เจ้าหญิงเมกถีหล่า
เจ้าหญิงเมกถีหล่า | |
---|---|
เจ้าหญิงศรีสุริยราชาวดี เจ้าหญิงพยุงพยาและเมกถีหล่า | |
พระฉายาลักษณ์เจ้าหญิงเมกถีหล่า ฉายก่อนปีพ.ศ. 2439 | |
เจ้าหญิงแห่งพม่า | |
ประสูติ | พ.ศ. 2403 เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า |
สวรรคต | 1 มิถุนายน พ.ศ. 2439 เมืองมัณฑะเลย์ บริติชราช (พระชนมายุ 36 พรรษา) |
พระราชสวามี | กะยอหล่ายหม่องหม่อง (Kyaw Hlaint Maung Maung) |
พระราชบุตร | 4 คน |
เจ้าหญิงพยุงพยาและเมกถีหล่า | |
ราชวงศ์ | อลองพญา |
พระราชบิดา | พระเจ้ามินดง |
พระราชมารดา | พระนางแลซา |
เจ้าหญิงเมกถีหล่า (พม่า: မိတ္ထီလာစုဘုရားကလေး; พ.ศ. 2403 - 1 มิถุนายน พ.ศ. 2439) ทรงมีพระนามเดิมคือ เจ้าหญิงศรีสุริยราชาวดี (พม่า: သီရိသူရိယရာဇာဝတီ; บาลี: Sīrisūriyarājāvatī) เป็นเจ้าหญิงในสมัยราชวงศ์อลองพญา[1] พระองค์ทรงเป็นพระราชธิดาลำดับที่ 48 ของพระเจ้ามินดง ที่ประสูติกับพระนางแลซา[2] ซึ่งเป็นเจ้าหญิงเมืองฉาน และเจ้าหญิงเมกถีหล่าทรงเป็นพระขนิษฐาร่วมพระราชบิดาและพระราชมารดาเดียวกันกับพระเจ้าธีบอ[3]
ประสูติ
[แก้]เจ้าหญิงเมกถีหล่าประสูติในปีพ.ศ. 2403 ณ พระราชวังมัณฑะเลย์ กรุงมัณฑะเลย์[4] ทรงมีพระนามเดิมคือ เจ้าหญิงศรีสุริยราชาวดี (Sri Suriya Rajavati) เป็นพระราชธิดาในพระเจ้ามินดงกับพระนางแลซา เจ้าหญิงเมืองฉาน[5] ทรงมีพระเชษฐภคินีและพระเชษฐาร่วมพระราชบิดาพระราชมารดา 3 พระองค์ ได้แก่
- เจ้าหญิงเมงเกง (พ.ศ. 2398 - ?)
- เจ้าหญิงผกันคยี (พ.ศ. 2401 - 1 มีนาคม พ.ศ. 2454)
- เจ้าชายธีบอ (1 มกราคม พ.ศ. 2402 - 19 ธันวาคม พ.ศ. 2458)
พระราชมารดาของเจ้าหญิงเมกถีหล่าทรงถูกเนรเทศออกจากราชสำนักโดยพระราชโองการของพระเจ้ามินดง พระนางทรงดำรงพระชนม์ชีพในช่วงบั้นปลายด้วยการเป็น ตี่ละฉิ่น (thilashin) ซึ่งก็คือคำเรียกแม่ชีในพม่า และประทับในวัดหลวงอย่างสงบเงียบ[6]
รัชสมัยพระเจ้าธีบอ
[แก้]เจ้าชายธีบอ พระเชษฐาของเจ้าหญิงทรงได้รับการแต่งตั้งเป็นรัชทายาทในช่วงที่พระเจ้ามินดงทรงพระประชวรหนัก ซึ่งตามมาด้วยการสังหารหมู่พระราชวงศ์ที่มีสิทธิในราชบัลลังก์เพื่อเปิดทางให้เจ้าชายธีบอได้ครองราชบัลลังก์ แผนการนี้ดำเนินการโดยพระนางซินผิ่วมะฉิ่น พระมเหสีรองในพระเจ้ามินดง และอัครมหาเสนาบดีในพระเจ้ามินดง คือ เกงหวุ่นมินจี ซึ่งเป็นพันธมิตรของพระนางซินผิ่วมะฉิ่น[7] เจ้าชายหลายพระองค์ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระเจ้ามินดงและเจ้าหญิงบางพระองค์ได้ถูกปลงพระชนม์ในแผนการนี้ เจ้าหญิงเมกถีหล่าทรงรอดพระชนม์มาได้เนื่องจากทรงมีศักดิ์เป็นพระขนิษฐาแท้ในพระเจ้าธีบอ
