เจ้าชายอัลเฟรดแห่งบริเตนใหญ่
เจ้าชายอัลเฟรด | |
---|---|
พระรูปเขียน วาดโดยทอมัส เกนส์เบรอ ใน ค.ศ. 1782 | |
ประสูติ | 22 กันยายน ค.ศ. 1780 ปราสาทวินด์เซอร์ วินด์เซอร์ บาร์กเชอร์ ประเทศอังกฤษ |
สวรรคต | 20 สิงหาคม ค.ศ. 1782 โลเวอร์ลอดจ์ วินด์เซอร์เกรตพาร์ก ประเทศอังกฤษ | (1 ปี)
ฝังพระศพ | 27 สิงหาคม ค.ศ. 1782 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1820 ห้องนิรภัยหลวง โบสถ์น้อยเซนต์จอร์จ ปราสาทวินด์เซอร์ |
ราชวงศ์ | ฮันโนเฟอร์ |
พระราชบิดา | สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร |
พระราชมารดา | ชาร์ล็อทเทอแห่งเมคเลินบวร์ค-ชเตรลิทซ์ |
เจ้าชายอัลเฟรดแห่งบริเตนใหญ่ (22 กันยายน ค.ศ. 1780 – 20 สิงหาคม ค.ศ. 1782)[1] เป็นพระราชโอรสธิดาพระองค์ที่ 14 พระราชโอรสพระองค์ที่ 9 และพระราชโอรสพระองค์เล็กสุดในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร และพระราชินีชาร์ล็อทเทอแห่งเมคเลินบวร์ค-ชเตรลิทซ์ เจ้าชายอัลเฟรดซึ่งมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์อยู่แล้วประชวรหลังจากการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษใน ค.ศ. 1782 การสิ้นพระชนม์ของพระองค์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ กอปรกับการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชายออกเทเวียสผู้เป็นพระเชษฐาในอีก 6 เดือนต่อมาได้สร้างความโทมนัสแก่พระบรมวงศานุวงศ์เป็นอย่างยิ่ง ในช่วงที่สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 มีพระสติวิปลาสในบั้นปลายพระชนม์ชีพนั้น พระองค์ตรัสคุยกับพระราชโอรสพระองค์เล็กทั้งสองในพระจินตนาการด้วย
พระชนม์ชีพ
[แก้]เจ้าชายอัลเฟรดประสูติในวันที่ 22 กันยายน ค.ศ. 1780 ณ ปราสาทวินด์เซอร์[2][3] พระองค์เป็นพระราชโอรสธิดาพระองค์ที่ 14 พระราชโอรสพระองค์ที่ 9 และพระราชโอรสพระองค์เล็กสุดในสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 3 แห่งสหราชอาณาจักร และพระราชินีชาร์ล็อทเทอแห่งเมคเลินบวร์ค-ชเตรลิทซ์[4] ด้วยเหตุนี้จึงทรงเป็นสมาชิกพระองค์หนึ่งของราชวงศ์ฮันโนเฟอร์ ในช่วงที่เจ้าชายอัลเฟรดประสูติ พระเชษฐาพระองค์โตสุดต่างก็มีพระชนมายุใกล้ถึงวัยผู้ใหญ่แล้ว[5] เจ้าชายอัลเฟรดทรงเข้ารับบัพติศมาในห้องเกรตเคาน์ซิล ณ พระราชวังเซนต์เจมส์ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ. 