ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าฟ้าทะละหะ (ปก)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เจ้าฟ้าทะละหะ (เขมร : ចៅហ្វ៊ាទឡ្ហៈปก, พ.ศ.-2349) หรือออกญากลาโหม (ปก) ที่ต่อมาเป็นเป็นเจ้าฟ้าทะละ (ปก) ต้นสกุล ปกมนตรี มีบทบาททางด้านการทหารและการปกครอง ภายในกัมพูชาในช่วงสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตอนต้น เคยร่วมรบในสงครามกลางเมืองกัมพูชาในช่วงการแข่งขันการเข้าไปมีบาทบาททางการเมืองการทหารระหว่างสยามและเวียดนาม ทั้งมีบทบาทเป็นบิดาเลี้ยง ผู้อภิบาลของยุกษัตริย์กัมพูชา จนกระทั่งผู้สำเร็จราชการในราชสำนักเขมร [1]

ประวัติ

[แก้]

เจ้าฟ้าทะละหะ รับราชการสมัยธนบุรีและรัตนโกสินทร์ โดยมีหลักฐานปรากฏว่ามีตำแหน่งเป็นออกญาวัง[2] ออกญากลาโหม[3] และเจ้าฟ้าทะละหะ[4] ในฐานะผู้สำเร็จราชการในแผ่นดินเขมรเพื่อค้ำบัลลังค์ยุวกษัตริย์ของนักองค์จันทร์ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ได้มีบัญชาให้ไปเป็นพระพี่เลี้ยง นักองค์เอง [អង្គអេង,พ.ศ.2316-2340] [5] หรือสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณ[6] ขณะส่งไปปกครองกัมพูชา ในระหว่าง พ.ศ.2337-2340 [7] จนกระทั่งสิ้นรัชกาล ในขณะพระชนมายุ 23 ปี พระองค์ทรงครองราชย์ได้เพียง 3 ปี นักองค์เอง มีโอรส ธิดาจำนวน 5 องค์ แต่ยังอยู่ในวัยเยาว์ โดยองค์โตนักองค์จันทร์ [អង្គច័ន្ទ] มีอายุเพียง 6 ปี และน้อง ๆ อีก 4 พระองค์ประกอบด้วย นักองค์พิม [អង្គភឹម] นักองค์สงวน (អង្គសួន) นักองค์อิ่ม (អង្គអឹម) และนักองค์ด้วง (អង្គឌួង) รัชกาลที่ 1 จึงโปรดให้เจ้าฟ้าทะละหะ ( ปก ) เป็นผู้สำเร็จราชการ ดูแลทำนุบำรุงบุตรธิดา เพื่อรอให้โอรสของนักองค์เองเจริญเติบโตพอสมควรแก่วัยที่จะสามารถปกครองบ้านเมืองได้ จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2349 รวมระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ.2340-2349) เจ้าฟ้าทะละหะ (ปก) ก็พานักองค์จันทร์ ซึ่งในขณะนั้น ทรงมีอายุ 16 ชันษาแล้ว ซึ่งเห็นว่าสมควรด้วยสติปัญญาสามารถที่จะครองเมืองเขมรต่อไปได้ มาเข้าเฝ้า กราบเรียนว่าอายุมากแล้ว จึงขอให้อภิเษกนักองค์จันทร์ ขึ้นเป็นกษัตริย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจึงทรงอภิเษกนักองค์จันทร์ขึ้นเป็น สมเด็จพระอุทัยราชา ครองกรุงกัมพูชา เจ้าฟ้าทะละหะ (ปก) ก็ถึงแก่อสัญกรรมที่กรุงเทพ ในปีนั้นด้วยเช่นกัน เหตุการณ์ก่อนที่จะเจ้าฟ้าทะละหะ (ปก) จะเข้าไปมีบทบาทในกัมพูชา เนื่องจากในช่วงพระนารายณ์ราชารามาธิบดี (นักองค์ตน) ผู้เป็นพระราชบิดาของนักองค์เอง ที่เกิดกับนักนางไชย พระราชมารดา ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2316 ในช่วงกรุงธนบุรี พระนารายณ์ราชารามาธิบดี (นักองค์ตน) ดำเนินนโยบายต่างประเทศนิยมเวียดนาม และขอกำลังทหารเวียดนามมาช่วยเมื่อเกิดความขัดแย้งกับไทย แต่เมื่อถึงปลายรัชกาล เวียดนามอ่อนแอลง พระนารายณ์ราชารามาธิบดี (นักองค์ตน) จึงยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าตากสินมหาราช และมอบราชสมบัติให้นักองค์โนน ซึ่งนิยมไทยและพระเจ้าตากสินทรงให้การสนับสนุน พระบิดาของนักองค์เองทรงดำรงตำแหน่งอุปราชจนสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. 2320 ขณะนั้น นักองค์เองมีพระชนม์เพียง 4 พรรษา

