ข้ามไปเนื้อหา

เครื่องราชอิสริยาภรณ์นักบุญโอลาฟ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์นักบุญโอลาฟ
ประเภทเครื่องราชอิสริยาภรณ์หกชั้น
วันสถาปนาพ.ศ. 2390
ประเทศประเทศนอร์เวย์ ประเทศนอร์เวย์
ผู้สมควรได้รับพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระบรมวงศานุวงศ์นอร์เวย์ และชาวนอร์เวย์ที่กระทำคุณความดี
สถานะยังมีการมอบ
ผู้สถาปนาพระเจ้าออสการ์ที่ 1 แห่งสวีเดน
ประธานสมเด็จพระราชาธิบดีฮารัลด์ที่ 5 แห่งนอร์เวย์
ลำดับเกียรติ
สูงกว่าไม่มี
รองมาเครื่องราชอิสริยาภรณ์คุณธรรมแห่งนอร์เวย์
หมายเหตุ
แพรแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์นักบุญโอลาฟ (นอร์เวย์: Den Kongelige Norske Sankt Olavs Orden) เป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของประเทศนอร์เวย์ ถูกสร้างขึ้นโดยพระเจ้าออสการ์ที่ 1 แห่งสวีเดน เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2390 เพื่อถวายเกียรติแด่สมเด็จพระเจ้าโอลาฟที่ 2 แห่งนอร์เวย์[1]

ก่อนที่สหราชอาณาจักรสวีเดนและนอร์เวย์จะล่มสลายใน พ.ศ. 2448 ได้มีการสร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์สิงโตแห่งนอร์เวย์โดยสมเด็จพระเจ้าออสการ์ที่ 2 แห่งสวีเดน แต่เมื่อสมเด็จพระราชาธิบดีโฮกุนที่ 7 ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์นอร์เวย์ เครื่องราชอิสริยาภรณ์นักบุญโอลาฟกลายเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นเดียวของนอร์เวย์ ซึ่งมอบให้กับผู้ที่กระทำคุณประโยชน์ต่อราชการและประเทศนอร์เวย์รวมถึงผู้มีเกียรติจากต่างประเทศ แต่ใน พ.ศ. 2528 เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้เปลี่ยนมามอบให้แก่ชาวนอร์เวย์ พระราชวงศ์นอร์เวย์ ประมุขแห่งรัฐ และราชวงศ์ต่างประเทศเท่านั้น และได้สร้างเครื่องราชอิสริยาภรณ์คุณธรรมแห่งนอร์เวย์สำหรับมอบให้ชาวต่างชาติทั่วไปแทน

ลักษณะ

[แก้]
  • สายสร้อย : ทำด้วยทองคำ มีอักษรย่อ "O" ที่สวมรูปมงกุฎ 5 อัน สลับกับตราแผ่นดินของนอร์เวย์ 5 อัน และไม้กางเขนอีก 10 อันซึ่งขนาบด้วยขวานสีเงิน
  • ดวงตรา : เป็นไม้กางเขนมอลตาเคลือบด้วยสีขาว ชั้นเบญจมาภรณ์จะเป็นสีเงินและชั้นจตุรถาภรณ์ขึ้นไปจะลงยาด้วยสีทอง และอักษรย่อ "O" จะอยู่ระหว่างแขนของไม้กางเขน ตัวดวงตราด้านในจะลงยาด้วยสีแดง มีรูปสิงโตติดอยู่ด้านหน้าตัวดวงตรา ด้านหลังเขียนคำขวัญว่า «Ret og Sandhed» – "ความยุติธรรมและความจริง" และดวงตราถูกประดับด้วยมงกุฎ[2]
  • ดารา (ชั้นประถมาภรณ์) : เป็นดาวแปดแฉก ทำด้วยเพชรและพลอย และมีสัญลักษณ์ดวงตราประดับอยู่ด้านหน้า
  • ดารา (ชั้นทวีติยาภรณ์) : เป็นกางเขนมอลตาสีเงิน มีอักษรย่อ "O" ที่สวมรูปมงกุฎอยู่ระหว่างแขนของไม้กางเขน และตัวดวงตราเป็นสีแดงและมีรูปสิงตติดอยู่ที่ด้านหน้าและมีวงแหวนล้อมรอบตัวกางเขน
  • แพรแถบย่อ : เป็นสีแดงแถบขอบขาว-น้ำเงิน-ขาวซึ่งเป็นสีของธงชาตินอร์เวย์

