ข้ามไปเนื้อหา

เคลาส์ ฟ็อน ชเตาเฟินแบร์ค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เคลาส์ ฟ็อน ชเตาเฟินแบร์ค
ชเตาเฟินแบร์คและอัลเบร็ชท์ แมทซ์ ฟ็อน เควียร์นไฮม์ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1944
ชื่อเกิดClaus Philipp Maria Schenk Graf von Stauffenberg
เกิด15 พฤศจิกายน ค.ศ. 1907(1907-11-15)
เย็ททิงเงิน จักรวรรดิเยอรมัน
เสียชีวิต21 กรกฎาคม ค.ศ. 1944(1944-07-21) (36 ปี)
เบอร์ลิน นาซีเยอรมนี
รับใช้
แผนก/สังกัดกองทัพบก
ประจำการ1926–1944
ชั้นยศ พันเอก (Oberst)
การยุทธ์
บำเหน็จกางเขนเหล็กชั้นหนึ่ง
คู่สมรสMagdalena Freiin von Lerchenfeld (สมรส 1933)
บุตร3 คน

เคลาส์ ฟิลลิพ มารีอา เช็งค์ กราฟ ฟ็อน ชเตาเฟินแบร์ค (เยอรมัน: Claus Philipp Maria Schenk Graf von Stauffenberg) เป็นนายทหารบกเยอรมัน มีชื่อเสียงจากการเป็นผู้นำแผนลับ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1944 เพื่อสังหารอดอล์ฟ ฮิตเลอร์และยึดอำนาจจากรัฐบาลพรรคนาซี และยังถือเป็นบุคคลสำคัญของขบวนการต่อต้านนาซีในเยอรมนี ภายหลังแผนการล้มเหลว เขาถูกประหารชีวิตพร้อมกับผู้ก่อการคนอื่นๆ

ประวัติ

[แก้]

ชื่อเต็มของชเตาเฟินแบร์คคือ เคลาส์ ฟิลลิพ มารีอา ยุสทีนีอัน ตัวเขามีบรรดาศักดิ์ขุนนาง "กราฟ ฟ็อน ชเตาเฟินแบร์ค" เขาเกิดที่ปราสาทเย็ททิงเงิน ทางตะวันออกของภาคชวาเบิน ในราชอาณาจักรบาวาเรีย ส่วนหนึ่งของจักรวรรดิเยอรมัน เป็นบุตรคนที่สามในสี่คนของครอบครัว[1][2] ตระกูลชเตาเฟินแบร์คเป็นหนึ่งในตระกูลขุนนางคาทอลิกเก่าแก่ไม่กี่ตระกูลในภาคใต้ของเยอรมนี[3]

อาชีพทหาร

[แก้]
ชเตาเฟินแบร์คสมัยเรียนอยู่โรงเรียนเสนาธิการ ค.ศ. 1926

ชเตาเฟินแบร์คได้ติดยศร้อยตรีในปีค.ศ. 1930 ชเตาเฟินแบร์คมีความคิดเห็นด้วยกับนโยบายชาติพันธุ์และชาตินิยมของพรรคนาซี และเขาสนับสนุนการบุกยึดโปแลนด์[4][5][6] เขายังลงคะแนนเสียงให้ฮิตเลอร์ในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ค.ศ. 1932 กระนั้น เขาไม่เคยเป็นสมาชิกพรรคนาซี และคัดค้านนโยบายอื่นหลายอย่างของฮิตเลอร์ อาจกล่าวได้ว่าในจุดนี้เขาทั้งรักทั้งชังฮิตเลอร์ เหตุการณ์ที่ทำให้ชเตาเฟินแบร์คถอยห่างออกมาจากพรรคนาซีอย่างไม่มีวันกลับคือคืนมีดยาวและคืนกระจกแตก เขามองว่าฮิตเลอร์เป็นคนไร้คุณธรรม นอกจากนี้ การกดขี่ชาวยิวอย่างรุนแรงและการกดขี่ศาสนาได้ขัดแย้งกับหลักศีลธรรมในใจของชเตาเฟินแบร์ค เนื่องจากครอบครัวของชเตาเฟินแบร์คมีความศรัทธาต่อคาทอลิกอย่างเคร่งครัด[7][8]

เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองปะทุขึ้นในปี 1939 ร้อยโทชเตาเฟินแบร์คและหน่วยของเขามีส่วนร่วมในการบุกครองโปแลนด์ เขาสนับสนุนให้เยอรมนียึดครองโปแลนด์และใช้ชาวยิวเป็นทาสแรงงานเพื่อความรุ่งเรืองของเยอรมนี[4] เมื่อเสร็จศึกโปแลนด์ ชเตาเฟินแบร์คเริ่มรับรู้ถึงความเลวร้ายของระบอบนาซี ลุงของเขาสังเกตเห็นได้จึงพยายามโน้มน้าวให้เข้าร่วมกับขบวนการต่อต้านนาซี เขาถูกร้องขอให้เป็นทหารคนสนิทจอมพลวัลเทอร์ ฟ็อน เบราคิทช์ ผู้บัญชาการใหญ่กองทัพบกในขณะนั้น เพื่อร่วมวางแผนรัฐประหาร ชเตาเฟินแบร์คปฏิเสธโดยอ้างว่าทหารทุกนายได้ปฏิญาณความภักดีต่อฮิตเลอร์ไปแล้วในปี 1934[9]