ในช่วง พ.ศ. 2322 ในรัชสมัยของพระรามราชา (นักองค์โนน) เกิดจลาจลในกัมพูชาเมื่อขุนนางไม่พอใจการปกครองของพระองค์ นักองค์โนน พร้อมพระโอรสถูกจับประหารชีวิต เจ้าฟ้าทะละหะ (มู) ได้ยกนักองค์เองขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. 2323 ขณะมีพระชนม์ได้ 7 พรรษา ใน พ.ศ. 2325 ออกญายมราช (แบน) ร่วมกับออกญากลาโหม (สู) ฆ่าเจ้าฟ้าทะละหะ (มู) เสีย แต่ภายหลังเกิดแตกคอกันเอง ออกญายมราช (แบน) จึงฆ่าออกญากลาโหม (สู) เสีย แล้วตั้งตัวเป็นเจ้าฟ้าทะละหะ ต่อมา ใน พ.ศ. 2326 เจ้าฟ้าทะละหะ (แบน อภัยวงศ์) แพ้ออกญามหาเทพเจ้าเมืองตโบงฆนุม ที่นำทัพชาวจามเข้ามาตีพนมเปญ จึงพานักองค์เองหนีมากรุงเทพฯ ขณะที่พระชนม์ได้ 10 พรรษา ซึ่งรัชกาลที่ 1 โปรดรับนักองค์เองเป็นราชบุตรบุญธรรม ให้สร้างตำหนักถวายที่ตำบลคอกกระบือ [แถบวัดยานนาวา][8] ใน พ.ศ. 2337 รัชกาลที่ 1 โปรดให้นักองค์เองผนวช เมื่อลาสิกขาแล้วจึงให้ออกไปครองกรุงกัมพูชา หลังจากที่พระองค์ลี้ภัยในกรุงเทพฯ นาน 11 ปี เฉลิมพระนามว่า "สมเด็จพระนารายน์รามาธิบดี ศรีสุริโยพรรณ บรมสุรินทรามหาจักรพรรดิราช บรมนาถบพิตร เจ้ากรุงกัมพูชา" โดยให้ออกญากลาโหม (ปก) พระพี่เลี้ยงเป็นเจ้าฟ้าทะละหะ (ปก) การขึ้นครองราชย์อีกครั้งของนักองค์เองทำให้ชาวกัมพูชาปลาบปลื้มหลังจากว่างกษัตริย์มานาน พระองค์โปรดให้สร้างพระราชวัง เชิญเชื้อพระวงศ์กัมพูชาที่อยู่ในกรุงเทพฯ ให้กลับออกไป และจัดระบบราชการให้เรียบร้อย แต่พระองค์ครองราชย์ได้ไม่นาน ประชวรสิ้นพระชนม์ ใน พ.ศ. 2339 รวมพระชนม์เพียง 23 พรรษา พระโอรสของพระองค์คือนักองค์จันได้ขึ้นครองราชย์สมบัติต่อมา

