ข้ามไปเนื้อหา

เขาถ้ำเอราวัณ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

เขาถ้ำเอราวัณ เป็นเขาในตำบลช่องสาริกา อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เป็นเขาหินปูนลูกโดดมีความสูง 266 เมตร[1] มีถ้ำขนาดเล็กใหญ่รวมประมาณ 10–15 ถ้ำ มีการสำรวจถ้ำหลักจำนวน 5 ถ้ำได้แก่ ถ้ำเทวาพิทักษ์ ถ้ำโปร่ง ถ้ำเอราวัณ ถ้ำอริยะสัจ 4 และถ้ำที่ยังไม่มีชื่ออีก 1 ถ้ำ ภายในถ้ำมีความสวยงามตามธรรมชาติ มีหินงอก หินย้อย ม่านหินย้อย หลอดหินย้อย หินผุด หินน้ำไหล เสาหิน หินปูนฉาบ ฯลฯ โดยถ้ำเทวาพิทักษ์ เป็นถ้ำมีขนาดใหญ่ที่สุด และความยาวของถ้ำประมาณ 200 เมตร

สภาพโดยรอบมีความอุดมสมบูรณ์ของพรรณไม้และสัตว์ป่า มีการสำรวจพบมีนกจู๋เต้นเขาปูนซึ่งเป็นนกเฉพาะถิ่นซึ่งนับเป็นแหล่งที่ 2 ของโลกเพราะอาศัยอยู่เฉพาะในเขาหินปูน นอกจากนั้นยังพบค้างคาวมงกุฎเทาแดง ตุ๊กแกป่า ลิงกัง อีเห็น เม่น เต่าเหลือง ไก่ป่า และสัตว์ป่าหายากอีกหลายชนิด พันธุ์พืชเฉพาะถิ่นหายาก คือ โมกราชินี (Wrightia sirikitiae) ซึ่งเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกค้นพบเมื่อ พ.ศ. 2544

พบฟอสซิสดึกดำบรรพ์ พบซากฟอสซิลหอยนอติลุส (หอยวงช้าง) คชข้าวสาร ปะการัง พลับพลึงทะเล และหอยกาบเดียวอีกหลายชนิด และทางด้านโบราณคดีพบภาชนะดินเผา บางถ้ำพบหลักฐานทางโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายอายุกว่า 2,000 ปี เช่น ภาชนะทรงพานหรือภาชนะฐานสูง เศษภาชนะดินเผาลวดลายต่างๆ และท่อหล่อ[2]

ปัจจุบันกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ประกาศให้ท้องที่ เขาเอราวัณเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550[3]

อ้างอิง[แก้]

  1. สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม ๒ (อักษร ก-ธ) ฉบับราชบัณฑิตยสภา. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์คณะรัฐมนตรีและราชกิจจานุเบกษา, ๒๕๕๙. (แก้ไขปรับปรุงข้อมูลเมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๓)
  2. "ถ้ำเอราวัณ จังหวัดลพบุรี".
  3. "รายงานสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2550" (PDF). สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. p. 54.