พระเจ้ามินดงเสด็จสวรรคต พระเจ้าธีบอขึ้นครองราชย์สืบต่อในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2421 สถานะของเจ้าหญิงและเชษฐภคินีได้รับการฟื้นคืนขึ้นมาหลังจากที่ตกต่ำลงเมื่อคราวพระราชมารดาทรงถูกเนรเทศ เจ้าหญิงได้รับพระราชทานศักดินา พยุงพยาและเมกถีหล่า (Pyaung Pya and Meiktila) จากพระเจ้าธีบอ ในวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2421[8] ซึ่งทำให้ทรงมีสถานะเป็นเจ้าหญิงแห่งพยุงพยาและเมกถีหล่า และกลายเป็นพระนามในการเรียกพระนางว่า เจ้าหญิงเมกถีหล่า
เจ้าหญิงเมกถีหล่าและพระเชษฐภคินีทรงมีบทบาทในราชสำนักน้อยมาก เนื่องจากบทบาทในราชสำนักและอิทธิพลอยู่ภายใต้พระราชินีศุภยาลัต พระมเหสีในพระเจ้าธีบอ เป็นสำคัญ เจ้าหญิงเมกถีหล่าทรงประทับในพระตำหนักร่วมกับพระนางศุภยากเล พระขนิษฐาในพระนางศุภยาลัต
เจ้าหญิงเมกถีหล่าไม่ทรงได้รับการปฏิบัติที่ดีนักจากพระราชินีศุภยาลัต แต่เมื่อเปรียบเทียบกับพระเชษฐภคินีและพระขนิษฐาในพระราชินีแล้ว เจ้าหญิงเมกถีหล่าทรงได้รับการปฏิบัติที่ดีกว่ากันมากจากพระนางศุภยาลัต เมื่อพระราชินีทรงมีพระอารมณ์ดี พระนางจะพระราชทานของกำนัลล้ำค่าแก่เจ้าหญิงเมกถีหล่า แต่บางครั้งทรงกล่าวถากถางเยาะเย้ยเจ้าหญิงเมกถีหล่า โดยไม่ทรงโปรดที่เจ้าหญิงเมกถีหล่าทรงมีพระสิริโฉม ทรงมีพระวรกายบอบบาง ซึ่งเอวของเจ้าหญิงสามารถโอบได้ด้วยมือคู่หนึ่ง ครั้งหนึ่งเมื่อพระนางศุภยาลัตทรงเข้าห้องเพื่อเตรียมพระประสูติกาลครั้งแรก เจ้าหญิงเมกถีหล่าทรงได้รับเกียรติให้กางและถือเศวตฉัตรเหนือพระแท่น แต่พระเศวตฉัตรหนักเกินไปและทรงเปิดอย่างยากลำบาก พระราชินีซึ่งทรงทอดพระเนตรอยู่ทรงตรัสว่า "ระวังหน่อย เดี๋ยวเอวเจ้าจะหัก"[9]
เจ้าหญิงเมกถีหล่าทรงมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างมาก พระนางมักจะทรงท่องบทสวดและทรงดูแลศาลประจำครอบครัวของพระนางอยู่เสมอ
สมัยอาณานิคมและสิ้นพระชนม์
[แก้]ราชอาณาจักรล่มสลายลงโดยพระเจ้าธีบอทรงครองราชย์ได้เพียง 7 ปี พระองค์ทรงพ่ายแพ้ในสงครามพม่า-อังกฤษครั้งที่สาม กองทัพอังกฤษได้บุกเข้าพระราชวังมัณฑะเลย์เพื่อเรียกร้องให้พระเจ้าธีบอทรงยอมจำนนโดยไม่มีเงื่อนไขภายใน 24 ชั่วโมง[10] และบีบบังคับให้พระเจ้าธีบอสละราชบัลลังก์ พระองค์พร้อมพระราชินีศุภยาลัตและพระราชธิดาทรงถูกเนรเทศไปยังอินเดียในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428 ซึ่งเจ้าหญิงเมกถีหล่าไม่ทรงได้พบกับพระเชษฐาอีกเลย
เจ้าหญิงเมกถีหล่าไม่ทรงถูกเนรเทศ ทรงได้รับอนุญาตให้ประทับในเมืองมัณฑะเลย์ต่อไป แต่ต้องทรงออกจากพระราชวังมัณฑะเลย์พร้อมๆกับพระราชวงศ์องค์อื่นๆตามคำสั่งของทางการอังกฤษ เพื่อต้องการขจัดอิทธิพลของพระราชวงศ์และเพื่อความสะดวกในการปกครอง พระราชวงศ์ทรงต้องประทับอยู่บริเวณกำแพงพระราชวังหรือคูเมือง เจ้าหญิงและพระญาติวงศ์ไม่มีบ้านที่จะประทับ เจ้าหญิงเมกถีหล่ากับเจ้าหญิงผกันคยี พระเชษฐภคินี พร้อมพระนางเสงดน หนึ่งในพระชายาของพระเจ้ามินดง จึงต้องทรงประทับร่วมกันในที่พำนักของวัด ซึ่งเคยเป็นที่พำนักของพระราชมารดาในเจ้าหญิงซึ่งสิ้นพระชนม์ไปนานแล้ว
