ข้ามไปเนื้อหา

เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช เป็นชื่อราชทินนามตำแหน่งของเจ้าเมืองสุโขทัยและเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช

ตำแหน่งเจ้าเมืองสุโขทัย

[แก้]

ในพระไอยการเก่าตำแหน่งนาหัวเมืองฉบับอยุธยา พ.ศ. 1997 ต้นฉบับเดิมของหอพระสมุดวชิรญาณ ได้ระบุบรรดาศักดิ์และทินนามเจ้าเมืองสุโขทัยตามทำเนียบคือ

เจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช ชาติภักดีบดินทรสุรินทรฤๅไชย อภัยพิริยบรากรมพาหุ เจ้าเมืองศุโขไทย เมืองโท นา 10000 ขึ้นแก่ประแดงจุลาเทพซ้าย

[1]

จารึกฐานพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร พ.ศ. 2503 กล่าวว่า เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราชได้ประดิษฐานเทวรูปพระอิศวรในเมืองกำแพงเพชร ซ่อมแซมบูรณะวัดวาอาราม สร้างท่อปู่พญาร่วง เพื่อถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ สันนิษฐานว่า เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราชที่ปรากฏในจารึกควรเป็นตำแหน่งของเจ้าเมืองสุโขทัย[2]

สันนิษฐานว่า ขุนอินทรเทพ ที่ร่วมก่อการโค่นล้มขุนวรวงศาธิราช เมื่อ พ.ศ. 2091 และสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงตั้งเป็นเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช ควรเป็นเจ้าเมืองสุโขทัยมากกว่านครศรีธรรมราช เพราะผู้ร่วมก่อการส่วนใหญ่มีพื้นเพมาจากเมืองเหนือ จึงมีแนวโน้มสูงว่าขุนอินทรเทพจะมีพื้นเพมาจากเมืองเหนือเช่นเดียวกับผู้ก่อการคนอื่น ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และพระราชพงศาวดารกรุงสยาม จากต้นฉบับของบริติชมิวเซียม ระบุเพียงว่า “เอาขุนอินทรเทพเป็นเจ้าพระยาศรีธรรมโศกราช"[3][4] ไม่ได้ระบุว่าครองเมืองนครศรีธรรมราชแต่อย่างใด พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียนซึ่งชำระในยุคหลัง เป็นหลักฐานเก่าที่สุดที่ระบุเพิ่มเติมว่าครองเมืองนครศรีธรรมราช[5] เพราะเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในยุคหลังได้ใช้ราชทินนามศรีธรรมโศกราชแล้ว ผู้ชำระพระราชพงศาวดารจึงเข้าใจว่าเป็นตำแหน่งของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชไป

ต่อมาราชทินนาม ศรีธรรมโศกราช ได้เพี้ยนเป็น ศรีธรรมศุกราช ดังที่พระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง ฉบับพิมพ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งชำระในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กล่าวว่า

ออกญาศรีธรรมศุกราช ชาติบดินทรสุรินทรฤๅไชย อภัยพิรียภาหุ เจ้าเมืองศุกโขไท เมืองโท นา 10000 ขึ้นประแดงจุลาเทพซ้าย

[6]

และจารึกทำเนียบหัวเมืองและผู้ครองเมือง วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร กล่าวว่า

๏ เมืองสุโขทัยเมืองโท ผู้ครองเมืองชื่อออกญาศรีธรรมศุกราช ชาติบดินทรสุรินทรฦๅไชย อภัยพิริยบรากรมพาหุ นา 10000 ขึ้นมหาดไทย

[7]

ผู้ดำรงตำแหน่งพระยาศรีธรรมศุกราชคนสุดท้าย คือพระยาศรีธรรมศุกราช (ฉาด ปาณะดิษ)

ตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช

[แก้]

เดิมในพระไอยการตำแหน่งนายทหารหัวเมือง ระบุบรรดาศักดิ์และราชทินนามของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชตามทำเนียบคือ

เจ้าพญาศรีธรรมราช ชาติเดโชไชยมไหยสุริยาธิบดี อภัยพิรียบรากรมภาหุ เมืองนครศรีธรรมราช เมืองเอก นา 10000 ขึ้นประแดงอินปัญญาซ้าย

[8]

ภายหลังได้เปลี่ยนราชทินนามจาก ศรีธรรมราช เป็น ศรีธรรมาโศกราช ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ตามที่ระบุในเรื่องตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราชครั้งกรุงเก่า พ.ศ. 2285