ร้อยเอกชเตาเฟินแบร์คถูกโอนย้ายไปเป็นนายทหารเสนาธิการของกองพลยานเกราะที่ 6 ซึ่งทำหน้าที่เคลื่อนเข้าโจมตีผ่านป่าอาร์แดนในช่วงยุทธการที่ฝรั่งเศส ชัยชนะเหนือฝรั่งเศสในช่วงนี้สร้างความประทับใจให้แก่เขาอย่างมาก เขาได้รับกางเขนเหล็กชั้นหนึ่ง แต่ไม่กี่สัปดาห์ก่อนฝรั่งเศสจะยอมจำนน เขาถูกโอนย้ายไปเป็นหัวหน้ากลุ่มงานที่ 2 กองบัญชาการใหญ่กองทัพบก กลุ่มงานของเขารับผิดชอบด้านการวางแผนและอำนวยการกิจการภาคสนาม และได้รับการเลื่อนยศเป็นพันตรีในเมษายน 1941 ในตอนนี้เขายังไม่ได้คิดวางแผนรัฐประหารใดๆ แต่พี่ชายสองคนของชเตาเฟินแบร์คเริ่มติดต่อกับฝ่ายต่อต้านทั้งพลเรือนและทหารแล้ว[10] ในเดือนมีนาคม 1943 ชเตาเฟินแบร์คในยศพันโทได้รับตำแหน่งนายทหารเสนาธิการของกองพลยานเกราะที่ 10 กองทัพน้อยแอฟริกา ประจำประเทศตูนีเซีย เขาได้รับบาดเจ็บในสนามรบที่นี่ โดยสูญเสียตาซ้าย, แขนขวา, และสองนิ้วมือซ้าย[11]

หลังพักรักษาตัวอยู่หลายเดือน ในเดือนกันยายน 1943 ชเตาเฟินแบร์คได้รับการจัดแจงโดยทหารระดับสูงในฝ่ายต่อต้านให้เป็นนายทหารเสนาธิการในกองบัญชาการกำลังสำรอง (Ersatzheer) ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเบอร์ลิน จนกระทั่งเดือนมิถุนายน 1944 เขาได้เลื่อนยศเป็นพันเอกและได้ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บัญชาการกำลังสำรอง พลเอกอาวุโสฟรีดริช ฟร็อม[12] เมื่อได้ดำรงตำแหน่งนี้ สิ่งแรกที่เขาทำคือการนำร่างปฏิบัติการวัลคือเรอ ฉบับแก้ไขไปขออนุมัติต่อฮิตเลอร์ เพื่อที่จะใช้ก่อรัฐประหาร

อ้างอิง

[แก้]
  1. Gerd Wunder: Die Schenken von Stauffenberg. Müller & Gräff, 1972, p. 480
  2. "Gräfin von Stauffenberg: Abschied von einer Zeitzeugin". Augsburger Allgemeine. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 June 2018. สืบค้นเมื่อ 23 June 2018.
  3. "Alfred Klemens Schenk von Stauffenberg". geneanet. สืบค้นเมื่อ 23 June 2018.
  4. 4.0 4.1 Housden, Martyn (1997). Resistance and Conformity in the Third Reich. New York: Routledge. p. 100. ISBN 0-415-12134-5. "He was endorsing both the tyrannical occupation of Poland and the use of its people as slave labourers"
  5. Peter Hoffman (2003). Stauffenberg: A Family History, 1905–1944. McGill-Queen's Press. p. 116.
  6. "Germans against Hitler. Who resisted the Third Reich and why did they do it?". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 July 2015. สืบค้นเมื่อ 14 July 2015.
  7. Peter Hoffman (2003). Stauffenberg: A Family History, 1905–1944. McGill-Queen's Press. p. 151.
  8. "Claus Schenk Graf von Stauffenberg," German Resistance Memorial Center. 2009. (Retrieved 2009-12-28.)
  9. Kershaw, Ian Hitler Hubris, New York: W.W. Norton, 1998 p 525.
  10. Hoffmann, Peter (2007). Claus Schenk Graf von Stauffenberg: Die Biographie. 4. Auflage. Pantheon. p. 114. ISBN 978-3-570-55046-5.
  11. Commire, Anne (1994), "Historic World Leaders: Europe (L–Z)", Gale Research Inc.: 769, ISBN 978-0-8103-8411-8, สืบค้นเมื่อ 2011-09-18
  12. Eberhard Zeller: Oberst Claus Graf Stauffenberg. Ein Lebensbild. Schöningh, 1994, ISBN 3-506-79770-0, S. 298–301.