เค้กกบ
เค้กกบสีน้ำตาล สีชมพู และสีเขียว | |
มื้อ | ของหวาน |
---|---|
แหล่งกำเนิด | ออสเตรเลีย |
ภูมิภาค | รัฐเซาท์ออสเตรเลีย |
คิดค้น | ราว ค.ศ. 1923 |
ส่วนผสมหลัก | เค้กฟองน้ำ แยม ครีม ฟงด็อง |
เค้กกบ (อังกฤษ: Frog cake) เป็นของหวานของประเทศออสเตรเลียรูปหัวกบ ประกอบด้วย เค้กฟองน้ำและครีมคลุมด้วยฟงดอง สร้างสรรค์โดยร้านขนมปังบัลฟอร์ส (Balfours) เมือราวปี ค.ศ. 1923 และกลายเป็นขนมยอดนิยมในรัฐเซาท์ออสเตรเลียในเวลาไม่นาน เดิมเค้กกบมีเฉพาะสีเขียว แต่ต่อมามีการเพิ่มสีน้ำตาลและสีชมพูเข้ามาในกลุ่ม ตั้งแต่นั้นมาก็ได้มีการพัฒนารูปแบบอื่น ๆ รวมถึงรูปแบบตามฤดูกาล (เช่น ตุ๊กตาหิมะ และ "ลูกเจี๊ยบ" อีสเตอร์) เค้กกบได้ชื่อว่า "มีเฉพาะในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย"[1] และได้นำมาใช้ในการประชาสัมพันธ์รัฐ ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญทางวัฒนธรรม ในปี ค.ศ. 2001 เค้กกบจึงได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสัญลักษณ์มรดกของรัฐเซาท์ออสเตรเลียโดยองค์การอนุรักษ์แห่งชาติแห่งรัฐเซาท์ออสเตรเลีย
องค์ประกอบ
[แก้]เค้กกบเป็นของหวานขนาดเล็กที่มีรูปร่างคล้ายกบอ้าปาก[2] ประกอบด้วยฐานเป็นเค้กฟองน้ำที่มีแยมอยู่ตรงกลาง ใส่ครีมเทียมด้านบน และปิดด้วยชั้นน้ำตาลไอซิงฟงด็องหนา ๆ สูตรในปัจจุบันยังคงเหมือนกับสูตรที่ใช้เมื่อเค้กถูกผลิตขึ้นครั้งแรกในปีทศวรรษ 1920[2] เมื่อทำการผลิต ชั้นของเค้กฟองน้ำขนาดใหญ่จะถูกรวมเข้าด้วยกันและตัดเป็นรูปร่างโดยอัตโนมัติ หุ้มด้วยฟงด็อง[3] และปากก็ขึ้นรูปด้วยมีดร้อน[4] ดวงตาทำจากฟงด็องที่มีสีที่ตัดกันกับตัวเค้กจะถูกเพิ่มเข้าไปบนส่วนหัวเค้กด้วยมือ เค้กที่ทำเสร็จแล้วจะถูกนำมาวางบนถาดกระดาษ[3] ฟองดองโดยปกติจะเป็นสีน้ำตาล สีเขียว หรือสีชมพู แต่ในโอกาสพิเศษอาจมีสีที่หลากหลายกว่านั้นเช่นสีแดงและสีเหลือง[2]
ประวัติ
[แก้]ร้านบัลฟอร์สไม่ได้ถือว่าการคิดค้นเค้กกบเป็นผลงานของบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคิดค้นในปีใดปีหนึ่ง[5] แต่คาดว่าจอห์น กอร์ดอน บัลฟอร์ (John Gordon Balfour) อาจได้รับแรงบันดาลใจจากแปตีฟูร์ที่หุ้มด้วยฟงด็องเมื่อครั้งมาเยือนกรุงปารีสในปี ค.ศ. 1923[5] เค้กกบเป็นหนึ่งใน "แฟนซีต่าง ๆ" (assorted fancies) ที่มีพื้นฐานมาจากฟงด็อง[5] เปิดตัวในช่วงที่ห้องน้ำชา (tearoom) ยังคงได้รับความนิยมในเมืองแอดิเลด[6] ต่อมาไม่นานเค้กกบก็กลายเป็นที่รู้จักในฐานะตัวนำโชคของร้านบัลฟอร์ส[6] เดิมจะขายเฉพาะในรัฐเซาท์ออสเตรเลีย[4] แต่ปัจจุบันมีขายในรัฐวิกทอเรีย นิวเซาท์เวลส์ และควีนส์แลนด์ด้วย
