ข้ามไปเนื้อหา

เจี่ย สื่อเต้า

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจี่ย สื่อเต้า
อัครมหาเสนาบดีแห่งราชวงศ์ซ่ง
ดำรงตำแหน่ง
27 พฤษภาคม 1260 – 27 มีนาคม 1275
กษัตริย์
ก่อนหน้าDing Daquan
ถัดไปเหวิน เทียนเสียง & เฉิน อี้จง
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิด25 สิงหาคม ค.ศ. 1213(1213-08-25)
ไทโจว
เสียชีวิต9 ตุลาคม ค.ศ. 1275(1275-10-09) (62 ปี)
จางโจว
ชื่อเล่นชื่อเซี่ยน (師憲)

เจี่ย สื่อเต้า (จีน: 贾似道, 25 สิงหาคม 1213 – 9 ตุลาคม 1275) ชื่อรอง ชื่อเซี่ยน (師憲) เป็นขุนนางชาวจีน เขาเป็นอัครมหาเสนาบดี ในช่วงปลายราชวงศ์ซ่ง เป็นน้องชายต่างมารดาของพระสนมเอกของจักรพรรดิซ่งหลี่จง เขาเป็นที่โปรดปรานเป็นพิเศษจากจักรพรรดิซ่งตู้จง เขามีบทบาทสำคัญในโครงการปฏิรูปที่ดิน ในช่วงทศวรรษที่ 1260 และการรุกรานซ่งของมองโกล โดยเฉพาะในยุทธการที่เซียงหยาง และการปิดล้อมเอ้อโจว เขาถูกสังหารโดยผู้คุมที่ทางราชสำนักแต่งตั้งให้ควบคุมตัวในปี 1275

ชีวิตในวัยเด็ก[แก้]

เจี่ย สื่อเต้า เกิดในปี 1213 เป็นบุตรชายของเจี่ยเช่อ กับหูฮูหยิน หูฮูหยินเป็นเมียน้อยของเจี่ยเช่อ เจี่ยเช่อผู้เป็นบิดาเสียชีวิตเมื่อ เจี่ย สื่อเต้า อายุ 11 ปี เมื่อเขาได้เป็น จินซื่อ ในวัย 25 ปีเมื่อปี 1238 พี่สาวต่างมารดาของเขาก็เป็นพระสนมของจักรพรรดิซ่งหลี่จง มีบรรดาศักดิ์เป็นกุ้ยเฟย[1]

รับราชการ[แก้]

เจี่ย สื่อเต้าเป็นอัครมหาเสนาบดี จากปี 1260 ถึง 1273 ในช่วงปลายราชวงศ์ซ่ง[2] ตามที่บันทึกในซ่งฉื่อ ระบุว่า เจี่ย สื่อเต้า ได้ขึ้นสู่ตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีเพราะพระสนมเจี่ย พี่สาวของเขาเป็นพระสนมคนโปรดของจักรพรรดิซ่งหลี่จง[1]

เจี่ยเป็นที่รู้จักอย่างดีจากการแทรกแซงของเขาในยุทธการที่เซียงหยาง เมื่อเขาปกปิดสถานการณ์ที่แท้จริง (เมืองอยู่ภายใต้การโจมตีอย่างรุนแรงจากมองโกลและใกล้จะแพ้หากไม่ได้กำลังเสริม) ต่อราชสำนักซ่ง

เจี่ยมีอำนาจและอิทธิพลมากในรัชสมัยจักรพรรดิซ่งตู้จงจากการได้รับความโปรดปรานเป็นพิเศษ เนื่องจากจักรพรรดิมีพระชนมายุน้อยกว่าเจี่ยถึง 27 ปี ทุกครั้งที่เจี่ยเข้ามาประชุมขุนนาง จักรพรรดิจะลุกขึ้นเพื่อต้อนรับและเรียกเจี่ยว่า "ราชครู"