1780 ผู้ประกอบพิธีคือเฟรเดอริก คอร์นวอลลิส อาร์ชบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรี ส่วนพระบิดามารดาอุปถัมภ์คือเหล่าพระเชษฐาพระเชษฐภคินี ได้แก่ เจ้าชายจอร์จแห่งเวลส์ เจ้าชายเฟรเดอริก และเจ้าหญิงชาร์ลอตต์ พระราชกุมารี[3][6][7] การประสูติของเจ้าชายอัลเฟรดได้นำพาความปีติยินดีมาสู่พระบรมวงศานุวงศ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระเชษฐภคินีอย่างเจ้าหญิงโซเฟีย เจ้าหญิงเอลิซาเบธ พระเชษฐภคินีของทั้งสอง ทรงเล่าว่าเจ้าหญิงโซเฟียทรงเรียกทารกว่า "หลานชาย"[8] ตั้งแต่ประสูติ เจ้าชายอัลเฟรดมีพระพลานามัยไม่แข็งแรง พระองค์ทรงต้องทนทุกข์ทรมานจาก "ผื่น" บนพระพักตร์ (ใบหน้า) และจากพระกาสะ (การไอ) ตลอดพระชนม์ชีพ[9]
การสิ้นพระชนม์และผลสืบเนื่อง
[แก้]ในสมัยของเจ้าชายอัลเฟรด ไข้ทรพิษเป็นโรคที่ทั้งราชวงศ์และสามัญชนต่างหวาดกลัว[10] และเนื่องจากการแพทย์ยังไม่เจริญก้าวหน้า โรคนี้จึงมักเป็นอันตรายถึงชีวิต[11] พระราชินีชาร์ล็อทเทอ พระราชมารดาของเจ้าชายอัลเฟรด ทรงสนับสนุนการปลูกฝีมาตลอดพระชนม์ชีพและยังทรงให้พระโอรสธิดาเข้ารับการปลูกฝีด้วย[12] วิธีการปลูกฝีในช่วงแรกที่เรียกว่า "การปลูกฝีดาษ" (variolation) ได้รับความนิยมในบริเตนหลังจากที่บรรดาพระราชธิดาในพระเจ้าจอร์จที่ 2 (ขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์) ทรงเข้ารับการปลูกฝีด้วยวิธีนี้ใน ค.ศ. 1721
ใน ค.ศ. 1782 เจ้าชายอัลเฟรดทรงเข้ารับการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ การปลูกฝีนี้ส่งผลเสียต่อพระพลานามัยของเจ้าชาย พระพักตร์และหนังพระเนตร (หนังตา) ของพระองค์มีผื่นขึ้นจากการปลูกฝี และพระอุระ (หน้าอก) ก็อยู่ในสภาพย่ำแย่เช่นกัน[13] ในเดือนมิถุนายน พระองค์เสด็จไปประทับที่ดีลพร้อมกับเลดีชาร์ลอตต์ ฟินช์ พระอาจารย์ส่วนพระองค์ และมิสซิสเชเวลีย์ พยาบาลประจำพระองค์ เพื่อทรงพักฟื้นพระวรกาย[14][9] คณะแพทย์หวังว่าอากาศชายทะเล การอาบน้ำทะเล และการขี่ม้าจะช่วยฟื้นฟูพระพลานามัยได้[13][15] เลดีชาร์ลอตต์เขียนจดหมายถึงแมรี แฮมิลตัน ผู้เป็นสหายไว้ว่า "ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการอาบน้ำทะเลนั้นเป็นผลดีต่อพระองค์ [เจ้าชายอัลเฟรด]... และความอยากพระกระยาหารก็มีมากจนพระอาการต้องดีขึ้นแน่"[16] ในช่วงที่ประทับอยู่ที่นี่ พระเสน่ห์และพระอัธยาศัยที่ดีของเจ้าชายอัลเฟรดทำให้ทรงเป็นที่รักใคร่ของผู้คนจำนวนมาก[13] ถึงกระนั้นตามพระวรกายก็ยังมีผื่นปะทุขึ้นเรื่อย ๆ และพระอาการของพระอุระก็ยังคงรบกวนพระองค์[13] ต้นเดือนกรกฎาคม เลดีชาร์ลอตต์รายงานว่าเจ้าชายอัลเฟรดทรงเริ่มฟื้นพระองค์ แต่ต่อมาในเดือนนั้น พระอาการก็แย่ลงจนถึงกับทรงพระดำเนิน (เดิน) ไม่ได้[16] ในเดือนสิงหาคม เจ้าชายอัลเฟรด เลดีชาร์ลอตต์ และมิสซิสเชเวลีย์เดินทางกลับสู่ปราสาทวินด์เซอร์เนื่องจากพระอาการทรุดหนักลงอีก เมื่อเสด็จกลับมาแล้ว บรรดาแพทย์ได้ประชุมกันเพื่อหารือเกี่ยวกับพระพลานามัยของเจ้าชาย