เจ้าหญิงคริสตินาแห่งเดนมาร์ก
คริสตินาแห่งเดนมาร์ก | |||||
---|---|---|---|---|---|
ภาพเหมือนเจ้าหญิงคริสตินาแห่งเดนมาร์กวาดโดยฮันส์ ฮอลไบน์ (ผู้ลูก) ในปีค.ศ. 1538 ปัจจุบันอยู่ที่หอศิลป์แห่งชาติ (ลอนดอน) | |||||
ดัชเชสพระมเหสีแห่งมิลาน | |||||
ครองราชย์ | 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1534 – 24 ตุลาคม ค.ศ. 1535 | ||||
ดัชเชสพระมเหสีแห่งลอแรน | |||||
ครองราชย์ | 14 มิถุนายน ค.ศ. 1544 – 12 มิถุนายน ค.ศ. 1545 | ||||
ประสูติ | พฤศจิกายน ค.ศ. 1521 นีบอร์ก, เดนมาร์ก | ||||
สวรรคต | 10 ธันวาคม ค.ศ. 1590 ทอร์โทนา, แคว้นอเลซซานเดรีย, ดัชชีมิลาน | (69 ปี)||||
ฝังพระศพ | คอร์เดอลิแยร์คอนแวนต์, น็องซี, ดัชชีลอแรน | ||||
คู่อภิเษก | ฟรานเชสโกที่ 2 สฟอร์ซา ดยุกแห่งมิลาน ฟรานซิสที่ 1 ดยุกแห่งลอแรน | ||||
พระราชบุตร | |||||
| |||||
ราชวงศ์ | ออลเดนบูร์ก(โดยประสูติ) สฟอร์ซา (โดยการอภิเษกสมรส) ลอแรน (โดยการอภิเษกสมรส) | ||||
พระราชบิดา | พระเจ้าคริสเตียนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก | ||||
พระราชมารดา | อาร์คดัชเชสอิซาเบลลาแห่งออสเตรีย |
เจ้าหญิงคริสตินาแห่งเดนมาร์ก (เดนมาร์ก: Christine af Danmark; พฤศจิกายน ค.ศ. 1521 - 10 ธันวาคม ค.ศ. 1590) เป็นเจ้าหญิงเดนมาร์ก ซึ่งได้เป็นดัชเชสพระมเหสีแห่งมิลาน จากนั้นเป็นดัชเชสพระมเหสีแห่งลอแรน พระองค์ทรงทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแห่งลอแรนในช่วงปีค.ศ. 1545 - 1552 ในระหว่างที่พระโอรสของพระองค์ยังทรงพระเยาว์ พระองค์ยังทรงเป็นผู้อ้างสิทธิในราชบัลลังก์เดนมาร์ก, นอร์เวย์และสวีเดน ในช่วงปีค.ศ. 1561 - 1590 ท้ายที่สุดทรงดำรงตำแหน่งเป็นท่านหญิงประมุขแห่งทอร์โทนาในปีค.ศ. 1578 - 1584
ช่วงต้นพระชนม์ชีพ
[แก้]เจ้าหญิงคริสตินาทรงเป็นพระราชธิดาองค์สุดท้องในพระเจ้าคริสเตียนที่ 2 แห่งเดนมาร์กและนอร์เวย์ กับอาร์คดัชเชสอิซาเบลลาแห่งออสเตรีย ซึ่งเป็นพระขนิษฐาในจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ เจ้าหญิงประสูติที่นีบอร์กในบริเวณตอนกลางของเดนมาร์กในปีค.ศ. 1521 เจ้าหญิงทรงมีพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีที่ยังทรงพระชนม์อยู่ในขณะนั้น ได้แก่ เจ้าชายจอห์น (1518 - 1532) และเจ้าหญิงโดโรเธีย (1520 - 1580) ในวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1523 เหล่าขุนนางได้บีบบังคับให้พระราชบิดาของพระองค์สละราชบัลลังก์และมอบราชบัลลังก์ให้แก่ ดยุกเฟรเดอริกแห่งฮ็อลชไตน์ ซึ่งเป็นพระปิตุลาในพระเจ้าคริสเตียน และมีศักดิ์เป็นพระอนุชาในพระอัยกาฝ่ายพระบิดาของเจ้าหญิง เจ้าหญิงคริสตินาพร้อมพระเชษฐภคินีและพระเชษฐาต้องติดตามพระราชบิดาและพระราชมารดาซึ่งทรงลี้ภัยไปยังเมืองเวียร์ในเซลันด์ เนเธอร์แลนด์ ซึ่งพระโอรสธิดาได้รับการอภิบาลจากผู้สำเร็จราชการแห่งเนเธอร์แลนด์ ซึ่งก็คือ มาร์กาเร็ตแห่งออสเตรีย พระขนิษฐาในพระอัยกาฝ่ายพระมารดา กับ สมเด็จพระราชินีแมรีแห่งฮังการี พระมาตุจฉา
อดีตสมเด็จพระราชินีอิซาเบลลา พระราชมารดาของเจ้าหญิงสิ้นพระชนม์ในวันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 1526 พระโอรสธิดาได้ถูกพรากไปจากพระราชบิดา เพื่อไม่ให้ถูกอภิบาลในศาสนานอกรีตลัทธิลูเธอรัน ซึ่งอดีตพระเจ้าคริสเตียนที่ 2 ทรงเคยเลือกนับถือ แม้ว่าพระองค์จะทรงเปลี่ยนกลับมาเข้ารีตโรมันคาทอลิก ในปีค.ศ. 1530 เพื่อประนีประนอมกับจักรพรรดิแล้วก็ตาม ต่อมาในวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ. 1531 อดีตพระเจ้าคริสเตียนที่ 2 ทรงพยายามยึดราชบัลลังก์กลับคืนมา แต่กองทัพเรือของพระองค์ถูกพายุพัดแตกพ่ายที่ชายฝั่งนอร์เวย์ และในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1532 ตามสนธิสัญญาออสโล พระองค์ทรงประกาศยอมแพ้ต่อพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 1 พระปิตุลา[1] ซึ่งทำให้ทรงถูกคุมขังในเดนมาร์กจวบจนสวรรคตในอีก 27 ปีต่อมา และในปีเดียวกันพระเชษฐาของเจ้าหญิงได้สิ้นพระชนม์ และทำให้เจ้าหญิงทรงอยู่ในลำดับสองของการอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ของพระราชบิดาต่อจาก เจ้าหญิงโดโรเธีย พระเชษฐภคินี
เจ้าหญิงคริสตินาทรงได้รับการศึกษาอบรมอย่างดีจากพระมาตุจฉาของพระองค์ คือ ผู้สำเร็จราชการแห่งเนเธอร์แลนด์ และทรงอยู่ภายใต้การดูแลของ มาดาม เดอ เฟนเนส พระอภิบาล เจ้าหญิงคริสตินาทรงถูกบรรยายว่า ทรงเป็นสตรีที่มีความงดงาม เฉลียวฉลาดและมีชีวิตชีวา และทรงโปรดการล่าสัตว์และทรงม้า ในฐานะที่ทรงอยู่ภายใต้ความคุ้มครองจากจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ พระมาตุลา และทรงเป็นพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์หนึ่งหนึ่งในราชวงศ์ของจักรวรรดิ ทำให้พระนางทรงมีคุณค่าอย่างมากในการที่จะถูกใช้เป็นหมากสำคัญในการเสกสมรสทางการเมือง ในปีค.ศ. 1527 ทอมัส โวลซีย์ พระสังฆราชแห่งอังกฤษ ได้แนะนำให้มีการเสกสมรสระหว่าง เฮนรี ฟิตซ์รอย ดยุกที่ 1 แห่งริชมอนด์และซัมเมอร์เซต พระโอรสนอกสมรสของพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษกับเจ้าหญิงคริสตินา หรือ เจ้าหญิงโดโรเธีย แต่พระราชวงศ์ฮับส์บูร์กไม่ประสงค์ที่จะให้มีการเสกสมรสกับบุตรนอกกฎหมาย ในปีค.ศ. 1531 ฟรานเชสโกที่ 2 สฟอร์ซา ดยุกแห่งมิลานได้มีข้อเสนอที่จะเสกสมรสกับเจ้าหญิงพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง เนื่องจากมีความประสงค์จะเป็นพันธมิตรกับราชวงศ์จักรพรรดิ จักรพรรดิคาร์ลทรงปฏิเสธที่จะให้เสกสมรสกับเจ้าหญิงโดโรเธีย แต่ทรงยินยอมที่ให้เสกสมรสกับเจ้าหญิงคริสตินาแทน
