ และหลอดฟลูออเรสเซนต์ที่กระพริบสลัว ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตได้ขยายแนวคิดออกจนมี "ด่าน" และ "เอนทิตี้" ในเดอะแบ็กรูมส์ เดอะแบ็กรูมส์ดั้งเดิมมีจุดเริ่มต้นมาจากภาพถ่ายสองภาพที่ปรากฏในความคิดเห็นบนเว็บบอร์ดโฟร์แชน[1] ในโพสต์ที่ถามหา "ภาพที่ดูแล้วไม่สบายใจ" ตามมาด้วยเรื่องที่แต่งขึ้นจากภาพโดยผู้ใช้นิรนามรายหนึ่ง เดอะแบ็กรูมส์กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระแสและสื่อสยองขวัญและนำไปเกี่ยวโยงกับลิมินัลสเปซส์ สถาบันเอสซีพี และอัลบั้มเพลง เอฟรีแวร์แอทดิเอนด์ออฟไทม์
เดอะแบ็กรูมส์มีที่มาจากกระทู้บนบอร์ด /x/ ของโฟร์แชน ในวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 2019 ที่ซึ่งผู้ใช้นิรนามรายหนึ่งโพสต์ขอ "ภาพที่ทำให้รู้สึกอึดอัดที่ให้ความรู้สึก 'มันไม่ใช่'" ในส่วนความเห็นได้มีผู้ส่งภาพของโถงสีเหลืองสองภาพ ประกอบเรื่องราวของเดอะแบ็กรูมส์เป็นครั้งแรก ระบุว่าการเข้าไปในเดอะแบ็กรูมส์ได้จะต้องใช้การ "โนคลิปออกจากความเป็นจริงในที่ที่ไม่ถูกต้อง" คำว่าโนคลิปเป็นคำในวงการวิดีโอเกมใช้เรียกกรณีที่ผู้เล่นออกจากอาณาเขตที่เกมกำหนดหรือกั้นไว้[2][3]ตำแหน่งที่ถ่ายภาพต้นฉบับของเดอะแบ็กรูมส์ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด มีการเสนอสถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นไปได้ ไปจนถึงมีผู้เสนอว่าเป็นภาพที่สร้างขึ้นด้วยวิธีทางดิจิทัล[4]
ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตได้ขยายเรื่องราวของแบ็กรูมส์ออกไปอย่างมากในรูปของ "ด่าน" ซึ่งมีหลายพันด่าน[1] บันทึกอยู่บนวิกิที่เกี่ยวข้องกับเดอะแบ็กรูมส์[3][5] ภาพของเดอะแบ็กรูมส์กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระแสภาพถ่ายของลิมินัลสเปซบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีการอธิบายไว้ว่าคือภาพที่กระตุ้นให้เกิด "ความรู้สึกหวนคะนึงถึงอดีต หลงทาง และความไม่แน่นอน"[6] บนสื่อสังคมติ๊กต็อกมีแฮชแท็ก #liminalspaces ที่มียอดเข้าชมรวมมากกว่า 100 ล้านครั้ง[7]
ความสยองขวัญของเดอะแบ็กรูมส์ถูกนำไปเปรียบกับเรื่องลวงเกี่ยวกับยูเอฟโอในแอเรีย 51 ภาพยนตร์ เดอะไชนิง โรงแรมผีนรก ของสแตนลีย์ คูบริก ตำนาน "ฮีโรบรายน์" ในเกม ไมน์คราฟต์ และภาพยนตร์ ค.ศ. 2019 เรื่อง หลอน ลวง เรา[3] รวมถึงมีผู้ชี้ให้เห็นว่าความงงงวยของเดอะแบ็กรูมส์ส์เข้ากันและเกี่ยวพันกับเรื่องของสถาบันเอสซีพี และสิ่งก่อสร้างประหลาด ๆ ในเกม คอนโทรล (2019)[8] ไปจนถึงการเทียบกับอัลบั้มเพลง เอฟรีแวร์แอทดิเอนด์ออฟไทม์ (2016–2019) ซึ่งแสดงอาการของสมองเสื่อมที่ใช้แซมเปิลเพลงจากยุคคริสต์ทศวรรษ 1920 มาร์ตา แฟร์โร ระบุบนเว็บข่าว Antropia ของอิตาลีว่าห้องโถงของเดอะแบ็กรูมส์ส์คล้ายคลึงอย่างมากกับโถงของโรงแรมโอเวอร์ลุก ในภาพยนตร์ เดอะไชนิง โรงแรมผีนรก[5]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 "ชวนดู 'The Backrooms (Found Footage)' คลิปฟุตเทจอิงจากเรื่องเล่ามิติลึกลับที่หลอกหลอนชาวเน็ตมาตั้งแต่ปี 2019". The MATTER (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). 15 มกราคม 2022.
- ↑ "unsettling images". 4chan (4plebs). 12 พฤษภาคม 2019. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 พฤษภาคม 2019. สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2022.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 Patston, Manning (3 สิงหาคม 2021). "The Backrooms: an eerie phenomenon lies behind these familiar hallways". Happy Mag. สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2022.
- ↑ "The Magnet 0018: The quiet horror of procedural generation". The Magnet. 13 ธันวาคม 2020. สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2022.
- ↑ 5.0 5.1 Ferro, Marta (26 สิงหาคม 2021). "A JOURNEY INTO THE BACKROOMS". Antropia. สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2022.
- ↑ Koch, Karl Emil (2 พฤศจิกายน 2020). "Architecture: The Cult Following Of Liminal Space". Musée Magazine. สืบค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2022.
- ↑ Yalcinkaya, Günseli (14 เมษายน 2021). "Inside the uncanny world of #liminalspaces TikTok". Dazed. สืบค้นเมื่อ 31 มกราคม 2022.
- ↑ Phil (2 กุมภาพันธ์ 2022). "Cool Short Film Series: The Backrooms". Live for Films. สืบค้นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2022.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ เดอะแบ็กรูมส์