และสรุปว่าพระองค์จะมีพระชนม์ชีพอยู่ได้อีกเพียงไม่กี่สัปดาห์ หลังจากที่ทรงพระปรอท (มีไข้) เป็นระยะ ๆ และเกิดปัญหาเกี่ยวกับพระอุระอย่างต่อเนื่อง[17] เจ้าชายอัลเฟรดก็สิ้นพระชนม์ในเวลาระหว่างสี่โมงถึงห้าโมงเย็นของวันที่ 20 สิงหาคม[18][19][20] ณ โลเวอร์ลอดจ์ วินด์เซอร์เกรตพาร์ก ซึ่งเป็นเวลาหนึ่งเดือนก่อนถึงวันคล้ายวันประสูติครบสองปี[21]
แม้ว่าราชสำนักจะไม่ได้ไว้ทุกข์ (เนื่องจากไม่มีธรรมเนียมกำหนดไว้สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีพระชันษาน้อยกว่าเจ็ดปี)[21] แต่พระราชบิดาและพระราชมารดาของเจ้าชายอัลเฟรดก็เสียพระราชหฤทัยอย่างรุนแรง เลดีชาร์ลอตต์เล่าว่าราชินีชาร์ล็อทเทอ "ทรงพระกันแสง (ร่ำไห้) อย่างหนัก" และ "ทรงเจ็บปวดอย่างยิ่งจากการสูญเสียครั้งนั้น เช่นกันกับพระเจ้าอยู่หัว"[21] ต่อมาในเดือนสิงหาคมนั้นเอง พระราชินีได้พระราชทานล็อกเกตชิ้นหนึ่งที่ทำจากไข่มุกและแอเมทิสต์แก่เธอ ในนั้นบรรจุปอยพระเกศา (ปอยผม) ของเจ้าชายอัลเฟรดเอาไว้[21] โดยตรัสว่า "รับสิ่งนี้ไว้ ... เพื่อเป็นการขอบคุณสำหรับการดูแลอย่างห่วงใยใกล้ชิดต่อเทวดาอัลเฟรดตัวน้อยผู้เป็นที่รักของฉัน และห้อยผมที่อยู่ในนี้ไว้ ไม่เพียงเพื่อรำลึกถึงเจ้าชายตัวน้อยผู้เป็นที่รักเท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องหมายแห่งความยกย่องจากราชินีผู้เป็นที่รักของท่านด้วย"[22] พระศพของเจ้าชายถูกฝังที่เวสต์มินสเตอร์แอบบีย์เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม[2][23] ภายหลังจึงมีการย้ายพระศพไปยังห้องนิรภัยหลวงในโบสถ์น้อยเซนต์จอร์จ ปราสาทวินด์เซอร์ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1820[24][25] หกเดือนหลังจากที่เจ้าชายอัลเฟรดสิ้นพระชนม์ เจ้าชายออกเทเวียส พระเชษฐาผู้มีพระชันษาห่างกันสี่ปี ก็สิ้นพระชนม์จากเชื้อฝีดาษภายหลังการปลูกฝีเช่นกัน ยังความเศร้าโศกแก่พระราชบิดายิ่งขึ้นไปอีก[26][27][28] แม้พระองค์จะเสียพระราชหฤทัยกับการสิ้นพระชนม์ของพระราชโอรสพระองค์หลังมากกว่าก็ตาม[29][30] ฮอเรซ วอลโพล เล่าให้เซอร์ฮอเรซ แมนน์ ฟังว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงเคยประกาศไว้ว่า "ฉันเสียใจมากจริง ๆ กับอัลเฟรด แต่หากเป็นออกเทเวียส ฉันคงตายตามไปด้วย"[31][32] พระราชบิดาของเจ้าชายอัลเฟรดยังฝังพระราชหฤทัยอยู่กับการสิ้นพระชนม์ของพระราชโอรสทั้งสอง และการทอดพระเนตรเห็นพระรูปเขียนของเจ้าชายอัลเฟรดที่ทอมัส เกนส์เบรอ วาดขึ้นเป็นเวลาเกือบหนึ่งปีหลังจากการสิ้นพระชนม์ของเจ้าชาย ยังทำให้พระเชษฐภคินีทั้งสามถึงกับหลั่งน้ำพระเนตร ส่วนพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีก็สะเทือนพระราชหฤทัยอย่างเห็นได้ชัดเช่นกัน[33][34] ในช่วงหนึ่งที่พระเจ้าจอร์จที่ 3 มีพระสติวิปลาสใน ค.ศ. 1812 พระองค์ตรัสคุยกับพระราชโอรสพระองค์เล็กทั้งสองในพระจินตนาการ[26][note 1]
