ข้ามไปเนื้อหา

เซปทิเมเนีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เซ็พติเมเนีย)
เซปทิเมเนียในปี ค.ศ. 537

เซปทิเมเนีย (อังกฤษ: Septimania) คือภูมิภาคประวัติศาสตร์ที่ตั้งอยู่ในบริเวณตะวันตกของมณฑลแกลเลียนาร์โบเนนซิสของโรมัน ที่ตกมาอยู่ภายใต้การปกครองของทีโอโดริกที่ 2 กษัตริย์วิซิกอท ในปี ค.ศ. 462 เมื่ออยู่ภายใต้การปกครองของวิซิกอท เซปทิเมเนียมีชื่อเรียกว่า "แกลเลีย" หรือ "นาร์โบเนซิส" บริเวณเซปทิเมเนียคร่าว ๆ ตรงกับบริเวณแคว้นล็องก์ด็อก-รูซียงในฝรั่งเศสปัจจุบัน เซปทิเมเนียตกไปอยู่ภายใต้การปกครองของอาณาจักรเอมีร์แห่งกอร์โดบาอยู่ระยะหนึ่งในคริสต์ศตวรรษที่ 8 แต่ชาวแฟรงก์ก็ยึดคืนได้ ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 9 ชาวแฟรงก์ก็เรียกบริเวณนี้ว่า "กอเทีย" หรือ "ภูมิภาคชายแดนกอท" (Marca Gothica)

เซปทิเมเนียเคยเป็นภูมิภาคชายแดนของจักรวรรดิการอแล็งเฌียงและจักรวรรดิแฟรงก์ตะวันตกมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 13 แต่ในทางการเมืองและทางวัฒนธรรม เซปทิเมเนียจะถูกแยกจากตอนเหนือของฝรั่งเศสและจากศูนย์กลางของการปกครอง อาณาบริเวณนี้ได้รับอิทธิพลจากตูลูแซ็ง, พรอว็องส์ และกาตาลุญญา และเป็นส่วนหนึ่งของเขตวัฒนธรรมและภาษาที่เรียกว่าอ็อกซิเทเนีย (Occitania) ที่ในที่สุดก็ถูกนำเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองของกษัตริย์ฝรั่งเศสเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 อันเป็นผลมาจากสงครามครูเสดแอลบิเจนเซียน หลังจากนั้นก็อยู่ภายใต้การปกครองของข้าหลวงฝรั่งเศส ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 13 บริเวณนี้มีชื่อเรียกว่าล็องก์ด็อก และประวัติศาสตร์ของภูมิภาคนี้ก็ผูกพันเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสนับแต่นั้น

ชื่อ "เซปทิเมเนีย" อาจแผลงมาจากชื่อโรมันของเมืองเบซีเย (Béziers) คือ "โกโลเนียยูเลียเซปตีมาโนรุมเบอาเตไร" (Colonia Julia Septimanorum Beaterrae) ซึ่งสื่อถึงถิ่นฐานของนักรบที่ปลดประจำการจากกองทหารที่ 7 คลอเดีย (Legio VII Claudia) ในเมืองดังกล่าว หรืออาจจะเป็นได้ว่าเป็นชื่อที่แผลงมาจากการเรียกรวมเมืองเจ็ดเมือง (civitates) ในบริเวณนั้น ซึ่งได้แก่ เบซีเย, แอลน์ (Elne), อากด์ (Agde), นาร์บอน (Narbonne), ลอแดฟว์ (Lodève), มาเกอลอน (Maguelonne) และนีม (Nîmes) อาณาบริเวณเซปทิเมเนียทางตะวันตกเฉียงเหนือครอบคลุมไปถึงระยะทางกึ่งหนึ่งระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับแม่น้ำการอน ทางตะวันออกมีแม่น้ำโรนเป็นเส้นแบ่งเขตกับภูมิภาคพรอว็องส์ ส่วนทางใต้จรดเทือกเขาพิเรนีส

อ้างอิง

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]