เค้กกบดั้งเดิมมีสีเขียว และสีเขียวยังคงเป็นสีของเค้กกบที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เค้กสีน้ำตาลช็อกโกแลตและสีชมพูถูกเพิ่มเข้ามาในภายหลัง[6] นอกจากนี้ แม้ว่ารูปกบจะโดดเด่น แต่ในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ก็มีการออกแบบเค้กที่แตกต่างออกไปเล็กน้อย เช่นเค้กคุณพ่อคริสต์มาสและตุ๊กตาหิมะที่วางจำหน่ายในช่วงเทศกาลคริสต์มาส และเค้ก "ลูกเจี๊ยบ" ในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ เค้กกบยังเคยจำหน่ายในสีของสโมสรฟุตบอลแอดิเลด[1]
เค้กกบถือเป็นสัญลักษณ์ของรัฐเซาท์ออสเตรเลียมาช้านาน และบางครั้งก็ถูกใช้เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์รัฐ[6] ตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ. 2001 มีการมอบเค้กกบให้กับกรรมการระหว่างการหาเสียงครั้งสุดท้ายของ Joan Hall รัฐมนตรีการท่องเที่ยวของรัฐเซาท์ออสเตรเลีย เพื่อให้ได้สิทธิ์เป็นเจ้าภาพของงานแข่งขันเวิลด์โพลิสแอนด์ไฟเออร์เกมส์ ในปี ค.ศ. 2007 ที่แอดิเลด[7] ในขณะที่บางคนเช่น Peter Goers แนะนำในเชิงเหน็บแนมและเสียดสีให้สร้างอนุสาวรีย์ของเค้กกบ[8] การตระหนักรู้เกี่ยวกับเค้กกบอย่างจริงจังมีมากขึ้นในปี ค.ศ. 2001 เมื่อเป็นหนึ่งในรายการแรก ๆ ที่ได้รับเลือกให้เป็นสัญลักษณ์ของรัฐเซาท์ออสเตรเลียโดยองค์การอนุรักษ์แห่งชาติแห่งรัฐเซาท์ออสเตรเลีย ในโอกาสครบรอบ 165 ปีของรัฐ[9] ได้มีการเพิ่มเค้กกบลงในรายการมรดกแห่งชาติในฐานะ "สังหาริมทรัพย์" (movable asset)[3]
ในอดีต เค้กกบขายดีในร้านบัลฟอร์ส และในบางครั้งยอดขายก็ทะลุยอดไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบริษัท เมื่อบริษัทถูกสั่งพิทักษ์ทรัพย์ในปี ค.ศ. 2000 คอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ The Advertiser โดย Rex Jory เชิญชวนให้ผู้คนสนับสนุนบริษัทด้วยการซื้อเค้ก และยอดขายก็เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า[10] ในทำนองเดียวกัน การที่เค้กกบกลายเป็นสัญลักษณ์ของรัฐเซาท์ออสเตรเลียในปี ค.ศ. 2001 ก็ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน[4] ความสำเร็จของเค้กกบนำไปสู่การลอกเลียนแบบ บัลฟอร์สจึงตอบโต้ด้วยการจดทะเบียนทั้งชื่อและรูปร่างของผลิตภัณฑ์ในฐานะเครื่องหมายการค้าในปี ค.ศ. 2001[3][11]
เค้กที่คล้ายกัน
[แก้]เดนมาร์ก
[แก้]Frøkage ("เค้กกบ") ของเดนมาร์ก มีอายุย้อนไปถึงทศวรรษ 1950 เป็นอย่างน้อย[12][13] ในช่วงทศวรรษ 1970 กลายเป็นที่รู้จักในชื่อ Kajkage ("เค้ก Kaj") ซึ่งตั้งชื่อตามตัวละครกบ Kaj ในรายการละครหุ่นโทรทัศน์สำหรับเด็กของเดนมาร์ก Kaj & Andrea[13] รูปร่างหน้าตาคล้ายกับเค้กของออสเตรเลีย มีมาการูนชั้นบาง ๆ ด้านล่างแทนที่จะเป็นเค้กฟองน้ำ และคลุมหน้าด้วยมาร์ซิแพนสีเขียวแทนที่จะเป็นฟงด็อง