เจ้าชายอัลเฟรดเป็นพระราชโอรสธิดาพระองค์แรกในพระเจ้าจอร์จที่ 3 และพระราชินีชาร์ล็อทเทอที่สิ้นพระชนม์[23][35] พระองค์สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1782 ในขณะที่เจ้าหญิงแมรี พระเชษฐภคินีผู้เป็นพระราชโอรสธิดาพระองค์สุดท้ายที่ยังทรงพระชนม์ชีพของพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินี สิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1857[36] เจ้าชายอัลเฟรดทรงแตกต่างจากพระราชโอรสธิดา 14 พระองค์แรกของพระเจ้าอยู่หัวและพระราชินีในแง่ที่ว่าพระองค์ไม่เคยเป็นพระเชษฐาในขณะที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ เนื่องจากพระราชโอรสธิดาเพียงพระองค์เดียวที่มีพระชันษาน้อยกว่าประสูติหลังจากที่เจ้าชายสิ้นพระชนม์ไปแล้ว[37]
ฐานันดรและพระอิสริยยศ
[แก้]ตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ เจ้าชายอัลเฟรดทรงได้รับการสถาปนาเป็น ฮิสรอยัลไฮเนสเดอะพรินซ์อัลเฟรด (His Royal Highness The Prince Alfred) โดยมีพระอิสริยยศเป็นเจ้าชายแห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์[18]
พงศาวลี
[แก้]หมายเหตุ
[แก้]- ↑ เจเรมี แบล็ก ระบุว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1812 แต่เคนเนท แพนตัน เชื่อว่าเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1811[23]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Curzon 2020, p. XII.
- ↑ 2.0 2.1 Weir 2008, p. 300.
- ↑ 3.0 3.1 Hall 2010, p. 236.
- ↑ Hedley 1975, p. 344.
- ↑ Hadlow 2014, p. 192.
- ↑ Sheppard 1894, p. 59.
- ↑ Watkins 1819, p. 276.
- ↑ Fraser 2004, p. 65.
- ↑ 9.0 9.1 Hadlow 2014, p. 291.
- ↑ Riedel, Stefan (January 2005). "Edward Jenner and the History of Smallpox and Vaccination". Proceedings (Baylor University. Medical Center). Baylor University Medical Center. 18 (1): 21–25. doi:10.1080/08998280.2005.11928028. PMC 1200696. PMID 16200144.
- ↑ Koplow 2003, p. 9.
- ↑ Hedley 1975, p. 99.
- ↑ 13.0 13.1 13.2 13.3 Fraser 2004, p. 71.
- ↑ Watkins 1819, p. 282.
- ↑ Hadlow 2014, pp. 291–292.
- ↑ 16.0 16.1 Hadlow 2014, p. 292.
- ↑ Fraser 2004, pp. 72–73.
- ↑ 18.0 18.1 "No. 12324". The London Gazette. 20 August 1782. p. 1.
- ↑ Hedley 1975, p. 126.
- ↑ Holt 1820, p. 251.
- ↑ 21.0 21.1 21.2 21.3 Fraser 2004, p. 72.