ในขณะที่นักองค์เองลี้ภัยอยู่ที่กรุงเทพฯ เวียดนามเข้าไปมีอำนาจในกัมพูชา จัดให้ขุนนางเวียดนามมาปกครอง รัชกาลที่ 1 จึงโปรดให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองเขมร เป็นเวลาถึง 12 ปี จนกระทั่งรบกับเวียดนามจนได้รับชัยชนะ ตั้งเมืองหลวงที่เมืองอุดงค์มีชัยหรือเมืองบันทายเพชรได้ใน พ.ศ. 2333 สถานการณ์เหตุการณ์วุ่นวายสงบลง จึงโปรดขอพระราชทานให้นักองค์เองออกไปครองกรุงกัมพูชา เมื่อทรงอภิเษกนักองค์เองกลับไปครองกรุงกัมพูชานั้น รัชกาลที่ 1 ทรงขอหัวเมืองเขมร คือ พระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ ให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน อภัยวงศ์) ปกครองโดยสิทธิ์ขาดถึงเก็บภาษีได้เอง ขึ้นการปกครองตรงต่อกรุงเทพฯ นักองค์เองทรงยินยอมดินแดนเขมรส่วนนี้จึงตกเป็นของไทยมาแต่บัดนั้น ส่วนเขมรตอนนอกนั้นนักองค์เองคงปกครองอย่างประเทศราชของกรุงสยามต่อมา

บทบาทและความสำคัญของเจ้าฟ้าทะละหะ (ปก)

[แก้]

1.มีบทบาทในฐานะผู้นำทัพ ในตำแหน่ง “ออกญากลาโหม” ที่มีอำนาจในการเป็นแม่ทัพนำพลในการรบในสมรภูมิสงครามแย่งชิงอำนาจภายในกัมพูชา และสงครามกับเวียดนาม ดังปรากฏหลักฐานว่า “...จัดให้ออกญากลาโหม (ปา) เปนแม่ทัพนำพล 5000 คน ไปช่วยพระเจ้าเวียดนามรบกับญวนไกเซิน...” [9] ดังนั้นตำแหน่งออกญากลาโหม จึงถือว่าเป็นหัวใจด้านการศึกและมีความสำคัญในฐานะผู้นำทัพ ดังนั้นตำแหน่งดังกล่าวจึงมีทั้งอำนาจและกำลังที่จะคอยกำกับให้เกิดความสงบภายในกัมพูชาภายใต้การเป็นผู้อารักอภิบาลนักองค์เองที่ได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์ในกัมพูชา หรือการอภิบาลโอรสธิดาของพระองค์เองให้เจริญเติบโตจนกระทั่งลุชันษาดังกรณีนักองค์จันที่จะปกครองบ้านเมืองในฐานะกษัตริย์ได้ด้วยเช่นกัน

2.มีบทบาทในฐานะผู้อภิบาลและผู้สำเร็จราชการแทนกษัตริย์กัมพูชา หมายถึงการได้รับมอบหมายจากรัชกาลที่ 1 ให้ทำหน้าที่ดูแลอภิบาลนักองค์เองในตำแหน่งกษัตริย์แห่งกัมพูชา ดังปรากฏหลักฐานว่า “...ออกญาวัง ชื่อ ปก ซึ่งเปนพระบิดาเลี้ยงนั้น เลื่อนขึ้นเปนออกญากะลาโหม อยู่เฝ้ารักษาพระองค์พระบาทบรมบพิตร พระองค์เอง...”[10] รวมทั้งเมื่อเจริญวัยสมควรได้รับการให้เสด็จกลับไปเป็นพระเจ้าแผ่นดินครองเขมรยังให้ออกญากลาโหม (ปก) “..ทรงอภิเษก..พระองค์เอง...เป็นพระบาทสมเด็จพระนารายน์ราชาธิราช...แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้ออกญากลาโหม ปก เปนเจ้าฟ้าทะละหะ...” [11] จนกระทั่งสิ้นรัชกาล พร้อมยังเป็น “ผู้สำเร็จราชการแทน” ในตำแหน่ง “เจ้าฟ้าทะละ” ที่ทำหน้าเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระเจ้าแผ่นดินเขมร ดูแลทำนุบำรุงโอรสธิดาของนักองค์เอง เจริญเติบโตพอสมควรแก่วัยที่จะสามารถปกครองบ้านเมืองได้ จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2349 รวมระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ.2340-2349) เจ้าฟ้าทะละหะ (ปก) ก็พานักองค์จันทร์ ซึ่งในขณะนั้น ทรงมีอายุ 16 ชันษาแล้ว การเจริญพระชันษาเติบโตของ