ดัชเชสแห่งมิลาน
[แก้]ในวันที่ 23 กันยายน ค.ศ. 1533 ที่บรัสเซลส์ เจ้าหญิงคริสตินาทรงเสกสมรสผ่านตัวแทนของฟรานเชสโกที่ 2 สฟอร์ซา ดยุกแห่งมิลาน ซึ่งผู้แทนคือ เคานท์มัสซิมิเลียโน สแตมปา ในวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1534 เจ้าหญิงคริสตินาเสด็จเข้ามิลานอย่างเป็นทางการท่ามกลางการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ ในวันที่ 4 พฤษภาคม พิธีเสกสมรสครั้งที่สองได้ถูกจัดขึ้นที่ห้องโถงแห่งร็อคเช็ตตา[2] ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหญิงคริสตินากับดยุกฟรานเชสโกเป็นไปได้ด้วยดี และพระองค์ก็ทรงเป็นที่นิยมในมิลาน ซึ่งทรงได้รับการยกย่องว่าเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพและความหวังในอนาคตหลังจากต้องผ่านสงครามมานานหลายทศวรรษ และพระสิริโฉมของพระองค์ก็ได้รับการกล่าวขาน เจ้าหญิงทรงโปรดการล่าสัตว์และพระราชวังได้มีการประดับประดาใหม่และทำให้สวยงามเพื่อเป็นเกียรติแก่พระองค์ เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงได้รับการปกครองราชสำนักของพระนางเอง หัวหน้านางสนองพระโอษฐ์คือ ฟรานเชสกา ปาเลโอโลกาแห่งมอนต์เฟอร์ราต ซึ่งเป็นชายาในคอนสแตนติน โคมเนนัส องค์อธิปัตย์เพียงในนามแห่งมาซิโดเนีย ซึ่งจะกลายเป็นหนึ่งในพระสหายที่ใกล้ชิดพระองค์ตลอดพระชนม์ชีพ[2] ดยุกฟรานเชสโกที่ 2 สฟอร์ซาในช่วงนั้นอ่อนแอลงมาก ซึ่งสุขภาพของดยุกไม่ดีขึ้นเลยหลังจากที่รอดชีวิตจากการถูกลอบวางยาพิษเมื่อหลายปีก่อน และมีความกังวลว่าดยุกจะไม่สามารถมีบุตรได้ และอาจจะสิ้นชีพิตักษัยโดยปราศจากทายาท ตามข้อตกลงในการเสกสมรส ดัชชีมิลานจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิหากไม่มีทายาทสืบต่อ เจ้าหญิงและฟรานเชสโกไม่ทรงมีบุตรร่วมกัน
ดยุกฟรานเชสโกที่ 2 สฟอร์ซา สิ้นชีพิตักษัยในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1535 ทำให้ดัชเชสคริสตินาทรงเป็นม่ายขณะมีพระชนมายุ 13 พรรษา สิทธิของพระองค์ในฐานะที่ทรงเป็นม่ายคือสิทธิในเมืองทอร์โทนายังคงถูกรักษาไว้ ในขณะที่ดัชชีถูกผนวกเข้ากับจักรวรรดิ อย่างไรก็ตาม เคานท์มัสซิมิเลียโน สแตมปายังคงเป็นผู้รักษาการปราสาทมิลาน และดัชเชสคริสตินายังคงประทับอยู่ในที่พำนักของดัชชี จักรพรรดิคาร์ลที่ 5 ยังคงสนับสนุนความปรารถนาที่จะประทับอยู่ในมิลานของพระองค์ ซึ่งพระองค์ทรงเป็นที่นิยมชมชอบในที่นั่นและการดำรงอยู่ของพระนางได้ถูกมองว่าทรงเป็นการคุ้มครองเอกราชและความสงบของมิลาน[2] ด้วยหนทางที่ต้องการรักษาเอกราชของมิลานไว้ สแตมปาแนะนำให้เจ้าหญิงเสกสมรสกับเจ้าชายลูโดวิโกแห่งซาวอย รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์ซาวอย พระโอรสในชาร์ลที่ 3 ดยุกแห่งซาวอย แต่แผนการนี้ล้มเหลวเนื่องจากเจ้าชายสิ้นพระชนม์ในเวลาไม่นานหลังจากนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาปอลที่ 3 ทรงแนะนำให้เจ้าหญิงคริสตินาเสกสมรสกับโอรสในเซซิเลีย ฟาร์เนเซ พระนัดดาของพระองค์ ผู้ซึ่งอายุมากกว่าพระนางไม่กี่ปี และเป็นบุคคลที่อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของพระนางในฐานะโอรสอุปถัมภ์ที่ราชสำนักมิลานหลังจากมารดาของเขาเสียชีวิต เมื่อพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 แห่งฝรั่งเศสทรงอ้างสิทธิในบัลลังก์มิลานในนามของพระโอรสอีกครั้ง คือ อ็องรี ดยุกแห่งออร์เลออง ได้มีการแนะนำให้เจ้าหญิงเสกสมรสกับพระโอรสองค์เล็กในกษัตริย์ฝรั่งเศส คือ ดยุกแห่งอองกูแลม แต่จักรพรรดิคาร์ลที่ 5 ทรงปฏิเสธแผนการนี้เว้นเสียแต่ว่าจะเปลี่ยนตัวจากดยุกแห่งอองกูแลมมาเป็นดยุกแห่งออร์เลออง ซึ่งจะทำให้ได้รับดัชชีมิลาน และจะเป็นการยอมรับสิทธิของฝรั่งเศสในมิลาน[2] เจ้าหญิงคริสตินาทรงให้การต้อนรับเจ้าหญิงเบียทริซแห่งโปรตุเกส ดัชเชสแห่งซาวอยในตอนที่ซาวอยถูกกองทัพฝรั่งเศสยึดครอง และทรงประทับร่วมด้วยในคราวที่มีการพบปะกันระหว่างดัชเชสเบียทริซกับจักรพรรดิในปาวีอา เดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1536 ในเดือนธันวาคมของปีนั้น มิลานได้ถูกรวมเข้ากับพระราชอำนาจของจักรวรรดิอย่างเป็นทางการ และเจ้าหญิงคริสตินาทรงต้องย้ายไปยังปาวีอา ก่อนที่จะเสด็จไป พระองค์ทรงได้รับตำแหน่งเลดีแห่งทอร์โทนา และทรงมีผู้ว่าราชการเมืองที่ทำหน้าที่บริหารจัดการเมืองที่ทรงได้รับมาจากราชทรัพย์ของพระสวามี
ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1537 เจ้าหญิงคริสตินาเสด็จไปยังราชสำนักของพระมาตุจฉา ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการในประเทศต่ำ คือ สมเด็จพระพันปีหลวงแมรีแห่งฮังการี ระหว่างทางที่อินส์บรุค พระองค์ได้เสด็จเยี่ยมพระเชษฐภคินีที่รัฐผู้คัดเลือกพาลาทิเนตก่อนที่จะเสด็จถึงบรัสเซลส์ในเดือนธันวาคม เจ้าหญิงคริสตินาทรงเป็นพระนัดดาองค์โปรดในพระพันปีหลวงแมรี
ตกพุ่มหม้ายครั้งแรก