สหราชอาณาจักร
[แก้]เค้กกบมีองค์ประกอบคล้ายกันกับ เฟรนช์แฟนซีส์ (French Fancies) ของมิสเตอร์คิพลิง บริษัทผู้ผลิตของอังกฤษ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ 1.0 1.1 Jauncey (May 2004)
- ↑ 2.0 2.1 2.2 Jauncey (2004), p. 211.
- ↑ 3.0 3.1 3.2 3.3 Flanders (2007), p. 36.
- ↑ 4.0 4.1 4.2 Hockley (26 May 2001), p. 29.
- ↑ 5.0 5.1 5.2 The Balfours Story, p. 82
- ↑ 6.0 6.1 6.2 6.3 Clarke (17 June 2003), p. 31.
- ↑ Haran (2001)
- ↑ Goers (2007)
- ↑ Lloyd (7 April 2001), p. 30.
- ↑ Hooper (9 November 2000), p. 11.
- ↑ "Protection for frog cake" (12 September 2001), p. 9.
- ↑ "Historien om Kaj-kagen - TV 2". livsstil.tv2.dk. 13 August 2013.
- ↑ 13.0 13.1 "Det dufter og smager - når Hans han bager". ugeavisen.dk. 18 November 2019.
บรรณานุกรม
[แก้]- Clarke, Daniel (17 June 2003). "Our State South Australia, Diverse, Different and Dynamic Beyond Value". The Advertiser. p. 31.
- Balfours, Balfours (2019). The Balfours Story (PDF). Balfours. p. 82. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2023-03-11. สืบค้นเมื่อ 2022-12-29.
- Flanders, Anna, บ.ก. (2007). Made in SA. South Australian business: a state of growth. Advertiser Enterprises. p. 36. ISBN 978-0-9599602-5-9.
- Goers, Peter (18 August 2007). "A little lunacy on Victoria Square". The Advertiser. สืบค้นเมื่อ 17 May 2014.
- Haran, Brady (11 June 2001). "How 8 of these Frog Cakes helped to win 2007 World Police and Fire Games". The Advertiser. p. 8.
- Hockley, Catherine (26 May 2001). "Tuckshop cup cake treat leap-frogs ahead". The Advertiser. p. 29.
- Hooper, Ben (9 November 2000). "Leaping frog cake sales help bakery". The Advertiser. p. 11.
- Jauncey, Dorothy (2004). Bardi Grubs and Frog Cakes: South Australian Words. Oxford University Press. pp. 211–212. ISBN 0-19-551770-9.
- Jauncey, Dorothy (May 2004). "South Australia – 'Kind of Different'?". OzWords. Australian National Dictionary Centre. สืบค้นเมื่อ 17 May 2014.
- Lloyd, Tim (7 April 2001). "When pride is a frog cake and Popeye". The Advertiser. p. 30.
- "Protection for frog cake". The Advertiser. 12 September 2001. p. 9.