ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าราชวงศ์ (เหง้า)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ้าราชวงศ์ (เหง้า)
เจ้าราชวงศ์แห่งเวียงจันทน์
ประสูติพ.ศ. 2345
นครหลวงเวียงจันทน์
สวรรคต?
เมืองมหาไชยกองแก้ว?
พระราชบิดาพระเจ้าอนุวงศ์

เจ้าราชวงศ์ (เหง้า หรือ เง่า) เป็นเจ้านายลาวแห่งอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์ พระองค์ทรงมีอำนาจทางการเมืองเป็นอันดับสามในราชอาณาจักร ถัดจากเจ้าอุปราช (ติสสะ) ผู้เป็นพระปิตุลา[1] ในเอกสารฝ่ายเวียดนามบันทึกชื่อของท่านไว้ว่า Hạt Xà Bồng (曷蛇芃)

เจ้าราชวงศ์ (เหง้า) เป็นพระราชโอรสองค์ที่สองของพระเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์ ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2345 ในวัยเยาว์ได้ประทับอยู่ในราชสำนักกรุงเทพในฐานะองค์ประกันของอาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์และได้ฝึกหัดราชการในฐานะมหาดเล็กเช่นเดียวกับเจ้านายและบุตรหลานขุนนางฝ่ายสยาม ใน พ.ศ. 2367 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต พระเจ้าอนุวงศ์พร้อมทั้งเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) พระโอรสได้ทรงนำไพร่พลชาวลาวจากเวียงจันทน์มาเข้าร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการให้เจ้าอนุวงศ์นำกำลังชาวลาว ขนท่อนไม้ต้นตาลจากเมืองสุพรรณบุรีไปยังสมุทรปราการ[2] เพื่อทำฐานตอม่อของพระสมุทรเจดีย์กลางน้ำ พระเจ้าอนุวงศ์จึงทรงมอบหมายให้เจ้าราชวงศ์ (เหง้า) คุมไพร่พลชาวลาวขนต้นตาลจากสุพรรณบุรีไปสมุทรปราการ ในครั้งนั้นเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ไม่พอพระทัยต่อการปฏิบัติของข้าราชการฝ่ายกรุงเทพที่เป็นไปในเชิงดูถูกเหยียดหยามฝ่ายลาวมาก เมื่อกลับมาเข้าเฝ้าพระเจ้าอนุวงศ์ที่กรุงเทพ พระองค์จึงได้กราบทูลแก่พระราชบิดาของพระองค์ว่า "ข้าพเจ้าไม่ขอเป็นขี้ข้าพวกไทยแล้ว" นักประวัติศาสตร์ลาวในชั้นหลังได้สรุปว่านี่เป็นหนึ่งในหลากหลายสาเหตุที่ทำให้พระเจ้าอนุวงศ์ตัดสินพระทัยกระทำสงครามก่อกบฏต่อฝ่ายกรุงเทพมหานครในเวลาต่อมา[3]

ในช่วงสงครามพระเจ้าอนุวงศ์ เจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ได้รับมอบหมายให้เป็นแม่ทัพควบคุมกองทัพหน้าของฝ่ายเวียงจันทน์ พระองค์ได้นำทัพลงมากวาดต้อนไพร่พลชาวลาวที่ตั้งถิ่นฐานตามเมืองต่างๆ ในเขตฝั่งขวาของแม่น้ำโขงลึกลงมาจนถึงเขตเมืองสระบุรี ครั้นเมื่อกองทัพสยามฝ่ายกรุงเทพมหานครได้ทราบข่าวและเร่งจัดกำลังเข้าตีตอบโต้ กองทัพของเจ้าราชวงศ์จึงได้ล่าถอยไปตั้งมั่นที่เมืองหนองบัวลำภู และต้องล่าถอยอีกครั้งเพื่อไปสมทบกับพระราชบิดาอยู่ที่นครหลวงเวียงจันทน์หลังจากเมืองหนองบัวลำภูถูกตีแตก ครั้นเมื่อกองทัพสยามเข้ายึดเมืองเวียงจันทน์ได้ในปี พ.ศ. 2370 พระองค์ได้ตามเสด็จพระเจ้าอนุวงศ์เพื่อลี้ภัยไปเมืองเหงะอานของเวียดนามและขอพึ่งอำนาจของราชสำนักเว้