[แก้]หลังจากสมเด็จพระราชินีเจน ซีมัวร์ พระมเหสีองค์ที่สามในพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ สิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1537 เจ้าหญิงคริสตินาทรงถูกพิจารณาให้เป็นหนึ่งในเจ้าสาวของกษัตริย์อังกฤษ ฮันส์ ฮอลไบน์ (ผู้ลูก) จิตรกรชาวเยอรมันได้รับพระบัญชาให้วาดภาพสตรีสูงศักดิ์ผู้จะกลายมาเป็นสมเด็จพระราชินีอังกฤษในอนาคต ในวันที่ 10 มีนาคม ค.ศ. 1538 ฮอลไบน์เดินทางมาถึงบรัสเซลส์พร้อมกับฟิลิป โฮบี นักการทูตเพื่อเข้าเฝ้าเจ้าหญิงคริสตินา โฮบีได้ทำการจัดแจงกับเบเนดิกต์ เจ้าบ้านผู้ดูแลพระตำหนัก ให้มีการจัดแจงวาดภาพในวันถัดไป เจ้าหญิงคริสตินาประทับนั่งเพื่อให้จิตรกรวาดพระสาทิสลักษณ์เป็นเวลาสามชั่วโมง โดยทรงฉลองพระองค์ไว้ทุกข์ ห้องชุดของพระองค์ในบรัสเซลส์ตกแต่งด้วยกำมะหยี่สีดำ ผ้ายกดอกดะแมสกัสสีดำ และเบญจาคริสต์สีดำ[3]เจ้าหญิงคริสตินาซึ่งมีพระชนมายุเพียง 16 พรรษา ไม่ทรงปิดบังทัศนคติที่ทรงต่อต้านการเสกสมรสกับกษัตริย์อังกฤษเลย พระองค์ตรัสว่า "ถ้าข้ามีสองหัว หัวหนึ่งคงจะมอบให้กษัตริย์อังกฤษจัดการเสีย" โทมัส วรีโอเทอซี นักการทูตอังกฤษในบรัสเซลส์ ได้เสนอแก่โทมัส ครอมเวลว่า พระเจ้าเฮนรีควร "แก้ไขปัญหาหน้าท้องอันสูงศักดิ์ของพระองค์ในที่อื่นๆเสียก่อน"[4]
วิลเลียม ดยุกแห่งคลีฟส์ได้ขอเสกสมรสกับเจ้าหญิงคริสตินา วิลเลียมได้รับการสถาปนาเป็นดยุกแห่งกิลเดอร์โดยพินัยกรรมของดยุกกิลเดอร์องค์สุดท้ายที่ไร้รัชทายาท สิ่งนี้ทำให้เกิดความขัดแย้งกับจักรพรรดิ ผู้ทรงต้องการผนวกกิลเดอร์เข้าเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ และได้สร้างความขัดแย้งกับดัชชีลอแรน ซึ่งมองดูกิลเดอร์ในฐานะทรัพย์สินของตนผ่านฟิลิปปาแห่งกิลเดอร์ พระเชษฐภคินีฝาแฝดในดยุกแห่งกิลเดอร์องค์สุดท้าย วัตถุประสงค์ของดยุกวิลเลียมที่ขอเสกสมรสกับเจ้าหญิงคริสตินา คือ ต้องการการคุ้มครองจากจักรพรรดิในการสนับสนุนให้ดยุกสืบบัลลังก์กิลเดอร์ได้และต่อต้านการอ้างสิทธิ์ของลอแรน[2] คู่ครองที่เหมาะสมคนอื่นๆ ได้แก่ ฟรานซิส รัชทายาทแห่งดัชชีลอแรน, อันโตน ดยุกแห่งแวนโดม ซึ่งต่อมาคือ พระเจ้าอันโตนแห่งนาวาร์ ข้อเสนอของดยุกวิลเลียมได้ถูกปฏิเสธโดยจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 เนื่องจากปัญหากิลเดอร์[2]
ในความเป็นจริง เจ้าหญิงคริสตินาทรงตกหลุมรักเรเนแห่งชาลอน เจ้าชายแห่งออเรนจ์ในช่วงปีค.ศ. 1539 - 1540 ในบันทึกของราชสำนักระบุว่า เจ้าชายเรเนทรงตกหลุมรักเจ้าหญิงคริสตินาและเกี้ยวพาเจ้าหญิง ซึ่งเจ้าหญิงทรงตอบรักการเกี้ยวพาของเจ้าชาย[2] การจับคู่ของทั้งสองพระองค์ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหญิงโดโรเทียแห่งเดนมาร์ก พระเชษฐภคินีในเจ้าหญิงคริสตินา และเฟรเดอริกแห่งพาเลไทน์ พระสวามีในเจ้าหญิงโดโรเทีย ซึ่งโปรดให้พระขนิษฐาในพระมเหสีแต่งงานกับใครก็ได้ที่ทรงรัก[2] สมเด็จพระพันปีหลวงแมรีแห่งฮังการี ผู้สำเร็จราชการทรงให้อภัยแก่การเกี้ยวพานที่ไม่ได้เป็นทางการนี้ แต่ก็ไม่ทรงให้ความเห็นอย่างเป็นทางการ เพราะทรงต้องการให้จักรพรรดิ ผู้เป็นพระเชษฐา ระบุว่าทรงต้องการให้เจ้าหญิงคริสตินาเสกสมรสทางการเมืองหรือไม่เสียก่อน ถึงจะอนุญาตให้เจ้าหญิงเสกสมรสตามความรักได้ ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1540 จักรพรรดิคาร์ลที่ 5 ทรงบังคับให้เจ้าชายเรเนแห่งออเรนจ์เสกสมรสกับแอนนาแห่งลอแรน และจากนั้นประกาศให้เจ้าหญิงคริสตินาหมั้นกับฟรานซิส พระเชษฐาในแอนนา เพื่อสร้างพันธมิตรที่แข็งแกร่งระหว่างจักรวรรดิกับลอแรนหลังจากเสียหายอย่างมากในปัญหากิลเดอร์ การเสกสมรสอันเนื่องจากความรักจึงไม่เกิดขึ้น เจ้าชายเรเนสิ้นพระชนม์ในปี ค.ศ. 1544 สิริพระชนมายุ 25 พรรษา
ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1540 เจ้าหญิงคริสตินาทรงช่วยเหลือเจ้าหญิงโดโรเทีย พระเชษฐภคินี ซึ่งเดินทางไปพร้อมกับคณะผู้แทนของเฟรเดอริก พระสวามี ตามพระบัญชาของจักรพรรดิ เพื่อแก้ต่างให้กับชนวนเหตุเรื่องของพระราชบิดาของเจ้าหญิงทั้งสองกับจักรพรรดิ และเพื่อป้องกันการฟื้นฟูสนธิสัญญ่สันติภาพระหว่างเนเธอร์แลนด์กับพระเจ้าคริสเตียนที่ 3 แห่งเดนมาร์ก หลังจากทรงปรึกษากับอาร์คบิชอปคารงเดเลต์ ซึ่งเป็นประธานสภา และนิโคลัส เปร์เรโนต์ เดอ แกรนเวล เจ้าหญิงโดโรเทียและเจ้าหญิงคริสตินาทรงมีคำร้องไปยังจักรพรรดิอย่างเป็นทางการว่า "หม่อมฉันและน้องสาว ผู้เป็นเด็กที่อ่อนน้อมถ่อมตนและเป็นที่รักของพระองค์มาโดยตลอด ขอวิงวอนต่อพระองค์ท่าน ด้วยความยุติธรรมที่หลั่งไหลเหมือนน้ำพุ ที่จะทรงให้ความเมตตาต่อหม่อมฉัน โปรดเปิดประตูที่คุมขัง ซึ่งพระองค์เพียงคนเดียวที่สามารถปลดปล่อยพระราชบิดาของพวกหม่อมฉันได้ และโปรดทรงให้คำแนะนำแก่หม่อมฉันถึงวิธีที่ดีที่สุดที่หม่อมฉันจะได้รับคืนราชอาณาจักรซึ่งเป็นของหม่อมฉันแต่เดิม ด้วยกฎของพระเจ้าและมวลมนุษย์"[2] อย่างไรก็ตามคำของของทั้งสองพระองค์ก็ไม่บรรลุผล
ดัชเชสแห่งลอแรน