หากมีการพระราชทานเป็นกรณีพิเศษ อาจมีการประดับเพชรบนดวงตรา ซึ่งในกรณีนี้ ตัววงแหวนจะเป็นเพชรแทนวงแหวงสีเงิน-ทอง[3] นอกจากนี้ อาจมีการเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์หากได้รับพระราชทานชั้นที่สูงขึ้นหรือเสียชีวิต

ลำดับชั้น

[แก้]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้มี แกรนด์มาสเตอร์ ซึ่งก็คือพระมหากษัตริย์นอร์เวย์ผู้เป็นประธานแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์[4] และมีลำดับชั้นปกติอยู่ 6 ชั้น ได้แก่

  • ชั้นประถมาภรณ์ (Storkors) : สำหรับพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ หรือสามัญชนผู้ที่สมควรจะได้รับในกรณีพิเศษ โดยพระราชทานพร้อมกับสายสร้อยและสายสะพายซึ่งสะพายจากบ่าขวาลงทางซ้าย หรืออาจทรงพระราชทานอย่างใดอย่างหนึ่ง
  • ชั้นผู้บังคับบัญชา แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่[1]
    • ชั้นทวีติยาภรณ์ (Kommandør med stjerne)  : ประดับดวงตรากับสายคล้องคอและดาราบนหน้าอกซ้าย
    • ชั้นตริตาภรณ์ (Kommandør) : ประดับดวงตรากับสายคล้องคอ
  • ชั้นอัศวิน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
    • ชั้นจตุรถาภรณ์ (Ridder av 1. klasse) : ประดับดวงตราห้อยกับแพรแถบติดที่หน้าอกด้านซ้าย
    • ชั้นเบญจมาภรณ์ (Ridder) : ประดับดวงตราห้อยกับแพรแถบติดที่หน้าอกด้านซ้าย
แพรแถบย่อ

ชั้นประถมาภรณ์พร้อมสายสร้อย

ชั้นประถมาภรณ์

ชั้นทวีติยาภรณ์

ชั้นตริตาภรณ์

ชั้นจตุรถาภรณ์

ชั้นเบญจมาภรณ์

การพระราชทาน

[แก้]

พระมหากษัตริย์นอร์เวย์จะทรงพระราชทานตามคำขอพระราชทานจากคณะกรรมาธิการแห่งเครื่องราชอิสริยาภรณ์หกคน ซึ่งไม่มีสมาชิกของรัฐบาลอยู่ โดยจะมีเพียงนายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ รองนายกรัฐมนตรีนอร์เวย์ ลอร์ดแชมเบอร์แลน (เหรัญญิก) และผู้แทนซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์อีกสามคน ซึ่งคณะกรรมาธิการเหล่านี้จะเสนอชื่อผู้ที่สมควรได้รับ และกราบทูลแก่พระมหากษัตริย์เพื่อทรงอนุมัติและพระราชทานต่อไป[5]

สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ที่อยู่ในลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ของนอร์เวย์ จะได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้เมื่อทรงบรรลุนิติภาวะ[6] ซึ่งพระบรมวงศานุวงศ์นอร์เวย์รายล่าสุดที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้เนื่องจากทรงบรรลุนิติภาวะ ได้แก่ เจ้าหญิงอิงกริด อเล็กซันดราแห่งนอร์เวย์[7][8]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 Hieronymussen & Lundø 1968, p. 102.
  2. Hieronymussen & Lundø 1968, fig. 8, p. 102.
  3. "Utnevnelse til St. Olavs Orden". สืบค้นเมื่อ 21 September 2014.
  4. Statutes, §2
  5. section 5, Statues of the Order of St. Olav
  6. section 3, Statues of the Order of St. Olav
  7. "H.K.H. Prinsessens dekorasjoner". Kongehuset. สืบค้นเมื่อ 18 June 2022.
  8. "Appointment to the Order of St. Olav". The Royal House of Norway. สืบค้นเมื่อ 21 January 2022.