- ↑ "RA GEO/ADD/15/443a-b – Letter from Queen Charlotte to Lady Charlotte Finch, probably August 1782". Georgian Papers Project. Royal Collection Trust. สืบค้นเมื่อ 3 February 2017.
- ↑ 23.0 23.1 23.2 Panton 2011, p. 39.
- ↑ "Royal Burials in the Chapel since 1805". College of St. George. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 September 2011.
- ↑ "Royal Burials in the Chapel by location". College of St. George. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 January 2010.
- ↑ 26.0 26.1 Black 2006, p. 156.
- ↑ Fraser 2004, pp. 74–77.
- ↑ Hedley 1975, p. 127.
- ↑ Black 2006, p. 256.
- ↑ Curzon 2020, p. 86.
- ↑ Walpole & Cunningham 1891, p. 363.
- ↑ Hadlow 2014, p. 293.
- ↑ Fraser 2004, p. 73.
- ↑ Hadlow 2014, p. 296.
- ↑ Hibbert 2000, p. 99.
- ↑ Fraser 2004, pp. xii–xiii, 399.
- ↑ Fraser 2004, pp. xii–xiii, 74–75.
- ↑ von Ammon 1768, p. 5.
บรรณานุกรม
[แก้]- Black, Jeremy (2006). George III: America's Last King. Yale University Press. ISBN 0-300-11732-9.
- Curzon, Catherine (2020). The Elder Sons of George III: Kings, Princes, and a Grand Old Duke. Pen & Sword Books Limited. ISBN 978-1-4738-7250-9.
- Fraser, Flora (2004). Princesses: The Six Daughters of George III. John Murray. ISBN 0-7195-6108-6.
- Hadlow, Janice (2014). A Royal Experiment: The Private Life of King George III. Henry Holt and Company. ISBN 978-0-8050-9656-9.
- Hall, Matthew (2010) [1858]. The Royal Princesses of England: From the Reign of George the First. G. Routledge & Co. ISBN 978-1-146-51884-0.
- Hedley, Olwen (1975). Queen Charlotte. J. Murray. ISBN 0-7195-3104-7.
- Hibbert, Christopher (2000). George III: A Personal History. Basic Books. ISBN 0-465-02724-5.
- Holt, Edward (1820). The Public and Domestic Life of His Late Most Gracious Majesty, George the Third, Volume 1. London: Sherwood, Neely, and Jones. OCLC 765811244.
- Koplow, David A. (2003). Smallpox: The Fight to Eradicate a Global Scourge. Berkeley: University of California Press. ISBN 978-0-520-24220-3.
- Panton, Kenneth J. (2011). Historical Dictionary of the British Monarchy. Scarecrow Press, Inc. ISBN 978-0-8108-5779-7.
- Sheppard, Edgar (1894). Memorials of St. James's Palace, Volume 2. London: Longmans, Green, and Co. OCLC 1166804665.
- von Ammon, Christoph Heinrich (1768). Genealogie ascendante jusqu'au quatrieme degre inclusivement de tous les Rois et Princes de maisons souveraines de l'Europe actuellement vivans [Genealogy up to the fourth degree inclusive of all the Kings and Princes of sovereign houses of Europe currently living] (ภาษาฝรั่งเศส). Bourdeaux: Frederic Guillaume Birnstiel. OCLC 12016472.
- Walpole, Horace; Cunningham, Peter (1891). The Letters of Horace Walpole, Fourth Earl of Orford, Volume VIII. Richard Bentley and Son. OCLC 609155242.
- Watkins, John (1819). Memoirs of Her Most Excellent Majesty Sophia-Charlotte: Queen of Great Britain, Volume 1. Henry Colburn. OCLC 4606736.
- Weir, Alison (2008). Britain's Royal Families, The Complete Genealogy. London: Vintage Books. ISBN 978-0-09-953973-5.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- วิกิมีเดียคอมมอนส์มีสื่อเกี่ยวกับ Prince Alfred of Great Britain
- ภาพเหมือนของ เจ้าชายอัลเฟรด ที่หอศิลป์ภาพเหมือนแห่งชาติ