[แก้]ในวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1541 เจ้าหญิงคริสตินาเสกสมรสกับฟรานซิส ดยุกแห่งบาร์ที่บรัสเซลส์ ฟรานซิสเคยหมั้นกับแอนน์แห่งคลีฟส์ ผู้ซึ่งต่อมาเป็นพระมเหสีองค์ที่สี่ในพระเจ้าเฮนรีที่ 8 แห่งอังกฤษ ในเดือนสิงหาคม เจ้าหญิงคริสตินาและดยุกฟรานซิสได้เสด็จมาถึงปงอามัวส์ซงในลอแรน โดยเสด็จไปเข้าเฝ้าดัชเชสพระพันปีหลวงฟิลิปปา จากนั้นก็เดินทางต่อไปยังเมืองหลวง คือ นองซี ชบวนเสด็จได้รับการอารักขาจากตระกูลกีส์ ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1541 เจ้าหญิงคริสตินา พร้อมพระสวามี และอองตวน ดยุกแห่งลอแรน พระสัสสุระได้เสด็จไปเยือนราชสำนักฝรั่งเศสที่ฟองแตนโบล ซึ่งพระสัสสุระได้ทรงถูกบีบบังคับให้ยกป้อมปราการสเตอเนแก่ฝรั่งเศส เจ้าหญิงคริสตินาทรงป้องกันไม่ให้เหตุการณ์นี้สร้างความแตกฉานระหว่างลอแรนกับจักรพรรดิ ในระหว่างสงครามฝรั่งเศสกับจักรพรรดิในปี ค.ศ. 1542 เจ้าหญิงประทับที่ราชสำนักฝรั่งเศสในหลายโอกาส โดยทรงเข้าเฝ้า สมเด็จพระราชินีเอเลนอร์ พระปิตุจฉา ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1544 เจ้าหญิงคริสตินาและเจ้าหญิงโดโรเทีย พระเชษฐภคินีได้เสด็จไปเข้าเฝ้าจักรพรรดิที่ชไปเออร์ มีรายงานว่าทรงพยายามโน้มน้าวให้จักรพรรดิสงบศึกกับฝรั่งเศส แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
ในวันที่ 19 มิถุนายน ค.ศ. 1544 ฟรานซิสสืบตำแหน่งดยุกแห่งลอแรนต่อจากพระบิดา ในเดือนกรกฎาคม พระองค์และเจ้าหญิงคริสตินาได้เชิญจักรพรรดิให้เสด็จมาที่ลอแรน แต่ล้มเหลวที่จะโน้มน้าวให้พระองค์สงบศึก ในเดือนสิงหาคม จักรพรรดิทรงมีพระบัญชาให้สถานที่พำนักของตระกูลกีส์ในโจอินวิลล์ให้สำรองพื้นที่ไว้สำหรับกองทัพของจักรวรรดิตามคำขอของเจ้าหญิงคริสตินา ซึ่งพระองค์ทรงเคยทูลขอจักรพรรดิไว้เพื่อตอบแทนแอนนาแห่งลอแรน ในเดือนเดียวกัน จักรพรรดิคาร์ลที่ 5 ได้ขอให้เจ้าหญิงคริสตินาหลีกเลี่ยงที่จะพบพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 แห่งฝรั่งเศส ขณะเสด็จเยือนราชสำนักฝรั่งเศส ซึ่งพระองค์อาจจะพยายามหาทางสงบศึก แต่เจ้าหญิงก็ทรงตอบไปว่าพระเจ้าฟร็องซัวเสด็จกลับไปแล้ว เมื่อสงครามสิ้นสุดลงในปลายปีเดียวกัน เจ้าหญิงคริสตินาทรงเฉลิมฉลองสันติภาพในบรัสเซลส์ เจ้าหญิงคริสตินาทรงกลายเป็นที่ปรึกษาทางการเมืองของพระเจ้าฟร็องซัว[5] การทำเช่นนี้ถูกตั้งข้อสังเกตในสภาแห่งชไปเออร์ ปี ค.ศ. 1544 ซึ่งความสัมพันธ์ของทั้งสองพระองค์เป็นไปได้ด้วยดี ทั้งสองพระองค์ทรงแลกเปลี่ยนความสนพระทัยซึ่งกันและกันในด้านดนตรีและสถาปัตยกรรม และทรงช่วยกันวางแผนตกแต่งพระราชวังในน็องซี ในช่วงชีวิตการอภิเษกสมรสของพระองค์ครั้งนี้ เจ้าหญิงคริสตินาทรงเรียกพระองค์เองว่าเป็นผู้หญิงที่มีความสุขที่สุดในโลก
ผู้สำเร็จราชการแห่งลอแรน
[แก้]ฟรานซิส ดยุกแห่งลอแรนสิ้นพระชนม์ในวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1545 ขณะมีอายุได้ 27 ปี เจ้าหญิงคริสตินาจึงกลายเป็นผู้สำเร็จราชการแห่งลอแรนในนามของพระโอรสที่ยังทรงพระเยาว์ พินัยกรรมของดยุกฟรานซิสถูกต่อต้านโดยกลุ่มการเมืองที่นำโดย ฌ็อง เดอ ซาล์ม ซึ่งมองว่าเจ้าหญิงคริสตินาเป็นหุ่นเชิดของจักรพรรดิ และต้องการให้นิโคลัสแห่งวอเดอมอนต์ อนุชาของดยุกฟรานซิสขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการร่วมด้วย ขณะนั้นเจ้าหญิงคริสตินายังทรงพระครรภ์ทำให้ต้องเลื่อนพิธีฝังศพออกไป ต้องถูกเพิกถอนสิทธิในกองมรดก เจ้าหญิงจึงส่งข่าวให้จักรพรรดิคาร์ลที่ 5 ในวันที่ 6 สิงหาคม หลังจากจักรพรรดิทรงเข้ามาไกล่เกลี่ย เจ้าหญิงคริสตินาและอนุชาของสวามีได้รับการประกาศเป็นผู้สำเร็จราชการร่วมในช่วงที่ประมุขยังไม่บรรลุนิติภาวะ โดยทั้งสองมีตราประทับที่ใช้ในการลงนามคำสั่งเช่นเดียวกัน แต่เจ้าหญิงคริสตินาทรงได้เป็นผู้สำเร็จราชการหลักในฐานะผู้ปกครองแต่เพียงผู้เดียวของประมุข ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1546 เจ้าหญิงทรงเชิญพระเจ้าฟร็องซัวที่ 1 แห่งฝรั่งเศสให้เสด็จมาที่เมืองบาร์ กษัตริย์พยายามชักจูงให้เจ้าหญิงเสกสมรสกับฟร็องซัว ดยุกแห่งออแมร์ แต่เจ้าหญิงปฏิเสธที่จะเสกสมรสอีก เจ้าหญิงคริสตินาเสด็จไปร่วมประชุมที่สภาแห่งเอาก์สบูร์กในปีค.ศ. 1547 พร้อมกับสมเด็จพระพันปีหลวงแมรีแห่งฮังการีและเจ้าหญิงพันปีหลวงแอนน์แห่งออเรนจ์ มีการพิจารณาการเสกสมรสของเจ้าหญิงคริสตินาแห่งเดนมาร์กกับพระเจ้าซึกมุนต์ที่ 2 ออกัสตัสแห่งโปแลนด์ในสภา อีกทั้งเจ้าหญิงยังคงถูกเกี้ยวพาโดยมาควิสอัลเบิร์ตแห่งบรันเดินบวร์ค ลอร์ดแห่งคลัมบาร์ชและบาร์เกรฟแห่งนูเรมเบิร์ก ซึ่งหลงใหลในพระสิริโฉมของพระนาง เจ้าหญิงคริสตินาทรงต่อต้านการเสกสมรสของนิโคลัสแห่งวอเดอมอนต์ อนุชาของอดีตพระสวามี ที่จะเสกสมรสกับมาร์กาเร็ตแห่งเอ็กมอนด์ ตระกูลขุนนางชาวดัตช์ เนื่องจากทรงเกรงว่าอาจทำให้ฝรั่งเศสไม่พอใจ ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1549 พระนางทรงเยือนบรัสเซลส์อย่างเป็นทางการเพื่อเข้าร่วมการต้อนรับเจ้าชายเฟลีเปแห่งสเปนที่จะเสด็จไปยังเนเธอร์แลนด์ ในโอกาสนี้ เจ้าชายเฟลีเปทรงสนพระทัยในตัวพระนางมากจนเกินไปและทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้น เป็นเหตุให้เจ้าหญิงต้องเสด็จกลับลอแรนเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา ในลอแรน เจ้าหญิงคริสตินาทรงระมัดระวังในการรักษาความสัมพันธ์กับตระกูลกีซ ซึ่งเป็นตระกูลพันธมิตรที่แนบแน่นกับราขสำนักฝรั่งเศส และพระนางทรงมีบัญชาให้เสริมสร้างความแข็งแกร่งของป้อมปราการที่สเตเนย์ น็องซีและที่อื่นๆเพื่อป้องกันการโจมตีจากฝรั่งเศส ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1550 พระนางทรงจัดให้มีการฝังพระศพชาร์ลผู้อาจหาญ ดยุกแห่งบูร์กอญขึ้นใหม่ที่ลอแรน ในปีเดียวกัน เจ้าหญิงทรงเข้าร่วมประชุมที่สภาแห่งเอาก์สบูร์กเป็นครั้งที่สอง และทรงได้รับการยกย่องในฐานะเจ้าบ้านผู้ต้อนรับประมุขแขกบ้านเมืองเป็นอย่างดี ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1551 พระนางทรงเชิญพระเชษฐภคินีและพระสวามีของพระเชษฐภคินีให้เสด็จมาลอแรน
ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1551 ฝรั่งเศสเตรียมประกาศสงครามกับจักรวรรดิ ด้วยความเป็นพันธมิตรกับจักรวรรดิ ทำให้ลอแรนตกอยู่ในอันตรายอย่างทันที เจ้าหญิงคริสตินาพยายามสร้างสายสัมพันธ์อันดีกับตระกูลกีซ และส่งคำเตือนถึงจักรพรรดิ และทรงแจ้งไปทั้งทางจักรพรรดิกับสมเด็จพระพันปีหลวงแมรีแห่งฮังการีเพื่อขอกำลังเสริมในการป้องกันลอแรน ซึ่งพระองค์แจ้งว่าฝรั่งเศสกำลังเตรียมการประชิดชายแดน พระองค์ทรงเตือนว่าลอแรนไม่มีกองทัพเป็นของตัวเอง และถ้าหากไม่ทำอะไรขุนนางลอแรนจะทำการต่อต้านจักรพรรดิแทน โดยหันไปต้อนรับกองทัพฝรั่งเศส ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1552 พระเจ้าอ็องรีที่ 2 แห่งฝรั่งเศสได้ยกพลบุกชายแดนเยอรมัน และเดินทัพมาถึงจอยน์วิลล์ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เจ้าหญิงคริสตินาไม่ได้รับความช่วยเหลือจากทางเนเธอร์แลนด์และจากจักรพรรดิ ในัวนที่ 1 เมษายน เจ้าหญิงเสด็จไปพบดัชเชสอ็องตัวแนตแห่งกีซในจอยน์วิลล์ โดยเสด็จไปพร้อมกับเจ้าหญิงพันปีหลวงแอนน์แห่งออเรนจ์ เพื่อขอให้ดัชเชสช่วยทูลแจ้งกษัตริย์ฝรั่งเศสเคารพถึงความเป็นกลางของลอแรน คำร้องขอของเจ้าหญิงประสบความสำเร็จ กษัตริย์ให้การรับรองว่าลอแรนไม่เป็นอันตรายจากการบุกโจมตี
ในวันที่ 13 เมษายน ค.ศ. 1552 ฝรั่งเศสเข้าบุกครองลอแรน กษัตริย์ฝรั่งเศสเสด็จเข้าเมืองหลวงน็องซี วันต่อมา เจ้าหญิงคริสตินาทรงได้รับแจ้งว่า พระนางจะถูกถอนสิทธิในการดูแลพระโอรส ซึ่งกษัตริย์ฝรั่งเศสจะนำตัวพระโอรสไปด้วยเมื่อเสด็จออกจากลอแรน ซึ่งพระโอรสจะได้รับการศึกษาในราชสำนักฝรั่งเศส จากนั้นพระนางและเจ้าหน้าที่ของจักรวรรดิในลอแรนจะถูกถอดออกจากตำแหน่งในการปกครองลอแรนทั้งหมด ข้าราชสำนักของจักรวรรดิทั้งหมดได้ออกไปจากดัชชี แต่เจ้าหญิงคริสตินาไม่ทรงขอที่จะเสด็จออกไป แต่พระนางทรงถูกถอดออกจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการร่วม และลอแรนถูกปกครองโดยดยุกนิโคลัสแห่งวอเดอมอนต์แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งเป็นผูที่จงรักภักดีต่อฝรั่งเศส ในเหตุการณ์หนึ่ง เจ้าหญิงคริสตินาจะเสด็จออกมาห้องโถงที่กษัตริย์และข้าราชสำนักประชุมกัน ทรงสวมฉลองพระองค์สีดำแบบหญิงหม้ายและสวมผ้าคลุมหน้าสีขาว ทรงตรัสทูลขอร้องให้กษัตริย์รักษาพระโอรสของพระนางไว้ดังเดิม เหตุการณ์นี้ถูกบรรยายว่าเป็นการพยายามของพระนางที่จะปรากฏตัวต่อหน้าข้าราชสำนัก แต่กษัตริย์ทรงตอบแต่เพียงว่าลอแรนอยู่ใกล้ชายแดนของศัตรูมากเกินไปที่จะปล่อยพระโฮรสของพระนางเอาไว้ และได้ควบคุมตังพระนางออกไป
เจ้าหญิงคริสตินาทรงออกไปพำนักที่เดนิวเรอ ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1552 ดยุกนิโคลัสแห่งวอเดอมอนต์ พระอนุชาในอดีตพระสวามี ได้รายงานว่า พระนางพยายามจะช่วยให้กองทัพจักรพรรดิเข้ามา และมีการดักจับจดหมายของพระนาง ทำให้ พระเจ้าอ็องรีที่ 2 ทรงมีพระราชโองการให้พระนางออกไปจากลอแรน เนื่องจากสถานการณ์สงครามในพื้นที่ทำให้ไม่สามารถออกเดินทางได้ เจ้าหญิงไม่สามารถเสด็จไปถึงเนเธอร์แลนด์ได้ แต่ทรงหลบภัยอยู่ที่เมืองเซลิสตัตท์ จนกระทั่งกองทัพของพระมาตุลาได้เคลื่อนเข่ามาในพท้นที่ในเดือนกันยายน จากนั้นเจ้าหญิงคริสตินาสามารถเสด็จไปราชสำนักของพระเชษฐภคินีได้ ที่ รัฐผู้คัดเลือกพาลาทิเนต โดยเสด็จพร้อมพระราชธิดาและเจ้าหญิงพันปีหลวงแอนน์แห่งออเรนจ์ พระขนิษฐาในอดีตพระสวามี และหลังจากนั้นทรงย้ายไปประทับร่วมกับสมเด็จพระพันปีหลวงแมรีแห่งฮังการี พระมาตุจฉา ที่บรัสเซลส์ในเนเธอร์แลนด์
ลี้ภัย
[แก้]เจ้าหญิงคริสตินาทรงได้รับข้อเสนอให้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าอ็องรีที่ 3 แห่งนาวาร์, อดอล์ฟ ดยุกแห่งฮ็อลชไตน์-ก็อตทร็อป, เจ้าชายแห่งปีดมอนต์ และอัลเบิร์ตแห่งบรันเดินบวร์ค ต่อมามีการสัญญาว่าจะฟื้นฟูราชบัลลังก์เดนมาร์กของพระราชบิดาให้พระนาง แต่เจ้าหญิงคริสตินาปฏิเสธที่จะอภิเษกสมรส และดำลังทรงจดจ่ออยู่กับการเจรจากับฝรั่งเศสเพื่อเรียกคืนสิทธิในการเป็นผู้ปกครองของพระโอรส พระนางทรงอยู่เป็นพยานการสละราชบัลลังก์ของจักรพรรดิชาร์ลที่ 5 ที่บรัสเซลส์ เดือนตุลาคม ในปีค.ศ. 1555 ตามมาด้วยพิธีสละตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแห่งเนเธอร์แลนด์ของสมเด็จพระพันปีหลวงแมรีแห่งฮังการี พระมาตุจฉา เจ้าหญิงคริสตินาเสด็จไปประทับที่สเปนในตุลาคม ค.ศ. 1556 จักรพรรดิทรงแนะนำให้เจ้าหญิงคริสตินาอภิเษกสมรสกับเอ็มมานูเอล ฟิลิเบอร์โต ดยุกแห่งซาวอย และเอ็มมานูเอล ฟิลิเบอร์โตได้เข้ามาแทนที่สมเด็จพระพันปีหลวงแมรีในเนเธอร์แลนด์ในปีนั้น ถึงกระนั้นก็ไม่มีการอภิเษกสมรสเกิดขึ้น
หลังจากสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับจักรวรรดิสิ้นสุดลง เจ้าหญิงคริสตินาทรงร้องขอทางการฝรั่งเศสเพื่อขออนุญาตกลับไปยังลอแรนเพื่อไปดูแลพระโอรส แต่ก็ไม่ได้รับการอนุญาต พระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสทรงแจ้งว่าในปีค.ศ. 1556 พระโอรสของพระนางจะได้รับการประกาศให้บรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย และการเรียกร้องสิทธิในการสำเร็จราชการของพระนางยังคงเป็นปัญหา นอกจากนี้พระเจ้าเฟลีเปที่ 2 แห่งสเปนไม่ทรงต้องการให้พระนางออกไปจากบรัสเซลส์ เนื่องจากพระองค์ทรงโปรดกลุ่มพันธมิตรของเจ้าหญิงคริสตินา และความนิยมของพระนางในเนเธอร์แลนด์ยังคงเป็นสิ่งที่พระเจ้าเฟลีเปประสงค์
