เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (เสือ สนธิรัตน์)
เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (เสือ สนธิรัตน์) | |
---|---|
เสนาบดีกรมวัง | |
ดำรงตำแหน่ง พ.ศ. 2392 – พ.ศ. 2404 | |
กษัตริย์ | พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ก่อนหน้า | เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (สมบุญ) |
ถัดไป | เจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (บุญศรี บูรณศิริ) |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เสียชีวิต | พ.ศ. 2404 พระนคร ประเทศสยาม |
ศาสนา | พุทธ |
บุพการี |
|
เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ นามเดิมว่า เสือ เป็นเสนาบดีกรมวังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบุตรชายของเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน สนธิรัตน์) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรงตำแหน่งเป็นพระยาราชนิกูล เป็นแม่ทัพในสงครามอานามสยามยุทธ
ประวัติ
[แก้]เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (เสือ สนธิรัตน์) เป็นบุตรชายของเจ้าพระยารัตนาพิพิธ (สน สนธิรัตน์) แม่ทัพและสมุหนายกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มารดาคือเจ้าสุมณฑาเชื้อพระวงศ์ลาวเวียงจันทน์[1] มีพี่น้องได้แก่ เจ้าจอมอำพัน ในรัชกาลที่ 2 พระยาเสนาพิพิธ (หมี) เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (มั่ง) และเจ้าจอมมารดาปุก ในรัชกาลที่ 3
เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (เสือ) ปรากฏครั้งแรกดำรงตำแหน่งเป็นพระยาราชนิกูล ปลัดทูลฉลองกรมมหาดไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสงครามอานามสยามยุทธ พ.ศ. 2374 เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ยกทัพไปตีเมืองไซ่ง่อน พระยาราชนิกูล (เสือ) เป็นแม่ทัพติดตามเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ไปกับการศึกในครั้งนี้ เมื่อยกทัพถึงเมืองพนมเปญ เจ้าพระยาบดินทรเดชามอบหมายให้เจ้าพระยานครราชสีมา (ทองอิน) และพระยาราชนิกูล (เสือ) ยกทัพบกจำนวน 7,000 คน ไปทางตะวันออกทางเมืองบาพนมตัดตรงสู่เมืองไซ่ง่อน ในขณะที่เจ้าพระยาบดินทรเดชาและเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) ยกทัพเรือไปทางแม่น้ำบาสักไปเมืองไซ่ง่อน ปรากฏว่าทัพเรือญวนสามารถเอาชนะทัพเรือสยามได้ในยุทธนาวีที่คลองหวั่มนาว (Vàm Nao) เจ้าพระยาบดินทรเดชาและเจ้าพระยาพระคลังถอยทัพกลับ[2] ชาวกัมพูชาจึงลุกฮือขึ้นต่อต้านกองทัพสยาม ฝ่ายเจ้าพระยานครราชสีมาและพระยาราชนิกูลถูกชาวกัมพูชาโจมตีจึงทราบว่าทัพหลักของสยามพ่ายแพ้และถอยกลับไปแล้ว จึงยกทัพกลับปรากฏว่าพอถึงแม่น้ำโขงเรือที่ใช้ข้ามแม่น้ำถูกชาวกัมพูชาเก็บหายไปสิ้น พระยาพิไชยสงคราม (เพชร) ผูกแพเป็นทุ่นข้ามแม่น้ำโขง[2] ทัพของพระยาราชนิกูล (เสือ) จึงสามารถข้ามแม่น้ำโขงกลับมาได้ พระยาราชนิกูลและพระยาจ่าแสนยบดี ไปตั้งหลักที่บ้านอินกุมารแขวงเมืองกำพงสวาย เจ้าพระยาบดินทรเดชาจึงมีคำสั่งให้พระยาราชนิกูลถอยทัพกลับนครราชสีมา
สงครามอานามสยามยุทธครั้งต่อมาในพ.ศ. 2383 ขุนนางกัมพูชาทั้งหลายต่างลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของเวียดนาม เจ้าพระยาบดินทรเดชามอบหมายให้พระยาราชนิกูล (เสือ) ยกทัพจากเมืองเสียมราฐขึ้นไปทางด้านเหนือของทะเลสาบเขมรเข้าโจมตีค่ายของญวนที่เมืองชีแครงและเมืองกำปงสวาย พระยาราชนิกูลสามารถยึดเมืองชีแครงและกำปงสวายได้สำเร็จ แต่ต่อมาไม่นาน"องเตียนกุน" เจืองมิญสาง (Trương Minh Giảng) แม่ทัพญวนยกทัพมาตีเมืองกำพงสวายและชีแครงคืนไปทัพของพระยาราชนิกูลแตกพ่ายกลับมา[2]
ในช่วงปลายรัชกาลที่ 3 พระยาราชนิกูล (เสือ) ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งเป็นพระยาเพชรพิไชย เจ้ากรมล้อมพระราชวัง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติในพ.ศ. 2394 ทรงแต่งตั้งพระยาเพชรพิไชย (เสือ) ขึ้นเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ศรีสุวีรมหามัตยวงศ์ ราชพงศนิกรานุรักษ์ มหาสวามิภักดิบรมราโชประการาภิรมย์ สรรโพดมกิจวิจารณ์ มหามนเทียรบาลบดินทร์ ราชนิเวศนินทรามาตย์ อันเตบุริกนารถเสนาธิบดี อภัยพิรียบรากรมพาหุ[3] เสนาบดีกรมวัง
เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (เสือ) ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ปีระกา พ.ศ. 2404[4] น้องชายของเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (เสือ) คือพระยาอุไทยมนตรี (มั่ง) เจ้าเมืองปราจีนบุรี ได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (มั่ง) เสนาบดีกรมวังในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ครอบครัว
[แก้]เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (เสือ) ปรากฏบุตรธิดาดังนี้;[5]
- เจ้าจอมพุ่ม ในรัชกาลที่ 3
- พระยามหาเทพ (แสง)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ พิทยลาภพฤฒิยากร, พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่น. ศกุนตลา บทลครร้องสำหรับเล่นบทเวที: ประวัติท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร. พิมพ์ในการพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงกลีบ มหิธร, กรกฎาคม พ.ศ. 2504.
- ↑ 2.0 2.1 2.2 เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค). พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๓.
- ↑ ทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), เจ้าพระยา. พระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชชกาลที่ ๔. ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๗; โรงพิมพ์พระจันทร์ ท่าพระจันทร์ พระนคร
- ↑ สมมตอมรพันธุ์, พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ. เรื่องตั้งเจ้าพระยาในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพ : กรมศิลปากร, 2545.
- ↑ รัตนกุลอดุลยภักดี, พระยา. ลำดับสกุลเก่าบางสกุล ภาคที่ ๑. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, 2463.