3. มีบทบาทในการป้องกันคุ้มครองกษัตริย์ของกัมพูชาและเกียรติยศของแผ่นดินสยามด้วยความซื่อสัตย์ จนกระทั่งถึงแก่การมรณกรรมในตำแหน่งและหน้าที่สุดท้าย กล่าวคือบทบาทและหน้าที่ในฐานะตำแหน่งออกญากลาโหมที่จะทำหน้าที่ในศึกสงคราม ทำหน้าที่ในการบริหารบ้านเมืองในฐานะผู้อภิบาลและผู้สำเร็จราชการที่มีหน้าที่สูงสุด แต่ทำหน้าที่ด้วยความเชื่อสัตย์สุจริต ต่อกษัตริย์เขมร ไม่ได้มีพฤติกรรมหรือการกระทำใด ๆ ที่เป็นการล่วงละเมิดอำนาจเมื่อเทียบกับ “ฟ้าทะละหะ” อื่นก่อนหน้าในช่วงสงครามกลางเมืองเขมรขุนนางแย่งอำนาจกันในช่วงก่อนหน้านี้ และในเวลาเดียวกันนำกษัตริย์ไปถวายรายงานตัวเพื่อให้โปรดเกล้าอภิเษกเป็นกษัตริย์ปกครองแผ่นดินเขมรต่อมา

บรรณานุกรม

[แก้]
  • เดวิด พี แชนด์เลอร์. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. แปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร สดใส ขันติวรพงศ์ และ วงเดือน นาราสัจจ์.
  • กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์, 2546.
  • ธิบดี บัวคำศรี. ประวัติศาสตร์กัมพูชา. กรุงเทพมหานคร : เมืองโบราณ, 2555.
  • รัชดา ธนภาค,ราชอาณาจักรกัมพูชา, กรุงเทพมหานคร : บริษัท สถาพรบุ๊คส์ จำกัด,2555.
  • วลัยลักษณ์ ทรงศิริ,พัชรินธร เดชสมบูรณ์รัตน์, รัชนีบูล ตั้งคณะสิงห์. "เอกสารประกอบการเสวนาสาธารณะเรื่องคนย่านเก่ากรุงเทพฯ ที่ป้อมมหากาฬ ตอนที่ 2 ตลาดนางเลิ้ง ตลาดใหม่ (ซิงตั๊กลั๊ก) ย่านชานพระนคร",. กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์, 2558.
  • สุมาลี บำรุงสุข. นักองค์เอง ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B. ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพมหานคร : ราชบัณฑิตยสถาน, 2539.
  • David Chandler. A History of Cambodia. Westview Press. 2000.

อ้างอิง

[แก้]
  1. โครงการวิจัยสารานุกรมประวัติศาสตร์ธนบุรี. มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี,2558
  2. พันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), ราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ศรีปัญญา,2550) หน้า 161.
  3. พันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), ราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ศรีปัญญา,2550) หน้า 163.
  4. พันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), ราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา, (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ศรีปัญญา,2550) หน้า 173.
  5. สุมาลี บำรุงสุข. นักองค์เอง ใน สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่: เอเชีย เล่ม 1 อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กทม.ราชบัณฑิตยสถาน. 2539. หน้า 155 - 157
  6. ธิบดี บัวคำศรี, ประวัติศาสตร์กัมพูชา, กรุงเทพ : เมืองโบราณ, 2555.หน้า 15
  7. เดวิด พี แชนด์เลอร์, ประวัติศาสตร์กัมพูชา, แปลโดย พรรณงาม เง่าธรรมสาร สดใส ขันติวรพงศ์ และ วงเดือน นาราสัจจ์, (กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์,2546) หน้า 146.
  8. วลัยลักษณ์ ทรงศิริ,พัชรินธร เดชสมบูรณ์รัตน์, รัชนีบูล ตั้งคณะสิงห์, "เอกสารประกอบการเสวนาสาธารณะเรื่องคนย่านเก่ากรุงเทพฯ ที่ป้อมมหากาฬ ตอนที่ 2 ตลาดนางเลิ้ง ตลาดใหม่ (ซิงตั๊กลั๊ก) ย่านชานพระนคร", [กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์, 2558] หน้า 7.
  9. พันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), ราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 162.
  10. พันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), ราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 161.
  11. พันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัชต์), ราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา, หน้า 174.