เจ้าหญิงคริสตินาเสด็จเยือนอังกฤษครั้งแรกในเดือนเมษายน ค.ศ. 1555 แต่ไม่มีการบันทึกมากนักในการเสด็จเยือนครั้งนี้ ในเดือนกุมภาพันธ์ - พฤษภาคม ค.ศ. 1557 พระนางและมาร์กาเร็ตแห่งปาร์มาได้เสด็จเยือนราชสำนักของสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 1 แห่งอังกฤษ ทรงได้รับการต้อนรัจากสมเด็จพระราชินีนาถแมรีด้วยงานเลี้ยงพระกระยาหารที่พระราชวังไวท์ฮอล มีการเล่าลือว่าการเสด็จเยือนของพระนางเนื่องจากมีแผนที่จะพาเจ้าหญิงเอลิซาเบธแห่งอังกฤษไปอภิเษกสมรสกับเอ็มมานูเอล ฟิลิเบอร์โต ดยุกแห่งซาวอย แต่แผนการนี้ถูกยับยั้งโดยสมเด็จพระราชินีนาถ เจ้าหญิงคริสตินาทรงสร้างความประทับใจขณะเสด็จเยือนลอนดอน และทรงพบปะกับมิตรสหายเช่น ลอร์ดอรันเดลและเพมโบร็ค ทรงเสด็จเยือนศาสนสถานของคาทอลิก และหอคอยลอนดอน อย่างไรก็ตามมีความไม่พอพระทัยบางประการจากฟากฝั่งสมเด็จพระราชินีนาถแมรี เนื่องจากเจ้าหญิงทรงได้รับความสนใจและความเสน่หาจากพระเจ้าเฟลีเปมาก นอกจากนี้พระนางยังทรงถูกปฏิเสธที่จะให้เข้าพบเจ้าหญิงเอลิซาเบธ ซึ่งทรงถูกคุมขังอยู่ที่ฮาร์ทฟิลด์ในขณะนั้น เจ้าหญิงคริสตินาเสด็จกลับเนเธอร์แลนด์ในเดือนพฤษภาคม
ท้ายที่สุด เจ้าหญิงคริสตินาก็ทรงเจรจาประนีประนอมกับนิโคลัสแห่งวอเดอมอนต์ พระอนุชาของอดีตพระสวามี เพื่อที่จะได้รับอนุญาตให้พบกับพระโอรสอีกครั้ง การพบปะพระโอรสได้เกิดขึ้นที่ชายแดนหมู่บ้านมาร์คออิง ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1558 เจ้าหญิงทรงได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีเสกสมรสของดยุกนิโคลัสในปี ค.ศ. 1559 แต่เจ้าหญิงปฏิเสธที่จะเข้าร่วมเนื่องจากทรงอยู่ในช่วงไว้ทุกข์ให้แก่พระปิตุจฉาและพระมารดาอุปถัมภ์คือ สมเด็จพระพันปีหลวงแมรีแห่งฮังการี และเนื่องจากทรงได้รับการมอบหมายหน้าที่ให้เป็นประธานในการประชุมสันติภาพระหว่างฝรั่งเศสและสเปน
ในเดือนตุลาคม ถึงกันยายน ค.ศ. 1558 เจ้าหญิงคริสตินาทรงเป็นผู้ไกล่เกลี่ยในการเจรจาสันติภาพที่เชอร์ชัมป์ ตามที่ทรงถูกร้องขอ การเจรจายุติลงเนื่องจากการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระพันปีหลวงแมรีแห่งฮังการี เมื่อมีการประชุมสันติภาพอีกครั้ง เจ้าหญิงจึงทรงได้เป็นประธานในการประชุมอีกครั้ง ซึ่งจัดขึ้นที่เลอชาโตคัมเบรซิส์ ในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ค.ศ. 1559 การร่างสนธิสัญญาสันติภาพได้เกิดขึ้นถือเป็นความสำเร็จทางการทูตสูงสุดของเจ้าหญิงคริสตินา
เมื่อดยุกแห่งซาวอยทรงกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแห่งเนเธอร์แลนด์ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1559 เจ้าหญิงคริสตินาทรงกลายเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมสูงที่จะเข้ามาแทน เจ้าหญิงทรงได้รับความนิยมจากชาวดัตช์ทุกชนชั้น เนื่องจากทรงได้รับการอบรมเลี้ยงดูตามแบบวัฒนธรรมดัตช์และทรงระลึกว่าทรงเป็นชาวดัตช์ ไม่ใช่ชาวเดนมาร์ก หรือ เยอรมัน พระนางทรงมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับกลุ่มตระกูลชั้นสูงชาวดัตช๋ และความสำเร็จในการจัดการประชุมที่เชอร์ชัมป์และเลอชาโตคัมเบรซิส์ ได้ทำให้ทรงมีสถานะเป็นถึงนักการทูตที่เก่งกาจ เจ้าหญิงทรงได้รับการพิจารณาในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการช่วงฤดูร้อน ปีค.ศ. 1558 แต่อย่างไรก็ตาม พระราชกิจที่ทรงทำกลับไม่เข้าตามแนวทางของพระเจ้าเฟลีเปที่ 2 แห่งสเปน พระองค์ทรงมองว่าการที่เจ้าหญิงทรงเป็นที่นิยมในหมู่ชาวดัตช์มากเกินไป และเจ้าหญิงทรงความสัมพันธ์อันดีกับเจ้าชายวิลเลมแห่งออเรนจ์ ซึ่งการกระทำเหล่านี้ล้วนน่าสงสัยในสายตากษัตริย์ ดังนั้นในเดือนมิถุนายน พระองค์จึงแต่งตั้งมาร์กาเร็ตแห่งปาร์มา พระขนิษฐาต่างมารดาของพระองค์แทน เหตุการณ์นี้ทำให้เจ้าหญิงคริสตินาและมาร์กาเร็ตทรงบาดหมางกัน และในเดือนตุลาคม เจ้าหญิงคริสตินาจึงเสด็จไปประทับกับชาร์ลที่ 3 ดยุกแห่งลอแรน พระโอรสและเจ้าหญิงโคลดแห่งฝรั่งเศส พระสุณิสาแทน
อ้างสิทธิในราชบัลลังก์เดนมาร์ก
[แก้]ในลอแรน เจ้าหญิงคริสตินาทรงเป็นที่ปรึกษาให้พระโอรส โดยเฉพาะในการฟื้นฟูการคลังของลอแรนหลังจากสงคราม และหลังจากได้รับความจงรักภักดีจากขุนนางท้องถิ่น พระนางทรงช่วยพระสุณิสารับแขกเมืองในฐานะเจ้าบ้าน ในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1560 พระนางทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้สำเร็จราชการแห่งลอแรนอีกครั้งในช่วงที่พระโอรสและพระสุณิสาเสด็จเยือนราชสำนักฝรั่งเศส เจ้าหญิงคริสตินาทรงเป็นพระราชอาคันตุกะในพระราชพิธีราชาภิเษกของพระเจ้าชาร์ลที่ 9 แห่งฝรั่งเศสที่แร็งส์ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1561 และพิธีราชาภิเษกของจักรพรรดิมักซีมีเลียนที่ 2 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในแฟรงก์เฟิร์ตปีค.ศ. 1562 ดยุกชาร์ล พระโอรสได้เสด็จยังเมืองน็องซีในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1562 และสิ้นสุดการสำเร็จราชการอย่างเป็นทางการ แต่ดยุกชาร์ลก็ยังคงพึ่งพาพระราชมารดาอยู่ในฐานะที่ปรึกษาในกิจการของรัฐ ในปีค.ศ. 1564 พระนางทรงทำข้อตกลงกับบิช็อปแห่งตูล์ ให้ยอมรับตำแหน่งของดยุกแห่งลอแรนและด้วยความยินยอมขององค์สันตะปาปา ในฐานะที่ปรึกษาทางการเมือง พระโอรสทรงมักจะมอบหมายราชกิจทางการเมืองให้พระมารดา เนื่องจากเจ้าหญิงคริสตินาทรงอยู่ในตำแหน่งที่มีอิทธิพลในราชสำนักดยุกลอแรน เนื่องจากเจ้าหญิงโคลด พระสุณิสาทรงโปรดที่จะประทับในราชสำนักฝรั่งเศสของพระนางเองมากกว่า โดยจะทรงเสด็จกลับบ่อยๆ แต่เจ้าหญิงคริสตินาก็ทรงเกรงกลัวอิทธิพลของแคทเธอรีน เดอ เมดีชี สมเด็จพระพันปีหลวงแห่งฝรั่งเศส ซึ่งเจ้าหญิงคริสตินาสงสัยว่าพระพันปีหลวงฝรั่งเศสทรงพยายามใช้อิทธิพลเหนือลอแรน และพยายามทำลายความสัมพันธ์ระหว่างพระองค์กับพระโอรส เพื่อขับไล่พระองค์ออกจากการดูแลราชกิจของลอแรน