ในลักษณะพระสุพรรณบัตรนั้นว่า ศุภมัสดุ สุวดิการยดิเรก 1664 ศกโสณสังวัจฉรมฤคสิรมาศสุกรปักษ์ เท๎วดิถีพุฒวารศุภมหุรดิ พระบาทพระศรีสรรเพชสมเด็จบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาพระราชทานนามกรพระยาไชยาธิเบศร์ เปนเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ชาติเดโชไชยมไหสุริยาธิบดี อภัยพิริยปรากรมพาหุ เจ้าพระยานครศรีธรรมราช

[9]

สันนิษฐานว่าการเปลี่ยนจากศรีธรรมราชเป็นศรีธรรมาโศกราช อาจจะแปลงให้สอดคล้องกับพระนาม พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช กษัตริย์เมืองนครศรีธรรมราชในสมัยโบราณ และอาจเป็นเพราะทินนามศรีธรรมราชซ้ำกับทินนาม เจ้าพระยาศรีธรรมราช ของเสนาบดีกรมพระคลัง จึงแปลงใหม่ไม่ให้สับสน และในพระไอยการตำแหน่งนาเมืองนครศรีธรรมราช จ.ศ. 1173 ระบุว่าเคยมีพระยาสุโขทัยถูกตั้งเป็นเจ้าพระยานครศรีธรรมราชในสมัยอยุธยา[10] สันนิษฐานว่าครั้งนั้นราชทินนามเจ้าเมืองสุโขทัยอาจจะถูกนำมาใช้กับเมืองนครศรีธรรมราชก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ในสมัยรัตนโกสินทร์ยังมีการใช้ราชทินนามศรีธรรมราชสลับกับศรีธรรมาโศกราชอยู่ ดังในจารึกทำเนียบหัวเมืองและผู้ครองเมือง วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร กล่าวว่า

๏ เมืองนครศรีธรรมราชเมืองเอก ผู้ครองเมืองชื่อเจ้าพระยาศรีธรรมราช ชาติเดโชไชยมไหสุริยาธิบดี อภิพิริยบรากรมพาหุ ถือศักดินา 10000 เอกอุขึ้นกรมพระกลาโหม

[11]

ผู้ดำรงตำแหน่งพระยาศรีธรรมโศกราชคนสุดท้าย คือเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช (น้อย ณ นคร)

อ้างอิง

[แก้]
  1. วินัย พงศ์ศรีเพียร (บรรณาธิการ). ศรีชไมยาจารย์ พิพิธนิพนธ์เชิดชูเกียรติ ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ศาสตราจารย์ วิสุทธิ บุษยกุล. กรุงเทพฯ : เฟื่องฟ้าพริ้นติ้ง, 2546.
  2. จารึกฐานพระอิศวรเมืองกำแพงเพชร
  3. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น. นนทบุรี : ศรีปัญญา, 2553. 800 หน้า. ISBN 978-616-7146-08-9
  4. Royal chronicle of Ayutthaya พระราชนิพลพงศาวดาร กรุงสยาม[ลิงก์เสีย]
  5. ศานติ ภักดีคำ. พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฉบับตัวเขียน. พระราชพงศาวดาร ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ตรวจสอบชำระจากเอกสารตัวเขียน. กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง, 2558. 558 หน้า. หน้า (35)-(50). ISBN 978-616-92351-0-1 [จัดพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในการพระราชทานเพลิงศพพระธรรมปัญญาบดี (ถาวร ติสฺสานุกโร ป.ธ.๔)].
  6. กฎหมายตรา 3 ดวง ฉบับพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แก้ไขปรับปรุงใหม่ เล่ม 1. กรุงเทพฯ : สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2548.
  7. จารึกทำเนียบหัวเมืองและผู้ครองเมือง ทิศเหนือ (เมืองสุโขทัย เมืองราชธานี เมืองกงคราบ เมืองพิรามรงค เมืองพิแรมรมย์) ด้านที่ 1
  8. กฎหมายตรา 3 ดวง ฉบับพิมพ์มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง แก้ไขปรับปรุงใหม่ เล่ม 1. กรุงเทพฯ : สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2548.
  9. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 2. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ไทย, 2457.
  10. ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 73. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, 2485.
  11. จารึกทำเนียบหัวเมืองและผู้ครองเมือง ทิศใต้ (เมืองนครศรีธรรมราช เกาะสมุย เกาะพงัน)