เจ้าหญิงเมกถีหล่าทรงมีข้าราชบริพารมากมายมาถวายการรับใช้ โดยนางหนึ่งในนั้น คือ ขิ่นเลภู เจ้าหญิงได้เสด็จเยี่ยมบ้านของนางบ่อยครั้งซึ่งเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ในหลายปีก่อนช่วงที่ยังมีระบอบกษัตริย์ บิดามารดาของขิ่นเลภู ซึ่งเป็นตระกูลพ่อค้าที่มีฐานะร่ำรวย เจ้าหญิงทรงพบรักกับพี่ชายของขิ่นเลภู คือ กะยอหล่ายหม่องหม่อง (Kyaw Hlaint Maung Maung)[11] ทั้งสองได้เสกสมรสกันมีบุตรร่วมกัน 4 คน เป็นหญิง 3 คน เป็นชาย 1 คน บุตรชายเป็นบุตรคนที่สาม ทั้งสองย้ายมาประทับตึกหัวมุมที่ 84 บนถนนเส้นที่ 29 ของมัณฑะเลย์ ซึ่งบ้านของเจ้าหญิงก็ยังคงอยู่จนทุกวันนี้ เจ้าหญิงผกันคยี พระเชษฐภคินีของเจ้าหญิงไม่ทรงมีพระบุตร ทรงรับบุตรชายของทั้งสองมาเป็นบุตรบุญธรรม แต่บุตรชายได้ประสบอุบัติเหตุตกลงมาจากที่สูงสิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังเยาว์ สร้างความโทมนัสแก่เจ้าหญิงเมกถีหล่า เจ้าหญิงผกันคยีและครอบครัวมาก บุตรสาวทั้งสามคนได้สมรสในเวลาต่อมาแต่มีเพียงบุตรสาวคนที่สองที่มีทายาท
เจ้าหญิงเมกถีหล่าสิ้นพระชนม์ด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2439 ณ เมืองมัณฑะเลย์ พระชนมายุ 36 พรรษา ปัจจุบันทายาทของเจ้าหญิงเมกถีหล่ายังคงอาศัยอยู่ในมัณฑะเลย์และย่างกุ้ง
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Simms, Sao Sanda (9 August 2017). AHP 48 GREAT LORDS OF THE SKY: BURMA'S SHAN ARISTOCRACY (ภาษาอังกฤษ). Asian Highlands Perspectives.
- ↑ Society, Burma Research (1961). Journal of the Burma Research Society (ภาษาอังกฤษ). The Society.
- ↑ Hardiman, John Percy (1900). Gazetteer of Upper Burma and the Shan States (ภาษาอังกฤษ). superintendent, Government printing, Burma.
- ↑ http://www.royalark.net/Burma/konbau18.htm
- ↑ Sudha Shah (สุภัตรา ภูมิประภาส แปล), "ราชันผู้ผลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง", กรุงเทพฯ:มติชน pp. 30; published 2014; ISBN 978-974-02-1329-1
- ↑ H. Fielding (สุภัตรา ภูมิประภาส แปล), "ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน", กรุงเทพฯ:มติชน pp. 48; published 2015; ISBN 978-974-02-1439-7
- ↑ H. Fielding pp. 49
- ↑ http://www.royalark.net/Burma/konbau18.htm
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-24. สืบค้นเมื่อ 2015-10-29.
- ↑ Synge, M.B. (1911). "Annexation of Burma". Growth of the British Empire.
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-24. สืบค้นเมื่อ 2015-10-29.