ในปีถัดมา เจ้าราชวงศ์ (เหง้า) ได้เสด็จกลับมาที่เวียงจันทน์พร้อมกับพระราชบิดาและทำการยึดเมืองเวียงจันทน์กลับมาจากฝ่ายสยาม พระองค์ได้จัดกองทัพเข้าตามตีกองทัพสยามซึ่งถอนกำลังจากเมืองพานพร้าวเพื่อไประดมพลเพิ่มเติมที่เมืองยโสธรเนื่องจากกำลังพลที่มีอยู่มีไม่เพียงพอที่จะรบกับกองทัพใหม่ของพระเจ้าอนุวงศ์ กองทัพลาวไล่ติดตามกองทัพสยามทันที่บ้านบกหวานแขวงเมืองหนองคาย ได้รบพุ่งฆ่าฟันกันถึงขั้นตะลุมบอน เจ้าราชวงศ์ (เหง้า) เข้ารบตัวต่อตัวกับเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่จนได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย แต่เจ้าราชวงศ์ได้รับบาดเจ็บสาหัสมากกว่าเนื่องจากเสียเลือดมากจากการถูกเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ใช้มีดสั้นแทงสวนกชับเข้าที่ต้นขา และยังถูกกองหนุนของฝ่ายไทยที่ตามมาช่วยเจ้าพระยาราชสุภาวดี (สิงห์) ยิงปืนเข้าที่เข่าด้วย เจ้าราชวงศ์จึงจำต้องถอยทัพกลับไปเวียงจันทน์ ครั้นเมื่อพระเจ้าอนุวงศ์ทรงทราบว่าทัพฝ่ายลาวพ่ายแพ้ที่บกหวานแล้ว จึงทรงปรึกษากับเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) และเจ้าสุทธิสาร (โป้) และตัดสินพระทัยเดินทางหลบหนีออกจากเวียงจันทน์อีกครั้งในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2371 เพื่อไปพึ่งเวียดนาม เจ้าอนุวงศ์และเจ้าสุทธิสาร (โป้) เดินทางออกจากเวียงจันทน์ไปก่อน ส่วนเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) เนื่องจากได้รับบาดเจ็บเดินทางทางบกไม่ไหว จึงหลบหนีจากท่าข้ามช้างไปทางแม่น้ำโขงขึ้นบกที่เมืองมหาไชยกองแก้ว[2] กองทัพสยามสามารถติดตามจับตัวพระเจ้าอนุวงศ์และเจ้าสุทธิสาร (โป้) ได้ แต่ไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดพบตัวเจ้าราชวงศ์ (เหง้า) อีกเลยทั้งจากข้อมูลของฝ่ายสยามและฝ่ายเวียตนาม มีตำนานลาวกล่าวว่าเจ้าราชวงศ์ซ่อนตัวอยู่ที่ถ้ำแห่งหนึ่งในเขตเมืองเซกองทางตอนใต้ของลาว[4] และเชื่อกันว่าพระองค์ยังดำรงพระชนม์อยู่ภายหลังสงครามเจ้าอนุวงศ์ต่อมาอีกหลายปีและยังมีเชื้อสายของพระองค์สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน[ต้องการอ้างอิง]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Stuart-Fox, Martin (2008). History Dictionary of Laos (3rd ed.). Scarecrow Press, Inc. p. 231. ISBN 978-0-8108-5624-0.
  2. 2.0 2.1 เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓.
  3. มยุรี และเผยพัน เหง้าสีวัทน์ “เจ้าอนุฯ เรื่องเก่าปัญหาใหม่,” ใน ศิลปวัฒนธรรม 9 (11) กันยายน 2531 น. 3-4. อ้างถึงใน สุวิทย์ ธีรศาศวัต "ทำไมเจ้าอนุวงศ์จึงต้องปราชัย," ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2549
  4. Ngaosyvathn, Mayoury. Paths to Conflagration: Fifty Years of Diplomacy and Warfare in Laos, Thailand, and Vietnam. Cornell University Press, 6 ส.ค. 2561.