เจี่ยเริ่มต้นนโยบายเวนคืนที่ดิน ซึ่งขัดแย้งกับแนวคิดของลัทธิขงจื๊อที่เน้นการเก็บภาษีต่ำและจำกัดบทบาทของรัฐ นโยบายนี้จึงไม่เป็นที่นิยมในหมู่ผู้ศรัทธาลัทธิขงจื๊อ การสำรวจที่ดินครั้งนี้ได้รับการรับการสนับสนุนจากขุนนางหลายคน และเริ่มดำเนินการเมื่อประมาณปี 1262 ผลักดันโดยความจำเป็นทางทหารที่เร่งด่วน โดยที่ดินจำนวนมากอยู่ในมือของเจ้าที่ดินผู้ทรงอิทธิพล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในราชสำนัก ในปี 1263 ราชวงศ์ซ่งใต้ได้ฟื้นฟูระบบกงเถียน (公田) หรือ "ที่ดินสาธารณะ" ขึ้นมาอีกครั้ง ระบบนี้กำหนดให้จำกัดจำนวนที่ดินที่บุคคลสามารถครอบครองได้ โดยที่ดินส่วนเกินจะถูกจัดหมวดหมู่ให้เป็นที่ดินสาธารณะ รายได้จากระบบ กงเถียน นำไปใช้สนับสนุนงบประมาณทางทหาร ระบบนี้ดำเนินการอยู่เป็นเวลา 12 ปี การปฏิรูปที่ดินของเจี่ย ก้าวหน้ากว่าที่หวัง หมั่งทำไว้ในสมัยราชวงศ์ฮั่น เพราะในสมัยหวัง หมั่ง รัฐยึดครองที่ดินส่วนเกินเพียง 1/3 เท่านั้น และยังมีการชดเชยค่าเสียหายบางส่วน[3] ในทางกลับกัน การปฏิรูปของเจี่ยไม่ได้ให้ค่าชดเชย อีกหนึ่งเป้าหมายของเจี่ยคือการยกเลิกนโยบายเหอตี๋ และลดจำนวนเงินกระดาษที่หมุนเวียนอยู่ เนื่องจากนโยบาย "เหอตี๋" กำหนดให้ราชสำนักต้องซื้อธัญพืชเพิ่มขึ้น ทำให้พวกเขาต้องพิมพ์เงินกระดาษมากขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูง

ระหว่างการล้อมเมืองเอ้อโจว เจี่ย สื่อเต้า เสนอแบ่งแยกดินแดนจีนให้กับกุบไล ข่าน แต่ถูกปฏิเสธ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการสวรรคตของมงค์ ข่าน พระเชษฐาในการรบที่ยูนนาน และการเคลื่อนย้ายกองทหารจำนวนมากไปยังชายแดนเอ้อโจว กุบไล ข่านจึงเสนอข้อตกลงกับเจี่ย สื่อเต้าว่าพระองค์จะเดินทางกลับไปคาราคอรมเพื่อเข้าร่วมการประชุมคูรุลไตเนื่องจากมีข้อพิพาทเรื่องการสืบราชบัลลังก์กับอริก โบเก พระอนุชาพระองค์เล็ก[4]

ต่อมา ในยุทธการที่อี้หู ในขณะที่ เจี่ย สื่อเต้า นำทัพจำนวน 130,000 คนมาเผชิญหน้ากับมองโกล เขากลับตื่นตระหนกและหนีออกจากสนามรบด้วยเรือลำเล็กทิ้งทหาร 130,000 คนไว้เบื้องหลัง เมื่อทหารเห็นว่าแม่ทัพทิ้งพวกเขาไปแล้ว ก็ถอยร่นอย่างโกลาหล ผลลัพธ์ก็คือกองทัพซ่งที่เหลืออยู่ถูกตีแตกพ่าย มองโกลจึงสามารถบุกต่อไปยังหลินอานเมืองหลวงได้อย่างง่ายดาย จากความพ่ายแพ้ครั้งนี้ เจี่ย สื่อเต้าถูกปลดจากตำแหน่งอัครมหาเสนาบดี

เสียชีวิต[แก้]

ในช่วงที่เมืองหลินอาน (ปัจจุบันคือหางโจว) ใกล้จะแตกพ่าย มีการถกเถียงกันอย่างร้อนแรงถึงประเด็นที่ควรจะประหารชีวิตเจี่ย สื่อเต้า ขุนนางผู้ทรงอำนาจ เนื่องจากความล้มเหลวในการบริหารราชสำนัก จักรพรรดินีเซี่ย เต้าชิง จักรพรรดินีในจักรพรรดิซ่งหลี่จง และพระราชมารดาเลี้ยงของจักรพรรดิซ่งตู้จง ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวเพราะถือว่าโหดร้าย ท้ายที่สุด ภายใต้แรงกดดันจากประชาชน ราชสำนักก็ออกประกาศเนรเทศและริบทรัพย์ของเจี่ย สื่อเต้าและครอบครัว ในที่สุด ในปี 1275[1] เจี่ย สื่อเต้า ถูกสังหารโดยเจิ้ง หูเฉิน ผู้คุมที่ได้รับมอบหมายจากราชสำนักให้ควบคุมตัวเขา[5] การสังหารได้รับการเห็นชอบจากราชสำนักหรือไม่ยังไม่ชัดเจน[6]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 "Jia, Sidao (1213-1275)". National Library of Australia. สืบค้นเมื่อ 14 November 2015.
  2. "Jia Sidao - Chancellor During the Late Song Dynasty". Cultural China. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 October 2012. สืบค้นเมื่อ 14 November 2015.
  3. Cambridge History of China, 5.1:894-5
  4. Waterson, James (2013-06-19). "Chapter 4". Defending Heaven: China's Mongol Wars, 1209-1370 (ภาษาอังกฤษ). Casemate Publishers. ISBN 978-1-78346-943-7.
  5. Tan Koon San (17 April 2014). Dynastic China: An Elementary History. The Other Press Sdn. Bhd. p. 299. ISBN 978-983-9541-88-5. สืบค้นเมื่อ 14 November 2015.
  6. Cambridge History of China, 5.1:936