พระเจ้าคริสเตียนที่ 2 แห่งเดนมาร์ก พระราชบิดาของพระนางได้เสด็จสวรรคตในปีค.ศ. 1559 ในที่คุมขัง ทรงเป็นนักโทษมานานกว่า 36 ปี สิริพระชนมายุ 77 พรรษา เจ้าหญิงโดโรเธีย พระเชษฐภคินีของเจ้าหญิงคริสตินา ทรงประกาศพระองค์เป็น สมเด็จพระราชินีนาถแห่งเดนมาร์ก[2] แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าหญิงโดโรเธียทรงเป็นม่ายและไร้โอรสธิดา และทรงมีพระชนมายุเกินวัยที่จะมีทายาทได้แล้ว ดังนั้นเจ้าหญิงโดโรเธียไม่ทรงมีประโยชน์ในทางการเมือง กลุ่มผู้จงรักภักดีต่ออดีตกษัตริย์คริสเตียนที่ 2 นำโดย เปเดอ โอเซ ได้เดินทางมาเข้าเฝ้าเจ้าหญิงคริสตินา เพื่อทูลขอให้พระนางไปเกลี้ยกล่อมให้เจ้าหญิงโดโรเธียสละสิทธิในราชบัลลังก์ให้แก่พระนางและพระโอรสของพระนาง[2] เจ้าหญิงคริสตินาทรงแต่งตั้งให้โอเซเป็นสมาชิกสภาของดยุกแห่งลอแรน และในปีค.ศ. 1561 เจ้าหญิงคริสตินาได้เสด็จไปเยี่ยมเจ้าหญิงโดโรเธีย พระเชษฐภคินี และมีรายงานว่าทรงทำตามคำขอของโอเซ ในการเกลี้ยกล่อมให้เจ้าหญิงโดโรเธียสละสิทธิให้แก่พระนาง[2] หลังจากเหตุการณ์นี้ เจ้าหญิงคริสตินาทรงประกาศพระองค์เองเป็น สมเด็จพระราชินีนาถแห่งเดนมาร์ก นอร์เวย์และสวีเดน ตามสิทธิอันชอบธรรม ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1563 พระนางทรงอวยพระยศเป็น "คริสตินา ด้วยความดีงามของพระผู้เป็นเจ้า สมเด็จพระราชินีนาถแห่งเดนมาร์ก สวีเดน และนอร์เวย์, พระประมุขแห่งชาวกอธ แวนดัล และสลาโวเนียน, ดัชเชสแห่งชเลสวิช ดิตมาร์ช ลอแรน บาร์ และมิลาน, เคานท์เตสแห่งออลเดนบูร์กและบลามอนท์ และท่านหญิงประมุขแห่งทอร์โทนา"[2]
ในปีค.ศ. 1561 เจ้าหญิงคริสตินาทรงตั้งพระทัยที่จะให้พระราชธิดาคือ เรนาตา อภิเษกสมรสกับพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 2 แห่งเดนมาร์ก[2] พระญาติซึ่งเป็นเชื้อสายศัตรูที่ช่วงชิงราชบัลลังก์ของพระราชบิดาไป แต่เมื่อเกิดสงครามทางตอนเหนือเจ็ดปีระหว่างเดนมาร์กและสวีเดนในปีค.ศ. 1563 เจ้าหญิงคริสตินาจึงทรงล้มเลิกแผนการนี้ พระนางทรงได้รับการสนับสนุนจากเปเดอ โอเซ และนักผจญโชคชาวเยอรมันคือ วิลเฮล์ม ฟอน กรัมบาช และกองทัพพันธมิตรของเขา ในการวางแผนบุกเดนมาร์กเพื่อชิงบัลลังก์จากพระเจ้าเฟรเดอริกที่ 2 เปเดอ โอเซได้แนะนำให้พระนางทรงเป็นผู้นำกองทัพในการรุกรานคาบสมุทรจัตแลนด์ ซึ่งพระนางจะทรงได้รับการต้อนรับจากเหล่าขุนนางเดนมาร์ก ที่เป็นปรปักษ์กับกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ตั้งแต่ปีค.ศ. 1565 ถึง ค.ศ. 1567 เจ้าหญิงคริสตินาทรงเจรจากับพระเจ้าอีริคที่ 14 แห่งสวีเดน เพื่อสร้างพันธมิตรร่วมกันระหว่างสวีเดนและเดนมาร์ก โดยทรงเสนอให้กษัตริย์อีริคอภิเษกสมรสกับเรนาตาแห่งลอแรน พระราชธิดา[2] แผนการยึดครองเดนมาร์กของเจ้าหญิงคริสตินาได้รับการสนับสนุนจากสวีเดน กษัตริย์อีริคทรงเห็นชอบด้วยถ้าหากเจ้าหญิงคริสตินาทรงสามารถโน้มน้าวให้จักรพรรดิและเนเธอร์แลนด์สนับสนุนพระนางด้วย[2] ในปีค.ศ. 1566 เจ้าหญิงคริสตินาทรงสร้างเหรียญเครื่องเกียรติยศให้แก่พระนางเอกในฐานะสมเด็จพระราชินีนาถแห่งเดนมาร์ก องค์ที่สองนับตั้งแต่สมเด็จพระราชินีนาถมาร์เกรเธอที่ 1 แห่งเดนมาร์ก โดยทรงตั้งคติพจน์ประจำรัชกาลว่า "Me sine cuncta ruunt" (Without me all things perish แปลว่า "ถ้าปราศจากข้าพเจ้า ทุกสิ่งบนโลกจะพินาศ")[2] แต่จักรพรรดิแฟร์ดีนันด์ที่ 1 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ทรงคัดค้านแผนการนี้อย่างถึงที่สุด เนื่องจากแผนการนี้จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนักต่อเสถียรภาพทางอำนาจในดินแดนเยอรมนี ซึ่งรัฐแซ็กโซนี ที่เจ้าหญิงโดโรเธีย พระเชษฐภคินีของเจ้าหญิงคริสตินาทรงเคยเป็นดัชเชสพระมเหสี ได้เป็นผู้สนับสนุนเจ้าหญิงคริสตินาอย่างแข็งขัน ดังนั้นจักรพรรดิจึงต่อต้านสิทธิของเจ้าหญิงคริสตินา และพระนางเองไม่สามารถขอกำลังสนับสนุนจากพระเจ้าเฟลีเปที่ 2 แห่งสเปนได้ แผนการอภิเษกเรนาตาแห่งลอแรนให้เป็นสมเด็จพระราชินีแห่งสวีเดนต้องล้มเหลวเมื่อ กษัตริย์อีริคที่ 14 ทรงละเมิดสัญญาและหันไปอภิเษกสมรสในปีค.ศ. 1567 กับคาริน แมนสด็อทเทอร์ ซึ่งไม่ใช่ผู้มาจากตระกูลขุนนาง[2] ในปีค.ศ. 1569 เจ้าหญิงคริสตินายังทรงพยายามที่จะยึดราชบัลลังก์เดนมาร์กอยู่ แต่ทรงได้รับคำตอบจากพระคาร์ดินัลด์เกรนเวลล์ ว่าเนเธอร์แลนด์จะไม่เป็นศัตรูกับเดนมาร์ก ซึ่งเป็นสิ่งที่จักรพรรดิต่อต้าน เมื่อสงครามทางตอนเหนือเจ็ดปีสิ้นสุดลงในปีค.ศ. 1570 เจ้าหญิงคริสตินาจำต้องไม่ทรงดำเนินแผนการนี้ต่อไปอีก
ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1568 เจ้าหญิงคริสตินาทรงเป็นหนึ่งในผู้วิงวอนให้พระเจ้าเฟลีเปที่ 2 แห่งสเปน ให้ทรงไว้ชีวิตลามอรัล เคานท์แห่งเอ็กมอนต์ ผู้นำการประกาศเอกราชของเนเธอร์แลนด์ แต่ก็ไร้ผล ในปีเดียวกัน เรนาตาแห่งลอแรน พระราชธิดาได้อภิเษกสมรสกับวิลเฮล์มที่ 5 ดยุกแห่งบาวาเรีย มีรายงานว่าเจ้าหญิงคริสตินาเสด็จไปประทับที่บาวเรียเป็นบางครั้ง ก่อนที่จะเสด็จกลับลอแรน
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1578 พระนางเสด็จกลับไปยังทอร์โทนา ดินแดนที่ทรงเคยได้รับจากพระสวามีพระองค์แรก ซึ่งพระนางจะทรงประทับอยู่ที่นี่จนกระทั่งสิ้นพระชนม์ ทรงได้รับการขนานนามว่า "มาดามทอร์โทนา" ทรงเป็นพระประมุขแห่งทอร์โทนาจวบจนพระชนม์ชีพ และทรงมีบทบาทสำคัญในการบริหารราชการเมือง พระนางปกครองทอร์โทนาอย่างดี ทรงปฏิรูปทุกสิ่งทุกอย่างที่ดำเนินมาอย่างผิดๆ ทรงยุติข้อพิพาทระหว่างราเวนนา ทรงเรียกคืนสิทธิพิเศษที่สูญเสียไปกลับคืนมา และปกป้องคุ้มครองสิทธิของชาวทอร์โทนาจากพวกสเปน เจ้าหญิงทรงเป็นประมุขที่ได้รับความนิยมสูงสุดในทอร์โทนา ทรงมักจะรับคำร้องขอของประชาชน และติดต่อสัมพันธ์กับชนชั้นสูงชาวมิลาน ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1584 เจ้าหญิงทรงได้รับแจ้งจากอุปราชชาวสเปนว่า ต่อไปนี้สิทธิของพระนางในการปกครองทอร์โทนาถือเป็นสิ้นสุด แต่พระนางจะได้รับอนุญาตให้ประทับที่เมืองนี้ต่อไปได้และจะได้เบี้ยหวัดรายปีของทอร์โทนาตลอดพระชนม์ชีพ แต่ถึงกระนั้นพระนางก็ยังทรงร้องขอให้คืนสิทธิของชาวทอร์โทนาต่ออุปราชสเปน แต่ก็ไม่สำเร็จ
เจ้าหญิงคริสตินาสิ้นพระชนม์ในวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1590 ณ เมืองทอร์โทนา สิริพระชนมายุ 69 พรรษา
ชาร์ลที่ 3 ดยุกแห่งลอแรน พระโอรสของพระนาง ได้รับการตั้งพระนามตาม จักรพรรดิชาร์ลที่ 5 แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ พระราชวงศ์เบลเยียมและสเปน และพระประมุขแห่งลักเซมเบิร์กในปัจจุบัน ต่างสืบเชื้อสายมาจากชาร์ลที่ 3 ดยุกแห่งลอแรน ทั้งนี้รวมถึงอดีตราชวงศ์ออสเตรีย บาวาเรีย บราซิล ฝรั่งเศส ปาร์มา เนเปิลส์ โปรตุเกส อิตาลี และแซ็กโซนีด้วย เรนาตาแห่งลอแรน พระราชธิดา ทรงมีเชื้อสายสืบต่อมาในราชวงศ์เดนมาร์ก นอร์เวย์ และสวีเดน รวมถึงอดีตราชวงศ์กรีซ และรัสเซีย
พระโอรสธิดา
[แก้]พระนาม | ประสูติ | สิ้นพระชนม์ | คู่สมรส และพระโอรส-ธิดา | |
ชาร์ลที่ 3 ดยุกแห่งลอแรน | ค.ศ. 1543 |
15 กุมภาพันธ์ค.ศ. 1608 |
14 พฤษภาคมอภิเษกสมรส วันที่ 19 มกราคม ค.ศ. 1559 กับ เจ้าหญิงโคลดแห่งฝรั่งเศส มีพระโอรสธิดา 9 พระองค์ ได้แก่ อ็องรีที่ 2 ดยุกแห่งลอแรน คริสตินาแห่งลอแรน แกรนด์ดัชเชสแห่งทัสคานี ชาร์ลแห่งลอแรน บิช็อปแห่งเม็ทส์และสตราสบูร์ก แอนโทเนียแห่งลอแรน ดัชเชสแห่งยือลิช-คลีฟส์-แบร์ก แอนนาแห่งลอแรน ฟรานซิสที่ 2 ดยุกแห่งลอแรน แคทเทอรีนแห่งลอแรน เอลิซาเบธแห่งลอแรน อีเล็กเตรสพาลาทีน โคลดแห่งลอแรน | |
เรนาตาแห่งลอแรน | ค.ศ. 1544 |
20 เมษายนค.ศ. 1602 |
22 พฤษภาคมอภิเษกสมรส วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1568 กับ วิลเฮล์มที่ 5 ดยุกแห่งบาวาเรีย มีพระโอรสธิดา 10 พระองค์ ได้แก่ คริสตอฟแห่งบาวาเรีย คริสทีนแห่งบาวาเรีย มักซีมีเลียนที่ 1 ผู้คัดเลือกแห่งบาวาเรีย มาเรีย แอนนาแห่งบาวาเรีย อาร์คดัชเชสแห่งออสเตรียใน ฟิลิปป์แห่งบาวาเรีย แฟร์ดีนันด์แห่งบาวาเรีย เอเลโอนอ มักดาเลนแห่งบาวาเรีย คาร์ลแห่งบาวาเรีย อัลเบรชท์ที่ 5 ดยุกแห่งบาวาเรีย มักดาเลนแห่งบาวาเรีย | |
โดโรเธียแห่งลอแรน | ค.ศ. 1545 |
24 พฤษภาคมค.ศ. 1621 |
2 มิถุนายนอภิเษกสมรสครั้งที่ 1 วันที่ 22 พฤศจิกายน ค.ศ. 1575 กับ อีริคที่ 2 ดยุกแห่งเบราน์ชไวก์-ลือเนบูร์ก ไม่มีพระโอรสธิดา อภิเษกสมรสครั้งที่ 2 ปีค.ศ. 1597 กับ มาร์ก เดอ รี มาควิสเดอวารัมบอน ไม่มีพระโอรสธิดา |
ในวัฒนธรรมสมัยใหม่
[แก้]โทรทัศน์
[แก้]- ในซีรีส์เรื่อง The Tudors บทของเจ้าหญิงคริสตินาแห่งเดนมาร์ก ดัชเชสแห่งมิลาน แสดงโดย ซอนยา คาสซิดี
วรรณกรรม
[แก้]- Helle Stangerup, In the Courts of Power, 1987.
- Marianne Malone, The Sixty-Eight Rooms, 2010.
อ้างอิง
[แก้]- ↑ บทความนี้ ประกอบด้วยข้อความจากสิ่งพิมพ์ซึ่งปัจจุบันเป็นสาธารณสมบัติ: Robert Nisbet Bain (1911). . ใน Chisholm, Hugh (บ.ก.). สารานุกรมบริตานิกา ค.ศ. 1911 (11 ed.). สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์.
- ↑ 2.00 2.01 2.02 2.03 2.04 2.05 2.06 2.07 2.08 2.09 2.10 2.11 2.12 2.13 2.14 2.15 2.16 2.17 Julia Cartwright: Christina of Denmark. Duchess of Milan and Lorraine. 1522-1590, New York, 1913
- ↑ State Papers Henry VIII, vol. 8, London, (1849), 17-21, 142.
- ↑ State Papers Henry VIII, vol. 8, London, (1849), 126-129, 21 January 1539
- ↑ Dansk Kvindebiografisk Leksikon. KVinfo.dk
- (เดนมาร์ก) Christina of Denmark in Dansk Kvindebiografisk Leksikon
- Julia Cartwright: Christina of Denmark. Duchess of Milan and Lorraine. 1522-1590, New York, 1913
ก่อนหน้า | เจ้าหญิงคริสตินาแห่งเดนมาร์ก | ถัดไป | ||
---|---|---|---|---|
เจ้าหญิงโกลดแห่งฝรั่งเศส | ดัชเชสพระมเหสีแห่งมิลาน (4 พฤษภาคม ค.ศ. 1534 – 24 ตุลาคม ค.ศ. 1535) |
เจ้าหญิงมาเรีย มานูเอลาแห่งโปรตุเกส | ||
เรเนแห่งบูร์บง | ดัชเชสพระมเหสีแห่งลอแรน (14 มิถุนายน ค.ศ. 1544 – 12 มิถุนายน ค.ศ. 1545) |
เจ้าหญิงโกลดแห่งวาลัวส์ |